xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคิว! “มหาดไทย” ไฟเขียวท้องถิ่น จัดสูตรจัดเก็บ “ภาษีป้ายสถาบันการศึกษาเอกชน” กว่า 3 พันแห่งทั่วประเทศ ทั้งใน-นอกระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถึงคิว! “มหาดไทย” ไฟเขียวท้องถิ่น จัดสูตร “เก็บภาษีป้าย” โรงเรียน-วิทยาลัย-มหาลัยเอกชน มากกว่า 3 พันแห่ง ทั่วประเทศ ทั้งใน-นอกระบบ หลัง กม.ฉบับปี 2510 “ยกเว้น” ไม่ต้องเสียภาษี เผย “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” สรุปแนวทางแก้ปัญหา “ภาษีป้าย” ยกคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2559 ประกอบ “ขนาดอักษรภาษาไทย-ต่างประเทศ” ที่ติดตั้งบริเวณสถาบัน

วันนี้ (19 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือซักซ้อม “แนวทางการจัดเก็บภาษีป้ายของโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ

แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซักซ้อมกับ โรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ต่อแนวทางดังกล่าว ให้เกิดความชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ให้ทราบว่า ป้ายที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ให้หมายถึง ป้ายชื่อของโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

และต้องแสดงไว้ ณ อาคาร หรือบริเวณของโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น แต่ไม่รวมถึง “ป้ายโฆษณาของโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน”

ทั้งนี้ เทียบเคียงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2559 ที่ระบุไว้ว่า “โดยป้ายชื่อของโรงเรียนเอกชน “ต้องใช้อักษรไทยขนาดใหญ่พอสมควร” ติดไว้ที่บริเวณโรงเรียนในระบบ ณ ที่ซึ่งเห็นได้ง่าย โดยต้องมีคำว่า “โรงเรียน” ประกอบชื่อด้วย”

ในกรณีที่มี “อักษรต่างประเทศกำกับ” ต้องไม่มี ขนาดใหญ่กว่าอักษรไทย และสำหรับโรงเรียนในระบบ ที่จัดการศึกษาประเภทอาชีวศึกษาทั้งระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง

อาจใช้คำว่า “วิทยาลัยอาชีวศึกษา” หรือ “วิทยาลัยเทคโนโลยี” ประกอบชื่อแทนคำว่า “โรงเรียน” ก็ได้โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้นำมาใช้กับโรงเรียนนอกระบบด้วย ตามมาตรา 28 และมาตรา 127(1) แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550

และ “กรณีสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” ต้องใช้อักษรไทยและต้องใช้คำว่า “มหาวิทยาลัย” “สถาบัน” หรือ “วิทยาลัย” นำหน้าชื่อ

ซึ่ง “ชื่อสถาบันอุดมศึกษา” จะใช้อักษรต่างประเทศด้วยก็ได้ โดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำ ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546

หนังสือซักซ้อมดังกล่าวออกมา ภายหลัง “สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน” ได้มีหนังสือสรุปผลการประชุมแนวทางการแก้ไขปัญหา “การจัดเก็บภาษีป้ายของโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน”

โดยแจ้งให้กรมสงเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ตรวจสอบและซักซ้อมแนวทางปฏิบัติไปยัง อปท.ให้เกิดความชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

กระทรวงมหาดไทย ยังขอให้ผู้ว่าฯทั่วประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์การติดตั้งป้ายทุกประเภท โดยแจ้งให้ประชาชนทราบ ว่า ป้ายใดบ้างอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีป้าย หรือได้รับการยกเว้นภาษีป้าย อัตราภาษีป้ายที่ใช้ในการจัดเก็บ หน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีป้าย การชำระภาษีป้าย

ตลอดจนบทกำหนดโทษในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย และไม่ชำระภาษีป้ายภายในกำหนด

รวมทั้งประซาสัมพันธ์การติดตั้งป้ายที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ เช่น ฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 เป็นต้น

เพื่อให้สอดคล้องตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0407/ว 102 ลงวันที่ 19 มกราคม 2533 เรื่อง การทุจริตและประพฤติมิชอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีป้าย

รวมถึงให้ดำเนินการสำรวจตรวจสอบป้ายทุกปี โดยสำรวจป้ายทุกประเภททั้งที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี และได้รับการยกเว้นภาษี เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำทะเบียนคุม ก่อนจะดำเนินการแยกประเภทป้าย และแจ้งประเมิน ภาษีป้าย

หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปภายในสถานประกอบการค้า หรือ ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีหนังสือขอเข้าไปในสถานที่ดังกล่าว และสำรวจในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการ หรือออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งบัญชี หรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีป้าย มาตรวจสอบภายในกำหนดเวลาอันสมควรได้

ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติ ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 กรณีดังกล่าว เมื่อ ปี 2563 กระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ขอให้พิจารณายกเว้นภาษีป้ายให้แก่โรงเรียนเอกชน หลังจากได้มีการขอความอนุเคราะห์เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายใหม่ ให้แก่โรงเรียนเอกชนไปแล้ว

แต่เนื่องจากขณะนี้ยังมีโรงเรียนเอกชนนอกระบบอยู่ 4 ประเภท ที่ยังไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีป้าย ได้แก่ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนอาชีพ โรงเรียนเสริมสร้างทักษะชีวิต และโรงเรียนสอนศิลปะและกีฬา ซึ่งขณะนั้้น มท.ได้ทำหนังสือตอบกลับมาแล้ว ว่า มีการดำเนินการส่งหนังสือไปถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้แล้ว

“ที่ผ่านมา การเก็บภาษีป้ายจากโรงเรียนเอกชนพบปัญหา ว่า ผู้จัดเก็บภาษี คือ อปท.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง อปท.แต่ละแห่งก็ใช้มาตรฐานในการจัดเก็บแตกต่างกันออกไป เช่น บางแห่งเรียกเก็บภาษีป้ายจากโรงเรียนเอกชนในราคาหลักแสนบาท อีกทั้งเป็นการเรียกเก็บในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ด้วย เพราะที่ผ่านมาแม้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีป้ายจะยกเว้นให้โรงเรียนก็ตาม แต่ มท.กลับไปตีความว่าเฉพาะป้ายชื่อโรงเรียนเท่านั้นที่เว้นจากการจัดเก็บภาษี ดังนั้น จึงเสนอให้ มท.ทบทวนการเก็บภาษีป้ายของโรงเรียนเอกชนในส่วนที่เป็นการซักซ้อมความเข้าใจ เช่น ป้ายเปิด-ปิดโรงเรียน เป็นต้น”

ปัจจุบัน พบว่า มีโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 3,563 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น