ภายใต้คำจำกัดความ “ทีมแห่งความฝัน” ทีมบาสเกตบอลชายสหรัฐอเมริกาชุดปี 2008 มีเพียงทางเลือกเดียวในการไปประลองความแม่นยำใน “ปักกิ่งเกมส์” นั่นก็คือการคืนสู่บัลลังก์แชมป์ให้ได้ ลองมาวิเคราะห์ “จุดเด่น-จุดด้อย” แบบเรียงตัวของขุนพลดรีมทีมซึ่งอาจบ่งชี้โอกาสนำไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้
หลังศึกษาความผิดพลาดการการคว้าเพียงเหรียญทองแดงใน “เอเธนส์เกมส์” เมื่อสี่ปีก่อน รวมถึงได้เพียงอันดับ 3 การแข่งขันชิงแชมป์โลก 2006 ที่ญี่ปุ่น “โค้ชเค” ไมค์ ครายเซวสกี เล็งเห็นแล้วว่าการเจาะแผนการเล่นแบบโซนของคู่แข่งต้องใช้ผู้เล่นที่มีความคล่องตัวสูง ลูกเล่นแบบ “พิก แอนด์ โรล” รวมถึงการส่องไกลอันแม่นยำ และแนวทางทำนองนี้นำมาซึ่งมาตรฐานในการเลือก “12 นักล่าฝัน” ลุยโอลิมปิกครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม
พอยด์การ์ด
เจสัน คิดด์ (ดัลลัส แมฟเวอร์ริกส์) : การ์ดวัย 35 ปีเชื่องช้าตามอายุที่เพิ่มขึ้นแถมยังชู้ตไม่แม่นยำเท่าที่ควร แต่ คิดด์ เป็นผู้เล่นที่เหลือเชื่อไม่มีความเห็นแก่ตัวอยู่ในสมอง มีมุมมองในการจ่ายบอลที่ดีเยี่ยม สามารถคุมเกมได้อยู่
คริส พอล (นิวออร์ลีนส์ ฮอร์เน็ตส์) : ว่องไวได้ดั่งที่ทีมปรารถนา ทะลุทะลวงดีและก็ใช้ฉากจากเพื่อนได้เยี่ยม การไม่ติดทัพสหรัฐฯ ชุดลุยศึกรอบคัดเลือกโซนอเมริกา เนื่องจากขาดความแข็งแกร่งซึ่งก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ อีกทั้ง พอล ไม่แน่นอนในการชู้ตจากวงนอก
เดอรอน วิลเลียมส์ (ยูทาห์ แจซซ์) : แข็งแกร่ง ฉลาด มีความคิดสร้างสรรค์ และคล่องตัว สามารถชู้ตไกลได้ แต่ปัญหาคือ วิลเลียมส์ ยังไม่ใช่ผู้เล่นประเภทจุดปุ๊บติดได้ปั๊บ
ชู้ตติ้งการ์ด
โคบี ไบรอันท์ (แอลเอ เลเกอร์ส) : เจอกับกำแพงหิน บอสตัน เซลติกส์ ในรอบชิงชนะเลิศ NBA โคบี หาทางสลัดไม่ออกเหมือนกัน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเจอกันตัวต่อตัว โคบี ไม่มีปัญหาในการเผด็จศึกเกมรับคู่แข่ง และความสามารถเฉพาะตัวสามารถทำลายโซนได้เหมือนกัน แม้ขึ้นชื่อติดผู้เล่นทีมรับอยู่ทุกปีแต่ซูเปอร์สตาร์ยังมีจุดอ่อนเมื่อต้องป้องกันคู่แข่งที่เล่น พิก แอนด์ โรล
ดีเวย์น เหว็ด (ไมอามี ฮีท) : กลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม คงเป็นอีกคนที่เจอปัญหาการตั้งรับแบบโซนเมื่อ เหว็ด กระโดดชู้ตไม่แม่นยำนัก แต่เขาจะทรงประสิทธิภาพในการสวนกลับเร็ว การเปิดเกมรุกอย่างฉับไว อีกทั้งการป้องกันทีมบุกคู่แข่งไม่สามารถประมาทการ์ดรายนี้ไม่ได้
ไมเคิล เรดด์ (มิลวอล์คกี บัคส์) : เป็นตัวชู้ตพันธุ์แท้เพียงคนเดียวของทีม ไม่ว่าจะเจอการประกบจากคู่แข่งแบบตัวต่อตัว หรือโดนขึงโซน เรดด์ ก็ไม่มีปัญหาสำหรับการส่องไกลให้ลงห่วงชนิดแม่นดั่งจับวาง
พาวเวอร์ ฟอร์เวิร์ด
คาร์เมโล แอนโธนีย์ (เดนเวอร์ นักเก็ตส์) : ฟอร์มตกสุดขีดเมื่อฤดูกาลก่อน แต่ข้อดีของ “เมโล่แมน” คือสามารถเล่นได้ทั้งพาวเวอร์-สมอล ฟอร์เวิร์ด พรสวรรค์ ความสามารถในการสร้างสรรค์เกมบุกไม่เป็นรองใคร ทว่า แอนโธนีย์ ไม่ค่อยได้เล่นเกมรับ เขาจึงไม่น่าใช่ 5 ผู้เล่นตัวจริงในเดือนสิงหาคมนี้
คริส บอสช์ (โตรอนโต แร็พเตอร์ส) : เป็นผู้เล่นตัวสูงที่ชู้ตจากเบสไลน์ได้ดี ลูกฟรีโทรล์ก็แม่นยำ บอสช์ มีความเร็วเพียงพอในการตามเกมไปกับเพื่อนๆ แต่ก็มีปัญหาในการหยุดยั้งคู่แข่งจากด้านข้าง
สมอล ฟอร์เวิร์ด
เทรชอน ปรินซ์ (ดีทรอยต์ พิสตันส์) : แขนขายาว ครบเครื่องเรื่องป้องกันทั้งบล็อกและขโมยบอล แต่ ปรินซ์ ไม่ใช่ผู้เล่นที่แข็งแกร่ง เชื่องช้าอยู่พอสมควร จากแนวทางการเล่นของทีมเขาอาจได้ลงสนามไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก
เลอบรอน เจมส์ (คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส) : ดุดันในการทำสกอร์เนื่องจาก เลอบรอน เป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งและสร้างสรรค์เกม ชู้ตไกลก็พอได้ แต่จุดเด่นของ เลอบรอน คือการรีบาวด์ เล่นฟาสต์เบรก มองดูแล้ว "เด็กทองคำ” ถือเป็นคนสำคัญของดรีมทีมชุดนี้เลยก็ว่าได้
เซ็นเตอร์
ดไวท์ ฮาวเวิร์ด (ออร์แลนโด แมจิก) : หนักแน่นในเกมรีบาวด์ บล็อกเด็ดขาด ผ่านบอลให้เพื่อนได้ดี เก็บตกใต้แป้นยอดเยี่ยม แต่ ฮาวเวิร์ด ไม่แน่นอนในการชู้ตลูกโทษ
คาร์ลอส บูเซอร์ (ยูทาห์ แจซซ์) : การมีเซ็นเตอร์แท้ๆ เพียงคนเดียว ทำให้ บูเซอร์ อาจโดนขยับมาเล่นตำแหน่งดังกล่าวในยามจำเป็น เนื่องจากเขาเป็นจอมรีบาวด์คนหนึ่ง ชู้ตบอลระยะกลางได้แม่น แต่ถ้าโดนโพสต์จากคู่แข่งบางครั้งก็ไม่ดุดันและทรงประสิทธิภาพเพียงพอ
ภาพรวม “ดรีมทีม” เกมรับไม่มีอะไรให้น่าเป็นห่วงนักเนื่องจากผู้เล่นหลายคนเล่นเกมป้องกันได้ดี แต่เกมบุกต้องอาศัยความแม่นยำของ โคบี-เรดด์ การสร้างสรรค์เกมรุกของ เลอบรอน-เมโล่แมน ประกอบกับการรีบาวด์อย่างเห็นผลของ ฮาวเวิร์ด-บูเซอร์ และถ้า พอล-เหว็ด เค้นฟอร์มเก่งออกมาได้ก็ถือเป็นโบนัสก้อนโตของทีม