คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน
ในโลกของเรานี้ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีมนุษย์เพียงไม่กี่คนที่สามารถวิ่งระยะทาง 100 เมตรโดยใช้เวลาไม่ถึง 10 วินาที และเมื่อวันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา สุดยอดลมกรดต่ำกว่า 10 วินาทีคนล่าสุดก็เพิ่งเผยโฉมออกมา พร้อมกับการสร้างสถิติใหม่สดๆร้อนๆ 9.72 วินาที เขาคือ อุสเซน โบลท์ ( Usain Bolt ) นักกรีฑาชาวจามายกา เจ้าของฉายา “ เจ้าสายฟ้าแลบ ” ( The Lightning Bolt ) ซึ่งบัดนี้เขากลายเป็นมนุษย์ที่วิ่งเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลกไปแล้ว
การบันทึกสถิติโลกในกรีฑานั้น ดังที่รู้กันอยู่แล้วว่า ทางสหพันธ์กรีฑานานาชาติ ( International Association of Athletics Federations หรือ IAAF ) ต้องเป็นผู้ให้การรับรอง องค์กรนี้ได้ถูกก่อตั้งขึ้น พร้อมๆกับการประชุมกันในหมู่สมาคมกรีฑาจาก 17 ประเทศที่กรุงสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดนในปี 1912 โดยมีมติให้ไปจัดตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า สหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นนานาชาติ ( International Amateur Athletics Federation ) และสมัยนั้น เขายังห้ามนักกรีฑาสมัครเล่นรับผลประโยชน์เป็นเงินทั้งสิ้น แต่ต่อมาในปี 1982 ทางสหพันธ์ฯได้เปลี่ยนแปลงกฎบางข้อ ซึ่งมีผลให้นักกรีฑามีสิทธิ์รับเงินค่าตอบแทนอันเกิดจากการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ระหว่างนั้นในปี 1993 สหพันธ์ฯก็ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาตั้งอยู่ที่ราชรัฐโมนาโก จนถึงปี 2001 ก็ได้โอกาสเปลี่ยนชื่อสหพันธ์ฯ โดยถอดคำว่า สมัครเล่น ออกไป แล้วแทนด้วยคำที่ขึ้นต้นด้วยตัว A เหมือนกันคือ Association จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนตัวย่อ นั่นจึงกลายมาเป็นชื่อสพพันธ์ฯที่ผมกล่าวไปแล้ว ส่วนเรื่องตัวย่อนั้น ถ้าเป็นภาษาอังกฤษอ่านว่า อายเอเอเอ็ฟ ส่วนภาษาฝรั่งเศสจะเรียกว่า อีเดอซาแอ็ฟ ( I2AF )
เมื่อเริ่มมีการบันทึกสถิติการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่กันในปี 1912 นั้น การจับเวลาในระยะแรกยังใช้กรรมการถือนาฬิกากดปุ่มเม็ดมะยมเอาดื้อๆอยู่เลย เป็นแบบ แมนนวล ( Manual ) ต่อมามีเครื่องจับเวลาทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 1977 ถ้าจะให้ IAAF รับรองสถิติ ก็ต้องใช้ระบบอีเล็คโทรนิคส์ในการจับเวลาเท่านั้น ยิ่งในปัจจุบัน มีการติดตั้งระบบตรวจจับที่เรียกว่า เซนเซอร์ ( Sensor ) ตรงจุดออกสตาร์ทและเส้นชัย เชื่อมต่อกับระบบจับเวลา แถมมีกล้องถ่ายภาพความเร็วสูงระบบดิจิตอลที่เรียกว่า Digital Line-Scan Camera ติดตั้งเอาไว้อีก ซึ่งเจ้ากล้องที่ว่านี้สามารถแสดงภาพพร้อมเส้นแบ่งตั้งแต่ 100 ถึง 10,000 เส้นในช่วงวินาทีใดก็ได้ที่เกิดความสงสัยอยากพิสูจน์ให้รู้ชัดกันไปเลยว่าใครเหนือกว่าใคร นั่นแสดงว่า ระบบจับเวลาที่ว่านี้ก็สามารถบันทึกเวลาได้ละเอียดถึง 1 ส่วน 10,000 วินาทีด้วยซ้ำไป แต่ทาง IAAF ให้แสดงผลอย่างเป็นทางการเพียง 1 ส่วน 100 วินาทีเท่านั้น รวมความแล้วระบบนี้เรียกว่า การจับเวลาอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ ( Fully Automatic Timing หรือ FAT )
เรื่องของกระแสลมก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันกรีฑาด้วยเหมือนกัน เพราะหากมีกระแสลมมาจากทางด้านหลังของนักวิ่ง ซึ่งเรียกว่า ลมส่งท้าย ถ้าพัดแรงมาก ลมจะช่วยผลักนักวิ่งให้ไปเร็วกว่าปกติ ในทางตรงกันข้าม กระแสลมที่พัดสวนทางกับนักวิ่ง ซึ่งเรียกว่า ลมต้าน กลับทำให้นักวิ่งทำผลงานได้ช้ากว่าที่เคย ดังนั้น เขาจึงมีเครื่องวัดอัตราความเร็วลม เพื่อช่วยให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขัน โดยมีหน่วยวัดเป็น เมตรต่อวินาที ( m/s ) เจ้าเครื่องนี้จะถูกตั้งไว้ที่ข้างช่องวิ่งที่ 1 ที่ระยะ 50 เมตรก่อนถึงเส้นชัย และเริ่มวัดอัตราความเร็วลมเมื่อมีประกายไฟของปืนสตาร์ทหรือเครื่องปล่อยตัวนักวิ่ง ซึ่งการวัดอัตราความเร็วลมในการแข่งขันก็ยังมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น รายการวิ่ง 100 เมตร เขาจะวัดเป็นเวลา 10 วินาที แต่สำหรับรายการวิ่ง 200 เมตร อัตราความเร็วลมจะเริ่มวัดกันเมื่อลมกรดคนแรกวิ่งเข้าสู่ช่วงทางตรง และวัดเป็นเวลา 10 วินาที เป็นต้น สิ่งที่สำคัญก็คือ ในรายการวิ่งระยะสั้น จนถึงรายการวิ่ง 200 เมตร ถ้ามีลมส่งท้ายที่มีอัตราความเร็วมากกว่า 2 เมตรต่อวินาที สถิตินั้นจะไม่ได้รับการยอมรับ
นี่เป็นการเตรียมความรู้สำหรับการชมกีฬาให้สนุก โดยเฉพาะ โอลิมปิค เกมส์ 2008 ที่กรุงเป่ยจิง ประเทศจีนที่กำลังจะมาถึงในอีกเพียง 2 เดือนข้างหน้าแล้ว สัปดาห์หน้า เราจะมาดูกันนะครับว่า นักกรีฑาคนไหนวิ่ง 100 เมตรได้เร็วกว่า 10 วินาทีกันบ้าง ผมขอเรียนท่านผู้อ่านไว้ก่อนว่า ลมกรดจ้าวพายุพวกนี้มีหลายสิบคนอยู่เหมือนกัน แต่ผมจะขอคัดเอาเฉพาะคนที่ทำลายสถิติเดิมเท่านั้น สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อครับ
ในโลกของเรานี้ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีมนุษย์เพียงไม่กี่คนที่สามารถวิ่งระยะทาง 100 เมตรโดยใช้เวลาไม่ถึง 10 วินาที และเมื่อวันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา สุดยอดลมกรดต่ำกว่า 10 วินาทีคนล่าสุดก็เพิ่งเผยโฉมออกมา พร้อมกับการสร้างสถิติใหม่สดๆร้อนๆ 9.72 วินาที เขาคือ อุสเซน โบลท์ ( Usain Bolt ) นักกรีฑาชาวจามายกา เจ้าของฉายา “ เจ้าสายฟ้าแลบ ” ( The Lightning Bolt ) ซึ่งบัดนี้เขากลายเป็นมนุษย์ที่วิ่งเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลกไปแล้ว
การบันทึกสถิติโลกในกรีฑานั้น ดังที่รู้กันอยู่แล้วว่า ทางสหพันธ์กรีฑานานาชาติ ( International Association of Athletics Federations หรือ IAAF ) ต้องเป็นผู้ให้การรับรอง องค์กรนี้ได้ถูกก่อตั้งขึ้น พร้อมๆกับการประชุมกันในหมู่สมาคมกรีฑาจาก 17 ประเทศที่กรุงสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดนในปี 1912 โดยมีมติให้ไปจัดตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า สหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นนานาชาติ ( International Amateur Athletics Federation ) และสมัยนั้น เขายังห้ามนักกรีฑาสมัครเล่นรับผลประโยชน์เป็นเงินทั้งสิ้น แต่ต่อมาในปี 1982 ทางสหพันธ์ฯได้เปลี่ยนแปลงกฎบางข้อ ซึ่งมีผลให้นักกรีฑามีสิทธิ์รับเงินค่าตอบแทนอันเกิดจากการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ระหว่างนั้นในปี 1993 สหพันธ์ฯก็ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาตั้งอยู่ที่ราชรัฐโมนาโก จนถึงปี 2001 ก็ได้โอกาสเปลี่ยนชื่อสหพันธ์ฯ โดยถอดคำว่า สมัครเล่น ออกไป แล้วแทนด้วยคำที่ขึ้นต้นด้วยตัว A เหมือนกันคือ Association จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนตัวย่อ นั่นจึงกลายมาเป็นชื่อสพพันธ์ฯที่ผมกล่าวไปแล้ว ส่วนเรื่องตัวย่อนั้น ถ้าเป็นภาษาอังกฤษอ่านว่า อายเอเอเอ็ฟ ส่วนภาษาฝรั่งเศสจะเรียกว่า อีเดอซาแอ็ฟ ( I2AF )
เมื่อเริ่มมีการบันทึกสถิติการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่กันในปี 1912 นั้น การจับเวลาในระยะแรกยังใช้กรรมการถือนาฬิกากดปุ่มเม็ดมะยมเอาดื้อๆอยู่เลย เป็นแบบ แมนนวล ( Manual ) ต่อมามีเครื่องจับเวลาทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 1977 ถ้าจะให้ IAAF รับรองสถิติ ก็ต้องใช้ระบบอีเล็คโทรนิคส์ในการจับเวลาเท่านั้น ยิ่งในปัจจุบัน มีการติดตั้งระบบตรวจจับที่เรียกว่า เซนเซอร์ ( Sensor ) ตรงจุดออกสตาร์ทและเส้นชัย เชื่อมต่อกับระบบจับเวลา แถมมีกล้องถ่ายภาพความเร็วสูงระบบดิจิตอลที่เรียกว่า Digital Line-Scan Camera ติดตั้งเอาไว้อีก ซึ่งเจ้ากล้องที่ว่านี้สามารถแสดงภาพพร้อมเส้นแบ่งตั้งแต่ 100 ถึง 10,000 เส้นในช่วงวินาทีใดก็ได้ที่เกิดความสงสัยอยากพิสูจน์ให้รู้ชัดกันไปเลยว่าใครเหนือกว่าใคร นั่นแสดงว่า ระบบจับเวลาที่ว่านี้ก็สามารถบันทึกเวลาได้ละเอียดถึง 1 ส่วน 10,000 วินาทีด้วยซ้ำไป แต่ทาง IAAF ให้แสดงผลอย่างเป็นทางการเพียง 1 ส่วน 100 วินาทีเท่านั้น รวมความแล้วระบบนี้เรียกว่า การจับเวลาอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ ( Fully Automatic Timing หรือ FAT )
เรื่องของกระแสลมก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันกรีฑาด้วยเหมือนกัน เพราะหากมีกระแสลมมาจากทางด้านหลังของนักวิ่ง ซึ่งเรียกว่า ลมส่งท้าย ถ้าพัดแรงมาก ลมจะช่วยผลักนักวิ่งให้ไปเร็วกว่าปกติ ในทางตรงกันข้าม กระแสลมที่พัดสวนทางกับนักวิ่ง ซึ่งเรียกว่า ลมต้าน กลับทำให้นักวิ่งทำผลงานได้ช้ากว่าที่เคย ดังนั้น เขาจึงมีเครื่องวัดอัตราความเร็วลม เพื่อช่วยให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขัน โดยมีหน่วยวัดเป็น เมตรต่อวินาที ( m/s ) เจ้าเครื่องนี้จะถูกตั้งไว้ที่ข้างช่องวิ่งที่ 1 ที่ระยะ 50 เมตรก่อนถึงเส้นชัย และเริ่มวัดอัตราความเร็วลมเมื่อมีประกายไฟของปืนสตาร์ทหรือเครื่องปล่อยตัวนักวิ่ง ซึ่งการวัดอัตราความเร็วลมในการแข่งขันก็ยังมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น รายการวิ่ง 100 เมตร เขาจะวัดเป็นเวลา 10 วินาที แต่สำหรับรายการวิ่ง 200 เมตร อัตราความเร็วลมจะเริ่มวัดกันเมื่อลมกรดคนแรกวิ่งเข้าสู่ช่วงทางตรง และวัดเป็นเวลา 10 วินาที เป็นต้น สิ่งที่สำคัญก็คือ ในรายการวิ่งระยะสั้น จนถึงรายการวิ่ง 200 เมตร ถ้ามีลมส่งท้ายที่มีอัตราความเร็วมากกว่า 2 เมตรต่อวินาที สถิตินั้นจะไม่ได้รับการยอมรับ
นี่เป็นการเตรียมความรู้สำหรับการชมกีฬาให้สนุก โดยเฉพาะ โอลิมปิค เกมส์ 2008 ที่กรุงเป่ยจิง ประเทศจีนที่กำลังจะมาถึงในอีกเพียง 2 เดือนข้างหน้าแล้ว สัปดาห์หน้า เราจะมาดูกันนะครับว่า นักกรีฑาคนไหนวิ่ง 100 เมตรได้เร็วกว่า 10 วินาทีกันบ้าง ผมขอเรียนท่านผู้อ่านไว้ก่อนว่า ลมกรดจ้าวพายุพวกนี้มีหลายสิบคนอยู่เหมือนกัน แต่ผมจะขอคัดเอาเฉพาะคนที่ทำลายสถิติเดิมเท่านั้น สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อครับ