“หมอพรทิพย์” เผยการนำร่างแตงโมมาทดสอบกับใบพัด เกิดก่อนชันสูตรรอบ 2 แต่ไม่แจ้งให้ทีมงานทราบ ติงนำใบพัดเรือลำเกิดเหตุมาใช้กระทบห่วงโซ่วัตถุพยาน ข้องใจจำนวนบาดแผลเพิ่มจาก 11 เป็น 22 แห่ง จี้หาตัวคนรายงาน 26 แผล เกรงมีการเปลี่ยนข้อมูล ด้าน “พ.ต.อ.วิรุตม์” บี้ทีมสอบสวนแจงกรณี “ปอ-โรเบิร์ต-แซน” โดนข้อหาประมาท ยันหากพิสูจน์ได้ว่าแตงโมไม่ได้ตกท้ายเรือ อาจกลายเป็นคดีฆาตกรรม ชี้ช่อง “พลิกคดี” ต้องเร่งส่งหลักฐานใหม่ให้อัยการพิจารณา อัดตำรวจ กฎหมายไทยไม่มีคำว่า “ความลับในสำนวน”
จากกรณีที่ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้แถลงถึงขบวนการสร้างหลักฐานเท็จในคดีการเสียชีวิตของ “แตงโม” นิดา พัชรวีระพงษ์ ดาราสาวชื่อดัง รวมถึงกรณีที่แพทย์นิติเวชมีการนำร่างแตงโม ออกมาทดลองการเกิดบาดแผลกับใบพัดเรือ ซึ่งถูกระบุว่าอาจเป็นการขโมยศพออกมาโดยไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมเป็นอย่างมาก อีกทั้งสังคมกำลังจับตาว่าข้อมูลที่ออกมาจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคดีหรือไม่? และการนำร่างของแตงโม ออกมาทดสอบดังกล่าวถือเป็นความผิดของแพทย์นิติเวชหรือไม่อย่างไร?
สำหรับการนำร่างของแตงโม ออกมาทดสอบกับใบพัดเรือนั้น พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา หนึ่งในกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ในฐานะอดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ชี้แจงถึงหลักการทำงานของนิติเวช ว่า ประการแรก การจำลองว่าบาดแผลเกิดจากอะไรเป็นสิ่งที่นิติเวชควรทำ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีข้อกำหนดไว้จึงไม่ค่อยได้ทำกัน ประการที่ 2 เมื่อจำลองแล้วต้องระมัดระวังการสรุปผล เนื่องจากนิติวิทยาศาสตร์มีหลายสาขา ดังนั้นอาจไม่สามารถบอกสาเหตุได้ทันที เช่น บอกว่าอันนี้เป็นรอยรองเท้า แต่ถ้าจะบอกว่ารองเท้ายี่ห้ออะไรจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ความเห็น แต่ถ้าเห็นรอยโค้งนิดเดียวแล้วจะบอกเป็นขอบรองเท้าอย่างนี้ไม่ได้ ดังนั้นในการสรุปผลการทดลอง และส่งให้พนักงานสอบสวนนำไปใช้ในสำนวนจึงจำเป็นต้องใช้ความรู้หลายแขนงประกอบกัน
ประการที่ 3 ในการชันสูตรพลิกศพ หรือการจำลองเหตุการณ์เพื่อหาสาเหตุของบาดแผล เจ้าหน้าที่นิติเวชต้องคำนึงถึงหลัก Chain of custody หรือห่วงโซ่วัตถุพยาน ซึ่งระบุว่าวัตถุพยานจะต้องไม่ถูกปนเปื้อน ไม่ถูกทำลาย ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงตลอดเส้นทางของกระบวนการตรวจสอบ
พญ.พรทิพย์ กล่าวต่อว่า ในกรณีที่แพทย์นิติเวชนำร่างของแตงโม มาตรวจสอบที่มาของบาดแผลโดยใช้ใบพัดเรือของเรือลำที่เกิดเหตุมาทดลองนั้น มีทั้งเรื่องศพและใบพัด ซึ่งในการนำศพมาทดสอบจะต้องไม่ทำให้เกิดบาดแผลใหม่ ซึ่งในที่นี้เราไม่รู้ว่ามีบาดแผลใหม่เกิดขึ้นระหว่างทำการทดสอบหรือไม่ ไม่รู้ว่าสถานที่ที่ใช้ในการทดลองจะทำให้ศพถูกปนเปื้อนหรือเปล่า อย่างไรก็ดี การนำใบพัดเรือของลำที่เกิดเหตุมาใช้ในการทดลองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะการนำใบพัดมาใช้อาจทำให้หนึ่งในหลักฐานสำคัญเกิดการเปลี่ยนแปลง หากจำเป็นต้องนำใบพัดมาตรวจสอบในภายหลังก็จะเกิดความคลาดเคลื่อนของหลักฐาน คือ สมมติตำรวจจะบอกว่าตรวจสอบครบแล้ว แต่ในอนาคตมีการขอตรวจสอบใบพัดเรืออีกครั้งว่ามีรอยบิ่นไหม การนำใบพัดของเรือลำที่เกิดเหตุออกไปจากระบบห่วงโซ่วัตถุพยานจะทำให้การตรวจสอบใบพัดครั้งที่ 2 ไม่น่าเชื่อถือ
"การนำศพออกมาทดลองเพื่อหาสาเหตุของบาดแผลต้องขออนุญาตหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าก่อนนำศพออกมาได้ทำเรื่องคืนศพให้ญาติผู้ตายหรือยัง ถ้าทำเรื่องคืนแล้วและญาติฝากศพไว้กับนิติเวช ต้องขออนุญาตทางญาติผู้ตายก่อน ส่วนว่าหากไม่ขออนุญาตจะมีความผิดหรือไม่อย่างไรนั้น ต้องไปถามผู้ที่กำหนดกรอบความผิด อย่างแพทยสภา สมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย แต่โดยหลักการแล้วไม่ควรทำ ที่สำคัญในการทดสอบของนิติเวชนอกจากจะต้องคำนึงถึง Chain of custody แล้ว เพื่อความโปร่งใสจะต้องมีการบันทึกผลการทดสอบและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อป้องกันความเคลื่อนในการชันสูตรศพครั้งที่ 2 ซึ่งการที่แพทย์นิติเวชนำร่างของแตงโม ออกมาทดลองกับใบพัดเรือดังกล่าวนั้นไม่ได้มีการแจ้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ทีมแพทย์ที่เข้าไปชันสูตรครั้งที่ 2 ซึ่งดิฉันร่วมสังเกตการณ์ด้วยก็ไม่ทราบ ซึ่งเขาอาจจะบันทึกก็ได้แต่ไม่ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อการชันสูตรครั้งที่ 2 เพราะเราจะไปบอกว่าบาดแผลน่าจะเกิดจากอย่างนั้นอย่างนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะโดยระบบจะต้องรักษาความต่อเนื่องของวัตถุพยาน" พญ.พรทิพย์ กล่าว
ส่วนกรณีจำนวนบาดแผลของแตงโม ที่เพิ่มขึ้นจาก 11 แห่ง เป็น 22 แห่ง และล่าสุดเพิ่มเป็น 26 แห่งนั้น “พญ.พรทิพย์” มองว่า เกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ 1) มีการทำให้จำนวนบาดแผลเพิ่มขึ้นในระหว่างชันสูตร ตรวจสอบ หรือทำการทดลองหาสาเหตุของบาดแผล 2) เกิดจากการจดบันทึกจำนวนบาดแผลไม่ครบถ้วน ซึ่งหากเป็นบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นประเด็นสำคัญทางคดีก็ไม่ใช่สาระ แต่หากเป็นบาดแผลสำคัญทางคดีก็ต้องกลับไปตรวจสอบว่าทำไมจึงไม่ระบุในรายงาน
ทั้งนี้ บาดแผลบนร่างของแตงโม นั้นมี 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแรก คือบาดแผลใหญ่เป็นรอยยาว ซึ่งอันนี้ดิฉันตอบไม่ได้เพราะไม่ได้เห็นตั้งแต่เริ่ม กลุ่มที่ 2 เป็นแผลแบบรอยก้างปลา ซึ่งดิฉันได้เห็นชัดเจนในการชันสูตรครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่จำนวนแผลเพิ่มจาก 11 แห่ง เป็น 22 แห่ง โดยส่วนตัวมีทฤษฎีว่าแผลกลุ่มนี้น่าจะเกิดจากใบพัด และทิศทางของรอยก้างปลาแสดงให้เห็นว่าร่างกายเคลื่อนในลักษณะตรงๆ ผ่านใบพัด แปลว่ากระแสน้ำขณะนั้นเป็นกระแสตรง ซึ่งกระแสน้ำช่วงท้ายเรือมันไม่ตรง กระแสน้ำท้ายเรือมันหมุน การที่ขาโดนใบพัด 1 ที แล้วหมุนมาอีกทีแผลจะเป็นลักษณะตรงๆ ไม่ได้
ซึ่งการอธิบายบาดแผลที่เกิดจากใบพัดเรือจะต้องมีข้อมูลอื่นเพิ่มเติม จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เรื่องเรือและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เรื่องน้ำช่วยอธิบาย คือเวลาเรือแล่นไปข้างหน้า พอใบพัดหมุนมันจะดูดน้ำจากข้างหน้าไปข้างหลัง น้ำข้างหลังจะพ่นออก ทั้งพ่นตรงๆ และพ่นข้างๆ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จุดตกของแตงโม จะอยู่ด้านท้ายเรือแล้วเกิดบาดแผลลักษณะนี้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวดิฉันไม่ได้เป็นคนสรุปเอง แต่เป็นข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ
“ตัวเลขมันห่างกันเยอะ ตัวเลข 26 กับ 22 ดิฉันไม่ค่อยติดใจ แต่ 22 กับ 11 มันน่าติดใจว่ามันเกิดจากอะไร ที่สำคัญรายงานการตรวจครั้งที่ 1 ถ้ามีบาดแผล 11 แห่ง และส่งให้พนักงานสอบสวนแล้ว รายงานที่ระบุว่ามีบาดแผล 26 แห่ง เป็นรายงานของใคร ซึ่งต้องไปดูว่าถ้าเป็นหน่วยงานเดียวกันแต่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอันนี้ต้องระวังเพราะมันมีมาตรฐานการปฏิบัติงานกำกับอยู่ ซึ่งเหตุผลที่ต้องตรวจสอบเพื่อไม่ให้พยานหลักฐานชิ้นนี้ด้อยค่าไปในสำนวน” พญ.พรทิพย์ กล่าว
ส่วนที่หลายฝ่ายอยากรู้ว่าการออกมาเสดงข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับคดีแตงโม ของนายอัจฉริยะ จะนำไปสู่การสั่งเปลี่ยนทีมสอบสวน โดยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือมีผลทางกฎหมายต่อคดีอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่
ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) แสดงความเห็นว่า ขณะนี้ในส่วนของตำรวจคงทำอะไรไม่ได้แล้ว เนื่องจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีคือ ผกก.สภ.นนทบุรี ได้สรุปการสอบสวนและส่งสำนวนพร้อมพยานหลักฐานให้อัยการจังหวัดนนทบุรีไปแล้ว จึงเป็นอำนาจของพนักงานอัยการตามกฎหมายในการ "สั่งคดี" ไม่ว่าจะเป็นการให้สอบสวนเพิ่มเติมตามประเด็นที่สั่งเป็นหนังสือ หรือมี "คำสั่งฟ้อง" หรือ "ไม่ฟ้อง" ผู้ต้องหา ตามข้อกล่าวหาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ประเด็นสำคัญของคดีที่ประชาชนต้องการทราบ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมชี้แจงคือผู้ต้องหาทั้ง 3 คน คือ ปอ โรเบิร์ต และแซน ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า "ประมาท" นั้นมีการกระทำโดยปราศจากความระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นพึงมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอ รวมทั้ง "การกระทำนั้นเป็นเหตุให้แตงโม ตกเรือและจมน้ำถึงแก่ความตายอย่างไร" อ้างกันแต่ว่า "เป็นความลับในการสอบสวน" หรือ "เป็นเรื่องในสำนวน" จึงเป็น "คำพูดมั่ว" ตลอดมา และเป็นเหตุให้ประชาชนวิจารณ์กันไปต่างๆ นานา เพราะเมื่อแจ้งข้อหาต่อผู้ต้องหา ทุกคนจะทราบข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวหาในประเด็นนี้อยู่แล้ว
“ที่ตำรวจบอกว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นความลับในสำนวนก็เป็นแค่ข้ออ้าง คำว่า ‘ความลับในสำนวน’ มันไม่มีในกฎหมาย ผมยืนยันว่าสำนวนการสอบสวนไม่ใช่ความลับ แต่เมื่อตำรวจไม่ยอมชี้แจง ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิคิดและสันนิษฐานกันไปต่างๆ นานา ว่าเป็นการตั้งข้อหาที่เลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐานที่ชัดเจนหรือไม่ และในที่สุดหากอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรืออาจฟ้องไปเพราะเกรงใจตำรวจ เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องก็จะทำให้ข้อเท็จจริงสวิงกลับทันที กลายเป็นว่าแตงโม ประมาททำให้ตกเรือถึงแก่ความตายเอง หรือแม้แต่ข้อเท็จจริงอาจมีผู้กระทำในลักษณะของการลวนลาม ประทุษร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง และเป็นเหตุทำให้แตงโม เสียหลักพลัดตกเรือ รัฐจะไม่สามารถดำเนินคดีกับใครได้อีก ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง" พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว
ส่วนกรณีที่หากมีการเปลี่ยนทีมพนักงานสอบสวนในคดีแตงโม การรวบรวมพยานหลักฐานในคดีจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือไม่นั้น “พ.ต.อ.วิรุตม์” ชี้แจงว่า ทีมสอบสวนชุดใหม่จะใช้ข้อมูลจากสำนวนเดิมที่ทีมเก่ารวบรวมไว้ แต่จะสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นที่ยังสงสัยก็ได้ ขณะที่ในส่วนของอัยการนั้นหลังจากที่ให้ทีมสอบสวนไปสอบสวนเพิ่มใน 20 ประเด็นที่อัยการสงสัยแล้ว เมื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาแล้วแต่อัยการยังเคลือบแคลงอยู่ก็สามารถสั่งสอบสวนเพิ่มไปเรื่อยๆ หรือหากใครมีพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถส่งไปให้อัยการโดยตรงซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผลการพิจารณาคดี
“ต้องบอกว่าหากมีข้อมูลพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถพลิกคดี นำคนผิดมาลงโทษได้ คือตอนนี้สำนวนคดีแตงโม เป็นอำนาจของอัยการ ดังนั้น ต้องจี้อัยการให้สอบสวนเพิ่มเติมให้สิ้นกระแสความ หากข้อเท็จจริงยังไม่สอดคล้องกัน อัยการก็ควรสั่งให้ตำรวจสอบเพิ่มให้สิ้นสงสัย หรืออาจสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งไม่ได้แปลว่าสุดท้ายแล้วผู้กระทำผิดจะหลุดนะ เพราะหากมีข้อมูลหรือหลักฐานใหม่ก็สามารถนำมาฟ้องใหม่ได้ ดังนั้น ตอนนี้ใครมีหลักฐานใหม่ก็ยื่นต่ออัยการได้โดยตรง เช่น ข้อมูลเรื่องจีพีเอสของเรือที่ขัดแย้งกับสำนวนของตำรวจ มีพยานสักคนหรือมีคลิปที่ชี้ว่าแตงโมถูผลักตกน้ำบริเวณหัวเรือก็ถือเป็นหลักฐานใหม่ที่สามารถดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้ หรือถ้าพิสูจน์ได้ว่าแตงโม ตกจากจุดอื่นของเรือก็อาจจะมีคนเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน และไม่ใช่เรื่องของความประมาท แต่อาจเป็นเรื่องการทำร้ายร่างกาย หรือเป็นการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ซึ่งเป็นข้อหาหนัก” พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุ