xs
xsm
sm
md
lg

“อัจฉริยะ” แจ้งจับ “กระติก” ให้การเท็จ 9 พิรุธ “คดีแตงโม” ตำรวจแจงไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดสารพัดประเด็นที่สังคมเคลือบแคลงต่อ “การทำคดีแตงโม” ทั้งเปลี่ยนสถานที่ชันสูตรเพราะ “นายสั่ง” ตรวจแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุนาน 3 วัน และให้สิทธิบางคนไม่ต้องตรวจ ปกปิดเรื่องยาเสียสาว ไม่อายัดเรือทันที พบเส้นผมในจุดที่ผิดปกติ ไม่ฟังความเห็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เชื่อคำให้การผู้ต้องสงสัย นำใบพัดเรือมาทดสอบกับร่างแตงโม จนเกิดบาดแผลใหม่ แถลงข้อมูลเท็จ “หมอพรทิพย์” ชี้เป็นการทำคดีที่ “แปลกมาก” ด้าน “อัจฉริยะ” กัดไม่ปล่อย จนต้องตั้งกรรมการสอบ “ทีมทำคดี” ลั่นแจ้งจับ “กระติก” 26 พ.ค.นี้

นับเป็นคดีประวัติศาสตร์เลยที่ประชาชนและผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพต่างลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้แก่ “แตงโม” นิดา หรือภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ดาราสาวที่เสียชีวิตขณะล่องเรือสปีดโบ๊ตในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแม้จะมีพิธีฌาปนกิจร่างของ "แตงโม" ไปแล้ว แต่คดียังไม่มีบทสรุปและยังเป็นที่คลางแคลงใจของสังคม โดยเฉพาะกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและการทำคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นนทบุรี และบทบาทของตำรวจภูธรภาค 1 ซึ่งเป็นต้นสังกัด รวมถึงการทำงานของนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งต่างถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักนับตั้งแต่เริ่มทำคดีจนถึงปัจจุบัน

ทีมตำรวจที่ทำคดี แตงโม
โดยประเด็นที่สังคมมีความคลางแคลงใจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถชี้แจงได้นั้น มีประเด็นหลักๆ ดังนี้

1) การเปลี่ยนสถานที่ชันสูตรร่างของแตงโมอย่างกะทันหัน จากเดิมที่จะขบวนรถของตำรวจกำลังเดินทางเพื่อนำร่างของแตงโมจากท่าเรือพิบูลสงคราม ไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ดูแลการชันสูตรศพพื้นที่เกิดเหตุ แต่อยู่ๆ มีคำสั่งให้นำร่างแตงโม ไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ แทน ทั้งนี้ “เอกพันธ์ บันลือฤทธิ์” ในฐานะอาสากู้ชีพที่ไปช่วยค้นหาร่างแตงโม ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจรู้แต่เพียงว่า “นายสั่งมา” ซึ่งสร้างความงุนงงให้หลายฝ่ายว่า “นาย” คนดังกล่าวเป็นใคร เกี่ยวข้องกับกรณีที่ภรรยาของ “ไฮโซปอ” คือ “เบนซ์ พริกไทย” มีพ่อเป็นนายตำรวจใหญ่หรือไม่ และเหตุใดต้องมีการเปลี่ยนโรงพยาบาลที่ทำการชันสูตร แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงจาก สภ.นนทบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของคดีแต่อย่างใด

ต่อมา พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเหตุที่เปลี่ยนสถานที่ชันสูตรไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ไม่มีหมอนิติเวช แต่ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ออกมายืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในสถาบันที่มีแพทย์นิติเวช และมีความพร้อมที่จะผ่าศพของแตงโมได้

ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม
2) ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่เรียกผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้ง 5 คน คือ นาย
ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือปอ นายไพบูลย์ ตรีกาญจนานนท์ หรือโรเบิร์ต นายนิทัศน์ กีรติสุทธสาธร หรือจ๊อบ นายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือแซน และ น.ส.อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือกระติก
มาตรวจหาแอลกอฮอล์และสารเสพติดโดยทันทีทั้งที่พบขวดไวน์บนเรือ รวมทั้งไม่มีการตรวจร่างกายเพื่อดูว่ามีบาดแผลหรือร่องรอยฟกช้ำหรือไม่ และเกิดจากสาเหตุใด แต่กลับเรียกบุคคลดังกล่าวมาตรวจหาสารเสพติดหลังเกิดเหตุถึง 3 วัน และตรวจร่างกายหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วถึง 5 วัน ซึ่งกระแสสังคมมองว่าความผิดปกติดังกล่าวอาจเกิดจากคำสั่งของ “ผู้มีอำนาจ” จึงเกรงว่าจะทำให้คดีไม่เป็นไปตามความเป็นจริง

จากนั้น ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา และแสวงหาข้อเท็จจริง ตลอดจนตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี กรณีใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเลือกปฏิบัติในการตรวจหาสารเสพติดและแอลกอฮอล์ในร่างกายของประจักษ์พยาน จำนวน 3 คน แต่ไม่ตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของประจักษ์พยานอีก 2 คน ทั้งที่เป็นคดีเดียวกัน และอยู่ในสถานที่เกิดเหตุเดียวกัน

ต่อมา พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รับรายงานว่า สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรีได้ประสานให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ตรวจร่างกาย สารเสพติด และเก็บชีววัตถุของพยานบุคคล จำนวน 5 ราย ที่อยู่ในเรือลำเกิดเหตุ โดยทำการเก็บตัวอย่างปัสสาวะจากพยานบุคคล จำนวน 3 ราย และปัสสาวะและเลือดจำนวน 1 ราย “แต่พยานบุคคลที่อยู่ในเรือลำเกิดเหตุอีก 1 ราย ไม่ได้ทำการเก็บตัวอย่างใดๆ เนื่องจากเจ้าตัวไม่ยินยอมให้ทำการเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะ” ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่านี่ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่สำหรับประชาชนหรือไม่? หากประชาชนไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพิสูจน์วัดปริมาณแอลกอฮอล์ในการขับขี่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ใช่หรือไม่?

พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
3) กรณีการตรวจพบ “ยาเสียสาว” ในร่างกายของนายปอ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลไม่ตรงกัน โดย พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พบยาเสียสาวในร่างกายของคนบนเรือตามที่เป็นข่าว ซึ่งตนได้รับการยืนยันเรื่องนี้จากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ขณะที่ พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 กลับให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเลือด 5 คนบนเรือพบสาร Alprazolam หรือ “ยาเสียสาว” แต่สาเหตุที่ไม่ได้พูดถึงยาเสียสาวในการแถลงสรุปสำนวนคดีแตงโม เพราะเป็นรายละเอียดในสำนวน ประกอบกับพบยาเสียสาวในผู้ชายซึ่งยังไม่ทราบเหตุผลในการกินยาดังกล่าว โดยอาจกินเพื่อให้นอนหลับหรือเพื่อคลายเครียด

แต่ที่น่าสังเกตคือ ข้อมูลของโฆษก สตช.และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เรื่องยาเสียสาวนั้นออกมาหลังจากที่ พล.ต.ท.กีรป เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เปิดเผยความคืบหน้าในการพิจารณาคำร้องของ “ทนายรณณรงค์” ที่ขอให้แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจหาสารเสพติดในผู้ต้องสงสัยอีก 2 คนที่เหลือ ว่า จากการตรวจสอบไม่พบแอลกอฮอล์ แต่ผลการตรวจหาสารเสพติดปรากฏว่ามี 1 คน ที่พบสารกลุ่มเบนโซไดอาซิปินส์ ชนิด Alprazolam หรือ “ยาเสียสาว”

โดยต่อมา นายปอ ได้ออกมายอมรับว่าตนเป็นผู้ใช้ยาดังกล่าว เนื่องจากมีอาการเครียด ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก “อั้ม อิราวัต” ของ นพ.อิราวัต อารีกิจ ได้โพสต์อธิบายในเรื่องของยา Alprazolam ว่า ยาดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติกระตุ้นอารมณ์ทางเพศอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจกัน แต่เป็นยารักษาอาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และบางครั้งใช้เป็นยานอนหลับ แต่เนื่องจากตัวยาจะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และคนที่กินจะมีอาการง่วง หลับ ซึม เบลอ หรือตื่นมาพร้อมกับความทรงจำระยะสั้นที่หายไปจึงมักถูกนำไปใช้เพื่อก่ออาชญากรรมในทรัพย์สินและร่างกาย จึงถูกเรียกว่า “ยาเสียสาว” อย่างไรก็ดี สังคมยังคงเคลือบแคลงว่าในการแถลงสรุปคดีการเสียชีวิตคดีแตงโม เหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นนทบุรี จึงไม่เปิดเผยเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา

พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
4) ไม่มีการอายัดเรือสปีดโบ๊ตลำเกิดเหตุ ซึ่งสังคมตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตของแตงโม ในคืนวันที่ 24 ก.พ.2565 ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นนทบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของคดีจึงไม่มีการสั่งอายัดเรือซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในคดี แต่กลับปล่อยให้มีการนำเรือไปจอดที่อู่ต่อเรือ NBC BOAT CLUB ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายหลักฐานหลายอย่างที่อาจตรวจพบในเรือ โดยคำสั่งอายัดเรือเพิ่งออกมาในวันที่ 4 มี.ค.2565 หรือหลังจากเกิดเหตุไปแล้วถึง 7 วัน โดยให้นำเรือไปเก็บไว้ที่ที่สำนักงานแขวงทางหลวงชนบทนนทบุรี บริเวณใต้สะพานเจษฎาบดินทร์ อ.เมืองนนทบุรี

ซึ่ง พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ กรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ท้วงติงว่าควรมีการเก็บเรือซึ่งเป็นวัตถุพยานสำคัญให้เหมาะสมเนื่องจากการเก็บไว้กลางแจ้ง เมื่อฝนตกอาจจะส่งผลให้วัตถุพยานเปลี่ยนแปลงและถูกปนเปื้อนได้

5) พบเส้นผมที่ใบพัดเรือซึ่งเป็นจุดที่ผิดปกติ โดยตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน ระบุว่า จากการตรวจสอบเรือลำเกิดเหตุพบว่าบนเรือมีร่องรอยเส้นผมของแตงโม อยู่บริเวณท้ายเรือและพบว่ามีเส้นผมพันติดกับใบพัด ซึ่งตำรวจระบุว่าอาจเป็นไปได้ว่าแตงโม ตกลงจากเรือบริเวณท้ายเรือและถูกใบพัดบาด แต่ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ เห็นแย้งว่าหากผมยาวพันติดใบพัด ก็น่าจะมีบาดแผลที่ศีรษะด้วย แต่กลับพบบาดแผลจุดอื่น

6) ตำรวจเชื่อว่าแตงโม ตกบริเวณท้ายเรือสปีดโบ๊ต เนื่องจากไปนั่งปัสสาวะในขณะที่เรือวิ่ง ตามคำให้การของคนบนเรือซึ่งมีฐานะเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งแย้งกับความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ยืนยันตรงกันว่าเป็นไปไม่ได้ที่แตงโม ตกท้ายเรือแล้วจะเกิดบาดแผลขนาดใหญ่บริเวณด้านในต้นขาขวา และผลจากการทดลองของสื่อเห็นชัดเจนว่าขณะที่เรือสปีดโบ๊ตวิ่งหัวเรือจะกระดกขึ้นและท้ายเรือจะดิ่งลง จึงเป็นไปไม่ได้ที่แซน ซึ่งให้การว่านอนเล่นมือถืออยู่ท้ายเรือและแตงโม จับขาตนในขณะนั่งปัสสาวะจะสามารถนอนเล่นในตำแหน่งที่ระบุได้ ขณะที่แตงโม ก็ไม่สามารถนั่งบริเวณท้ายเรือเพื่อปัสสาวะในขณะที่เรือวิ่งได้เช่นกัน

นอกจากนั้น ล่าสุด พญ.คุณหญิง พรทิพย์ หนึ่งในผู้ที่เข้ามาช่วยในคดีการเสียชีวิตของแตงโม ยืนยันว่า บาดแผลบนขาของแตงโมซึ่งเป็นรอยถี่ๆ แบบก้างปลาเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่าแตงโม ตกบริเวณหัวเรือ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่พูดตรงกันว่า จากสภาพบาดแผลแตงโม น่าจะตกบริเวณหัวเรือ

นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม
7) ตำรวจ สภ.นนทบุรี ระบุว่าบาดแผลเป็นรอยยาวบริเวณ “ต้นขาซ้ายด้านใน” เกิดจากใบพัดเรือ ขณะที่สื่อได้มีการทดลองนั่งด้านท้ายเรือสปีดโบ๊ต และทิ้งตัวหงายหลังตกจากเรือขณะที่เรือแล่น ปรากฏว่าตัวของผู้จำลองเหตุการณ์พุ่งลงน้ำและถูกแรงดันของน้ำดีดออกห่างจากท้ายเรือ ขณะที่ตัวเรือพุ่งไปข้างหน้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกพัดใบเรือบาดขา และแม้ว่าตำรวจ สภ.นนทบุรี จะทำการทดสอบโดยนำขาหมูไปแหย่กับใบพัดเรือสปีดโบ๊ตขณะที่เรือตั้งอยู่บนบก เพื่อเทียบกับลักษณะบาดแผลที่ขาแตงโม แต่ไม่ได้สร้างความเชื่อถือให้ประชาชนแม้แต่น้อย โดยกระแสสังคมมองว่าผลการทดสอบไม่น่าจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากสภาพแวดล้อมของจุดเกิดเหตุคือในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีแรงดันน้ำดันออกจากด้านท้ายเรือขณะที่เรือวิ่ง กับจุดที่จำลองเหตุการณ์คือเรือที่ตั้งอยู่บนบกโดยมีขาหมูเข้าไปชนใบพัด มีความแตกต่างกันมาก ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่ลักษณะของการเกิดบาดแผลจะเหมือนกัน

8) อีกกรณีที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักคือ การที่ตำรวจ สภ.นนทบุรี ได้นำใบพัดของเรือสปีดโบ๊ตลำเกิดเหตุซึ่งเป็นวัตถุพยานที่สำคัญออกไปให้แพทย์นิติเวชทำการทดลองเพื่อเทียบกับบาดแผลบนร่างแตงโม ซึ่งทั้งแพทย์นิติเวช และเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการแอบนำเอาหลักฐานออกมาแบบผิดปกติ และที่สำคัญการทดลองดังกล่าวซึ่งเกิดก่อนการชันสูตรรอบที่ 2 ยังเป็นการสร้างบาดแผลให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยจากการชันสูตรครั้งแรกพบว่ามีบาดแผลเพียง 11 แผลเท่านั้น แต่การชันสูตรครั้งที่ 2 กลับพบว่ามีแผลถึง 22 แผล และต่อมาในการแถลงสรุปคดีการเสียชีวิตของแตงโม ในวันที่ 24 เม.ย.2565 ตำรวจภูธรภาค 1 และตำรวจภูธร จ.นนทบุรี ได้ระบุว่า ร่างของแตงโม มีแผลถึง 26 แผล ทำให้เกิดคำถามว่าจำนวนแผลที่เพิ่มขึ้นมาจากไหน อีกทั้งโลกโซเชียลยังแห่แชร์ภาพขาของ "แตงโม" วันที่พบร่างครั้งแรก โดยตั้งข้อสงสัยว่าตอนพบร่างแทบไม่มีบาดแผล แต่เหตุใดวันที่แถลงสรุปคดี ขาของแตงโม จึงมีบาดแผลถึง 26 แผล อีกทั้งภาพบาดแผลที่ตำรวจนำมาแถลงนั้นมีลักษณะเป็นเส้นตรงซึ่งไม่น่าจะเกิดจากใบพัดเรือตามที่ตำรวจสรุป

9) กรณี “โป๊ะแตก แผลรูปตัวเอส” โดยตำรวจได้นำภาพถ่ายบาดแผลที่มีลักษณะโค้งเป็นรูปตัวเอสมาใช้ประกอบในการแถลงปิดคดีแตงโม เพื่อเทียบกับแผลแตงโม โดยอ้างว่าเป็นภาพบาดแผลของชาวต่างชาติที่โดนใบพัดเรือบาด แต่ชาวเน็ตได้จับโป๊ะว่ารูปภาพบาดแผลดังกล่าวนั้นเป็นภาพข่าวจากสื่อของอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่แผลที่เกิดจากใบพัดเรือบาด แต่เป็นแผลของหญิงสาวที่เกิดจากของมีคมปริศนาที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงเต้นรำที่โรงแรมในอังกฤษ ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ต้องออกมาแถลงขอโทษ โดยยอมรับว่าเป็นภาพที่ทีมงานเอามาจากกูเกิล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ กรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หนึ่งในผู้ที่เข้ามาช่วยในคดีการเสียชีวิตของแตงโม ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการรวบรวบพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า มีการให้ข่าวว่าไม่พบปริมาณแอลกอฮอล์ในแก้ว ไม่เจอขวดไวน์ แสดงให้เห็นว่าพยานหลักฐานถูกทำลาย มีสัญญาณอะไรบางอย่างที่บ่งชี้ว่ามีการแทรกแซงคดี เนื่องจากคนบนเรือหายไปรวมตัวกันแล้วกลับมาให้ข้อมูล เรือไม่ได้เป็นวัตถุพยาน คนไม่เป็นหลักฐาน โดยตำรวจอ้างว่ายังไม่ได้เป็นผู้ต้องหา ซึ่งมันแปลก การสั่งย้ายที่ศพชันสูตร ทำให้สังคมไม่มั่นใจว่าแตงโม จะได้รับความยุติธรรม

“ศพไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่การรวบรวมพยานหลักฐาน คดีนี้มีการปล่อยให้ ‘เรือหลุดออกจากห่วงโซ่วัตถุพยาน’ ทำให้ไม่ได้เก็บหลักฐานจากคนบนเรือโดยทันที มาเก็บภายหลังซึ่งเอามาใช้ทางคดีไม่ได้ คดีไม่ตรงตั้งแต่เริ่มต้น” พญ.พรทิพย์ ระบุ

กระติก น.ส.อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์
ขณะที่ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อนายตำรวจ 4 นาย ที่ทำคดีการเสียชีวิตของ แตงโม-ภัทรธิดา ประกอบด้วย พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม ผู้บังคับการสืบสวน ตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี และ พ.ต.อ.จาตุรนต์ อนุรักษ์บัณฑิต ผู้กำกับการ สภ.เมืองนนทบุรี เนื่องจากบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบในการทำคดีชันสูตรการเสียชีวิตของแตงโม ได้นำหลักฐานเท็จเข้าสู่สำนวน และร่วมกันแถลงข่าวโดยใช้ข้อมูลเท็จ ตลอดจนไม่มีคำสั่งให้อายัดเรือของกลาง และตรวจหาแอลกอฮอล์และสารเสพติดในร่างกายของแซน หนึ่งในบุคคลซึ่งอยู่บนเรือลำที่เกิดเหตุ โดยล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบตำรวจทั้ง 4 นายดังกล่าวแล้ว

นอกจากนั้น นายอัจฉริยะ ยังได้เข้ายื่นหนังสือต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษและขอให้ดำเนินคดีอาญากลุ่มแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ และพวก กรณีที่มีการใช้ข้อความอันเป็นเท็จในการลงรายงานส่งต่อตำรวจภาค 1 ที่จะนำไปใช้เป็นหลักฐานนำไปสู่การฟ้องร้องบุคคลบนเรือ ในคดีการเสียชีวิตของแตงโม โดยแพทย์นิติเวชลงความเห็นว่าบาดแผลทางยาวที่ขาขวาด้านในของแตงโม นั้นเกิดจากใบพัดเรือ ทั้งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่าบาดแผลดังกล่าวไม่ได้เกิดจากใบพัดเรืออย่างแน่นอน

ล่าสุด นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้เปิดเผยถึงการดำเนินการในคดีแตงโม ในขั้นตอนต่อไป ว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 26 พ.ค.นี้ ตนจะแจ้งความดำเนินคดีต่อกระติก ในข้อหาให้การเท็จ จากกรณีที่ตรวจสอบพบว่ากระติก ได้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาบนภาพถ่ายของตนเองซึ่งถ่ายบนเรือสปีดโบ๊ตในวันที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นข้อพิรุธถึงความไม่ชอบมาพากลในการเสียชีวิตของแตงโม




กำลังโหลดความคิดเห็น