xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” จบวาระปี 70 ขยับครั้งใหญ่ปีหน้า!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ลงพื้นที่ พบปะประชาชน
เมืองไทย 360 องศา

อาจจะเป็นการเริ่มต้นเห็นแนวโน้มในทางบวกเข้ามาบ้าง ในช่วงส่งท้ายปีและต่อเนื่องไปจนถึงปีใหม่ 2565 สำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่คาดกันว่า เขาจะต้องเจอกับศึกหนักขนาบเข้ามาในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แผนสกัดไม่ให้ไปต่อ” จากฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่ “พวกเดียวกัน” ในปัจจุบันที่รอจังหวะขึ้นชั้นมาแทนที่ด้วยเหมือนกัน เอาเป็นว่าปีหน้าต้องเจอศึกหนักในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อนแน่นอน

อย่างไรก็ดี ล่าสุด มีความเห็นทางกฎหมายจากรายงานข่าวที่อ้างตรงกันว่ามาจาก “ฝ่ายกฎหมายของสภา” ที่ฟันธงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี จนถึงปี 2570 แม้ว่าในภายหลังจะมีการออกมาอธิบายจากทีมงานของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่ความเห็นองค์กร และในท้ายที่สุดแล้วก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาชี้ขาด ... ซึ่งก็ว่ากันไป

สำหรับความเห็นในทางกฎหมายดังกล่าว ระบุโดยอ้างรายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า หลังจากมีประเด็นถกเถียงทางกฎหมายถึงการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 258 วรรค 4 ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรี มีวาระดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปีนั้น จะให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อใด โดยทางสภาผู้แทนราษฎร ได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว

ล่าสุด ฝ่ายกฎหมายได้พิจารณาและส่งความเห็นให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับทราบแล้ว ข้อสรุปในประเด็นนี้แล้ว ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 64 โดยเห็นว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 62 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไป เพราะการกำหนดเงื่อนไขให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้ผลย้อนหลังใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ย่อมขัดหลักกฎหมาย

ส่วนประเด็นรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 ที่แม้จะกำหนดให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้นั้น การปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทน ครม. ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพียงชั่วเวลาหนึ่ง และต้องพ้นจากหน้าที่ ภายหลังจากที่ ครม.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เข้าปฏิบัติหน้าที่ หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้นับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่นายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ให้นับระยะเวลาดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ด้วย

ดังนั้น ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 60 ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. 62 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงไม่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158

แม้ว่านี่เป็นเพียงความเห็นไม่เป็นทางการ เป็นการอ้างรายงานข่าว ไม่ใช่ข้อสรุป เพราะถึงอย่างไรเรื่องต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ตามที่พรรคฝ่ายค้านได้เตรียมตั้งเรื่องรอเอาไว้แล้ว เพียงแต่รอให้ถึงเวลาในเดือนสิงหาคมปีหน้าเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นความเห็นที่พอมีหลักเกณฑ์ และตรงกับกูรูทางกฎหมายที่เคยมีความเห็นไปทางเดียวกันแบบนี้แหละ เพียงแต่ว่าต้องรอให้มีการชี้ขาดเป็นทางการออกมาก่อน

แต่ความเห็นออกมาแบบนี้มันก็ย่อมทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะบรรดากองหนุนมีความมั่นใจมากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ยังคาดกันอีกว่า เขาน่าจะต้องมีการ “ขยับ” บางอย่างให้ชัดเจนขึ้นในปีหน้า อย่างน้อยก็ต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่า “ต้องการไปต่อ” เพื่อให้บรรดากองหนุนได้ขยับตาม เพียงแต่ว่าหลายคนมองว่าการประกาศท่าทีดังกล่าว น่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำชี้ขาดออกมาแล้วในปลายปีหน้า

หากพิจารณาจากคำพูดและการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะออกมาในลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้ในแนวที่ว่า “แล้วแต่สถานการณ์” ซึ่งทางหนึ่งก็เหมือนกับการ “หยั่งเชิง” และ สอง เป็นเพราะยังมีข้อถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับวาระ 8 ปีดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าในใจลึกๆ แล้ว เขาก็มั่นใจอยู่แล้วว่าจะครบวาระในปี 70 นั่นแหละ เพียงแต่ว่าไม่จำเป็นต้องพูดออกมาก่อนให้เกิดเสียงวิจารณ์โดยไม่จำเป็น

ขณะเดียวกัน การแสดงอาการแบบหยั่งเชิงแบบนี้ อีกด้านหนึ่งเหมือนกับว่าต้องการประคองสถานการณ์ให้ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐนั้น “ตกผลึก” เสียก่อน โดยเฉพาะการประเมินกำลังฝ่ายตรงข้ามว่ามีพลังมากแค่ไหนกันแน่ และที่สำคัญยังไม่ถึงเวลา “ต้องหัก” กันในช่วงเวลานี้ เพราะยังมีภารกิจสำคัญรออยู่ แต่หากจำกันได้กับคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อถูกถามเกี่ยวกับเรื่องสภาล่มที่เขาย้ำว่าไม่กังวล โดยย้ำว่า “ฝ่ายที่ต้องกังวลน่าจะเป็นฝ่ายสภามากกว่า” ซึ่งท่าทีแบบนี้เหมือนกับว่าหากเกิด “อุบัติเหตุ” ในสภา เขาก็พร้อมที่จะยุบสภา

เหมือนกับว่าเป็นการ “ขู่กลายๆ” ว่า “อย่าเล่นเกม” มากเกินไป เนื่องจากหากยุบสภาในระหว่างที่กฎหมายลูกสองฉบับยังไม่เสร็จ มันก็ต้อง “ใช้กติกาเก่า” ที่พรรคการเมืองใหญ่ไม่ต้องการ


ดังนั้น หากพิจารณาจากท่าทีและความเคลื่อนไหวที่ประมวลในช่วงที่ผ่านมาก็ยังมั่นใจว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะต้องไปต่อ แต่ขณะเดียวกัน น่าจะ “ขยับกันครั้งใหญ่” ในปีหน้า โดยเฉพาะในเรื่องความชัดเจนกับพรรคการเมืองว่ายังเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ เพราะหากเป็นพรรคเดิม ก็ต้องมีการ “จัดระเบียบ” กันใหม่ เพราะในรูปแบบปัจจุบันย่อมอ่านขาดตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไปไม่รอด !!


กำลังโหลดความคิดเห็น