xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ‘อาชีพรับซื้อเงินดิจิทัล’ คึกคักแน่ หลังรัฐบาลเพื่อไทยแจก 10,000 บาท!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เกิดแน่ไตรมาส 4 ปี 67 ‘รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ’ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้แจกเงินดิจิทัลไม่ต่างจาก ‘กองทุนหมู่บ้าน’ ยุครัฐบาลทักษิณ ที่ใช้งบกว่า 80,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ผล ขณะที่จุดอ่อนของเงินดิจิทัลคนได้รับแจก-พ่อค้าแม่ค้าตัวจริงในหมู่บ้าน ตำบลกลับไม่ได้รับประโยชน์ตามเงื่อนไข เผยกลไกต่างๆ เอื้อนายทุนเงินที่ใส่เข้าไปจะหมุนได้ไม่เกิน 2 รอบ จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือจับตาจะเกิดอาชีพใหม่ ‘นายหน้ารับซื้อเงินดิจิทัล’ แจงเจ้าของเงินดิจิทัลยอมลดราคาได้เงินสด 8  พันบาทก็ทำให้เวทีตรงนั้นคึกคักแล้ว จี้รัฐบาลเศรษฐา จะมีวิธีป้องกันเรื่องนี้อย่างไร!

แม้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังไม่ทันถึงมือประชาชนก็ตาม แต่มั่นใจได้ว่าโครงการนี้เกิดแน่ เพราะเป็นนโยบายเรือธงรัฐบาลเพื่อไทยในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะทำให้ GDP เติบโตได้ ส่วนตัวเลข GDP จะเป็นเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐบาลวางไว้

โดยในวันที่ 24 ก.ค.ที่จะถึงนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะออกมาแถลงข่าวการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนและการยืนยันตัวตน สำหรับกรอบโครงการต่างๆ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้พร้อมสำหรับการลงทะเบียนของประชาชนต่อไป

ส่วนวงเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นไปตามกรอบเดิมคือ 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วนจากงบประมาณปี 68 งบปี 67 และเงินกู้จาก ธ.ก.ส.ทั้งนี้ งบประมาณทั้ง 3 ส่วนจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายระบุไว้ทั้งสิ้น

ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าโครงการนี้มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านจากองค์กรต่างๆ เช่น แบงก์ชาติ นักวิชาการสถาบันต่างๆ นักการเมือง พรรคการเมือง รวมทั้งประชาชนบางกลุ่ม แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าจนมาถึงวันนี้พร้อมยืนยันว่าเงินดังกล่าวคาดว่าจะถึงมือประชาชนในไตรมาส 4 แน่นอน

ดังนั้น เมื่อเงินดิจิทัล 10,000 บาท กำลังจะถึงมือประชาชน แต่ยังมีเสียงและภาพสะท้อนที่รัฐบาลเศรษฐา และสังคมควรตระหนักและต้องรีบปิดช่องโหว่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เงิน 500,000 ล้านบาท เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้นายทุนจริงหรือไม่!?


รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ และติดตามนโยบายโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มาตั้งแต่ต้นและต่อเนื่องมาตลอด เชื่อว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามทฤษฎีจะเกิดการหมุนเวียน แต่ในข้อเท็จจริงและบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในเชิงธุรกิจ พฤติกรรมของคนจะไม่ทำให้การหมุนเวียนเกิดขึ้นจริง ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องรู้หรือไม่ว่า การใช้จ่ายในหมู่บ้าน ในตำบล ครึ่งหนึ่งของจำนวนคนที่ได้เงินดิจิทัลไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านหรือตำบล แต่คนพวกนี้จะอยู่ในโรงงาน ขณะที่รัฐแจกเงินดิจิทัลตามทะเบียนบ้าน อธิบายง่ายๆ ก็คือ รับเงินในหมู่บ้าน แต่ตัวจริงอยู่ กทม.แล้วจะใช้เงินนี้ให้เกิดการหมุนเวียนได้อย่างไร

ประการที่สอง ผู้ที่ต้องการเงินหมุนเวียนมากๆ หรือเงินสดมากๆ คือ ผู้ค้ารายย่อยริมถนนหนทาง แต่พ่อค้าแม่ค้าพวกนี้รับเงินนี้ไม่ได้ เพราะเขาไม่มีทะเบียนภาษี ถ้าเป็นเช่นนี้เงินที่ใส่เข้าไปจะหมุนได้อย่างไร

“แค่ข้อที่ 1 และ 2 ก็ทำให้หมุนไม่ได้ตามเป้าแล้ว โดยเฉพาะร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีเป็นคนส่วนน้อย แต่คนส่วนใหญ่เป็นแม่ค้าแผงลอยริมทางที่ต้องการเงินจริงๆ กลับไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้ หรือครอบครัวหนึ่งมี 4 คน ได้เงินดิจิทัลรวม 4 หมื่นบาท แต่ 2 คนอยู่โรงงานใน กทม.ไม่ได้อยู่ในชนบทตามรัศมีที่กำหนด จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไร”

รศ.ดร.ณรงค์ ย้ำว่า ถ้ามองแค่หลักการตามทฤษฎีสิ่งที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน และกลุ่มแรงงานมันชี้ชัดว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“ดูกันจริงๆ ตั้งแต่ยุคลุงตู่ คนที่เรียกร้องให้แจกเงินไม่ใช่คนจน แต่เป็นนักธุรกิจที่ขายของไม่ได้พวกนี้กลุ่มไหนล่ะ ขณะที่ธุรกิจกลุ่ม SME มีปัญหาหนี้มหาศาล และยังถูกสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้รัฐต้องอัดเงินเพื่อให้เขามีเงินมาหมุน และที่เล็กกว่า SME พวกแม่ค้าในตลาดสด แม่ค้าริมทาง หาบเร่แผงลอยกลับรับเงินดิจิทัลไม่ได้เลยเพราะไม่มีใบกำกับภาษี แบบนี้มันจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร”

ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า คนที่อยากได้เงินดิจิทัล 10,000 บาทมีจำนวนมาก และเงินก้อนนี้ถ้าจะถามว่าจะไหลไปที่ไหน ต้องบอกว่า ร้านที่ตั้งอยู่ในอาคารส่วนใหญ่ เช่น พวกร้านเซเว่น ร้านสะดวกซื้อต่างๆ จะได้ประโยชน์สูงสุดหากย้อนไปดูโครงการต่างๆ ที่ผ่านมาประเภทโครงการ ‘ชิม-ช้อป-ใช้’ ก็เป็นการเรียกร้องจากฝั่งภาคธุรกิจไม่ใช่คนจนไปเรียกร้องทั้งสิ้น

“เงิน 5 แสนล้าน ถ้านำไปใช้สร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ ไปขุดคูคลอง ไปสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม สร้างแหล่งน้ำสารพัด ทำไมถึงไม่เลือกไปทำ เพราะอะไร”

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต
สำหรับโครงการดิจิทัลใช้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่หวังจะกระตุ้น GDP นั้น อย่าหวังว่าจะกระตุ้นได้หลายรอบ อย่างดีก็ได้แค่ 2 รอบ ซึ่ง รศ.ดร.ณรงค์ บอกว่าจากการศึกษาโครงการกองทุนหมู่บ้านมาก่อน รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องหวังกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้เหมือนกัน เงินเข้ามาไม่ถึง 10 วันก็หมดไปกับพวกร้านมือถือ ร้านมอเตอร์ไซค์ เรียบร้อยกันไป

ขณะที่โครงการเงินดิจิทัล แม้จะพยายามออกเงื่อนไขต่างๆ ในการซื้อสินค้าตามพื้นที่ ตามรัศมีที่กำหนดเพื่อให้ใช้ในหมู่บ้าน ในตำบล แต่รัฐบาลเศรษฐาลืมคิดไปอีกว่า ในหมู่บ้าน ในตำบลมีคนที่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับแจกเงินและได้ใช้จริงๆ หรือเปล่า เพราะคนเหล่านี้จำนวนมากเข้าไปทำงานอยู่ในเมืองใหญ่หมดแล้ว รัฐบาลจึงอย่าไปคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะโตเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งแม้จะโตได้ก็ตามแต่จะไปโตในมือนักธุรกิจหมดเท่านั้นเอง

“ถ้าอยู่ในมือธุรกิจจะหมุนช้า ถ้าอยู่ในมือชาวบ้านจะหมุนเร็ว การหมุนจะหมุนจากการใช้จ่าย ธุรกิจจะใช้จ่ายอะไร ใช้จ่ายการลงทุนซึ่งมันไม่กระจาย สุดท้ายจะโตกระจุกเหมือนเดิม แล้วจะแก้ความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร นี่คือปัญหา และอย่าหวังจะทำให้ GDP โต 2% เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้เงิน และพฤติกรรมของกลุ่มทุนของธุรกิจในสังคมขณะนี้เป็นไปไม่ได้จริงๆ”

คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต บอกว่า ชาวบ้านย่อมจะดีใจที่ได้เงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ถ้าในบ้านมีหลายคนก็จะได้จำนวนมากขึ้น แต่เงินพวกนี้ไปใช้จ่ายอย่างไรได้บ้าง ไปซื้อกล้วยแขก หรือไปกินข้าวแกงริมทางได้หรือไม่ เพราะร้านค้าพวกนี้ไม่มีใบกำกับภาษี

“เราจะเห็นคนตื่นเต้นดีใจที่ได้รับแจกเงิน 1 หมื่นบาท ก็แค่นั้นเอง เหมือนช่วงกองทุนหมู่บ้านนั่นแหละที่คาดว่าจะหมุนเวียนในหมู่บ้านแต่ปรากฏว่าไม่หมุนตามทฤษฎีที่คาดไว้เนื่องจากหมุนเพียงรอบเดียวก็จบ สุดท้ายรัฐบาลต้องเติมเงินทุกปี รัฐบาลหวังว่า 80,000 ล้านที่แจกไปมันจะหมุนด้วยตัวเอง ไม่ต้องเพิ่ม แต่มันไม่เป็นอย่างที่ว่าไว้”

โครงการกองทุนหมู่บ้านเกิดขึ้นเมื่อปี 2544 ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยให้ทุกหมู่บ้านกองทุนละ 1 ล้านบาท ว่ากันว่ามีหมู่บ้านประมาณ 78,013 แห่งทั่วประเทศ ที่จะได้รับเงินกู้ไปหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ก็แปลว่าต้องใช้เงินทั้งหมด 78,013 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนให้ชาวบ้านได้มีแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ และดำรงชีพต่อไป

“น่าเสียดายทั้งเงินกองทุนหมู่บ้าน และเงินดิจิทัล 5 แสนล้าน เอาไปขุดคลองทั่วประเทศ ไปสร้างแหล่งน้ำการเกษตรเพื่อเลี้ยงปลา หรือไปสร้างอาชีพถาวรน่าจะดีกว่าเพราะจะส่งผลโดยรวมต่อชาวบ้านมากกว่า”




รศ.ดร.ณรงค์ ย้ำว่า การผลักดันโครงการเงินดิจิทัลแบบนี้เพราะมี hidden agenda ต้องการเพิ่มยอดขายทางธุรกิจ แต่ไม่ยอมพูดความจริง คือเวลาออกกฎเกณฑ์กติกาดูดี หมุนเวียนในหมู่บ้าน ในตำบล จะหมุนอย่างไร คนพวกนี้ไม่มีทะเบียนภาษี แม่ค้าในตลาดมีหรือไม่

“เมื่อเงินแจกไปแล้ว แต่ไม่สามารถใช้ได้ มันจะเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมา คือการขายตัวนี้ออกไป เช่น มีนายหน้าในหมู่บ้านรับซื้อ คุณได้ 10,000 บาท ผมรับซื้อคุณ 8-9,000 บาท เมื่อได้เป็นเงินสดกลับมาใครก็เอา ไปดูตอนชิมช้อปใช้ หรือบัตรคนจนต่างๆ ก็เห็นคนแก่ๆ กดใช้ไม่เป็นต้องไปจ้างคนกดให้ครั้งละ 100 บาท นี่คือชีวิตจริง ๆ”


อย่างไรก็ดี อาชีพใหม่ที่ว่าคืออาชีพนายหน้าซื้อเงินดิจิทัล ซึ่งคนที่ซื้อไปจะเอาเงินพวกนี้ไปใช้ต่อ เช่น นาย ก ยอมขายให้นาย ข เพราะตัวเองไปใช้ไม่ได้ แค่ 8 พันบาท และเมื่อนาย ข นำเงินแจกไปใช้ รัฐเตรียมระบบตรวจสอบไว้หรือยังว่าเงินที่นาย ข นำไปใช้นั้นไม่ใช่เงินแจกของตัวเอง ตรงนี้สำคัญมาก เพราะเงินที่แจกไปมันจะเกิดอาชีพนายหน้าเข้ามาหาประโยชน์ทันที

“ถ้ารัฐเตรียมป้องกัน มีการพิสูจน์ได้ว่าเงินนี้เป็นของใครถ้าไม่ใช่ของนาย ข โดยตรง จะใช้ไม่ได้ก็จะดี แต่เท่าที่ฟังไม่มีอะไรบอกไว้ในเรื่องนี้ ซึ่งไม่รู้ว่ารัฐบาลจะป้องกันอย่างไร”

ทั้งนี้ รศ.ดร.ณรงค์ บอกว่าอยากจะขอถามประเด็นนี้ไปยังรัฐบาลเศรษฐา ว่าได้เตรียมการป้องกันไม่ให้มีการซื้อขายเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้อย่างไร จะมีเรื่องของทะเบียน หรือจะใช้ block chain จัดการตรงนี้ได้อย่างไร ถ้ารัฐบาลตอบว่ามีวิธีการป้องกันและตรวจสอบไว้แล้วก็จะสามารถสกัดนายหน้ารับซื้อเงินดิจิทัลไปได้ ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าอาชีพนายหน้าซื้อเงินดิจิทัลมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้จริงแน่นอน

“ได้เงินดิจิทัล 1 หมื่น มีคนรับซื้อ 8 พันได้เงินสดมาใช้ ตรงนี้แหละจะเกิดความคึกคักในเงินดิจิทัลที่รัฐบาลต้องวางมาตรการป้องกันไว้ให้ดี”

นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่โครงการแจกเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาทเท่านั้น รวมไปถึงโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง สังคมก็ต้องติดตามดูว่าประเด็นนี้มี hidden agenda หรือไม่ ว่าจะทำอย่างไร ให้ธุรกิจขายของได้ เมืองไทย คนทำปุ๋ยมีกี่ราย ชาวนาได้บ้าง แต่ผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจึงอยู่ที่นักธุรกิจมากกว่าหรือไม่?

ส่วนจะมองว่ารัฐบาลทำอะไรก็โดนจับผิดไปหมดนั้น รศ.ดร.ณรงค์ บอกว่าไม่ได้คัดค้านหากมีเหตุผลและใช้เงินเกิดประโยชน์สูงสุด เพียงแต่ว่า ถ้าเงินที่นำมาใช้ในโครงการต่างๆ เป็นเงินที่กู้มา ก็ควรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ได้หรือไม่ และควรมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะไปทำให้เกิดประโยชน์มากกว่า เช่นแบ่งเงิน 5 แสนเป็นกองๆ เช่น กองสร้างบุคลากรทางการแพทย์ กองขุดคลอง หรือสร้างรถไฟรางคู่ มันน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านวันนี้ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้นายทุนมากกว่าใช่หรือไม่!?

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น