เมืองไทย 360 องศา
หลายคนเห็นตรงกันว่าศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังต้องมีต่อไป แม้ว่ามีการลงมติขับ “ก๊วนธรรมนัส” หรือกลุ่มที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกไปจากพรรคเรียบร้อยแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งตามขั้นตอนทางกฎหมาย พวกเขาก็ยังมีสถานะเป็น ส.ส.และต้องหาสังกัดพรรคใหม่ภายใน 30 วัน ซึ่งมีการเตรียมการไว้แล้วว่า เป็นพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็คือ “พรรคสาขาของบิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นั่นแหละ
อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคพลังประชารัฐ หลังจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับพวกออกไปแล้ว มันก็ทำให้ตำแหน่งเลขาธิการพรรคว่างลง และต้องมีการแต่งตั้งกันใหม่ และแน่นอนว่า เป็นอำนาจของหัวหน้าพรรคที่จะเสนอชื่อใครขึ้นมา แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องฟังเสียงของสมาชิกพรรคคนอื่น และที่สำคัญก็คือ “กลุ่มก๊วน” ภายในพรรคอีกด้วย
แน่นอนว่า เมื่อกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ออกไปแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวน ส.ส.ที่มีราว 20 คน ขณะเดียวกันภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังมีอีกหลายกลุ่ม ทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย และย่อยลงมาอีก ที่ได้ยินชื่อจนคุ้นหูก็มี “กลุ่มสามมิตร” ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายอนุชา นาคาศัย เป็นแกนนำ “กลุ่มเพชรบูรณ์” ที่มี นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นแกนนำ “กลุ่มภาคตะวันออก” ที่มี นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นแกนนำ รวมไปถึง “กลุ่มชลบุรี” ของ นายสนธยา คุณปลื้ม “กลุ่มโคราช” ที่มี นายวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นหัวหน้ากลุ่ม กลุ่ม ส.ส.กรุงเทพฯ และกลุ่มภาคใต้ กลุ่มภาคกลาง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในภาพรวมๆ แล้ว หลังจากที่ ร.อ.ธรรมนัส ออกไปจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว ทำให้ “ดุลอำนาจ” ภายในเปลี่ยนไปและสวิงกลับมาอีกครั้ง และหากมองกันว่า ฐานอำนาจหลักเคยอยู่ในมือของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แบบเต็มร้อย เวลานี้เมื่อเปลี่ยนไปก็ต้อง “แชร์อำนาจ” โดยเฉพาะหากเป็นโอกาส “รุกคืบ” เข้ามาของ “บิ๊กตู่” ก็ต้องเข้ามาในโอกาสแบบนี้
เชื่อว่า หลายคนคงจับตามองว่าใครจะมาเป็น “เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ” คนใหม่ ซึ่งหากพิจารณาจากกลุ่มก๊วนในพรรค รวมไปถึงสายสัมพันธ์แล้วน่าจะเป็น “โอกาสเปิด” สำหรับ “บิ๊กตู่” ที่จะเข้ามา “ถ่วงดุล” มากขึ้น เพื่อป้องกันลักษณะ “ขาลอย” โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับการเมืองในช่วงสมัยประชุมหน้าที่จะเริ่มขึ้นใหม่ ในราวเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป เพราะต้องเจอกับศึกหนักที่ประดังเข้ามารอบทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่คราวนี้ต้องเจอกับการลงมติ เป้าหมายหลักก็ต้องพุ่งตรงมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่แล้ว ร่างกฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 66 รวมไปถึงกฎหมายการเงินสำคัญอีกหลายฉบับ ที่รอคิวอยู่อีกเพียบ ซึ่งล้วนมีผลต่อสถานะ และตำแหน่งรวมไปถึงอนาคตทางการเมืองทั้งสิ้น
ดังนั้น เมื่อความสำคัญรออยู่ข้างหน้า ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้อง “ปิดจุดอ่อน” ให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากพิจารณากันตามความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีลักษณะ “ขาลอย” เนื่องจากไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เข้ามาควบคุมพรรคโดยตรง แต่ที่ผ่านมา มีการแบ่งแยกหน้าที่ โดยให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาดูแลแทน รวมไปถึงการไม่ได้ข้องแวะสนิทสนมกับกลุ่ม ส.ส.จนถูกมองว่ามีลักษณะห่างเหินกันไป
แม้ว่า ที่ผ่านมา จะเริ่มมีความพยายามปรับสมดุลภายในพรรคพลังประชารัฐกันใหม่ หลังจากที่เคยได้รับบทเรียนสำคัญครั้ง “กบฏ” เคลื่อนไหวโหวตล้มเก้าอี้เมื่อครั้ง “ศึกซักฟอก” ในปลายสมัยประชุมคราวที่แล้ว จนนำไปสู่การปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการการกระทรวงเกษตรฯ ดังที่ทราบไปแล้ว และหลังจากนั้นเป็นต้นมา “บิ๊กตู่” ก็เริ่มเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนท่าทีใหม่ มีการประสาน “จับมือ” กับกลุ่มก๊วนภายในพรรค โดยเฉพาะ “จับมือ” กับกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เช่น “กลุ่มสามมิตร” กลุ่ม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กลุ่ม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นต้น
มีการคาดหมายกันว่า หลังจากนี้ จะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะ “ถ่วงดุล” กันภายในมากขึ้นกว่าเดิม เพราะหากมีการปล่อยให้ดุลอำนาจเทไปทางข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป ก็จะส่งผลถึงอำนาจ “การต่อรอง” และที่สำคัญ จะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะแรงกดดันที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดยตรง
แม้ว่านาทีนี้ยังไม่ชัดเจนนักว่าความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม “พี่น้องสาม ป.” จะเป็นแบบไหน แต่หลายฝ่ายมองเห็นตรงกันว่า “ไม่เหมือนเดิมแล้ว” โดยเฉพาะ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่อาจจะไม่อยากเป็น “ทั่นรอง” อีกแล้ว หรืออีกด้านหนึ่งอาจเกิดจาก “แรงยุ” จากบางกลุ่มทำให้ “หลับตาแล้วเคลิบเคลิ้ม” ไปไกลก็เป็นได้
แต่เอาเป็นว่า สำหรับพรรคพลังประชารัฐนับจากนี้จะต้องมีการเคลื่อนไหวกันอีกยก โดยเฉพาะการเลือกคนมาเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ ซึ่งเท่าที่มองเห็นก็น่าจะมีสองสามคนหลักๆ เช่น นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่เป็นทั้งกรรมการบริหาร และผู้อำนวยการพรรค นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรรมการบริหารพรรค และ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กรรมการบริหารพรรค อดีตเลขาธิการพรรคจากกลุ่มสามมิตร แต่ที่น่าจับตามากที่สุด ก็คือ นายสันติ กับ นายสุชาติ เป็นหลัก ซึ่งก็ต้องรอดูท่าทีจาก “บิ๊กตู่” ด้วยว่าจะเทไปทางไหนมากกว่ากัน แต่ทั้งหมดหากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาถือว่า “ยืนข้างนายกฯ” ชัดเจน
นี่คือ ภาพรวมๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐในเร็วๆ นี้ กับการเลือกเลขาธิการพรรคคนใหม่ แม้ว่าจะเป็นอำนาจของหัวหน้าพรรค แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องฟังกลุ่มก๊วนอื่นๆ ภายในอีกด้วย และที่สำคัญ หากจะบริหารความสมดุลอำนาจเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลในคราวเดียวกันด้วย เนื่องจากทั้ง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” ต่างไม่ต้องการให้เกิดการยุบสภาก่อนกำหนด และยังหมายรวมไปถึงทุกคนในพรรคอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองในสภา ทั้งฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ที่ต้องประคองสถานการณ์ไปก่อน อย่างน้อยก็ต้องรอให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้งสองใบผ่านสภามีผลบังคับใช้ ซึ่งนั่นก็ต้องรอไปถึงราวปลายปี จากนั้นค่อยมาว่ากัน !!