เอเชียนวอลสตรีท/เอเจนซี- ไต้ฝุ่น “มรกต” ไม่เพียงทำลายชีวิตและทรัพย์สินของชาวไต้หวันย่อยยับเป็นครั้งประวัติการณ์ ยังได้พัดพาคะแนนนิยมของประมุขเกาะคือ ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ตกอับลงในช่วงจังหวะสำคัญที่เขาต้องการเสียงสนับสนุนมาผลักดันนโยบายกระชับสัมพันธ์กับจีน
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ความไร้น้ำยาในการรับมือไต้ฝุ่นมรกต อีกทั้งแรงกดดันทางการเมือง ทำให้ประธานาธิบดีหม่า อิ่งจิ่วถึงกับแถลงขอโทษที่รัฐบาลเชื่องช้าในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติครั้งนี้
ไต้ฝุ่นมรกตซัดกระหน่ำภาคใต้ของไต้หวันมากว่าสัปดาห์ถึงวันอาทิตย์(16 ส.ค.) ตัวเลขทางการระบุผู้เสียชีวิตจากไต้ฝุ่นฯ รวมทั้งสิ้น 124 คน และอีก 62 ชีวิต สูญหาย ขณะที่บางแหล่งฯบอกว่ามีประชาชนในหมู่บ้านเสี่ยวหลิน ถึง 400 คน สูญหายไป
ชาวบ้านหลายพันคนต้องนั่งหนาวสะท้านร่ำไห้กลางแจ้งท่ามกลางพายุและห่าฝน หลังจากที่บ้านเรือนพวกเขาถูกน้ำท่วมและดินถล่มพังราบ
หม่า อิงจิ่ว แถลงขอโทษในวันเสาร์(15 ส.ค.) ที่มิอาจระดมมาตรการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ดีกว่านี้ จนพวกเขาต้องเดือนร้อนสาหัสขนาดนี้ “ที่จริงพวกเราสามารถทำได้ดี และรวดเร็วกว่านี้ แต่ก็ไม่ได้ทำ พวกเราเสียใจจริงๆ” หม่ากล่าว
คำขอโทษของหม่าหวังที่จะผ่อนเพลากระแสความโกรธ ที่แผ่ลามแม้ในหมู่สมาชิกพรรคก๊กมินตั่งของเขาเอง แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์โปรรัฐบาลหม่าอย่าง China Times ก็ยังเปรียบเทียบผลงานการรับมือภัยพิบัติธรรมชาติครั้งนี้กับของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้ถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องการรับมือกับจ้าวพายุเฮอริเคน แคทรีน่า เมื่อปี 2548
“ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ประธานาธิบดีหม่าไม่รู้จักใช้อำนาจ เขาอาจลืมไปว่าประธานาธิบดีบุชต้องอัปยศขนาดไหนในพายุเฮอริเคน” China Times ระบุในบทบรรณาธิการ
สิ่งที่นับเป็นความผิดพลาดมหันต์ของรัฐบาลหม่า ก็คือไม่ได้เรียกร้องความช่วยเหลือจากนานาชาติเข้ามาร่วมแก้ไขและบรรเทาวิกฤต จนในวันอาทิตย์(16 ส.ค.) ที่ยอดประชาชนล้มตายไปในไต้ฝุ่นพุ่งเป็นร้อยๆศพ จึงมีความช่วยเหลือต่างชาติทยอยเข้ามา ทั้งจากออสเตรเลีย ที่สัญญาส่งอุปกรณ์บำบัดน้ำและน้ำบริสุทธิ์ สหรัฐอเมริกาก็นำเฮลิคอปเตอร์ระวางหนัก สามารถยกเครน และเครื่องจักรกลหนักอื่นๆที่จำเป็นในการกอบกู้และซ่อมแซม
ไต้หวันยังขอให้จีนช่วยส่งบ้านชั่วคราวสำหรับผู้รอดชีวิต ซึ่งความช่วยเหลือระลอกแรกจะมาถึงในวันอังคารนี้(18 ส.ค.)
ประธานาธิบดีหม่าได้รับเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2551 และกำลังมุ่งกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับแผ่นดินใหญ่ท่ามกลางกระแสคัดค้านว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้ไต้หวันสูญเสียอธิปไตย กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์การรับมือไต้ฝุ่น บั่นทอนอำนาจของหม่าในช่วงจังหวะเวลาสำคัญที่เขาต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากทั้งสาธารณชน และสภานิติบัญญัติ เพื่อช่วยสนับสนุนการกระชับสัมพันธ์กับจีน
ทั้งนี้ ผู้นำเจียง ไคเช็คนำกำลังถอยร่นมาที่เกาะไต้หวันหลังแพ้สงครามกลางเมืองเมื่อปี 2492 และจัดตั้งรัฐบาลแยกต่างหาก สองจีนระหว่างช่องแคบไต้หวันเป็นปฏิปักษ์กันมานับจากนั้น และเพิ่งมากระชับสัมพันธ์ครั้งประวัติการณ์หลังหม่า อิงจิ่วขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปีที่ผ่านมา ถึงกับเปิดการเชื่อมโยงโดยตรงสามด้านที่ตัดขาดกันมาร่วม 60 ปี ได้แก่ การติดต่อทางอากาศ การขนส่งทางทะเล และการไปรษณีย์.