xs
xsm
sm
md
lg

‘บิ๊กตู่’ อยู่รอดต้องปรับ 3 เงื่อนไข ชี้เลือกตั้งซ่อม กทม.สะท้อนขาลง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม.บอกอะไรกับ ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม-พรรคพลังประชารัฐ’ ที่สำคัญอย่าประเมินคน กทม.ผิด แนะบิ๊กตู่ต้องปรับยุทธวิธีใหม่ขับเคลื่อน ‘3 แนวทาง’ พร้อมเล่นการเมืองมากขึ้นโดยใช้ตัวนายกฯ เป็นพรีเซ็นเตอร์ โชว์ผลงาน เลิกคิดแบบทหาร แต่ต้องคิดแบบนักการเมืองเข้าถึงประชาชนได้เร็วกว่า ขณะเดียวกัน ต้องจับมือพรรคร่วมให้มั่นเพื่อสู้ศึกในสภาฯ ชี้ ‘บิ๊กตู่’ ต้องตัดสินใจ จะวางมือทางการเมืองหรือหวังจะนั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไปหลังเลือกตั้ง ระบุ ‘บิ๊กป้อม’ อยู่มั่นคงเพราะสร้างบ้านไว้ 2 หลัง เชื่อไม่มีใครคิดเช็กบิลทางการเมืองแน่!

ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 9 กทม. (หลักสี่-จตุจักร) เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งพรรคเพื่อไทยคว้าชัยชนะไปแบบถล่มทลาย เรียกว่าทิ้งห่างแชมป์เก่าอย่างพลังประชารัฐชนิดไม่เห็นฝุ่น จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ลุงตู่ -ลุงป้อม’ ขาลง แต่แท้จริงแล้วบรรดาคอการเมืองที่เกาะติดสถานการณ์มาตลอดมองเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่า ‘พรรคพลังประชารัฐ’ แพ้แน่ ขณะเดียวกันก็ชื่นชมการประเมินสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ได้เฉียบคม ที่เลือกจะไม่ส่งผู้สมัครเพราะหากส่งก็เชื่อว่า ‘พ่าย’ แน่

ดังนั้น การเลือกตั้งเขต 9 กทม.อะไรเป็นสาเหตุให้พรรคพลังประชารัฐ แพ้ขาดลอย ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องปรับยุทธศาสตร์อย่างไรในเวทีการเมืองจากนี้ไป


แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลบอกว่า กระแสการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบทั่วไปเมื่อปี 2562 สิ้นเชิง ซึ่งในปี 2562 ที่นายสิระ เจนจาคะ ชนะเลือกตั้งเขต 9 ด้วยคะแนน 33,321 คะแนน ส่วนนายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้ 30,564 คะแนน เป็นเพราะกระแสคนกรุงต้องการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.มาแรง เนื่องจากไม่พอใจการบริหารงานของนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ปรากฏภาพลักษณ์รัฐบาลคอร์รัปชัน

“สุรชาติ เคยเป็น ส.ส.เขตนี้ในปี 54 แต่ปี 62 เขาแพ้สิระ ก็จริง แต่สุรชาติ ไม่ทิ้งพื้นที่ ไม่ทิ้งชาวบ้าน ลงพื้นที่ในระหว่างที่แพ้มาตลอด พูดง่ายๆ สุรชาติ รักษาฐานจัดตั้งในพื้นที่ที่มีทั้งคนเสื้อแดง คนเพื่อไทยในชุมชน แล้วสิระ ทำอะไร”

ในเวทีการเมืองต้องไม่ลืมว่าทุกพรรคการเมืองจะมีคะแนนจัดตั้งเป็นของพรรคตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ล้วนแต่มีคะแนนที่มาจากทั้งสมาชิกสภา กทม. สมาชิกสภาเขต หัวคะแนนและกลุ่มมวลชนต่างๆ ที่พรรคการเมืองและผู้สมัครต้องรักษาไว้ให้ได้

“เดิมอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นอดีต ส.ส.เขตจตุจักร พรรคประชาธิปัตย์ แต่ได้ย้ายไปอยู่พรรคกล้า ที่มีกรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเดิมคุณกรณ์ ก็เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ฐานเสียง ปชป.ที่มีอยู่เทไปอยู่ที่อรรถวิชช์”

ตรงนี้จึงน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ส่งผู้สมัคร เพราะฐานเสียงเดิมที่มีอยู่ไปอยู่กับนายอรรถวิชช์ แล้ว และอาจมีบางส่วนเล็กน้อยไปหนุนผู้สมัครพรรคไทยภักดี ที่มี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเดิมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

“พรรคประชาธิปัตย์คงวิเคราะห์รอบด้านแล้ว ส่งผู้สมัครก็ไม่ได้ เพราะคะแนนถูกเทไปที่อรรถวิชช์ ถือเป็นความฉลาดของ ปชป.ในการเลือกที่จะไม่ส่ง”

ประเด็นต่อมาในการเลือกตั้งปี 62 นายสิระ ชนะมาได้จาก silent majority จากชนชั้นกลางในเมืองซึ่งเป็นพลังเงียบได้ออกมาลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ เพราะสนับสนุนบิ๊กตู่ แต่การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา จำนวนคนที่มาลงคะแนนน้อยลงกว่าปี 2562 กว่า 30,000 เสียง ซึ่งเสียงเหล่านี้หายไปไหน ขณะที่ นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยานายสิริ จากพรรคพลังประชารัฐได้เพียง 7,906 คะแนน


อย่างไรก็ดี หากมองย้อนไปดูภาพลักษณ์ของนายสิระ ที่ปรากฏต่อสาธารณชนมักจะถูกมองไปในเชิงลบ ทั้งในเรื่องบุคลิกก้าวร้าว ชอบระราน อวดเบ่ง ซึ่งภาพที่ปรากฏออกสื่อ ทำให้กระแสคนกรุงเทพฯ เกิดอาการหมั่นไส้ อีกทั้งการที่ไม่รู้จักขยายฐานเสียงและไม่รู้จักรักษาฐานเสียงเดิมที่มีอยู่ จึงทำให้คะแนนในพื้นที่ในตัวนายสิระ ไม่ดีเท่าที่ควร

“สิระ ต้องสิ้นสภาพเพราะขาดคุณสมบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ หลังถูกจำคุกตามคำพิพากษาในคดีฉ้อโกงเมื่อ 26 ปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องคดีอาญา ยังไม่รู้ว่าคดีความจะเป็นไงต่อไป ตรงนี้ก็ทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องคิดหนัก”

ขณะเดียวกัน นายสิระ ก็เลือกที่จะดึงภรรยา คือนางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ มาลงสมัครแทน ซึ่งไม่รู้ว่าพรรคพลังประชารัฐคิดได้อย่างไร จึงเปรียบเสมือนตบหน้าคนกรุงเทพฯ ใช่หรือไม่?

ประเด็นต่อมา คนกรุงเทพฯ น่าจะเบื่อหน่ายปัญหาความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐ ที่ปรากฏออกสื่อ ทั้งเรื่องของ บิ๊กตู่ บิ๊กป้อม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส่งผลให้คนกรุงเสื่อมศรัทธา จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่พลังเงียบ ไม่ออกมาลงคะแนนเสียง

“จริงๆ แล้วชาวบ้านไม่ชอบ ส.ส.สไตล์ สิระ หรอก เขาจะชอบ ส.ส.ทำงานในหน้าที่ มีผลงาน ความหมั่นไส้สิระ ผนวกกับเบื่อความแตกแยกของพรรค และบางกลุ่มก็เริ่มเบื่อลุงตู่ ซึ่งกระแสความนิยมลุงตู่ ไม่เหมือนเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา แต่ลุงตู่ พอจะลากรัฐบาลชุดนี้ต่อไปได้”

‘สิระ-มาดามหลี’ แถลงยอมรับความพ่ายแพ้ หลังตามมาที่ 4 แค่ 6 พันกว่าคะแนน

สุรชาติ เดินสายขอบคุณชาวหลักสี่ จตุจักร หลังชนะขาดเลือกตั้งซ่อม กทม.เขต 9
ส่วนเงื่อนไขสำคัญที่บิ๊กตู่ จะสามารถรักษารัฐนาวานี้จนครบเทอมได้หรือไม่นั้นอยู่ที่ตัวบิ๊กตู่ เป็นหลัก โดยจะต้องเดินหน้าขับเคลื่อนการเมืองดังนี้

ประการแรก บิ๊กตู่ต้องบริหารจัดการให้ดี ไม่ให้เกิดปัญหาพรรคร่วมรัฐบาลทะเลาะหรือแตกแยกกันเอง รวมทั้งต้องไม่ทำให้เกิดปัญหา หรือคดีความต่าง  ที่จะนำไปสู่การยุบพรรค โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ สำคัญที่สุด เนื่องเพราะกำลังมีนักเคลื่อนไหวยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งกลุ่มผู้กองธรรมนัส ได้ย้ายไปสังกัด โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกขั้นตอน

นอกจากนี้ บิ๊กตู่ ต้องพยายามประคับประคองไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในสภา ซึ่งในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมสภา ฝ่ายค้านจะต้องยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ถ้ารัฐบาลเสียงไม่มากพอ หรือเคลียร์กับกลุ่มธรรมนัสไม่ลงตัว หรือมีความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล จะมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน

“บิ๊กตู่ ควรจะต้องเรียกพรรคร่วมมาหารือ มาคุยกันบ่อยๆ เพื่อสร้างความสมานฉันท์กันระหว่างพรรคร่วมจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

ประการที่สอง จากนี้ไปบิ๊กตู่ ต้องพยายาม ‘เล่นการเมือง’ ให้มากขึ้น อย่าพยายามทำตัวไม่รู้ ไม่เห็น โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ต้องรอใบเสร็จ แต่ต้องรู้จักปราม รู้จักจัดการ และที่สำคัญต้องลงไปลุยงานที่เกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชนให้เร็วที่สุด และอะไรที่เป็นผลงานก็ต้องรู้จักสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ เรียกว่าต้องใช้ตัวนายกฯ เองเป็นพรีเซ็นเตอร์ ผลงานต่างๆ ไม่ต้องไปกลัวว่าจะเป็นการไปแย่งงานพรรคร่วมรัฐบาล แต่ต้องทำตัวเป็นผู้นำแก้ไขปัญหา

“นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกรัฐบาลเขาก็ทำกันทั้งนั้น บิ๊กตู่ไม่ต้องไปคิดว่าเป็นของรัฐบาลเก่า แต่ถ้าเรานำมาปัดฝุ่นต่อยอดให้ดีขึ้น ประชาชนได้ประโยชน์ก็ทำไป แล้วประกาศออกไป เช่น เรื่องบัตรทอง ต้องรีบหาทางช่วยกลุ่มที่ไม่เคยได้ประโยชน์จากบัตรทองให้ได้เข้าถึง เป็นต้น”


สำหรับนโยบายต่างๆ ที่จะสร้างเป็นผลงานได้ในเวลานี้ต้องรีบทำและแถลงให้สังคมรับรู้ หากจะถือว่าเป็นการหาเสียงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะตอนนี้ไม่ใช่ฤดูเลือกตั้งจึงไม่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นร้อนๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ต้องรีบออกมา แล้วเรียกรัฐมนตรี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา จากนั้นก็ต้องบอกกับประชาชนให้เข้าใจโดยด่วน

“ไม่ใช่ปล่อยแบบเรื่องหมูแพง มัวแต่รอผู้รับผิดชอบ นายกฯ มาจากทหาร มีสายการบังคับบัญชาเป็นขั้น เป็นตอน ก็มัวแต่รอ จากนี้ไปจะมานั่งรอขั้นตอนสายงานที่ทำอยู่ไม่ได้อีกแล้ว ในทางการเมือง ชาวบ้านไม่ใช่ทหาร เมื่อเขาเดือดร้อนก็ต้องการนายกฯ ที่พร้อมจะลุย เพื่อให้รู้ว่าประชาชนไม่ได้ถูกทอดทิ้ง”

ประเด็นที่สาม นายกฯ ต้องตัดสินใจได้แล้วว่าจะวางมือจากการเมือง หรือจะยังต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะหากถูกกดดันในสภาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนพฤษภาคมนี้ ถ้าเลือกวางมือทางการเมือง ก็ลาออกไปได้เลย แต่ถ้าเลือกยุบสภาและต้องการกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าจะมีเสียง ส.ว. 250 ก็ตาม ในขั้นแรกต้องหาว่าพรรคการเมืองไหนที่จะผลักดันให้บิ๊กตู่ขึ้นเป็นนายกฯ ได้อีกครั้ง

“บอกได้เลยเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคพลังประชารัฐหมดสภาพแล้ว จะเป็นพรรคขนาดกลาง 50 ที่นั่งจะได้หรือไม่ ส่วนตัวบิ๊กป้อมจะอยู่รอดปลอดภัย ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็คงไม่มาเช็กบิลบิ๊กป้อม เพราะสร้างบ้านไว้ 2 หลังทั้งพลังประชารัฐและเศรษฐกิจไทย ส่วนบิ๊กตู่ก็ต้องเลือกว่าจะเดินอย่างไรต่อไป”

จากนี้ไปทุกพรรคการเมืองคงจะต้องนำผลการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม.ไปสังเคราะห์ต่อว่าเส้นทางต่อไปของแต่ละพรรคการเมืองจะเป็นอย่างไรหากต้องการจะเจาะฐานใน กทม.รวมไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องปรับยุทธศาสตร์การทำงานและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ให้เข้าถึงและรวดเร็ว ก่อนที่การปลุกกระแสไม่เอา ‘บิ๊กตู่’ จะกระจายไปทั่วประเทศ!!

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebooķ :
https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH

Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link

Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/




กำลังโหลดความคิดเห็น