xs
xsm
sm
md
lg

เกมขับ “ก๊วนธรรมนัส” ปาหี่ “บิ๊กป้อม” แต่เคลียร์ชัด !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  - ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
เมืองไทย 360 องศา

ข่าวพรรคพลังประชารัฐ ลงมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ ส.ส.ของพรรคในกลุ่มเดียวกันรวม 21 คน ถือว่าเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากเป็นการขับ ส.ส.ออกจากพรรคการเมือง พร้อมกันจำนวนมาก และในจำนวนนั้นคนหนึ่งเป็นถึงเลขาธิการพรรค อีกด้านหนึ่งก็ยังเป็นที่จับตามองว่า จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลและความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาตามมาอีกด้วย

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ยังต้องจับตามองกันอีกว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้เป็น “เกมปาหี่” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ หากบรรดา ส.ส.ที่ถูกขับออกไปในครั้งนี้จะโยกไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ คือ “พรรคเศรษฐกิจไทย” ที่มี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้าพรรคอยู่ในปัจจุบัน และเป็นคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร และในพรรคใหม่ดังกล่าวนี้ ยังมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ น้องชาย พล.อ.ประวิตร เป็นที่ปรึกษาพรรคอีกด้วย และถูกมองว่านี่อาจเป็น “พรรคอะไหล่” หรือพรรคสำรองของ “บิ๊กป้อม” ในอนาคตนั่นเอง

นอกเหนือจากนี้ การ “ขับ” พ้นพรรคพลังประชารัฐ ครั้งนี้ มองอีกมุมหนึ่งก็เหมือนกับ “วิน-วิน” กันทั้งสองฝ่าย เพราะถึงอย่างไรพวกเขาทั้ง 21 คน ยังมีสถานภาพเป็น ส.ส.ตามปกติ เนื่องจากเชื่อว่า สามารถหาสังกัดพรรคใหม่ได้ภายใน 30 วันตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ อีกทั้งยังทำตามความต้องการของกลุ่ม ส.ส.พวกนี้อีกด้วย ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่า เป็นพรรคเศรษฐกิจใหม่ ดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งหากออกมาแบบนี้ภาพจึงออกมาว่า “บิ๊กป้อม” ยังรักษา ร.อ.ธรรมนัส เอาไว้นั่นเอง เพียงแต่ว่า “ผลักออกไป” อยู่ข้างนอกชั่วคราว เพื่อตัดปัญหาในบ้านหลังใหญ่ คือ พรรคพลังประชารัฐ

สำหรับ ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรค 21 คน ได้แก่ 1. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 2. นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น 3. นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส. ตาก 4. นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 5. นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 6. นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง 7. นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 8. นายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 9. นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์

10. นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 11. นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 12. นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13. นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 14. เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15. นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 16. นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 17. นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 18. นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19. พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20. นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา และ 21. นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

แม้ว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งได้รับมอบหมายให้แถลงอธิบายว่า การประชุมเกิดขึ้นเนื่องจากมีสมาชิกนำโดย ร.อ.ธรรมนัส เสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ให้มีการปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ ถ้าไม่ปรับจะเคลื่อนไหวให้พรรคเกิดความเสียหาย ซึ่งหัวหน้าพรรคเห็นว่าข้อเรียกร้องจะสร้างปัญหา เกรงจะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ จึงนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ส.ส.ของพรรค หารือถึงข้อเรียกร้องของ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งที่ประชุมร่วม กก.บห.และ ส.ส.จำนวน 78 คน ประกอบด้วย กก.บห. 17 คน และ ส.ส. 61 คน เห็นว่าข้อเรียกร้องร้องดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากจะเป็นความเสียหายทั้งระบบ

ฉะนั้น เพื่อรักษาหลักการในเรื่องความมีเสถียรภาพและความเป็นเอกภาพ พรรคเห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นเหตุที่ร้ายแรง เข้ากับข้อบังคับของพรรค ข้อที่ 54 (5) ประกอบวรรคท้าย มีเหตุร้ายแรง จึงมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส และ ส.ส.กลุ่มดังกล่าว ด้วยเสียง 63 เสียง ซึ่งถือว่าเกิน 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมในการขับสมาชิกออกจากพรรค ขั้นตอนต่อไปทางพรรคจะได้มีการจัดตรียมเอกสารเพื่อแจ้งไปยัง กกต. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานะทั้ง 21 คน ยังเป็น ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ แต่จะต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (9)

“ข้อเรียกร้องของ ร.อ.ธรรมนัส ให้ปรับโครงสร้างพรรค เป็นการเคลื่อนไหวที่ร้ายแรง เพราะระบุว่า ถ้าไม่ได้ตามข้อเรียกร้องก็ไม่ยอม ขัดต่อความมั่นคง เสถียรภาพ เอกภาพในพรรค ถือเป็นจุดแตกหักที่ต้องตัดสินใจ ซึ่งสมาชิกพรรคส่วนใหญ่เลือกรักษาเสถียรภาพของพรรคไว้ ส่วนอนาคตของทั้ง 21 คน จะสามารถร่วมงานกับพรรคได้อีกหรือไม่นั้น ขอให้ไปถาม ร.อ.ธรรมนัส เอง ไม่สามารถตอบแทนได้” นายไพบูลย์ ระบุ

เขายืนยันว่า มติการขับไม่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องนี้เป็นเรื่องของที่ประชุมร่วมเท่านั้น มั่นใจหลังจากนี้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคจะจบ ไม่เกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นมาอีก ถึงเวลาที่จะต้องขจัดความขัดแย้งที่ฝังรากลึกเกินเยียวยา เชื่อมั่นว่า มติครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพรรค พรรคจะเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง รับรองพรรคดีขึ้นแน่

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามสถานการณ์ในภาพรวมทางการเมืองในอนาคตที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นทั้งในพรรคพลังประชารัฐเอง และรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าน่าจะ “ชัดเจน” มากขึ้น ไม่อึมครึมอีหลักอีเหลื่อเหมือนที่ผ่านมา เพราะต้องยอมรับกันว่าปัญหาความขัดแย้งในพรรคดังกล่าวเกิดขึ้นชัดเจน และร้าวลึกหลังจากมีการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน จากรายงานความเคลื่อนไหวที่ระบุว่า “มีแผนล้มนายกฯ” ในช่วงลงมติในญัตติ “ซักฟอก” ครั้งที่ผ่านมา และนำมาสู่ความพยายามในการปลดพ้นตำแหน่งเลขาธิการพรรคมาแล้ว แต่ถูก พล.อ.ประวิตร ขัดขวางเอาไว้ และยังมอบหมายบทบาทให้ดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะในศึกเลือกตั้งซ่อมที่สงขลา และชุมพร ซึ่งในที่สุด พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างหมดรูป และทำให้ความขัดแย้งระเบิดขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากมีการกล่าวโทษว่า ร.อ.ธรรมนัส เป็นต้นเหตุสำคัญ

ขณะเดียวกัน เมื่อมองจากกระแสภายนอก โดยเฉพาะจาก “กลุ่มที่สนับสนุนลงตู่” กดดันมากขึ้น ให้ ร.อ.ธรรมนัส แสดงความรับผิดชอบ พร้อมกับปฏิเสธการสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะมีการนำมาโยงถึงการเลือกตั้งซ่อมใน กรุงเทพฯ เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ว่าจะไม่เลือกผู้สมัครจากพรรคนี้อีกแล้ว เมื่อกระแสกดดันทั้งภายนอก ภายใน ประดังเข้ามากลายเป็นแรงบีบให้ ร.อ.ธรรมนัส ต้องเคลื่อนไหวให้มีการขับออกจากพรรค เพื่อจะได้หากสังกัดพรรคใหม่และคงสภาพ ส.ส.ได้ต่อไป แต่หากไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยจริง ก็ทำให้ถูกจับตาว่านี่คือ “ปาหี่” ของ “บิ๊กป้อม” ที่ให้ย้ายไปอยู่ “บ้านเล็ก” เพื่อตัดปัญหาทะเลาะกันใน “บ้านหลังใหญ่” เอาไว้ก่อน

แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อ ร.อ.ธรรมนัส ยกก๊วนออกไปพ้นจากพรรคพลังประชารัฐ มันก็ทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น อย่างน้อยก็สามารถ “เช็กรายชื่อ” ได้ว่า ยังมีใครบ้างที่สนับสนุนรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าเมื่อสำรวจตัวเลข ส.ส.ในพรรคจะลดลงมาในระดับ “ปริ่มน้ำ” อีกครั้ง นั่นคือมีเสียงรวมกันราว 247 เสียง และเสียงกึ่งหนึ่งคือ 238 เสียง แต่ก็ถือว่าลดความอึมครึม ลงไปมาก

ดังนั้น หากพิจารณากันในภาพรวมทุกด้าน ก็ต้องถือว่า มติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับพวกออกไปจากพรรคพลังประชารัฐคราวนี้เหมือนกับว่า “วิน-วิน” สมประโยชน์กันทุกฝ่าย นั่นคือ ทุกคนยังเป็น ส.ส. และสังกัดพรรคใหม่ และให้จับตาพรรคเศรษฐกิจไทยที่เป็นพรรคสำรองของ “บิ๊กป้อม” ขณะที่ “บิ๊กตู่” ก็ถือว่าสามารถเช็กรายชื่อ จัดแถวในพรรคได้ชัดเจน ลดความอึมครึม ออกไป แม้ว่าเสียงจะลดลงมาปริ่มน้ำอีกครั้ง แต่เวลานี้เชื่อว่าแทบทุกพรรคยังไม่อยากเลือกตั้ง อยากประคองกันไปก่อน อย่างน้อยก็ต้องรอกฎหมายลูกสองฉบับผ่านสภาเสียก่อน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น