xs
xsm
sm
md
lg

เขาว่าปีนี้จะมีเลือกตั้ง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมืองไทย 360 องศา

บรรดาเซียนหรือกูรูทางการเมืองต่างทำนายในทำนอง “เกือบๆ ฟันธง” ตรงกันว่า ภายในปีนี้ หรือปี 2565 น่าจะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ โดยมีการวิเคราะห์สาเหตุหลักๆ อยู่สองสามเรื่อง เช่น ผลการตีความเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 8 ปี ซึ่งฝ่ายตรงข้ามก็พยายามชี้นำ ย้ำว่า จะครบกำหนดในเดือนสิงหาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไปต่อไม่ได้” แล้ว

สอง กฎหมายลูกสองฉบับที่กำลังดำเนินการในสภา หลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้งใหม่ให้กลับมาเป็นแบบ “บัตรเลือกตั้งสองใบ” ก็ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกัน ซึ่งกฎหมายดังกล่าว คือ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งตามขั้นตอนทุกอย่างจนถึงวันประกาศบังคับใช้ก็น่าจะเป็นเดือนกรกฎาคมโน่นแหละ

แต่ช่วงเวลาหลังจากนี้แหละที่บรรดาเซียนการเมืองทั้งหลายต่างออกมาวิเคราะห์ คาดการณ์ตรงกันว่า หลังจากนี้รัฐบาล โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเจอกับแรงกดดันทุกทิศทางให้มีการยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามกติกาใหม่นั่นเอง

และที่ผ่านมา “เซียนกฎหมาย” ที่ผ่านมาทุกเหตุการณ์มาอย่างช่ำชอง อย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้เคยเตือนให้นายกรัฐมนตรีเตรียมรับมือกับแรงกดดันดังกล่าวเอาไว้ล่วงหน้ามานานหลายเดือนแล้ว

โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ยังมีความเห็นต่างระหว่างการใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ หรือ แยกเบอร์รายเขต ว่า สภาคงต้องคุยกัน แต่ตาม ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยกร่างมา เป็นการใช้เบอร์เดียวทั่วประเทศ ตามที่มีการเรียกร้องมา แต่อาจเข้าทางบางพรรค และไม่เข้าทางบางพรรค ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ สามารถพูดคุยกันได้

ถามว่า ไม่ใช่เรื่องได้เปรียบเสียเปรียบใช่หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า มองไม่ออก แต่คนที่เขามองออก เห็นว่า ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ความจริงแล้วมัน คือ ความสะดวกในการจดจำ ส่วนคนที่ชำนาญการเลือกตั้งอาจมองอย่างอื่น กลายเป็นเรื่องพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคเก่า พรรคใหม่ คงต้องไปคุยกันเอง เพราะเป็นเรื่องชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ไม่ใช่แง่มุมทางกฎหมาย สามารถแก้ไขได้ในสภา

แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วง คือ เรื่องตารางเวลา ขณะนี้ กกต.อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ คิดว่า ไม่เกินวันที่ 10 ธ.ค. คงเสร็จ จากนั้นจะเอาความเห็นมาปรับปรุงร่างกฎหมายสักพักก่อนเสนอมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายวิษณุ กล่าวว่า พรรคการเมืองต่างๆ สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา ซึ่งตอนหารือกับวิปรัฐบาลได้เคยรับปากว่าจะให้มีการพูดคุยกับ กกต.ก่อน รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ กับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ จะทำให้เวลาการพิจารณาในสภากระชับขึ้น ซึ่งการเสนอเข้าไปอย่างไรก็เป็นคนละฉบับ แต่ให้เป็นการเคลียร์กันก่อนเข้าสู่การพิจารณา ส่วนจะคุยกันเมื่อไหร่นั้น คงต้องรอให้ กกต.ปรับแก้กฎหมายขั้นสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายมาถึงรัฐบาลแล้ว ความที่รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าของเรื่องคงสามารถปรับได้ โดยความเห็นชอบของ กกต. แต่ถ้า กกต.ไม่เห็นชอบคงต้องไปพูดในสภา โดยขอยืมให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นคนพูด เพราะสุดท้ายต้องใช้วิธีการโหวต แต่ทั้งนี้ รัฐบาลมีความสัมพันธ์พอที่จะอธิบายด้วยเหตุด้วยผลกับ กกต.ได้

เมื่อถามถึงกรณีนักวิชาการมองว่าเมื่อกฎหมายลูกเสร็จแล้ว เป็นเวลาที่เหมาะสมในการยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าจะแก้กฎหมายลูกเสร็จเมื่อไหร่ อีกทั้งกฎหมายลูกไม่เหมือนกฎหมายอื่นๆ ที่สภาพิจารณาเสร็จคือเสร็จ แต่กฎหมายลูกพอสภาพิจารณาเสร็จต้องส่งไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง กรณีนี้คือ กกต. มีกรอบเวลากำหนด หาก กกต.เห็นว่าควรต้องแก้อะไรบางอย่าง ใครที่ไปแก้ของ กกต.จะเจอตรงนี้ เพราะถ้า กกต.ยืนยันกลับมาก็ต้องแก้ตาม กกต. ซึ่งตรงนี้รัฐบาลพร้อมออกพระราชกฤษฎีกา ขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญให้ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็นำความทูลเกล้าฯถวาย

“เคยคิดไทม์ไลน์ว่ากฎหมายลูกจะมีการประกาศใช้ช่วง ก.ค. 65 เพราะคิดว่าเปิดสภาสมัยวิสามัญช่วง เม.ย. 65 จากนั้นก็ทูลเกล้าฯถวาย กรอบเวลา 90 วันจะอยู่ที่ประมาณ ก.ค. 65 นี่คือ การคิดเวลายาวที่สุดไว้ก่อน แต่ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน กรอบเวลาก็จะเร็วขึ้น เคยบอกใน ครม.ว่า ถ้ากฎหมายลูกมีการประกาศใช้จะมีการกดดันให้มีการยุบสภา รัฐบาลก็ต้องเตรียมรับมือทางการเมืองเอง”

สำหรับประการที่สาม ที่อาจจะมีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ นอกเหนือจากสองเรื่องหลักๆ ดังกล่าวมาแล้วก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะใช้อำนาจยุบสภาในช่วงปลายปี ซึ่งอาจจะเป็นช่วงที่คิดว่าตัวเองได้เปรียบจากการบริหารราชการ มีการปล่อยนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนรักษาความสมดุลระหว่างสุขภาพกับเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งหากคิดว่า “ได้เปรียบ” ก็อาจฉวยจังหวะยุบสภาในช่วงเวลานั้นก็เป็นไปได้

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากช่วงไทม์ไลน์ก็ถือว่าเหมาะสม เพราะตามวาระของรัฐบาลจะครบกำหนดในต้นปี 2566 ขณะที่ปลายปี คือ ในเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม “เอเปก” ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับโลก ที่น้อยครั้งที่จะมีโอกาสแบบนี้ ได้มีการต้อนรับผู้นำมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ และผู้นำกว่า 30 ประเทศอย่างพร้อมหน้าในรอบยี่สิบปี และครั้งนี้หากทุกอย่างเป็นไปตามตารางเวลาที่กำหนดเอาไว้ ถือว่าต้องเอาใจช่วย เพื่อให้งานใหญ่แบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้

นอกจากนี้ ที่ไม่อาจประมาทได้เลย ก็คือ “อุบัติเหตุ” การเมือง นั่นคือ ในปีนี้เกือบทั้งปี มีกฎหมายสำคัญต้องเข้าพิจารณาในสภา ซึ่งหาก “ไม่ผ่าน” สักฉบับ มันก็มีทางเลือกอยู่สองทาง นั่นคือ ไม่ลาออกก็ต้องยุบสภา ซึ่งน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า และในกรณีนี้ถือว่า “เป็นไปได้ไม่น้อย” เหมือนกัน เพราะปัญหาความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐ ที่อาจมีการเล่นเกมหรือ “แทงข้างหลัง” เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

นั่นคือ โอกาสและสาเหตุที่อาจทำให้มีการยุบสภาเกิดขึ้นในปีนี้ ปี 2565 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบและสถานการณ์ที่มีอยู่มันก็มีทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้พอๆ กัน และแม้ว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะย้ำตลอดเวลาว่าจะอยู่ครบเทอม ก็คือ ไปจนถึงต้นปี 2566 แต่บางอย่างมันก็อยู่เหนือการควบคุม อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น