xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอยันพรีเมียร์ลีกแกร่ง-ค้านกระแส ‘เพดานค่าจ้าง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ริชาร์ด สคูดามอร์ ประธานบริหาร (ซีอีโอ) พรีเมียร์ลีก ยืนยันลีกลูกหนังอังกฤษแกร่งพอที่จะเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย นอกจากนี้ยังค้านกระแสการนำเอา “เพดานค่าจ้าง” มาใช้
สคูดามอร์ มั่นใจพรีเมียร์ลีกแกร่งทั่วแผ่น
จากวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังรุกลามไปทั่วโลก เริ่มส่งผลกระทบมายังวงการกีฬา โดยในศึกฟุตบอลลีกอังกฤษ มีการสำรวจพบว่าหลายสโมสรเป็นหนี้รวมกันถึง 3 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 1.98 แสนล้านบาท) และจากการที่นักธุรกิจเจ้าของทีมชั้นนำอยู่ในภาวะขาดสภาพคล่อง ทำเอาหลายฝ่ายแอบกังวลใจแทนลีกลูกหนังที่ได้รับความนิยมที่สุดไม่ได้
พลาตินี อยากศึกษาเรื่อง เพดานค่าจ้าง
อย่างไรก็ตาม ริชาร์ด สคูดามอร์ ซีอีโอ ยืนยันผ่าน “สกาย สปอร์ต” สื่อเมืองผู้ดีว่า พรีเมียร์ลีก ยังคงแข็งแกร่ง “หนี้สินไม่ใช่ทั้งเรื่องดีหรือแย่ แต่มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับมูลค่าสินทรัพย์กับหนี้สิน บางสโมสรมีมูลค่าของสินทรัพย์มหาศาล ดังนั้นพวกเขาจึงยังเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่”

“เมื่อรวมกับผลการประกอบการ คุณสามารถจัดการเรื่องหนี้สินได้ ผมไม่ได้พูดว่าเราไม่ได้กังวลใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่มันคงอันตรายหากไปตื่นตูมกับสถานะทางการเงิน ณ ปัจจุบัน แม้ต้องเผชิญกับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ฟุตบอลยังมีความมั่นคง ชื่อของสโมสรยังอยู่ได้ พวกเขาไม่มีทางสูญเสียรายได้ที่แน่นอน” บิ๊กพรีเมียร์ลีก ชี้แจงต่อ

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายพยายามหาทางช่วยวงการลูกหนังอังกฤษให้ต่อสู้กับวิกฤติทางการเงินให้ดีขึ้น โดย ลอร์ด ไทร์สแมน ประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) เสนอแนะแนวทางการนำ “เพดานค่าจ้าง” มาใช้เพื่อจำกัดค่าใช้จ่ายที่เกินพอดี ซึ่งเรื่องนี้ มิเชล พลาตินี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) แสดงท่าทีเห็นด้วย

พลาตินี กล่าวผ่าน “สกาย สปอร์ต” บ้าง “เรามีการพูดเรื่องการทำสัญญาของสโมสรฟุตบอล เราพูดเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้าง แต่ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ผมถนัดในเกมฟุตบอลมากกว่า เรื่องนี้คงต้องมีการศึกษากัน มันคงค่อยเป็นค่อยไป และต้องดูกันว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่สิ่งสำคัญคือ ฟุตบอลยังต้องเป็นเกมการแข่งขันที่ดีต่อไป”

ทว่าเมื่อถามเรื่อง “เพดานค่าจ้าง” สคูดามอร์ กลับไม่เห็นด้วย “เราถกเรื่องนี้มาเป็นสิบปี แต่เราไม่เชื่อในความแตกต่างของสโมสรที่อยู่ในลีกอังกฤษ คุณรู้ถึงความหมายของเพดานค่าจ้างแค่ไหน แนวทางที่เราทำกันอยู่ตอนนี้คือเรื่องของ เปอร์เซ็นต์การหมุนเวียน สโมสรอย่าง อาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ เชลซี มีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าจ้างค่อนข้างมาก แต่ก็ต้องดูเรื่องมวลรวมด้วย”

สุดท้าย สคูดามอร์ ยังตอกกลับคำวิจารณ์ของทั้ง พลาตินี และ เซปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เกี่ยวกับการที่สโมสรในพรีเมียร์ลีก ถูกนักธุรกิจต่างชาติเข้ามาฮุบหุ้นเป็นว่าเล่น “นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ คุณแบล็ตเตอร์ และพลาตินี รู้ดี อีกทั้ง อังกฤษ เป็นประเทศที่มีประสบการณ์ มีทัศนคติที่แตกต่างออกไป เรารู้ว่าจะทำอย่างไรให้สโมสรเดินต่อไปได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น