ครบ 1 ปี ปมฉาว! ท้องถิ่นเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซ้ำซ้อนบำนาญ “สถ.” เวียนด่วนแจ้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ เร่งสำรวจจำนวนผู้ได้รับบำนาญ-เบี้ยยังชีพ “เพิ่มเติม” หลังปีก่อนระงับเรียกคืน ผู้ได้รับสิทธิบำนาญ จากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท. ที่นำมาคืนให้ทางราชการ หวังเพื่อความถูกต้อง-ข้อมูลปัจจุบัน เน้นสำรวจรายใหม่ ที่รับสิทธิ ระหว่าง 28 พ.ค. 64 ถึงปัจจุบัน
วันนี้ (29 เม.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เร่งสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เพิ่มเติม)
โดยเฉพาะตัวเลขจำนวน ผู้ที่ถูกเรียกเงินคืน จาก “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” และได้ส่งคืนเงินดังกล่าวให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ กว่า 7,850 แห่ง
หนังสือดังกล่าว เร่งให้จังหวัดสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม จากครั้งล่าสุด สถ.มีหนังสือเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564 แจ้ง 76 จังหวัดขอให้ อปท.ทั่วประเทศ สำรวจข้อมูล “ผู้สูงอายุ”
กรณี “ผู้สูงอายุ” ได้รับบำนาญจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท. โดยให้จังหวัดรวบรวมและรายงานให้ สถ.ทราบ ภายในวันที่ 28 พ.ค. 2564
“เพื่อให้ได้ข้อมูลจำนวนผู้สูงอายุและจำนวนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ได้นำมาคืนให้ทางราชการ ถูกต้อง และเป็นข้อมูลปัจจุบัน ให้สำรวจเพิ่มเติมเฉพาะรายใหม่ที่คืนเงินระหว่างวันที่ 28 พ.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน”
โดยให้ อปท.ดำเนินการบันทึกข้อมูลสถานะการดำเนินการของผู้สูงอายุ รวบรวมและรายงานให้ สถ. ภายในต้นเดือน พ.ค.นี้
ปีที่แล้ว 2564 สถ.มีหนังสือด่วนที่สุดเลขที่ มท 0810.6/ว2742 ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ถึงจังหวัดแจ้ง อปท. ให้ระงับการเรียกเงินคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในกรณีผู้สูงอายุได้รับบำนาญ จากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท.
หลังจากได้รับแจ้งจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังพบว่า มี อปท.ดำเนินการเรียกเงินคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กรณีผู้สูงอายุได้รับบำนาญจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท.
“ในการนี้ ขอความร่วมมือจังหวัดแจ้ง อปท.ให้ระงับเรียกเงินคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ในการกำหนดนโยบายการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อยู่ระหว่างการพิจารณาการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เหมาะสม เมื่อ สถ.ทราบผลการดำเนินการจะแจ้งให้ทราบต่อไป”
ในคราวนั้น สถ.ยังได้ซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด
ตอนหนึ่งระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ อยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่จะกำหนดใหม่ หากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ มีการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ซัดเจน และมีผลให้กระทรวงมหาดไทยสามารถนำมากำหนดเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท.ขึ้นใหม่แล้ว
กระทรวงมหาดไทย จักได้แจ้ง แนวทางในการดำเนินการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพิ่มเติม ให้ อปท.ทราบและถือปฏิบัติ
ปีเดียวกัน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมหารือกับหลายหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ ทำให้ผู้สูงอายุที่ถูกเรียกคืนเงินดังกล่าวเดือดร้อนกันทั่วประเทศ
มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 อาศัยอำนาจตามมาตรา 33 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
รวมถึงแก้ไขบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่ได้รับเงินไปแล้วโดยสุจริต ไม่ต้องไปเรียกเงินคืนจากบุคคลนั้นๆ โดยเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาหมายเลขคดีที่ 10850/2559 ซึ่งถือว่าเป็นลาภมิควรได้ แต่ได้รับเงินไว้โดยสุจริต จึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าว
ส่วนกรณีบุคคลที่ได้รับบำนาญพิเศษและได้นำเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาคืนภาครัฐแล้วนั้น ก็ถือว่าท่านแสดงสิทธิเจตนารมณ์ที่จะมาคืน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เดือดร้อน หรือเป็นผู้มีรายได้น้อย
“แสดงว่ามีเจตนาว่าจะไม่รับเงินก้อนนี้ แต่หากมีการแก้ไขระเบียบดังกล่าวแล้ว ผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญพิเศษก็อาจจะขอรับสิทธิรับเบี้ยผู้สูงอายุหลังจากนั้นได้ แต่คงไม่สามารถขอรับเงินที่มีการคืนไปแล้วได้” มติที่ประชุมร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน คราวนั้นระบุ