xs
xsm
sm
md
lg

ยุบสภา พท.แลนด์สไลด์ ใช้บัตรเลือกตั้งกี่ใบ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทักษิณ ชินวัตร - ชลน่าน ศรีแก้ว
เมืองไทย 360 องศา

ยังงงอยู่ไม่น้อยกับการออกมาตีปี๊บของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคลงมา หลังจากที่ผู้สมัครของพรรคชนะผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ จากการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา แบบขาดลอย โดยพวกเขาต่างกดดันให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยุบสภา หรือไม่ก็ลาออก โดยอ้างว่า ผลการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นเพราะประชาชนไม่เอาแล้ว และสมควรคืนอำนาจให้กับประชาชนทันที อะไรประมาณนั้น

แม้ว่าหากพิจารณากันในภาพรวมๆ แล้วอาจจะใช่หากมองแค่ตัวเลขคะแนนระหว่างผู้ชนะที่ได้ กว่าสองหมื่นคะแนน ขณะที่คนที่แพ้ได้ไม่ถึงแปดพันคะแนน แต่ขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่งก็น่าจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งในเรื่องขอบเขตการเลือกตั้งที่เป็นแค่เลือกตั้งซ่อมไม่ใช่เลือกตั้งทั่วประเทศ ไม่มีผลต่อการได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สอง จำนวนผู้มาใช้สิทธิเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนที่มีจำนวนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ครั้งนี้มาแค่ 52 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ทำให้คะแนนของ นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนแค่กว่าสองหมื่นน้อยกว่าคราวก่อนได้เคยได้กว่าสามหมื่นคะแนน ขณะที่คนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิมากถึงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าสามหมื่นคน ที่นอนอยู่บ้าน ที่มีหลายเหตุผลทั้งเบื่อ เพราะไม่มีตัวเลขที่เข้าตา ต้องการสั่งสอนพรรคพลังประชารัฐ เป็นแฟนคลับ “ลุงตู่” หรือไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองแต่อย่างใด หรืออีกหลายเหตุผลย่อยๆ

แต่เอาเป็นว่าเมื่อผลออกมาแพ้ขาดลอยผิดความคาดหมายแบบนี้ และเมื่อไปรวมกับความพ่ายแพ้ต่อเนื่องจากการเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้ คือ สงขลา และชุมพร ที่พรรคพลังประชารัฐก็แพ้รวดภายในเดือนเดียว มันก็ยิ่งเพิ่มความกดดัน ทำอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด

ยิ่งมาเจอกับบทบาทของ “กบฏผู้กอง” กับ “ลุงป้อม” ที่ช่วยกันกระเตงจนทำให้ชาวบ้านสับสนเวียนหัวกันไปหมด เพราะหลังจากทราบผลการเลือกตั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่เพิ่งถูกขับพ้นพรรคพลังประชารัฐ ก็ทิ้งความนัยว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” มันก็ยิ่งทำให้หลายคนเข้าใจว่า “เขาคือมิตรของนายทักษิณ ชินวัตร” นั่นเอง

ขณะเดียวกัน เมื่อวกมาที่พรรคเพื่อไทย ที่หากบอกว่า ผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเขาชนะการเลือกตั้ง และผลคะแนนจากครั้งล่าสุดจะว่าไปแล้วมันก็ไม่ได้มากมายสุดขั้ว เพียงแต่ว่าชนะผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐที่เป็นคู่แข่งแบบขาดลอย จึงถูกมองข้ามมุมแบบนี้ไป และอย่าได้แปลกใจที่จะต้องถูกแซวว่า “ชนะแค่สลึงแต่ดีใจเกินร้อย” อะไรประมาณนั้น

นอกเหนือจากนั้น การที่ออกมากดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยุบสภา หรือลาออกนั้น เป็นการแสดงความเห็นแบบ “ไม่คิด” หรือ “ได้ปรึกษาเจ้าของพรรค” หรือเปล่า เพราะหากพล.อ.ประยุทธ์ บ้าจี้เอาจริงขึ้นมา แน่นอนว่า หวยจะต้องออกมาที่แนวทาง “ยุบสภา” มากกว่าลาออกเป็นแน่ เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินอนาคตกันเอาเองว่าจะเลือกแบบไหน

แต่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ นอกเหนือจากจะทำให้ “บางคนไม่แฮปปี้” แล้ว อีกด้านหนึ่งมันก็จะเข้าทางอีกฝ่ายหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่พรรคการเมืองกำลังเฝ้ารอ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ใช้ “บัตรเลือกตั้งแบบสองใบ” ที่ก่อนหน้านี้ สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จแล้ว เพียงแต่ว่าขั้นตอนยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากต้องแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกสองฉบับ นั่นคือ กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่กำลังจะเข้าสู่สภาในกลางเดือนนี้ และตามขั้นตอนการพิจารณาอย่างเร็วที่สุดก็น่าจะมีผลในราวเดือนพฤษภาคมนั่นแหละ หรืออาจช้ากว่านั้นเล็กน้อย

หากยุบสภาในเวลานี้ มันก็จะ “ยุ่ง” มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องถกเถียงกันวุ่นวายว่าจะใช้กฎหมายใดมารองรับ จะออกเป็นพระราชกำหนด หรือจะใช้วิธีการเลือกตั้งกลับไปเป็นแบบเดิมที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และใช้วิธีคำนวณคะแนนเลือกตั้งแบบการเลือกตั้งเมื่อคราวที่แล้ว ซึ่งหากเป็นแบบเดิม ก็ยังมีหลายพรรคสนับสนุนกันอยู่ โดยเฉพาะพรรคขนาดเล็กที่ยังต้องการให้มีแบบนี้อยู่ ไม่เว้นแม้แต่พรรคก้าวไกล ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคกระจายกันไป ที่สำคัญ จะไม่มี “แลนด์สไลด์” แบบที่ “โทนี่ วู้ดซัม” หรือ นายทักษิณ ชินวัตร ฝันหวานไว้ก่อนหน้านี้

หากพิจารณากันตามความเป็นจริงและความเป็นไปได้แล้ว การเรียกร้องกดดันให้ยุบสภาของพรรคเพื่อไทย โดยทั้งหัวหน้าพรรค รวมไปถึงคนอื่นๆ แล้ว มันน่าจะออกมาในแบบ “ตีกิน” หรือได้โอกาสถล่มให้จมดินมากกว่า เพราะตราบใดที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ ที่เกี่ยวข้องยังไม่ผ่านสภา จนมีผลบังคับใช้ก็คงไม่ต้องการให้ยุบสภาไปก่อนเป็นแน่แท้

ดังนั้น เมื่อไทม์ไลน์บังคับแบบนี้มันก็ทำให้ยังพอทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังมีเวลาได้หายใจหายคอได้บ้าง อย่างน้อยก็หลังจากปิดสภาในปลายเดือนนี้ ซึ่งแม้ว่าก่อนปิดจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 คือ ไม่มีการลงมติ แต่ในทางความหมายคือ “ลากมาด่า” ในสภานั่นเอง แต่ก็คงไม่มีผลอะไรมากนัก รวมไปถึง “เกมของผู้กองแป้ง” ก็คงยังไม่เกิดขึ้น

แต่ศึกหนักก็คงเกิดขึ้นหลังเปิดสภาสมัยสามัญในเดือนพฤษภาคม ที่มีหลายเรื่องประดังเข้ามา แต่อีกด้านหนึ่งหากต้องการลากให้ยาวที่สุด “บิ๊กตู่” ก็คงต้องแก้เกมเหมือนกัน โดยเฉพาะการเคลียร์ปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ ให้สะเด็ดน้ำ จะปล่อยคาราคาซังไปเรื่อยเปื่อย แบบที่ทำให้ตัวเอง “ขาลอย” ต่อไปไม่ได้ เพราะทุกอย่างงวดเข้ามาทุกทีแล้ว ทั้งในเรื่องเสียงสนับสนุนที่หดหายไปเรื่อยๆ ดังนั้น แม้ว่าจะเหลือน้อย แต่ก็ต้องชัวร์อะไรประมาณนั้น และให้จับตาหนทางสุดท้าย คือ “ปรับคณะรัฐมนตรี” จากพรรคเศรษฐกิจไทย โดยไม่มีชื่อ “ธรรมนัส” แน่นอน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น