เมืองไทย 360 องศา
จากผลสำรวจทุกสำนัก ทุกครั้งที่ผ่านมาจะเห็นว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ประกาศแสดงตัวเป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระได้รับความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่ง ทิ้งห่างว่าที่ผู้สมัครรายอื่นๆ ที่ประกาศตัว และแสดงท่าทีจะลงสมัครทุกคน และที่ผ่านมาหลังจากที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศถอนตัวไม่ลงสมัครทำให้คะแนนนิยมของเขายิ่งทิ้งห่างว่าที่ผู้สมัครรายอื่นไปอีก
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร เรื่อง "อยากได้ใคร เป็นผู้ว่าฯกทม." ครั้งที่ 8
บุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯกทม.อันดับ 1 ร้อยละ 34.37 ระบุ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับ 2 ร้อยละ 17.07 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันดับ 3 ร้อยละ 11.68 ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 4 ร้อยละ 6.37 ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล อันดับ 5 ร้อยละ 6.15 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 6 ร้อยละ 5.54 น.ส.รสนา โตสิตระกูล
อันดับ 7 ร้อยละ 4.86 ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อันดับ 8 ร้อยละ 3.03 ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 9 ร้อยละ 2.88 ไปลงคะแนนไม่เลือกใคร (Vote NO) อันดับ 10 ร้อยละ 2.66 ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 11 ร้อยละ 2.20 จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อันดับที่ 12 ร้อยละ 1.37 ผู้สมัครจากพรรคกล้า อันดับ 13 ร้อยละ 1.21 นายสกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ 0.61 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี และผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 7 เดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครจากพรรคกล้า และนายสกลธี ภัททิยกุล มีสัดส่วนลดลง
ในขณะผู้ที่ระบุว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ และจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ด้านบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 24.05 ระบุ ผู้สมัครในทีมดร.ชัชชาติ อันดับ 2 ร้อยละ 12.75 ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 3 ร้อยละ 11.38 ผู้สมัครอิสระที่ไม่เกี่ยวกับผู้สมัครผู้ว่าฯ อันดับ 4 ร้อยละ 10.93 ผู้สมัครในทีมพล.ต.อ.อัศวิน อันดับ 5 ร้อยละ 8.95 ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล อันดับ 6 ร้อยละ 6.98 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 7 ร้อยละ 4.63 ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 8 ร้อยละ 4.40 ผู้สมัครในทีมน.ส.รสนา อันดับ 9 ร้อยละ 4.02 ระบุ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 7 เดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ผู้สมัครอิสระที่ไม่เกี่ยวกับผู้สมัครผู้ว่าฯ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สมัครในทีมน.ส.รสนา มีสัดส่วนลดลง
ในขณะผู้ที่ระบุว่า ผู้สมัครในทีม ดร.ชัชชาติ ยังไม่ตัดสินใจ ผู้สมัครในทีม พล.ต.อ.อัศวิน ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ผู้สมัครในทีม ดร.สุชัชวีร์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
พิจารณาจากผลสำรวจดังกล่าวก็มองเห็นชัดเจนแล้วว่า นายชัชชาติ ได้รับความนิยมนำโด่งจากว่าที่ผู้สมัครรายอื่น แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วในเวลานี้ที่รับรู้ว่าจะลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแสดงท่าทีชัดเจน หรือประกาศตัวไปแล้วก็น่าจะมี เพียง นายชัชชาติ และ น.ส.รสนา เท่านั้น ส่วนรายอื่น ไม่ว่าจะเป็นพล.ต.อ.อัศวิน ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยประกาศอย่างชัดเจนว่าจะลงสมัคร มีเพียงแต่การคาดเดา และการแสดงท่าทีให้เข้าใจว่าต้องการลงสมัครเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ดี ล่าสุดยังมีผู้ที่คาดว่าจะมีการลงสมัคร ทั้งในนามพรรค และลงอิสระ เช่น นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่คาดว่าอาจลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ และอาจมีการเปิดตัวในระหว่างการประชุมพรรค วันที่ 13 ธันวาคมนี้ รวมไปถึง นายณรงศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน หรือ “ผู้ว่าหมูป่า” ที่มีข่าวว่าอาจลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ หรือลงในนาม“อิสระ” แต่พรรคพลังประชารัฐให้การสนับสนุน เป็นต้น ซึ่งก็จะมีการประชุมพรรคกันในวันที่ 13 ธันวาคมนี้เช่นเดียวกัน ก็น่าจะมีความชัดเจนขึ้น
แต่ที่ผ่านมา ทั้งคู่คือ นายสุชัชวีร์ และนายณรงค์ศักดิ์ ยังไม่เคยเปิดเผยว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หรือไม่ อาจจะมีแค่ นายสุชัชวีร์ เท่านั้น ที่มีความเคลื่อนไหวมีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดเวลา ทำให้คาดว่าน่าจะลงสมัคร เพียงแต่ว่ายังไม่เปิดตัวเท่านั้น ขณะที่รายหลังคือ นายณรงค์ศักดิ์ ยังไม่เคยปริปาก หรือเผยท่าทีให้เห็นแต่อย่างใด
ดังนั้นหากทั้งคู่ ที่มีการคาดหมายกันว่าน่าจะลงสมัคร ก็อาจส่งผลให้คะแนนและความนิยมจากผลสำรวจในครั้งต่อไปอาจเบี่ยงเบนไปจากผลสำรวจในปัจจุบันนี้ก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะ หากนายสุชัชวีร์ และ นายณรงค์ศักดิ์ เปิดตัวลงสมัครตามที่เป็นข่าวจริง เพราะถือว่าด้วยแบ็กกราวด์ ผลงาน ความนิยมส่วนตัวของทั้งคู่ ถือว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะรายหลัง ดีไม่ดีอาจแซงนำ นายชัชชาติ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน
แต่นาทีนี้ถือว่ายังไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวันเวลาการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ยังไม่มีการเคาะออกมาว่าเป็นเมื่อไหร่กันแน่ แม้จะคาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นปีหน้า ในราวเดือนมีนาคมเป็นต้นไป แต่ถึงอย่างไรการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นแน่ ซึ่งถึงตอนนั้นทุกฝ่ายก็ต้องขยับอย่างเต็มตัว
สำหรับ นายชัชชาติ แน่นอนว่ายังเป็น “เต็งหนึ่ง” ที่จะชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ซึ่งผลสำรวจก็ระบุออกมาอย่างนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหมายเหตุเอาไว้เช่นกันว่า เป็นเพราะเขายังไม่เจอคู่แข่งที่ “แข็ง”พอ และยังไม่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการออกมาให้เห็น และการที่บอกว่า “ยืนหนึ่ง” หรือ“ยืนนิ่งๆ” ก็จะเข้าวิน นั้นในอนาคตอันใกล้นี้ก็อาจไม่แน่เหมือนกัน โดยเฉพาะหากระดับบิ๊กเนม ลงสนาม !!