xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” นั่ง ปธ.เอเชียผู้ตรวจฯระหว่างประเทศ หนุนขยายเครือข่ายเชื่อมองค์กรตรวจสอบอํานาจรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามโผ “สมศักดิ์” นั่งแท่นประธานภูมิภาคเอเชียของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ ประกาศหนุนความร่วมมือขยายเครือข่ายเชื่อมต่อองค์กรตรวจสอบอํานาจรัฐ

วันนี้ (8 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI) ได้ประกาศผลการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานภูมิภาคเอเชีย (Asian Regional President) อย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดรับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนของหน่วยงานสมาชิกภายในภูมิภาค โดยผู้ลงสมัครจะต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารระดับภูมิภาคเอเชีย (Asian Regional Director) เท่านั้น ซึ่งผลปรากฏว่า นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับการโหวตจากสมาชิกสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI) ให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานภูมิภาคเอเชีย (Asian Regional President) โดยได้รับคะแนนเสียงเอกฉันท์จากหน่วยงานสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีลับผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (secret e-ballot) ระหว่างวันที่ 22 เมษายน - 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการได้รับเลือกตั้งให้ดํารงตําแหน่งประธานภูมิภาคเอเชีย (Asian Regional President) ครั้งนี้ ว่า นับเป็นความภาคภูมิใจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก IOI ในภูมิภาคเอเชีย ที่ผ่านมา ระหว่างดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารระดับภูมิภาคเอเชีย (IOI Asian Regional Director) ได้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรแบบทวิภาคและพหุภาคี ตลอดจนขยายเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักนิติธรรม ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินไทยได้มีความร่วมมือกับนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีกับคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมสิทธิทางพลเมืองแห่งสาธารณรัฐเกาหลี, ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน, สํานักตรวจสอบการบริหาร กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดเมื่อปี 2564 ได้ลงนามในเอกสารบันทึกเจตนารมณ์ (Memorandum of Intent : MOI) ว่าด้วยการก่อตั้งเวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Ombudsman: SEAOF) ร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อแสดงจุดยืนของการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ให้ความเป็นธรรมหรือดูแลเฉพาะประชาชนทุกคนที่พํานักในประเทศตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลประชาชนของตนที่พํานักในประเทศสมาชิกอื่นอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

“นับจากนี้ ในฐานะผู้แทนของหน่วยงานสมาชิกภายในภูมิภาค พร้อมเดินหน้ามุ่งให้ความสําคัญในการพัฒนายุทธศาสตร์ขยายความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินในภูมิภาคเอเชียร่วมกับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี นํานวัตกรรมดิจิทัลมาปรับใช้ในการทํางานเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ ย้ำถึงความสําคัญของบทบาท หน้าที่ และอํานาจในการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมของประชาชน และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 10-12 พ.ค. 2565 มีภารกิจเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI Board of Directors) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในฐานะประธานการประชุมภูมิภาคเอเชีย (Asian Regional Meeting) ซึ่งนับเป็นการปฏิบัติหน้าที่ครั้งสำคัญของการหารือในเรื่องเกี่ยวกับกฎภูมิภาคเอเชียและกิจกรรมความร่วมมือในภูมิภาค อันจะนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพของผู้ตรวจการแผ่นดินไทยและสมาชิกร่วมภูมิภาคในบทบาทการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐที่มีประสิทธิภาพและมีอิสระอย่างแท้จริงต่อไป”




กำลังโหลดความคิดเห็น