xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! การเงินโลกเผชิญภาวะเสี่ยงซ้ำรอยสหรัฐฯ ชี้สถานการณ์คล้ายปี 40

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” ชี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง สถาบันการเงินมีความเสี่ยง ผลกระทบของตลาดเงินตลาดทุนในสหรัฐฯ และยุโรปอาจลามถึงเอเชีย ธนาคารในไทยต้องระมัดระวังการปล่อยกู้ ขณะที่ “รศ.ดร.ณรงค์” ระบุการเงินของโลกตอนนี้เหมือนคนเป็นโรคมะเร็ง ระยะที่ 1-ระยะที่ 2 สถาบันการเงินในจีนและอินเดียกำลังเดินตามรอยสหรัฐฯ และอาจเกิดขึ้นกับทั่วโลก แนะแบงก์ชาติจับตาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ส่วนประชาชนควรลดความเสี่ยงด้วยการกระจายเงินฝากแบงก์ละไม่เกิน 1 ล้านบาท

เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์การเงินโลกในขณะนี้ หลังจากที่มีข้อมูลว่าขณะนี้ธนาคารในสหรัฐฯ อีก 186 แห่ง กำลังเสี่ยงที่จะล้มละลาย และถูกสั่งปิดกิจการเหมือน Silicon Valley Bank ขณะเดียวกัน มีธนาคารจำนวนมากที่ลูกค้าพากันมาถอนเงินฝากที่ไม่มีหลักประกัน ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะลุกลามไปประเทศอื่นด้วยหรือไม่?

ซึ่งคงต้องฟังมุมมองความเห็นจากบรรดานักวิชาการด้านการเงินการคลัง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ มองว่า กรณีธนาคาร 186 แห่งในสหรัฐอเมริกาเสี่ยงที่จะล้มละลายนั้นเป็นข้อศึกษาเชิงวิชาการ จะเห็นได้ว่าแบงก์ขนาดเล็กในสหรัฐฯ เป็นสถาบันการเงินหลักในการปล่อยกู้ให้ธุรกิจอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจหลักของสหรัฐฯ จึงมีความเสี่ยงต่อลูกหนี้ NPL สูง ขณะที่กรณีของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank) นั้นสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างอายุของทรัพย์สินกับหนี้สินที่ไม่สอดคล้องกันจึงเกิดปัญหาขาดทุนขึ้นได้ ซึ่งทางการสหรัฐฯ กำลังดูแลวิธีบริหารความเสี่ยงของธนาคารขนาดเล็กอยู่

และเดิม “ธนาคารเครดิต สวิส” ธนาคารใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ก็มีปัญหาด้วย ซึ่งหากเครดิต สวิสไม่รีบแก้ปัญหาให้ลุล่วงภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบถึงสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ด้วย เนื่องจากธนาคารเครดิต สวิส เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่มากและมีการทำธุรกิจที่เกี่ยวพันกับธนาคารต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น หากธนาคารเครดิต สวิส ล้มละลายจะส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ทั้งในยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงเอเชียด้วย

แต่เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้นำธนาคารที่ใหญ่กว่าเข้ามาแก้ปัญหาธนาคารเครดิต สวิสเรียบร้อย ทำให้สถานการณ์ของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ผ่อนคลายลง จากเดิมที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวอาจส่งผลกระทบไปประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งหากภายในสัปดาห์นี้สหรัฐฯ สามารถทำให้สถานการณ์ของสถาบันการเงินในประเทศนิ่งได้ ความกังวลที่ปัญหาเสถียรภาพของสถาบันการเงินจะลุกลามไปประเทศอื่นก็จะหายไป การที่ธนาคารขนาดเล็ก 168 แห่งในสหรัฐฯ เสี่ยงล้มละลายนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินของไทยเนื่องจากธนาคารในไทยไม่ได้ทำธุรกรรมอะไรกับธนาคารดังกล่าว ดังนั้น อย่าเพิ่งตื่นตระหนก แค่เฝ้าระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเท่านั้น


นายธีระชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์ของสถาบันการเงินสหรัฐฯ จะคลี่คลายลงแต่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะเชื่อว่าสภาวะเศรษฐกิจของโลกในแง่ของตลาดเงินตลาดทุนยังมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร เพราะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว พอเศรษฐกิจชะลอระบบการเงินของโลกจะตึงเครียดขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคารจะลดลงเนื่องจากรายได้ที่ลดลงและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของหนี้ครัวเรือนลดลงด้วย ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของสถาบันการเงิน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลในประเทศยุโรปพยายามจะสู้กับเงินเฟ้อโดยใช้วิธีขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดกำลังซื้อ แต่พอขึ้นดอกเบี้ยไปมากๆ ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า ซึ่งจะมีความเสี่ยงทั้งหนี้ NPL และราคาหลักทรัพย์ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อเนื่องในอนาคต

“ส่วนธนาคารของไทยนั้นต้องคอยจับตาผลกระทบที่อาจจะเกิดกับตลาดเงินตลาดทุนในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งอาจลามมาถึงราคาสินทรัพย์ในตลาดเงินตลาดทุนของเอเชีย อีกทั้งต้องจับตาดูเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลง ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง ซึ่งจะกระทบการส่งออกของไทยไปด้วย ตรงนี้คือจุดที่ธนาคารไทยต้องระมัดระวัง ในส่วนของการปล่อยกู้จะต้องดูทิศทางรายได้ของลูกหนี้ที่มาขอกู้เพิ่มเติมว่ารายได้ของบริษัทนั้นๆ มีความมั่นคงหรือไม่ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวด้วย ในส่วนของธนาคารต้องหมั่นพูดคุย อัปเดตข้อมูลกับลูกหนี้ว่าในขณะที่เศรษฐกิจโลกผันผวนนั้นลูกหนี้ได้รับผลกระทบหรือไม่ มีข้อกังวลอะไรหรือเปล่า และถ้าหากความผันผวนดังกล่าวส่งผลต่อธุรกิจหรือการจ้างงานทางลูกหนี้จะมีแผนรับมืออย่างไร ธนาคารต้องใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น ขณะที่ประชาชนต้องดูว่าพรรคการเมืองต่างๆ มีแนวคิดที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าวไว้อย่างไรบ้าง” นายธีระชัย กล่าว

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่า สถานการณ์การเงินของโลกตอนนี้เหมือนกับคนที่เป็นโรคมะเร็ง คือมะเร็งระยะที่ 1-ระยะที่ 2 คือยังไม่มีอาการ จะเห็นอาการชัดเจนตอนเข้าระยะที่ 3-ระยะที่ 4 ดังนั้น หากดูในระยะสั้นๆ จึงยังไม่มีผลกระทบ หากพิจารณาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกจะพบว่าอยู่ในช่วง “รื้อล้างสร้างใหม่” หรือ Creative Destruction (กระบวนการที่นวัตกรรมเกิดขึ้นทำให้เทคโนโลยีเดิมล้าสมัยและกระตุ้นให้ธุรกิจใหม่ๆ เติบโตขึ้นแข่งขันกับธุรกิจดั้งเดิม จึงสร้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ไปพร้อมๆ กับทำลายงานและกิจกรรมประเภทเดิมๆ ลง) เนื่องจากโลกกำลังเกิดอุตสาหกรรมดิจิทัลซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมรูปแบบเดิม ทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ ไอที และดิจิทัลต่างๆ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารจึงปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มสตาร์ทอัปเหล่านี้ ขณะที่เหล่าทุนใหญ่นำเงินไปฝากแบงก์เพราะได้ผลตอบแทนดี

ยกตัวอย่างกรณีของ ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ ซึ่งเป็นแบงก์ที่ปล่อยกู้ให้แก่สตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีเป็นจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลนั้นเมื่อพัฒนาและเติบโตไปถึงจุดหนึ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีจะชะลอตัวลง ทำให้รายได้ที่เคยเติบโตอย่างต่อเนื่องชะลอลงด้วย จึงมีปัญหาในการชำระหนี้ ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง ขณะที่ผู้ฝากเงินรายใหญ่ซึ่งตอนแรกมาฝากเงินกันเป็นจำนวนมากเพราะได้ผลตอบแทนดี เริ่มไม่มั่นใจในเสถียรภาพของธนาคารจึงแห่ถอนเงิน ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง ธนาคารพยายามขายหุ้นเพิ่มทุน แต่เมื่อไม่สามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้ธนาคารจึงมีปัญหาสภาพคล่อง

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า การที่กิจการรูปแบบเก่าล้มไป และมีกิจการรูปแบบใหม่เกิดขึ้นแทนนั้นภาพลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยด้วย สถานการณ์แบบธนาคารในสหรัฐฯ ไม่ได้มีที่เดียว ธนาคารในประเทศจีนและอินเดียก็มีปัญหาลักษณะนี้ และกำลังจะไปกระทบยุโรป โดยเฉพาะธนาคารในอินเดียตอนนี้กำลังง่อนแง่น บางแห่งดำเนินธุรกิจเหมือนธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งการดำเนินธุรกิจการเงินในลักษณะระดมเงินทุนจากคนรวยมาปล่อยกู้ให้ธุรกิจสตาร์ทอัป โดยสตาร์ทอัปเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเกิดคำถามว่าสตาร์ทอัปเหล่านี้โตเร็วเกินไปหรือเปล่า ตอนนี้สตาร์ทอัปส่วนหนึ่งโตเกินพอดี ซึ่งเสี่ยงที่จะแตกได้ ถ้าบริษัทเหล่านี้ล้ม ธนาคารที่ปล่อยกู้จะประสบปัญหาหนี้สูญ คนรวยซึ่งเป็นผู้ฝากรายใหญ่ของธนาคารเหล่านี้เมื่อเห็นท่าไม่ดีจะพากันถอนเงินออก แบงก์จึงมีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งบางแบงก์จำนวนเงินฝากที่เข้ามากับจำนวนเงินที่ปล่อยกู้ออกไปนั้นใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นโอกาสที่ธนาคารในหลายประเทศจะล้มละลายเหมือนธนาคารในสหรัฐฯ ก็มีเช่นกัน

“การปล่อยกู้ให้สตาร์ทอัปของธนาคารทั่วโลกในตอนนี้นั้นคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2540 ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บูมมาก ธนาคารจึงพากันปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเหล่านี้มากเกินไป แต่ธุรกิจอสังหาฯ เติบโตน้อยกว่าเงินที่ปล่อยกู้ ธนาคารจึงเก็บหนี้คืนไม่ทัน จึงมีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งตอนปี 2539 ผมเตือนว่าธนาคารไทยระวังนะ เงินไหลออกจะมากกว่าเงินไหลเข้า แล้วจะเกิดฟองสบู่แตกเหมือนประเทศชิลี แต่แบงก์ชาติและนักเศรษฐศาสตร์บอกไม่เป็นไรหรอกเศรษฐกิจกำลังเติบโต หุ้นกำลังบูม ตอนนี้ธนาคารในยุโรปและอินเดียกำลังมีปัญหา แต่ปัญหายังอยู่ในขั้นที่ 1-2 คนจึงมองไม่เห็น ขณะที่สถานการณ์ของธนาคารในสหรัฐฯ นั้นไปถึงระดับ 3-4 แล้ว ธนาคารในอินเดียที่ปล่อยกู้ให้สตาร์ทอัปเริ่มง่อนแง่นแล้ว ดังนั้น สถานการณ์การเงินโลกในขณะนี้ไม่ปกติ เป็นเรื่องที่ไทยต้องเฝ้าระวัง” รศ.ดร.ณรงค์ ระบุ


สำหรับนโยบายการเงินที่ประเทศไทยควรดำเนินการในขณะนี้นั้น รศ.ดร.ณรงค์ ชี้ว่า แบงก์ชาติต้องตรวจสอบว่ามีธนาคารใดบ้างที่ปล่อยกู้ให้สตาร์ทอัป ทั้งธนาคารขนาดเล็กและธนาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสตาร์ทอัปที่เกี่ยวข้องกับไอทีและคริปโตฯ ซึ่งธนาคารบางแห่งปล่อยสินเชื่อให้สตาร์ทอัปเยอะ เพื่อที่หากสถาบันการเงินใดมีความเสี่ยงแบงก์ชาติจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทัน

คือในด้านเศรษฐศาสตร์การเงินนั้นเวลาจะดูความอ่อนไหวของมูลค่าจะดู 2 ตัว คือ มูลค่าแลกเปลี่ยนหรือราคาที่ขึ้นลง และมูลค่าใช้สอย ซึ่งหมายถึงประโยชน์ที่สิ่งนั้นๆ มีอยู่ ยกตัวอย่างทองคำ ซึ่งคนที่ซื้อทองคำไม่ได้ดูแค่มูลค่าแลกเปลี่ยนในตลาดเท่านั้น แต่ดูเรื่องมูลค่าใช้สอยด้วย เพราะทองคำถูกใช้ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ต่างจากคริปโตฯ ซึ่งมีแค่มูลค่าแลกเปลี่ยน แต่ไม่มีมูลค่าใช้สอย ขณะที่หุ้นไอทีบางตัวมูลค่าแลกเปลี่ยนสูงเกินกว่ามูลค่าใช้สอย คือไอทีตัวนั้นอาจจะพัฒนา แต่การพัฒนาช้ากว่าราคาหุ้นที่ขึ้นไป ทรัพย์สินจะมั่นคงต่อเมื่อมูลค่าแลกเปลี่ยนสอดคล้องกับมูลค่าใช้สอย การปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจเหล่านี้จึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง แต่สถาบันการเงินของไทยอาจไม่ได้มองถึงประเด็นนี้

“ส่วนคนไทยที่เป็นผู้ฝากเงินควรจะกระจายเงินฝากไปอยู่ในธนาคารหลายๆ แห่ง เช่น ฝากเงินในแต่ละธนาคารไม่เกิน 1 ล้านบาท เพราะแบงก์ชาติรับประกันเงินฝากแค่ล้านเดียว ถ้าเกิดปัญหากับสถาบันการเงิน อย่างน้อยเงินเรายังได้รับความคุ้มครอง ซึ่งกระแสการกระจายเงินฝากในไทยเริ่มมีบ้างแล้ว” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น