xs
xsm
sm
md
lg

อนุฯถ่ายโอน “รพ.สต.” ไป อบจ.มึน! ไร้ช่องทบทวนมติ ครม.จัดสรรงบ 66 ชง 3 ทางเลือก ให้ ก.ก.ถ.ตัดสิน “กลุ่มหมอ” ยื่น “ป.ป.ช.- ผู้ตรวจ” สอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อนุฯ ถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ. มึน! ไร้ช่องทบทวนมติ ครม. จัดสรรงบปี 66 รับถ่ายโอนภารกิจได้เพียง 512 แห่ง จาก 3,384 แห่ง แต่เสนอ 3 ทางเลือก ให้ ก.ก.ถ.ตัดสิน ยันให้รอ “วาระ 1” ในสภา ทำได้ดีที่สุด ต.ค.นี้ โอนของ/ภาระกิจ ก่อนงบ หรือขอใช้งบกลาง/งบอื่นๆ พลางไปก่อน ด้าน กลุ่มหมอ รพ.สต. ยื่น “ปปช.- ผู้ตรวจการแผ่นดิน” สอบวงเงินงบ 66 ให้เป็นไปตามกฎหมายกระจายอำนาจฯ

วันนี้ (20 เม.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 2/2565 ที่มี นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เป็นประธาน

มีการพิจารณาประเด็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2566 จากกรณี ตัวแทน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนใหม่

กรณีสำนักงบประมาณตั้งงบประมาณไว้สำหรับการถ่ายโอน ไป อบจ. เพียง 2,860 คนเท่านั้น จากที่บุคลากรข้าราชการที่สมัครใจถ่ายโอน กว่า 1.2 หมื่นคน จาก รพ.สต. 3,384 แห่ง

อนุกรรมการมีมติกำหนด 3 ทางเลือกเพื่อให้การถ่ายโอนฯ เป็นไปตามแนวทางที่ได้มีการกำหนดไว้ คือ

1. ให้ อบจ. ขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปยัง อบจ. ในยอดงบประมาณเท่าเดิมสำหรับส่วนที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนฯ

2. หากไม่สามารถขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณฯ ได้ ก็จะขอมติจาก ก.ก.ถ. โดยให้ประธาน ก.ก.ถ. นำเรื่องเสนอ ครม. ขอใช้งบกลาง หรืองบอื่นๆ”

3. หากไม่สามารถทำได้ ก็จะให้ สธ. ดำเนินการให้บุคลากรสามารถช่วยราชการไปพลางก่อนอย่างน้อย 1 ปี และเตรียมการถ่ายโอนให้ อบจ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

“ที่ประชุมย้ำว่า การถ่ายโอนภารกิจฯ ที่จะเริ่มขึ้นในเดือน ต.ค. 2565 หากเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงงบประมาณไม่สำเร็จ จะเป็นลักษณะ “ของและภารกิจ” ไปก่อน เช่น งาน, สถานีอนามัย, วัสดุ ครุภัณฑ์, ที่ดิน ฯลฯ ส่วน “คน” จะตามไปช่วยราชการก่อน”

อย่างไรก็ตาม พบว่า ข้อมูลบันทึกคำของบประมาณเข้าระบบ BBL ของสำนักงบประมาณ ประจำเดือนมกราคม 2565 ที่รวบรวมล่าสุด มี รพ.สต.เพียง 3,366 แห่ง ที่พร้อมถ่ายโอนฯ

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ แจ้งที่ประชุมว่า เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบงบประมาณตามที่สำนักงบฯ ได้นำเสนอเป็นรูปเล่มแล้ว ก็จะส่งต่อเข้าสู่สภา

“ฉะนั้น การจะเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มงบประมาณ จะต้องไปอยู่ในขั้นตอนหลังจากเสนองบประมาณต่อสภาในวาระ 1 นั่นหมายความว่า การจะขอเข้า ครม. เพื่อทบทวนมติทำไม่ได้ จึงสามารถถ่ายโอนภารกิจได้เพียง 512 แห่ง จากที่แสดงความประสงค์ขอถ่ายโอนฯ ทั้งหมด 3,366 แห่ง และบุคลากรเพียง 2,860 คน จากทั้งหมดกว่า 1.2 หมื่นคน เป็นไปตามมติ ครม.15 มี.ค.” รายงานข่าวระบุ

ล่าสุด มีรายงานว่า วานนี้ (19 เม.ย.) นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) และ กลุ่มหมออนามัย รพ.สต. เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการกำหนดวงเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2566 สนับสนุนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนให้แก่ อบจ. 49 จังหวัด ในปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565)

ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา ผูกพันส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564

หนังสือระบุว่า มีคำแนะนำด่วนที่สุดไปที่คณะรัฐมนตรี และ ก.ก.ถ. เพื่อทบทวนมติ ครม. 15 มี.ค. 2565 ก่อนที่ ครม. จะมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ในวันที่ 17 พ.ค. 2565 ส่งต่อไปที่รัฐสภาเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ รวมถึงส่งตรงถึงสำนักงบฯด้วย

โดยขอให้นำความเห็นที่ได้รับทราบจากหนังสือร้องทุกข์ และจากการรับทราบปัญหาจากเวทีประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขให้แก่ อปท. เมื่อการประชุมครั้งที่ 1/2565 วันที่ 18 มี.ค. 2565

และการประชุมอนุฯ ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 18 เม.ย. 2565 ณ ห้องประชุม 109 ตึกสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ประกอบการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566

“ให้นำเสนอต่อ ครม. เพื่อทราบและพิจารณาในการประชุมวันอังคารที่ 26 เม.ย. 2565 ด้วย ซึ่งหากสำนักงบประมาณไม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ก็จะเป็นการปิดบังซ่อนเร้น อาจเข้าข่ายเจตนากระทำความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

ทั้งนี้ ยังฝากกราบเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่ได้รับทราบปัญหานี้จากหนังสือร้องทุกข์ของชมรม ผอ.รพ.สต. (ประเทศไทย) ที่ได้กราบเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร ได้โปรดออกมาแก้ไขปัญหาให้เป็นที่ยุติโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ราชการจากปัญหาการไม่ปฏิบัติตามนโยบายการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ซึ่งจะกระทบต่อประโยชน์ประชาชนในที่สุด

นอกจากนี้ กลุ่มยังได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2565 เพื่อตรวจสอบในกรณีเดียวกันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น