xs
xsm
sm
md
lg

วัฎจักร NBA พูดแล้วย้ำอีก / ลุงแซม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Final Quarter โดย ลุงแซม

ทันทีที่ บอสตัน เซลติกส์ ถล่ม แอลเอ เลเกอร์ส ปิดซีรีส์เกมชิงแชมป์ NBA ลงได้ในเกมที่ 6 พร้อมเถลิงแชมป์สมัยที่ 17 ในประวัติศาสตร์ วัฎจักรของลีกยัดห่วงอันดับ 1 ของโลกหมุนเวียนมาอีกครั้งและไม่แตกต่างไปจากลีกกีฬาอาชีพอื่นๆ บนโลกใบนี้มากนัก แค่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ผิดแผกไปบ้าง

เสร็จภารกิจอันยาวนาน 8-9 เดือน ประมาณ 5 สัปดาห์จากนี้ยังมีนักบาสฯ อีกหลายคนใน NBA มีคิวเดินทางไปรับใช้ชาติประลองความแม่นยำกันที่ปักกิ่ง (เกมส์) เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับอเมริกันชนที่สมาชิก “ดรีมทีม” ทั้ง 12 คนมีความกระตือรือร้นกับการไปเรียกศักดิ์ศรีของความเป็น “จ้าวแห่งเชิงยัดห่วง” คืนมา สืบเนื่องจากทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างกีฬาโอลิมปิก 2004 ที่กรุงเอเธนส์ และศึกชิงแชมป์โลก 2006 ที่ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ทำดีที่สุดเพียงแค่คว้าเหรียญทองแดงมาคล้องคอ

ด้วยความมุ่งมั่นประกอบการออกมายืนบนโลกแห่งความจริงที่ว่า “ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบและไร้เทียมทาน” ทำให้สหรัฐฯ ก้าวจากความคิดที่ว่าตัวเองเป็นเทพลงมาสู้กับทีมต่างๆ ในโอลิมปิกครั้งที่ 29 ได้อย่างแข็งแกร่ง ความสมัครสมานสามัคคีปราศจากซึ่งความเห็นแก่ตัวของซูเปอร์สตาร์ เชื่อเหลือเกินว่า “ดรีมทีม” ชุดนี้มีโอกาสดีกับการก้าวสู่บัลลังก์แชมป์อีกครั้ง

ที่ว่ามีโอกาสอันดีนั้นเนื่องจากรู้สึกได้ถึงการทำการบ้านมาเป็นอย่างดีของ “โค้ชเค” ไมค์ ครายเซวสกี ที่เรียนรู้ความผิดพลาดจากครั้งก่อนๆ นำมาผนวกปรับเปลี่ยนแผนการเล่นให้กับ “12 นักล่าฝัน” อีกทั้งโชคดูเข้าข้างสหรัฐฯ พิลึก เพราะสตาร์ของชาติต่างๆ โชคร้ายมีปัญหาบาดเจ็บติดตัวมาจากศึก NBA การขาดหายไปของ มานู จิโนบิลี กระเทือนต่อการป้องกันแชมป์ของอาร์เจนตินาแน่นอน เมื่อไร้ซึ่ง เหยา หมิง ในสภาพสมบูรณ์เต็มร้อยความได้เปรียบจากแรงเชียร์ชาวจีนก็หดหายไปกว่าครึ่ง เห็นท่ามีเพียง สเปน ที่ยืนจังก้าขวางคออยู่ ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าทัพ “กระทิงดุ” จะได้แรงบวกจากทีมลูกหนังที่เพิ่งไปคว้าแชมป์ยูโร 2008 มากน้อยแค่ไหน

นอกจากตามเกาะสถานการณ์การเข้าแคมป์ของสหรัฐฯ เรื่องราวใน NBA ก็ดำเนินต่อไปอย่างไม่ขาดตอนเหมือนกับตลาดลูกหนัง ช่วงปิดฤดูกาลทั้ง 30 ทีมมีภารกิจในเรื่องของการเสริมตัวผู้เล่น การต่อสัญญา, เทรดตัวก็เริ่มปฏิบัติการกันบ้างแล้ว และสิ่งที่เกริ่นไว้ข้างต้นคือ NBA มีความแตกต่างในส่วนของการดราฟท์ผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ลีก โดยใช้ “ล็อตเตอรีดราฟท์” ปิดโอกาสการยอมปล่อยซีซั่นเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้เล่นแห่งอนาคต

ในปี 2008 ปรากฏว่า ชิคาโก บูลส์ มีโชคอาศัยความเป็นไปได้ในการขึ้นมาดราฟท์ทีมแรกแค่ 1.7 เปอร์เซ็นต์ คว้าสิทธิเลือกก่อนเพื่อนและ “กระทิงเปลี่ยว” ก็ตัดสินใจแปะป้าย “นัมเบอร์วัน ดราฟท์” แก่ เดอร์ริค โรส การ์ดจ่ายดาวเด่นของมหาวิทยาลัยเมมฟิส ขณะที่ ไมอามี ฮีท อดีตแชมป์ปี 2006 แต่ครองบ๊วยลีกฤดูกาลก่อนใช้สิทธิอันดับ 2 คว้า ไมเคิล บีสลีย์ ฟอร์เวิร์ดดาวโรจน์ของแคนซัส สเตท มาเป็นอีกหนึ่งความหวัง

เสร็จสิ้นการดราฟท์หลายสำนักข่าวเมืองมะกันออกมาแจกเกรดการดราฟท์กันให้พรึบ แม้แฟนๆ หลายคนมึนงงกับการตัดสินใจ จอห์น แพ็กสัน ผู้จัดการทั่วไปของบูลส์ เพราะมีผู้เล่นแบ็กคอร์ตแทบเหยียบกันตายอยู่แล้วยังอุตสาห์ไปเลือก โรส เข้ามาอีก แต่ทำอย่างไรได้ในเมื่อบรรดาแมวมองยกให้ โรส เป็นการ์ดที่จัดจ้านไม่แพ้ คริส พอล หรือ เดอรอน วิลเลียมส์ ประกอบกับ เคิร์ก ไฮน์ริช ฟอร์มตกสุดขีด คริส ดูฮอน พึ่งไม่ได้อย่างที่คิด เบน กอร์ดอน ก็ไม่ยอมต่อสัญญาอยู่ในสถานภาพ “รีสตริก ฟรีเอเย่นต์” ถ้ามีข้อเสนอดีๆ เข้ามาคงไม่แคล้วมีการเทรดกันเกิดขึ้น

พูดถึงเรื่องเทรดหากอยากประสบความสำเร็จแบบฉับไวแบบเซลติกส์ ทีมของคุณต้องมี “เพดานเงินเดือน” เหลือพอ หากไม่เป็นเช่นนั้นก็ทำการบ้านกันหน่อยดั่งที่ นิวเจอร์ซีย์ เน็ตส์ ได้ดำเนินการ สูญเสีย เจสัน คิดด์ ซีซั่นก่อนกับการส่ง ริชาร์ด เจฟเฟอร์สัน ไปให้ มิลวอล์คกี บัคส์ หมาดๆ ทำให้ 2 ฤดูกาลนี้แฟนๆ เก็บความหวังการเป็นแชมป์ใส่ลิ้นชักล็อกกุญแจให้แน่น เพราะ วินซ์ คาร์เตอร์ คนเดียวแบกทีมไม่ไหวหรอก

จากนั้นซีซั่น 2009/10 อนุญาตให้ไขกุญแจปลดล็อคออกมา เนื่องจาก เน็ตส์ มีพื้นที่ของ “ซาลารีแคป” ใหญ่พอสำหรับการล่าลายเซ็น ดีเวย์น เหว็ด, เลอบรอน เจมส์ หรือว่า คริส บอสช์ ที่มีคิวเป็นฟรีเอเย่นต์ ถึงวันนั้นคงไม่มีใครมานั่งด่า กิกี แวนเดอร์เวจ์ด ในทางกลับกันคงต้องเชิดชู GM กันหน่อยกับการคิดไวมองการณ์ไกล

ว่าถึง “ฟรีเอเย่นต์” ปีนี้น่าสนใจไม่น้อย กิลเบิร์ต อารีนาส กับ ชอน แมเรียน หัวกระไดไม่แห้งเป็นแน่เนื่องจากเป็นฟรีเอเย่นต์แบบไม่มีข้อจำกัด (อันรีสตริก ฟรีเอเย่นต์) เรียกได้ว่าย้ายทีมได้ตามใจฉัน ขณะที่ใครได้เห็นความแม่นยำของ เจมส์ โพซีย์ ส่องไกลพาเซลติกส์เป็นแชมป์ หรือว่าทีมใดอยากได้เซ็นเตอร์อดีตดราฟท์อันดับ 2 เมื่อสี่ปีก่อนอย่าง อีเมกา โอกาฟอร์ ก็หาอะไรไปแลกเปลี่ยนกับ ชาร์ล็อตต์ บ็อบแคทส์ ในเมื่อทั้งสองรายนี้เป็นฟรีเอเย่นต์แบบมีข้อจำกัด (รีสตริก ฟรีเอเย่นต์)

พูดแล้วย้ำอีกในแต่ละปีหลายคนอาจเริ่มเบื่อกับ “วัฎจักร NBA” ที่ผมนำมาย้ำอยู่นั่นแหละ ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยสำหรับผู้รู้ แต่อย่างว่าครับกีฬาของชาวอเมริกันกฎเกณฑ์อะไรมันละเอียดลออ (เหลือเกิน) ดังนั้นการตอกย้ำในวันนี้เราอาจได้เพื่อนใหม่เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์แลกเปลี่ยนทรรศนะกันมากขึ้นในอนาคตก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น