xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ปี 2566 อ่วม! พลังบริโภคหดหายคนจนพุ่ง ร่วมแบกหนี้สาธารณะใช้ 100 ปีจึงจะหมด!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2566 คนไทยเตรียมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง! รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจภายในประเทศ เชื่อว่ารัฐบาลต้องได้มือบริหารเศรษฐกิจดีๆ ถึงจะเอาอยู่ วันนี้คนไทยแบกหนี้สาธารณะสูงถึง 10 ล้านล้านบาท เฉลี่ยต้องใช้ถึง 100 ปีจึงจะหมด ส่วนหนี้ครัวเรือนเข้าสู่วิกฤตเส้นแดง ขณะที่คนชั้นกลางจะกลายเป็นชั้นล่าง คนชั้นล่างจะกลายเป็นคนจนมากขึ้น สำหรับคนผ่อนบ้าน ผ่อนรถเข้าคิวถูกยึด ยันพลังบริโภคลดลง แม้รายได้เพิ่มก็สู้ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นไม่ไหว ชี้ทางออกเดียวรัฐต้องปรับกระบวนทัศน์ เข็นนโยบายลดค่าครองชีพออกมาช่วย เชื่อทฤษฎี 2 สูงของเจ้าสัวซีพี ยังใช้ได้ แต่ต้องเพิ่มเป็น 3 สูง คือ ราคาสินค้าสูง รายได้สูง และเพิ่มโอกาสเข้าถึงตลาดแบ่งปันได้ จีดีพีของประเทศจึงจะเติบโตจากพลังบริโภคที่สูงขึ้น

ปีใหม่ 2566 กำลังจะก้าวเข้ามาแล้ว หลายคนเริ่มกังวลกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร จะร้ายแรงกว่าปี 2565 หรือไม่? บรรดามนุษย์เงินเดือนโดยเฉพาะที่ทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรม หรือบริษัท SME ขนาดเล็ก ขนาดกลางเริ่มกลัวจะมีการปิดกิจการทำให้พวกเขาต้องตกงาน หรือบริษัทขนาดใหญ่จะลดคนงานหรือไม่ ที่สำคัญรายได้ที่ได้รับในปีหน้าจะพอกับรายจ่ายที่กำลังเพิ่มขึ้นหรือไม่? และเราควรจะปรับตัวกันอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้อย่างมั่นคง

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ปี 2566 ประชาชนต้องเผชิญปัญหาทั้งจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ทุกคนต้องประหยัด และต้องรัดเข็มขัดแบบสุดๆ โดยเฉพาะชั้นชนล่างและชนชั้นกลางเนื่องเพราะเศรษฐกิจจะเติบโตได้อยู่ที่ 1.พลังการบริโภคภายใน 2.การลงทุนของธุรกิจ 3.รายจ่ายของรัฐบาล และ 4.การค้าระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมทั่วโลกจะพึ่งพลังการบริโภคประมาณ 60% ส่วนอเมริกา 70% แต่ปัจจุบันพลังการบริโภคทั้งยุโรปและอเมริกาต่ำลงจึงเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจให้ถดถอย การที่รัฐบาลนั้นๆ จะใช้จ่ายอะไรเพื่อกระตุ้นก็ลำบากเพราะในช่วงที่ผ่านมายังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด มีการใช้จ่ายเงินไปมหาศาล  ทำให้รัฐบาลยุโรปและอเมริกาพยายามสู้เงินเฟ้อ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินที่ไหลออกกลับคืนมา ตรงนี้เป็นผลให้เศรษฐกิจทั้งยุโรปและอเมริกาต้องเผชิญปัญหา คนของเขาเริ่มจะไม่มีเงินใช้จ่ายเพราะเงินหมดไปกับด้านอาหารและพลังงาน ส่งผลกระทบต่อพลังบริโภคด้านอื่นๆ เช่นกัน


แต่เมื่อหันไปมองหัวรถจักรค่ายจีน พบว่าเศรษฐกิจโตได้ไม่ถึง 3% ดังนั้น ประเทศไทยจะพึ่งพิงต่างประเทศมากเกินไปทั้งในด้านท่องเที่ยวและการส่งออกตลอดเวลาน่าจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

“พลังบริโภคกลุ่มโออีซีดี 34 ประเทศที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ และยุโรป ที่ไทยต้องการส่งออกไม่น่าจะได้ตามที่หวัง เพราะพลังบริโภคเขาก็อ่อนแรงลง การที่เขาจะนำเข้าสินค้าของเราไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนรายได้ท่องเที่ยวเราหวังจากยุโรป อเมริกา และกลุ่มโออีซีดี ประเทศเขามีประท้วงค่าครองชีพ เงินก็ไม่ค่อยจะมี เงินที่ใช้ในการท่องเที่ยวต้องลดลง ส่วนจีนที่เป็นกลุ่มใหญ่ยังปิดประเทศเพราะเรื่องโควิด ทำให้รายได้ท่องเที่ยวไม่น่าเป็นไปตามที่หวัง”

นี่คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เราต้องทบทวนเพราะการปักหมุดในการพึ่งพิงต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เป็นเรื่องที่หวังมากไม่ได้แล้ว!

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ย้ำว่า ตัวลากจูงเศรษฐกิจจริงๆ ของเราคือการบริโภคภายใน ซึ่งเกิน 50% ของจีดีพีที่มาจากการลงทุนภาคธุรกิจไม่เกิน 23% จากการใช้จ่ายของรัฐบาลไม่เกิน 15% มาจากดุลการค้าไม่เกิน 14-15%

เมื่อเราย้อนไปดูพลังบริโภคจะพบว่าตัวหลักคือค่าจ้าง ซึ่ง 41% มาจากค่าจ้างเอกชน และค่าจ้างจากลูกจ้างภาครัฐ และ 37% มาจากรายได้อิสระต่างๆ ได้แก่ เกษตรกร หาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซค์ พ่อค้าแม่ขาย ซึ่งใน 37% อาชีพที่สำคัญที่สุด คือ เกษตรกร

“รายได้เกษตรกรไม่เพิ่ม กำลังซื้อก็ไม่เพิ่ม ส่วนค่าจ้างมีการปรับ 5% เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ค่าครองชีพขึ้นไป 6.5% ทำให้ค่าจ้างที่ได้รับไล่ไม่ทันค่าครองชีพ ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง พลังบริโภคจึงลดลง เมื่อตัวหลักคือพลังบริโภคไม่เพิ่มมันจะลากเศรษฐกิจได้อย่างไร”

ตรงนี้สอดคล้องกับที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ได้แถลงว่า ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างที่แท้จริงกลับหดตัวจากภาวะเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น ผลของเงินเฟ้อทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานภาคเอกชนหดตัว 1.7% และค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมหดตัวถึง 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าแม้ค่าจ้างจะสูงขึ้นแต่ไม่ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนถึง 20 ล้านคน คิดเป็น 50.5% ของแรงงานทั้งหมดจะเป็นกลุ่มที่รับภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้น

คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกอีกว่า ในช่วงโควิด 2-3 ปีที่ผ่านมาเรารักษาพลังบริโภคด้วยการที่รัฐบาลกู้เงินมาแจก ปัจจุบันมีหนี้สาธารณะประมาณสิบล้านล้านบาท ปีหนึ่งๆ สามารถเอาเงินไปใช้หนี้ประมาณแสนล้านบาท ถ้าเรารักษาระดับใช้หนี้เท่านี้ รู้หรือไม่ต้องใช้เวลา 100 ปี หนี้ก้อนนี้ถึงจะหมด เป็นเรื่องที่คนรุ่นหลังรับไป ยกเว้นเราโชคดีได้มือบริหารเศรษฐกิจใหม่ที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ใช้หนี้ปีละ 2-3 แสนล้าน อีก 20-30 ปีก็หมดได้


ขณะที่หนี้ครัวเรือนซึ่งเกิดจากหนี้ 3 ประเภทคือ หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้ค่าใช้จ่าย อยู่ในระดับที่น่ากังวล ยอดหนี้รวมไปแตะ 14-15 ล้านล้านบาท และทะลุเพดาน 80-90 ของจีดีพีไปแล้ว

“ถ้าหนี้ครัวเรือนมีมาก หากสูงถึง 30% ของรายได้ เช่น เรามีรายได้ 10,000 บาท ต้องไปใช้หนี้ 3 พันบาท ในทางสากลถือว่าการนำเงินไปใช้หนี้ 30% ของรายได้ มันคือจุดเสี่ยง เป็นเส้นแดง แต่เวลานี้หนี้ครัวเรือนของเราที่ไปใช้หนี้ทะลุ 35-40% ส่งผลให้พลังบริโภคมีเพียง 60-70%”

จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนยิ่งตอกย้ำว่าพลังบริโภคเราอ่อนมาก ส่งผลให้จีดีพีที่ไทยมองว่าจะเติบโต 3.5-3.8 เป็นเรื่องที่ยากหรือลากไม่ขึ้น เพราะต้องพึ่งพลังบริโภคนั่นเอง 

ในขณะที่คนงานเองรายได้ก็หายไปครึ่งที่เคยได้จากค่าล่วงเวลาเพิ่มเติม แต่วันนี้บริษัทต่างๆ ไม่มีการจ่ายโอทีกันแล้วและบางบริษัทก็ปิดกิจการ ย้ายฐานผลิตกันไปประเทศอื่น

“พลังบริโภคที่เคยได้มาจากค่าโอที วันนี้หดหายไปแล้ว โดยเฉพาะบริษัท หรือโรงงานแถวปราจีนบุรี นอกจากไม่มีโอทีแล้ว ยังมีการลดเงินเดือน ลดค่าจ้างประจำเหลือเพียง 75% เท่านั้น หรืออย่างกรณีของอุตสาหกรรมกะทิที่เคยส่งออกไปยุโรปได้ปีละ 80-90 ล้านกิโลกรัม ก็เหลือ 50 ล้านกิโลกรัม ทำให้ส่งออกยากขึ้น”

ดังนั้น พลังบริโภคจึงลดลงแม้ว่าค่าจ้างจะไม่ลด แต่เมื่อค่าครองชีพ เงินเฟ้อมันสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงกว่ารายได้ การจับจ่ายใช้สอยจะน้อยลงตามมาจากสินค้าที่แพงขึ้น ส่งผลให้พลังการซื้อลดลงเป็น 2 เท่า ซึ่งพลังบริโภคตัวนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก

“ปีหน้าคนจน คนชั้นกลางมีทางเดียวต้องประหยัดมาก ถึงจะอยู่รอดได้ แต่พอเรียกร้องให้ประหยัดก็ไปซ้ำเติมจีดีพี เพราะพลังบริโภคมันลดลง แต่ถ้าเราไม่ประหยัด ก็จะเพิ่มหนี้เข้าไปอีก มันถึงได้ dead lock ว่ารัฐบาลจะลากจีดีพีอย่างไร เวลานี้ลูกจ้างระดับล่างเป็นหนี้ดอกเบี้ยร้อยละ 15-20 ซึ่งแต่ละเดือนต้องใช้หนี้ไม่ต่ำกว่า 30% ของรายได้ ซึ่งมันเกินเส้นแดงไปแล้ว จะอาศัยคนกลุ่มนี้ลากจูงเศรษฐกิจไม่ไหวแล้ว”


รศ.ดร.ณรงค์ ระบุว่า ประเทศไทยต้องได้มือบริหารเศรษฐกิจดีๆ อย่างบรรดาลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีอุดมการณ์รักประเทศชาติยังมีอยู่ เข้ามาแก้ปัญหา และส่วนตัวเห็นว่าต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใน 3 ระดับ คือ

ประเด็นที่ 1 ยึดโมเดลจากจีน ที่หันมาพึ่งตลาดภายในและพยายามทำให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น
ซึ่งเวลานี้ค่าจ้างในจีนสูงกว่าเราประมาณ 20% บางแห่งถึง 50% เพราะคนจีนส่วนใหญ่หันมาเป็นลูกจ้าง เพราะผู้นำเขาทำให้จีนเป็นเมืองโรงงานโลกไปแล้ว ซึ่งค่าจ้างจะเป็นพลังบริโภคหลักคือพึ่งภายใน 60% และภายนอก 40%

“ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางชั้นสูง จะมาบอกว่าค่าจ้างเราต้องต่ำเท่าลาว หรือกัมพูชา เพื่อสู้ค่าแรงกับเขา วิธีคิดแบบนี้ถือว่าผิดเพราะ 2 ประเทศเป็นประเทศทุนนิยมเพิ่งพัฒนา แต่เราเป็นทุนนิยมกลางชั้นสูง”

ประเด็นที่ 2 รัฐบาลต้องปรับเศรษฐกิจครัวเรือนให้มีความสำคัญเท่ากับเศรษฐกิจธุรกิจ เพราะ GDP ครึ่งหนึ่งมาจากเศรษฐกิจครัวเรือน ทั้งเศรษฐกิจครัวเรือน ลูกจ้าง เกษตรกร อาชีพอิสระต่างๆ ให้เขามีรายได้มากขึ้นเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว และให้ความสำคัญเทียบเท่าเศรษฐกิจธุรกิจที่เน้นหากำไร

“ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญเศรษฐกิจธุรกิจ 80% ส่วนครัวเรือนแค่ 20% ต่อไปต้อง 50/50 คือทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนโตเท่ากับเศรษฐกิจธุรกิจ”

ประเด็นที่ 3 จะต้องสร้างดุลยภาพ คือต้องมีการแบ่งปันตลาด กระจายตลาด จากเศรษฐกิจธุรกิจ มายังเศรษฐกิจครัวเรือนมากขึ้น ไม่ใช่ให้ตลาดไปอยู่ในมือรายใหญ่หมด ต่อไปเราต้องแบ่งปันตลาดไปอยู่ในระดับครัวเรือนมากขึ้น เช่น ขอเขตน้ำตื้นไว้ให้ประมงพื้นบ้าน จับปลาเล็ก ปลาน้อยไว้กินไว้ขายเพื่อครัวเรือน เขตน้ำลึก ก็ประมงธุรกิจ เรือใหญ่เพื่ออุตสาหกรรม หรือกรณีของสุรา ควรกำหนดแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 15% เปิดเสรีให้คนตัวเล็กทำได้ ส่วนเกิน 15% ก็เป็นธุรกิจใหญ่ ไม่ใช่ไม่ยอมให้ครัวเรือรทำอะไรได้ เป็นต้น

“การปรับโครงสร้างเพื่อการอยู่รอดของพลังบริโภค พึ่งตลาดภายในมากขึ้นต้องยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนขึ้นมาให้เสมอภาคเศรษฐกิจธุรกิจ และสร้างดุลยภาพในการแบ่งปัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐดำเนินการ หากทำได้ เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป พลังบริโภคจะกลายเป็นตัวหลักในการลากจูงเศรษฐกิจต่อไปได้”


อย่างไรก็ดี ขอให้รัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่ามองเพียงว่าการขึ้นค่าจ้าง เป็นการช่วยเหลือลูกจ้าง ซึ่งความจริงถูกครึ่งเดียว เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือลูกจ้าง แต่ประโยชน์ทางตรงคือเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งหมายถึงจีดีพีจะเติบโตเช่นกัน เราจึงต้องมองค่าจ้างที่มีความสัมพันธ์กับจีดีพี จึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริง

“เราไปมองค่าจ้างเพิ่ม ต้นทุนธุรกิจเพิ่ม นายจ้างรับไม่ได้ ค่าครองชีพจะแพงขึ้น แต่ลืมคิดไปว่า ค่าจ้างคือการบริโภคหลัก พลังบริโภคหลักมันลากจูงเศรษฐกิจ 50% เขาไม่มองตรงนี้ ต้นทุนของธุรกิจกับการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาคมันเป็นด้านตรงข้ามกันอยู่แล้ว”

รศ.ดร.ณรงค์ บอกอีกว่า ถ้ารัฐบาลต้องการรักษาพลังบริโภคไว้ ไม่ให้ประชาชนประหยัดจนเกินไป รัฐบาลต้องแก้ด้วยการลดต้นทุนค่าครองชีพ ด้วยการออกนโยบายต่างๆ มาช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่กู้เงินมาแจก เช่น นโยบาย ค่าแก๊ส น้ำมัน ค่าไฟฟ้า เพราะ 80% ของรายได้ของมนุษย์เงินเดือนจะหมดไปกับค่าบ้าน ค่าอาหาร และค่าเดินทาง

“ถ้าน้ำมัน แก๊ส ค่าไฟถูกลง ประชาชนจะมีเงินเหลือไปจับจ่ายได้เพิ่มขึ้น รัฐต้องไปรับผิดชอบในเรื่องการลดต้นทุนค่าครองชีพ อย่างค่าไฟ ถ้า กฟผ.ทำเองชาวบ้านจะเสียค่าไฟได้ถูกกว่า รัฐต้องให้ กฟผ. เป็นผู้ผลิตไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนผลิตมากกว่า กฟผ. ทั้งที่ กฟผ. มีขีดความสามารถทำได้”

ไม่เพียงเท่านั้นสิ่งที่ประชาชนยังต้องเผชิญในปี 2566 สำหรับผู้ที่ผ่อนบ้าน ผ่อนรถมีโอกาสถูกยึดมากเช่นกัน ปัจจุบันมีหนี้เสียหรือ NPL ถึงหนึ่งล้านล้านบาท และยังรอเข้าคิวถูกยึดอีก ซึ่งเชื่อว่าปี 2566 ชนชั้นกลางจะถอยมาเป็นคนจน คือจาก upper-middle class เป็น lower-middle class และ lower-lower class จะถอยเป็น Poor ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวย คนจนจะยิ่งหนักไปกว่านี้อีก

“ภายใต้เศรษฐกิจแบบนี้เราต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เพราะระบบที่เป็นอยู่มันกินตัวเล็กมากเกินไป ให้นึกถึงทฤษฎีสองสูงของเจ้าสัวซีพี คือ รายได้สูงและค่าแรงสูง ขอเพิ่มอีกตัวเป็น 3 สูง คือ ค่าแรงสูง สินค้าสูงและเพิ่มโอกาส สร้างประสิทธิภาพ ให้มีการแบ่งปันตลาดจึงจะทำให้ประชาชนมีรายได้แท้จริง”

จากนี้ไปประชาชนต้องเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจปี 2566 ให้ดีเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดต่อไป...

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH



กำลังโหลดความคิดเห็น