การได้สิทธิคัดเลือกผู้เล่นระดับมหาวิทยาลัยที่ดูมีแวว “ซูเปอร์สตาร์” เข้ามาเสริมทัพของทีมที่มีสถิติแย่ที่สุดของศึกอเมริกัน ฟุตบอล เอ็นเอฟแอล (NFL) นับเป็นโอกาสอันดีที่พวกเขาจะได้ลุกขึ้นมาหายใจหายคอมีเปอร์เซ็นต์ที่จะพบกับความสำเร็จเพิ่มขึ้นมากันบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารทีมในเอ็นเอฟแอลต้องพึงระลึกและศึกษาจากอดีตที่ผ่านมาว่าการได้สิทธิ “นัมเบอร์วันท์ ดราฟท์” ไม่ได้การันตีความสำเร็จเสมอไป
ทีม (อเมริกัน) ฟุตบอลอาชีพในเอ็นเอฟแอล ทำการบ้านกันอย่างหนักสำหรับการดราฟท์ในแต่ละปี ทั้งส่งบรรดาแมวมองตระเวนไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อจับตามองดาวรุ่ง หรือแม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของแต่ละเฟรนไชส์ลงทุนเดินทางมาดูผู้เล่นเหล่านี้ซ้อมโชว์ด้วยตนเองในช่วงสเกาทิง คอมไบน์ แม้จะไตร่ตรองกันอย่างถี่ถ้วนก็ยังอุตสาห์เจอนักกีฬาจำพวก “ของปลอมทำเหมือน” ยิ่งถ้าเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 1 ก็ยิ่งเจ็บใจเข้าไปใหญ่
หากพูดถึง “นัมเบอร์วันท์ ดราฟท์” ที่ติดอันดับเล่นได้ขี้เหร่สุดในประวัติศาสตร์ ชื่อของ “ทิม เคาช์” คงผุดขึ้นมาในหัวของแฟนๆ คนชนคน ย้อนกลับไปในปี 1999 คลีฟแลนด์ บราวน์ส ใช้สิทธิอันล้ำค่าคัดเลือก (ว่าที่) ควอเตอร์แบ็กซูเปอร์สตาร์ของมหาวิทยาลัย เคนทัคกี เข้าสู่ลีกเป็นคนแรก ทั้งๆ ที่ครั้งนั้นมีตัวเลือกที่น่าสนใจอย่าง โดโนแวน แม็คแนบบ์, เอ็ดเจอรีน เจมส์, ริคกี วิลเลียมส์, เทอร์รี โฮลท์ หรือแม้แต่ แชมป์ เบลีย์ เข้าคิวรอโอกาสอย่างใจจดใจจ่อ
แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อเห็นๆ กันอยู่ว่า เคาช์ ดูดีมีพรสวรรค์ ครั้งเรียนระดับไฮสคูล “อีเอสพีเอ็น” (ESPN) สื่อชั้นนำแดนมะกันยกย่องให้เด็กคนนี้อยู่ในอันดับ 6 ของนักกีฬาที่น่าจะมีอนาคตที่สุดในวงการคนชนคน ทอม เลมมิง นักวิเคราะห์ชื่อดังมองว่า เคาช์ จะเป็นควอเตอร์แบ็กที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ยุคของ จอห์น เอลเวย์ (ตำนาน เดนเวอร์ บรองโกส์) แถมช่วงเล่นให้ เคนทัคกี จอมทัพร่าง 6 ฟุต 4 นิ้ว (193 เซนติเมตร) ก็ขว้างได้ระเบิดระเบ้อ ปี 1998 เคยมีชื่อลุ้น “”ไฮส์แมน โทรฟี” มาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเล่นอาชีพมันคนละเรื่องกันเลย ขวบปีแรก เคาช์ ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงตั้งแต่สัปดาห์ที่สอง แต่ บราวน์ส แพ้ทั้งเจ็ดเกมแรก จบฤดูกาลด้วยสถิติชนะ 2 แพ้ 14 เกม เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เฟรนไชส์ก่อตั้งมา ตลอดห้าปีที่เล่นให้ทีม เคาช์ เจอแฟนๆ โห่ใส่ระงมกับผลงานการขว้างได้ระยะไปทั้งสิ้น 11,131 หลาจากการขว้างเข้าเป้าคิดเป็น 59.8 เปอร์เซ็นต์ 64 ทัชดาวน์ เสียไป 67 อินเทอร์เซปต์ กับอีก 37 ฟัมเบิล
ความทรงจำดีๆ ที่กองเชียร์ “เจ้าตูบ” มีต่อ เคาช์ คือเห็นจอมทัพรายนี้พาทีมจบฤดูกาล 2001/02 ด้วยสถิติชนะ 9 แพ้ 7 เกม เข้าเพลย์ออฟเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1994 แต่ปัญหาบาดเจ็บรุมเร้าที่หัวไหล่ประกอบกับโชคร้ายขาหักในเกมสุดท้ายของฤดูกาลปกติ เคาช์ จึงเสียตำแหน่งตัวจริงให้ เคลลี โฮลคอมบ์ ก่อนถูกทีมปล่อยเป็นฟรีเอเย่นต์ในปี 2004 และก็ปิดฉากอาชีพด้วยวัยเพียง 29 ปีด้วยการถูก แจ็คสันวิลล์ จากัวส์ ตัดตัวทิ้งในช่วงพรีซีซั่นปี 2007
นอกจาก เคาช์ “นับเบอร์วันท์ ดราฟท์” ซึ่งสื่อแดนมะกันจัดว่าเป็นการดราฟท์ที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เอ็นเอฟแอล ติดอันดับท็อปเทน ชื่อที่พอคุ้นๆ ก็มี คอร์ทนีย์ บราวน์ (ดีเฟนด์ซีฟ เอนด์ : คลีฟแลนด์ บราวน์ส) รวมถึง เดวิด คาร์ ควอเตอร์แบ็กคนแรกของเฟรนไชส์ ฮุสตัน เท็กแซนส์ ที่ถูกดึงเข้าสู่ทีมในปี 2002 แต่การทำหน้าที่จอมทัพในถิ่นรีไลอันท์ สเตเดี้ยม 5 ปีอดีตสตาร์เฟรสโน สเตท ไม่เคยพาทีมครองสถิติชนะมากกว่าแพ้เลย ดีที่สุดคือฤดูกาล 2004/05 ที่เท็กแซนส์ มีสถิติ 7-9 เกม
ปัจจุบัน คาร์ ระเห็จจากถิ่น “เสือดำ” แคโรไลนา แพนเธอร์ส มาเป็นสำรองให้ อีลาย แมนนิง เจ้าบ่าวใหม่แกะกล่องที่เพิ่งพา “ยักษ์ใหญ่” นิวยอร์ก ไจแอนท์ส ครองแชมป์ซูเปอร์โบว์ล ครั้งที่ 42 เมื่อช่วงต้นปี ซึ่งโอกาสที่จะได้เห็น คาร์ กลับมาเป็นตัวจริงให้ทีมใดทีมหนึ่งคงยากแล้วแม้อายุอานามเพิ่งจะ 28 ปีก็ตาม
ตามเทรนด์ 10 ปีหลังของการดราฟท์ปรากฏว่า “ควอเตอร์แบ็ก” เป็นตำแหน่งที่ถูกคัดเลือกเข้าลีกเป็นคนแรกมากที่สุดถึง 8 คน อย่างไรก็ดี มีเพียงพี่น้องตระกูล “แมนนิ่ง” (เพย์ตัน-อีลาย) เท่านั้นที่พา อินเดียนาโปลิส โคลต์ส และไจแอนท์ส ขึ้นไปถึงเกียรติยศสูงสุดแต่กว่าจะถึงจุดนั้นก็ต้องใช้เวลาพอสมควร สุภาษิตที่ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” จึงน่าจะเหมาะสมที่สุด
สำหรับการดราฟท์ประจำปี 2008 จะมีขึ้นในคืนวันเสาร์นี้ตามวัน-เวลาท้องถิ่นในนิวยอร์ก อย่างไรก็ตามล่าสุด “โลมามหาภัย” ไมอามี ดอลฟินส์ ทีมที่ชนะแค่ 1 แพ้ถึง 15 เกมฤดูกาลก่อน ตัดสินใจเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับ เจค ลอง ออฟเฟนด์ซีฟ แท็คเกิล ตัวเก่งของ มิชิแกน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คงต้องมาดูกันว่าไลน์แมนรายนี้จะเลือกอยู่ข้างเดียวกับพี่น้องตระกูลแมนนิง หรือปล่อยให้ชื่อตัวเองเข้าไปอยู่รวมกับ เคาช์ และคาร์