เมืองไทย 360 องศา
หากพิจารณาตามสถานการณ์ความเป็นจริง ก็ต้องบอกว่า เสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงนัก แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต ยังสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากยังมีเสียงสนับสนุนเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก เพียงแต่ว่ามีลักษณะ “ปริ่มน้ำ” มีเสียงเกินจากฝ่ายค้านมาไม่มากนัก อีกทั้งเสียงที่สนับสนุนรัฐบาลที่เป็นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ “ร้องขอให้ถูกขับ” ออกไปจากพรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นลักษณะไม่เต็มร้อย คาดหวังได้ยาก ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจการต่อรองน้อยลงไป
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากเหตุปัจจัยบางอย่างในเวลานี้ เสียงส่วนใหญ่โดยเฉพาะหลายพรรคการเมือง ยังไม่ต้องการให้เกิดการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในช่วงนี้ ทำให้มองว่าจะต้องช่วยกันประคับประคองให้ผ่านพ้นไปอีกระยะหนึ่ง นั่นคือ ต้องรอให้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ผ่านสภาไปก่อน ซึ่งตามไทม์ไลน์ก็ต้องใช้เวลาไปราวเดือนกรกฎาคม เนื่องจากต้องเดินไปตามขั้นตอนตามตารางเวลา
แต่ก็สามารถร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นได้ ล่าสุด มีท่าทีจากฝ่ายรัฐบาล โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว ว่า ไม่จำเป็นต้องให้ ครม.พิจารณาแล้ว เนื่องจากสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ได้ความว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้งสองฉบับ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นอีก 15 วัน โดยครบกำหนดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จากนั้นสามารถส่งให้วิปก่อนที่ส่งไปยังสภาได้ทันที โดยประมาณว่าจะเข้าสภาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะพร้อมกับฉบับของ ส.ส. ที่นายกรัฐมนตรีจะเซ็นรับรองและส่งไป
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า จะทำให้การพิจารณากฎหมายลูกทั้งสองฉบับล่าช้าไปเพียงไม่กี่วันเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรสภาปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ก็ยังไม่เสร็จอยู่ดี ไม่ว่าจะเร็ว หรือช้าอย่างไร ระหว่างนั้น ก็ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ให้พิจารณาได้ และหากไม่แล้วเสร็จในช่วงสมัยประชุม เมื่อแจ้งมายังรัฐบาล ทางรัฐบาลก็พร้อมจะเปิดสมัยวิสามัญให้ ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ซึ่งการเปิดวิสามัญเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะเปิดอยู่แล้ว สามารถเปิดให้ 2-3 วัน เท่าที่ต้องการ เพื่อพิจารณากฎหมายดังกล่าวใน วาระ 2 และ วาระ 3 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำเนินการกฎหมายดังกล่าวภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งสภาจะพิจารณาจะแล้วเสร็จเมื่อใดก็แล้วแต่สภา
สำหรับการขอเปิดสมัยวิสามัญ กระทำได้ เนื่องจากเมื่อสภารับหลักการวาระ 1 ในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ใช้เวลาไม่นาน บังเอิญปิดสมัยประชุม แล้วกว่าจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้งเดือนพฤษภาคม แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลา ก็ขอเปิดสมัยวิสามัญได้ โดยบอกมาที่รัฐบาลได้ ว่าจะขอเปิดเพื่อพิจารณาใน วาระ 2 และ วาระ 3 รัฐบาลก็จะเปิดให้ ซึ่งอาจจะเปิดประมาณเดือนเมษายน
ถามว่า ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะยื้อเพื่อที่จะยืดอายุของรัฐบาลใช่หรือไม่ นายวิษณุ “ไม่ใช่ ที่อุตส่าห์เปิดให้เพื่อจะไม่ยื้อไง แต่ถ้าขอมาแล้วไม่เปิดนี่แหละยื้อ แต่ทีนี้ต้องให้เขาขอมาว่าเสร็จแล้วขอเปิด เพราะถ้าอยู่ดีๆ ไปเปิดแล้วไม่มีร่างเข้ามา หรือไม่เสร็จ ก็ไม่รู้จะเปิดทำไม เดี๋ยวไม่มีใครมาประชุมสภาล่มอีก” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อฟังจากปากของนายวิษณุ ดังกล่าว ทำให้เห็นว่า หลังจากที่คาดว่าที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับในเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณารายละเอียด และหลังจากที่มีการปิดสมัยประชุมในปลายเดือนเดียวกัน หลังจากที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2-3 ซึ่งจะต้องมีการขอเปิดสภาสมัยวิสามัญ เป็นเวลา 2-3 วัน เพื่อพิจารณาลงมติ โดยคาดว่าจะมีการเปิดสภาสมัยวิสามัญในเดือนเมษายน เพื่อให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ นั่นคือ เสร็จสิ้นไม่เกินราวเดือนพฤษภาคม หรืออาจเร็วกว่านั้น
เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้มองเห็นชัดเจนมากขึ้น ว่า เมื่อร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับดังกล่าวผ่านสภา และมีผลบังคับใช้มันก็ย่อมเกิดแรงกดดันให้มีการ “ยุบสภา” ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม ก็ได้เตือนรัฐบาลแล้วว่า จะต้องเจอกับแรงกดดันรอบทิศ อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์เวลานี้รัฐบาลจะมีสถานะไม่มั่นคงอยู่บ้าง แต่สำหรับการเมืองไทย สามารถเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในฝั่งของ “กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส” ที่ที่ระบุว่า มีจำนวนรวมกัน 20-21 คนนั้น เอาเข้าจริงตัวเลขก็อาจไม่นิ่ง และไม่ครบถ้วนตามนั้นก็ได้ เพราะถึงอย่างไรยังมีเวลา 30 วัน และยังมีขั้นตอนตามกฎหมาย ทั้งในเรื่องการตรวจสอบมติขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ หลังจากมี ส.ส.ในกลุ่มบางคน ร้องคัดค้าน อีกทั้งอาจมีการทาบทามพรรคฝ่ายค้านบางพรรคให้มาสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มเสียงเข้ามาอีกก็เป็นไปได้เหมือนกัน
แต่เอาเป็นว่าในช่วงระยะเวลานับจากนี้ แม้จะมองว่าเป็นช่วงเวลาตึงเครียดของรัฐบาล โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ตราบใดที่กฎหมายสองฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่ผ่านสภา ก็ยังเชื่อว่า ยังไม่มีใครกล้า “ป่วนจนพัง” ไปก่อนแน่นอน เชื่อว่า น่าจะประคับประคอง และอีกไม่กี่วันก็จะปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ เปิดสภาอีกครั้งก็เดือนพฤษภาคม ทำให้พอหายใจหายคอได้บ้าง
แต่ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่า ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ฝ่ายรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ และหากสังเกตจะเห็นว่า มีการเร่งออกนโยบายหลายอย่างออกมา ที่เห็นชัดล่าสุดก็เป็นการเร่งโครงการ “คนละครึ่ง” เฟสสี่ ที่เร็วกว่ากำหนด และบัตรสวัสดิการที่เริ่มใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ที่โดนใจชาวบ้าน และกลบเสียงโจมตีในเรื่อง “ของแพง” ลงได้ อย่างน้อยก็ลดแรงกดดัน ขณะเดียวกันก็ “ทำแต้ม” สะสมไปอีกทางหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสัญญาณไฟเขียวเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อผ่านร่างกฎหมายเลือกตั้งที่เกี่ยวกับ “บัตรเลือกตั้งสองใบ” เป็นการเตรียมพร้อมยุบสภา เลือกตั้ง “ล้างไพ่” กันใหม่ ซึ่งอาจมาถึงในเดือนพฤษภาคม และยังเป็นการ “วัดใจ” จัดแถวไปพร้อมกันว่า จะเลือก “แป้ง” หรือเลือกใคร !!