ระหว่าง “บอสตัน เซลติกส์” กับ “แอลเอ เลเกอร์ส” จะมีเพียงหนึ่งเดียวที่ประกาศศักดาแชมป์ศึกบาสเกตบอลเอ็นบีเอ (NBA) ประจำฤดูกาล 2007/08 ก่อนเดินทางมาถึงซีรีส์อันเร้าใจ ประวัติศาสตร์ของทั้งสองทีมถูกเล่าขานตำนาน “คู่แค้น” แห่งวงการกีฬามะกันถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง
เกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่
อีกไม่เกิน 7 เกมแฟนๆ NBA ก็จะทราบแล้วว่าระหว่าง ‘เซลติกส์-เลเกอร์ส” ใครดีพอขึ้นไปคว้า “แลร์รี โอไบรอัน โทรฟี” ประจำปี 2008 มาครอง ย้อนอดีตกลับไปทั้งสองเฟรนไชส์มีเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ เซลติกส์ ครองแชมป์มากที่สุด 16 สมัยจากการเข้าชิง 19 ครั้ง โดยยุครุ่งเรืองเกิดขึ้นในช่วงเวลาของ บิลล์ รัสเซลล์ เซ็นเตอร์แห่งทศวรรษ 60 และเรด เอาร์บัช ตำนานโค้ชผู้ล่วงลับไปแล้ว ขณะที่ เลเกอร์ส ขึ้นนั่งบัลลังก์ 14 สมัยจากการเข้าชิง 28 หน ณ วันนี้ โคบี ไบรอันท์ มีโอกาสสานตำนานต่อจาก เจอร์รี เวสต์, วิลท์ แชมเบอร์เลน, คารีม อับดุล-จาบาร์ และแมจิก จอห์นสัน
ย้อนตำนานอริแห่งยุค 80
ช่วงทศวรรษที่ 80 ถือเป็นยุคของ ‘เซลติกส์-เลเกอร์ส’ ขนานแท้เมื่อผลัดกันครองแชมป์รวม 8 สมัย อับดุล-จาบาร์ และอัศจรรย์แห่ง (แมจิก) จอห์นสัน ช่วยให้เลเกอร์สกวาดมา 5 ครั้ง ขณะที่ “บิ๊กทรี” แลร์รี เบิร์ด, เควิน แม็คเฮล และโรเบิร์ต แพริช ช่วยให้เซลติกส์มีเกียรติยศติดมือ 3 หน การประจัญหน้ากันเองสามครั้ง เลเกอร์ส ได้เฮมากกว่าหนึ่งหน และหากยังจำกันได้ในปี 1984 เกมดุถึงขนาด แม็คเฮล หยุดยั้ง เคิร์ต แรมบิส ด้วยการโคธไลน์ แต่อีกสี่ปีให้หลัง จอห์นสัน ก็เอาคืนในเกมด้วยการสกายฮุคลงห่วงในวินาทีท้ายใส่ แม็คเฮล และแพริช
‘เซลติกส์-เลเกอร์ส’ New Generation
ห่างหายจากรสชาดแชมเปี้ยนส์ไปนาน 21 ปี เซลติกส์ ปลุกปั้น “บิ๊กทรี” ขึ้นมาอีกครั้ง พอล เพียร์ซ, เควิน การ์เนตต์ และเรย์ อัลเลน ทำให้ทีมเขยิบใกล้ตำแหน่งแชมป์ที่สุดตั้งแต่ปี 1987 (ที่พ่ายเลเกอร์ส 2-4 เกม) เคนดริก เพอร์กินส์ กับ ราฮอน รอนโด ใจใหญ่เกินอายุ ด้านของเลเกอร์ส โคบี โดนปรามาสขาด แชคคิว โอนีล (เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด) เหมือนขาดใจ ทว่าการมาของ พาว กาซอล ผนวกการคัมแบ็กของ ดีเร็ค ฟิชเชอร์ และการก้าวขึ้นมาของผู้เล่นดาวรุ่งหลายคนทำให้ เลเกอร์ส มีโอกาสสัมผัสแชมป์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2002
เทียบขุนพล 5 ตัวจริงตำแหน่งต่อตำแหน่ง
เซ็นเตอร์ : กาซอล เซ็นเตอร์ทีมชาติสเปนเติมเต็มเกมวงใน เลเกอร์ส ได้อย่างเห็นผลนับตั้งแต่เทรดมาช่วงกลางฤดูกาล ฝีไม้ลายมือและประสบการณ์ถูกยกให้เหนือกว่า เพอร์กินส์ ทว่าดาวรุ่งที่เพิ่งเล่นในลีกมาแค่ 5 ซีซั่นเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นและแสดงออกมาให้เห็นกันแล้วในช่วงเพลย์ออฟหลายๆ เกม
พาวเวอร์ฟอร์เวิร์ด : การ์เนตต์ มีดีกรีเป็นถึงผู้เล่นเกมรับยอดเยี่ยมแห่งปี แต่ “เค.จี.” ก็มีทีเด็ดในเกมรุกทำเฉลี่ย 22.8 แต้มต่อเกมในซีรีส์ชิงแชมป์สายตะวันออกกับ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ด้วยแรงผลักดันจากภายในที่ต้องการแชมป์ประกอบกับชื่อชั้นยังเหนือกว่า ลามาร์ โอดอม ซึ่งไม่คงเส้นคงวาเอาเสียเลยในเกมชิงแชมป์ฝั่งตะวันตกกับ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส
สมอลล์ฟอร์เวิร์ด : เล่นในลีกมา 10 ปีเต็ม เพียร์ซ เพิ่งได้สัมผัสบรรยากาศลุ้นแชมป์ การเผชิญหน้ากับทีมบ้านเกิดทำให้ความมุ่งมั่นเพิ่มเป็นสองเท่า ที่ผ่านมารับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้ดี มีทีเด็ดทีขาดในเกมสำคัญอย่างเช่น การทำไปคนเดียว 41 แต้มใส่ คลีฟแลนด์ แคฟวาเลียร์ส ในเกมที่ 7 ส่วน วลาดิเมียร์ ราดมาโนวิช ถือเป็นจุดอ่อนที่สุดของเลเกอร์ส ถ้าวันใดไม่แม่นขึ้นมาคู่แข่งก็สามารถตั้งรับกันได้มากขึ้น
ชู้ตติ้งการ์ด : อัลเลน เรียกความมั่นใจกลับมาได้จากการทำเฉลี่ย 23 แต้มในสองเกมสุดท้ายของซีรีส์ชิงแชมป์สาย แต่การประกบกับ โคบี ทำให้ภาระของการการ์ดวัย 32 ปีเพิ่มขึ้นเป็นกอง ความไวที่เป็นรองเจอกับการทำเฉลี่ย 31.9 แต้มในเพลย์ออฟ ยากที่ใครจะใส่กุญแจผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) ของลีก
พอยด์การ์ด : รอนโด กล้าเล่นอย่างเหลือเชื่อทั้งที่มีประสบการณ์แค่ 2 ปี ความไวคือจุดเด่นสามารถทะลวงใส่ ฟิชเชอร์ ทว่าความแม่นยำกลายเป็นจุดด้อยที่เผยไต๋ให้เห็นบ้างแล้ว การมาเจอกับการ์ดที่เล่นในลีกมา 12 ปีและมีแหวนแชมป์สวมที่นิ้วถึง 3 วงจึงไม่ง่ายเอาเสียเลย
ขุมกำลังเสริม
เซลติกส์ ผสมผสานลูกเก๋าระหว่าง แซม คาสเซลล์, พี.เจ.บราวน์ และเจมส์ โพซีย์ ให้เข้ากับความสดของ ลีออน โพล กับ เกล็น เดวิส ทว่าระยะเวลาการลงสนามที่น้อยเกินไปทำให้ผลงานไม่เข้าตาผิดกับทาง ลุค วอลตัน, จอร์แดน ฟาเมียร์, ซาชา วูยาซิช และรอนนี ทูเรียฟ ที่อาศัยความสดมีส่วนพา เลเกอร์ส มายืนอยู่ ณ จุดนี้เช่นกัน
พิสูจน์กึ๋นหัวหน้าโค้ช
ด็อกซ์ ริเวอร์ส คลุกเคล้าจน เซลติกส์ ลงตัวได้อย่างเหลือเชื่อ ชัยชนะในฤดูกาลปกติถึง 66 เกมเกือบทำให้คว้าตำแหน่งโค้ชแห่งปีมาครอง อย่างไรก็ตาม ไม่มีโค้ชคนใดที่ชนะเพลย์ออฟมากไปกว่า ฟิล แจ็คสัน ซึ่งกำลังตามหาแหวนแชมป์ให้ครบ 10 นิ้วในฐานะโค้ช และถ้าเป็นเช่นนั้น “บิ๊กฟิล” ก็จะก้าวผ่านตำนานของ เอาร์บัช ไปโดยปริยาย