xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ‘2 มือ’ ที่มองไม่เห็นเอี่ยวการเมือง เขี่ยหรือหนุน ‘พิธา’ นั่งนายกฯ คนที่ 30 สำเร็จ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.ดร.คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ยอมรับนโยบายพรรคก้าวไกลดี เศรษฐกิจเยี่ยม GDP เติบโต เน้นรัฐสวัสดิการ แต่อยากบอก ‘ด้อมส้ม’ อย่าไปหวังสารพัดเงินแจกจากรัฐบาลก้าวไกลเพราะโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก ขณะเดียวกัน นายพิธา จะนั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ก็ยากเช่นกัน เผยข้อมูลลึกๆ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทยคือกลไกสำคัญ แจงสมัยหนึ่งเคยเป็นผู้จัดการรัฐบาลซึ่งพรรคชนะที่ 1 อยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาลและวางตัวนายกฯ ก็มีคนมากระซิบ ‘พรรคนี้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้’ อ้างมีข้อมูลใหม่ ทำให้ทุกอย่างจบตรงนั้น โดยไม่รู้ว่าข้อมูลใหม่คืออะไร พร้อมบอกการเมืองไทยมีมือที่มองไม่เห็น 2 มือเข้ามาเอี่ยว จะหนุนหรือเขี่ยไม่ให้นั่งนายกฯ ก็ได้ ชี้หาก ‘พิธา-ก้าวไกล’ ฝ่าด่านตั้งรัฐบาลได้ต้องเป็นอีก 2-3 สมัยจึงจะทำให้นโยบาย ‘พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน’ ที่หาเสียงไว้สัมฤทธิผล!

หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือกนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) เป็นประธานสภา และเลือกนายปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 พร้อมเลือกนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 ผ่านไปแล้ว ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า เกมนี้พรรคก้าวไกล เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม้จะบอกว่านายวันมูหะมัดนอร์ คือคนกลางที่จะทำให้บรรยากาศความร่วมมือของก้าวไกลและเพื่อไทยสามารถเกี่ยวก้อยไปด้วยกันได้ก็ตาม

ขณะเดียวกัน สังคมกำลังมาลุ้นกันว่า ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะสามารถฝ่าด่าน ส.ว. จนสามารถได้รับคะแนนเสียงถึง 376 หรือไม่? หรือจะมีคู่ท้าชิงจากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิมคว้าชัยชนะไปเสียก่อน

หากเป็นเช่นนั้นก็แปลว่าพรรคก้าวไกล พ่ายแพ้เกมในสภาจนต้องไปเป็นฝ่ายค้าน หรือจะต้องมีการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 หลายๆ ครั้งเพื่อให้โอกาสนายพิธา และพรรคก้าวไกล เดินสายหาเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ว.และพรรคขั้วรัฐบาลเดิมเพื่อให้ผ่าน 376 เสียงตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากทำซ้ำๆ เช่นนี้ มีหรือพรรคเพื่อไทยจะยอม

นี่คือความยากที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญ!

ภาพ.พรรคก้าวไกล



อ.วันนอร์ ยืนอยู่ข้างเหตุผลและความถูกต้องอยู่เสมอ ซึ่งเป็นจุดร่วมกันกับที่พรรคก้าวไกล จนผมกล้าพูดได้ว่า อ.วันนอร์เป็นหนึ่งคนที่ผมสามารถไหว้ได้อย่างสนิทใจ
แต่ในระหว่างที่ทุกคนใจจดใจจ่อกับการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก็มีเสียงสะท้อนจากหลายๆ ฝ่ายว่าชัยชนะของพรรคก้าวไกล ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายดี โดนใจ โดยเฉพาะนโยบาย ‘ปากท้องดี’ ที่มีสารพัดแจกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น เงินผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน เงินเด็กเล็ก 1,200 บาท/เดือน หรือปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท และทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ถ้าเกินมี OT นโยบายต่างๆ เหล่านี้จะเกิดได้จริงหรือไม่หากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ รวมไปถึงโอกาสที่นายพิธา จะได้เป็นนายกฯเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ในมุมวิชาการนโยบายด้านเศรษฐกิจของก้าวไกล เน้นไปที่รายได้ การเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการเพิ่ม GDP ของประเทศ เพราะหากนโยบายนี้ทำได้จริง ทั้งการขึ้นค่าแรง สงเคราะห์เด็ก เงินผู้สูงอายุ ธุรกิจ SME ค้าขายได้ ล้วนแต่เป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีกำลังซื้อมากขึ้น แต่จะทำได้จริงต้องมีการปรับเพิ่มภาษี โดยเฉพาะภาษีธุรกิจขึ้นไปถึง 25% ถามว่าจะทำได้หรือไม่?

“นโยบายก้าวไกลดีมาก แต่ต้องพึ่งงบประมาณรัฐไปเรื่อยๆ แบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งเขาอาจทำได้ก็ได้นะ แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องยาก รายได้ที่จะมาใช้จ่ายหรือมาแจกต้องมาจากภาษีแต่สังคมไทยไม่มีใครพอใจที่จะจ่ายภาษีเพิ่มใช่หรือไม่ ไปเพิ่มภาษีก็บอกจะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น ก็ไปติดปัญหาที่นายทุนกันอีก”






ขณะที่ก้าวไกลบอกว่าจะมีงบประมาณมาจากการไปตัดงบจากกระทรวงต่างๆ และการปราบทุจริตคอร์รัปชัน แต่เรื่องคอร์รัปชันได้กลายเป็นค่านิยมไปแล้วถึงได้บอกการจะนำเงินมาแจกตามที่หาเสียงจึงเป็นเรื่องที่ลำบากอยู่เหมือนกัน

หรือกรณีค่าแรงวันละ 450 บาท จะใช้อำนาจอะไรไปต่อรองจากที่ประกาศว่าจะทำทันทีที่เป็นรัฐบาลดูจะเป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน ถึงได้มีการเลื่อนออกไปอาจถึงปี 2570 นั่นเป็นเพราะพรรคก้าวไกลไม่ได้ผลักดันให้แรงงานเหล่านี้มีอำนาจต่อรองแต่กลับทำให้คนเหล่านี้หวังพึ่งรัฐมากเกินไป

รศ.ดร.ณรงค์ บอกว่า นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูป และ นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป และ รศ.ดร.ณรงค์ เคยร่วมกันศึกษาจนได้ข้อสรุปว่า ถ้าจะทำให้คนจนพึ่งตัวเองได้มากขึ้น โดยไม่พึ่งรัฐมากเกินไป เพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ จะต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ 5 ด้าน คือด้านรายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนจะสำเร็จ

“เวลานี้คนตัวเล็กมีอำนาจน้อยเกินไป ขณะที่ทุน+รัฐ มีอำนาจมากเกินไป และยิ่งทุนจับมือกับรัฐยิ่งทำให้อำนาจห่างกันมากเป็นผลให้ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งอำนาจไปกระทบทุกเรื่อง”

ตัวอย่างเช่น คนงานไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องค่าจ้างกับนายจ้าง ชาวนาไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องราคาข้าว หรือ SME ไม่มีอำนาจต่อรองกับทุนใหญ่ ดังนั้นถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลต้องเร่งสร้างอำนาจต่อรองให้ประชาชนจึงจะเป็นทางออกที่ดี

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
“กรณีค่าแรงก้าวไกลต้องเร่งออกกฎหมาย และสนับสนุนให้แรงงานมีความเข้มแข็ง สร้างอำนาจต่อรองให้พวกเขา เมื่อคนงานมีอำนาจเขาจะรู้จักวิธีการไปต่อรองกับนายจ้างได้เอง เมื่อมีอำนาจ รายได้ สิทธิ โอกาสต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา”

อีกทั้งในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าในประเทศเรา อำนาจทุนนั้นใหญ่มาก และอำนาจรัฐของบ้านเราไปเห็นด้วยกับอำนาจทุน ดังนั้น หากก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล แม้ว่าจะมีเสียงมากที่สุดในสภา แต่ก็ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของประเทศ การคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรให้ได้แบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ บอกอีกว่า อยากจะบอกประชาชนที่เลือกก้าวไกลว่าอย่าไปหวังให้รัฐบาลเอาเงินมาแจกมากเกินไป เพราะมันเป็นจริงไม่ได้ แต่คนเหล่านี้ควรไปหวังว่า ทำอย่างไรให้รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง และให้ประชาชนนำไปใช้ต่อรองเพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งจะสามารถเกิดได้จริงมากกว่าที่จะรอคอยการแจกเงินจากรัฐ

หากจะถามว่ามั่นใจว่าก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลโดยมีนายพิธา เป็นนายกฯ นั้น ขอบอกได้เลยว่าไม่ค่อยมั่นใจ ทั้งที่อยากให้นายพิธา และก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลก็ตาม เพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่ก้าวไกลหาเสียงจะทำได้แค่ไหน และอยากให้โอกาสก้าวไกลด้วย

“แต่ผมว่าโอกาสพิธา และก้าวไกลได้เป็นค่อนข้างลำบาก จากข้อมูลลึกๆ ที่เห็น เช่นเรื่องของทุนใหญ่ จับมือกับอำนาจใหญ่และรัฐราชการซึ่งเป็นผู้ครองประเทศ แม้ก้าวไกลจะมีอะไรอยู่บ้างแต่มันไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่นโยบายที่กำหนดไว้”


ที่สำคัญนายพิธา และพรรคก้าวไกล โอกาสที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกนายกฯ วันที่ 13 ก.ค.นี้ก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว แต่นโยบายพรรคต้องการปรับเปลี่ยนการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ได้นั้น พรรคนี้จะต้องยึดครองเป็นรัฐบาลถึง 2-3 สมัยจึงจะทำสำเร็จ

“การได้เป็นรัฐบาลด้วยความยาก การรักษาอำนาจก็ยิ่งยาก เขาจะทำอย่างไรให้รักษาอำนาจได้ เพราะโอกาส เวลา ลงหลักปักหมุด มีแต่อุปสรรคขวากหนาม เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็จะมีคนคอยเลื่อยขาเก้าอี้ตลอด พรรคก้าวไกลจึงไม่มีทางทำอะไรได้ง่ายๆ เพราะข้าราชการในตำแหน่งสูงๆ เขายังมีอำนาจก็สั่งลูกน้องไม่ให้ทำตามก็ได้ นี่คือบริบทความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในประเทศเท่านั้น”

นอกจากนี้ สิ่งที่สังคมเองไม่รู้ว่า อำนาจของมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร เขามีการเจรจาต่อรองกับระดับบิ๊กๆ หรือผู้กุมอำนาจในเมืองไทยหรือไม่ และอยากจะบอกว่ามันมีมือที่มองไม่เห็น 2 มือเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นก็คือ 1.มือที่เล็กจนตามองไม่เห็น และ 2.มือที่ใหญ่จนมองไม่ออกว่าอยู่ตรงไหน แต่มือนั้นสามารถครอบเราอยู่ได้ และอาจเข้ามาเอี่ยวดันนายพิธา-ก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หรือไม่ได้เป็นนายกฯ ได้เช่นกัน

“อยากจะเล่าประสบการณ์ ผมเคยเป็นผู้จัดการรัฐบาลในระดับพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง กำลังจะตั้งรัฐบาล พรรคเราจะได้เป็นนายกฯ อยู่ๆ ก็มีคนเดินมาบอกว่า อาจารย์ขอแสดงความเสียใจด้วยนะ พรรคเราเป็นนายกฯ ไม่ได้ ถึงแม้จะแย้งว่าทำไมไม่ได้เพราะเราชนะเลือกตั้งได้เป็นที่หนึ่ง เขาก็ตอบว่ามีข้อมูลใหม่ทุกอย่างก็จบเลย ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าข้อมูลใหม่คืออะไร แต่ก็จบตามที่มีคนมาแจ้งเท่านั้น” รศ.ดร.ณรงค์ เล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ณรงค์ บอกว่าได้เตือนๆ คนใกล้ชิดว่าทุกคนสามารถต่อต้านพรรคก้าวไกลได้ แต่ขออย่าต่อต้านจนเขาจนตรอก เพราะถ้าพรรคนี้จนตรอกสิ่งที่น่ากังวลคือ เขาจะวิ่งเข้าหามือที่มองไม่เห็นเพื่อให้มาปกป้องพวกเขา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะวิ่งหามือที่ 1 หรือที่ 2 ซึ่งจะส่งผลให้เราแก้ไขลำบาก

ดังนั้นสิ่งที่นายพิธา และก้าวไกลจะต้องฝ่าด่านเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.นี้ แม้ว่าจะเป็นไปได้ยากก็ตาม แต่ถ้าก้าวไกลทำได้และฝากผลงานไว้ต่ออีก 2-3 สมัย โอกาสที่เขาจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินตามนโยบายที่หาเสียงไว้จะมีความเป็นไปได้เช่นกัน

แต่ต้องไม่ลืมสิ่งที่ รศ.ดร.ณรงค์ เล่าให้ฟังว่าพรรคนั้นก็ชนะเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 แต่ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ และรัฐบาลเพียงแค่มีคนมาแจ้งว่ามีข้อมูลใหม่เท่านั้น!!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH



กำลังโหลดความคิดเห็น