หลายคนตั้งคำถามกับผมว่า ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ที่ชุมพรและสงขลาบอกอะไรต่อพรรคประชาธิปัตย์ และการพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นการส่งสัญญาณอะไรต่อพรรคพลังประชารัฐหรือไม่
การห้ำหั่นกันอย่างรุนแรงในภาคใต้ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทั้งสองพรรคนั้นมีฐานเสียงเดียวกัน แย่งเค้กก้อนเดียวกันหรือจับปลาในบ่อเดียวกัน แม้โดยสปิริตแล้วพรรคพลังประชารัฐควรจะหลีกทางให้พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม
เลือกตั้งครั้งที่แล้วคนภาคใต้หลายจังหวัดและกทม.ต่างพากันทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปเลือกพรรคพลังประชารัฐเพราะอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ นั่นหมายความว่าพรรคพลังประชารัฐประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเพราะกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ตัวบุคคล
แน่นอนการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นรัฐบาลย่อมดีกว่าเป็นฝ่ายค้าน แต่ประชาธิปัตย์ก็ต้องกินน้ำใต้ศอกพรรคพลังประชารัฐ เหมือนการหาเสียงเที่ยวนี้ที่พรรคพลังประชารัฐพูดเต็มปากว่าผลงานของรัฐบาลเป็นผลงานของพรรคไม่ใช่ของประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคร่วม แล้วยังโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ที่รับผิดชอบกระทรวงพาณิชย์และทำให้ของแพงด้วย
ตราบที่ยังร่วมรัฐบาลแบบนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็คงต้องหวานอมขมกลืนต่อไป
การพ่ายแพ้ครั้งนี้ของพรรคพลังประชารัฐเป็นการพ่ายแพ้ในเกมการเลือกตั้งซ่อมเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งซ่อมมาตลอด หลายคนมองว่าเป็นผลมาจากการถืออำนาจรัฐไว้ในมือ แต่ที่ชุมพรและสงขลาเที่ยวนี้แม้จะแข่งกันเองในพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ถูกพรรคประชาธิปัตย์ส่งเสียงโวยออกมาเหมือนกันว่าถูกอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง
ชัยชนะที่ได้มาเที่ยวนี้ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นว่าไปแล้วก็แค่เสมอตัว แต่ก็แสดงให้เห็นว่าคนใต้ยังไม่ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามขายแคมเปญว่าพรรคของเราคนของเราเสียทีเดียว กระนั้นก็ไม่ได้หมายความนี่เป็นสัญญาณว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมายิ่งใหญ่ในภาคใต้อีกครั้ง เพราะการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ไม่อาจวัดผลเช่นนั้นได้
เพราะนับตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่แล้วเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ภาคใต้ไม่ใช่พื้นที่ผูกขาดของพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป ถ้าพรรคการเมืองอื่นสามารถคัดสรรตัวบุคคลที่มีศักยภาพเข้ามาแข่งคนใต้ก็พร้อมที่จะเลือกผู้สมัครคนนั้น ดังเห็นได้จากการประสบความสำเร็จของพรรคภูมิใจไทยในภาคใต้เพราะตัวบุคคล ที่ต่างกับชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐที่ขี่กระแสประยุทธ์เข้ามา
ที่ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ยังชนะเพราะบารมีของลูกหมี ชุมพล จุลใส ยังเหนียวแน่น จริงๆ พรรคพลังประชารัฐก็เกือบจะถอดใจไม่ส่งอยู่แล้ว ส่วนที่สงขลานั้นแพ้ไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าแพ้จะเสียเหลี่ยมนายกชาย เดชอิศม์ ขาวทองเป็นอย่างมาก เพราะอุตส่าห์ส่งเมียรักลงสมัคร แต่ว่าไปแล้วนายกชายก็ต้องขอบคุณธรรมนัส พรหมเผ่า เพื่อนรัก ที่สร้างวาทกรรมเลือกคนมีชาติตระกูล คนมีตังค์ เพราะคำนี้แหละที่มันลบหลู่เกียรติของคนใต้ จนน้ำหอม สุภาพร กำเนิดผล ที่มีทีท่าว่าจะเป็นรองพลิกกลับมาชนะในที่สุด
บทเรียนครั้งนี้คงทำให้ธรรมนัสรู้ตัวว่า ตัวเองนั้นไม่ได้มีจุดขายหรือกระแสที่ทำให้คนใต้ชื่นชอบ และรับรู้ถึงความเจนจัดของพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ที่เป็นงูเจ้าถิ่น ข้อดีของพรรคประชาธิปัตย์คือ แม้จะขัดแย้งกันในพรรคเหยียบตาปลากัน แต่พอต้องสู้เพื่อศักดิ์ศรีของพรรคก็รวมพลังกันได้
แต่การศึกครั้งนี้ก็ทำให้มองไปถึงอนาคตที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องห้ำหั่นกับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าว่าจะต้องสู้กันอย่างเลือดเดือด การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่ง ส.ส.น้อย ก็เพราะถูกพรรคพลังประชารัฐแย่งชิงไปนี่แหละไม่ใช่ใครอื่น คู่แข่งของพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ใช่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แต่เป็นพรรคพลังประชารัฐนี่แหละ
แต่กระนั้นการเลือกตั้งซ่อมของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ก็ไม่อาจวาดหวังอะไรในอนาคต เป็นเพียงเกมที่ประชาธิปัตย์ต้องสู้สุดฤทธิ์เพื่อรักษาเก้าอี้เดิมของพรรคเอาไว้ได้ แต่แม้จะชนะก็สะท้อนให้เห็นว่า ภาคใต้ไม่ใช่พื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีคู่แข่งหรือส่งเสาไฟฟ้าลงอีกต่อไป
ส่วนพรรคพลังประชารัฐนั้นน่าจะได้บทเรียนว่า ควรจะต้องรู้จักแยกมิตรศัตรู การส่งคนลงสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ไม่คุ้มค่าเลย นอกจากทำให้มิตรหมางเมินแล้ว ยังสะท้อนถึงความไร้น้ำใจทั้งที่รู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่งครั้งนี้เพราะคนของพรรคออกมาต่อสู้กับการใช้อำนาจฉ้อฉลของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทักษิณ และกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ 3 ป.เข้ามารัฐประหารและเกิดเป็นพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ
อย่างไรก็ตาม เรารู้อยู่แล้วว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับอำนาจของ 3 ป.แล้วกวาดต้อนอดีต ส.ส.เข้ามาด้วยอำนาจรัฐและกลไกของรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้ คสช.สืบทอดอำนาจ ดังนั้นชะตากรรมของพรรคนี้ก็เป็นอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ว่าไว้ว่าหมดพลเอกก็จบ
ขยายความให้ว่าไม่ใช่จบพลเอกทั้ง 3 ป. แต่จบจากพล.อ.ประยุทธ์ก็จบแล้ว เพราะพรรคนี้ขายพล.อ.ประยุทธ์คนเดียว แต่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดานั้นขายไม่ออก พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องลุ้นว่าจะรอดสันดอนศาลรัฐธรรมนูญในวาระ 8 ปีไหม
แต่ตัวธรรมนัสก็อาจคิดต่างจากสายตาของคนนอกที่มองเข้าไป เขาอาจคิดว่าตัวเองเป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์ และคิดการณ์ไกลมากกว่าที่จะหยั่งถึง ไม่เช่นนั้นแล้วธรรมนัสคงไม่อาจกล้าที่จะยึดอำนาจรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา เพื่อโค่นล้มพล.อ.ประยุทธ์จนถูกขับออกมาจากตำแหน่งรัฐมนตรี และในครั้งนี้ก็แสดงอิทธิฤทธิ์ขู่จะนำ 21 ส.ส.ออกจากพรรค หากไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีหลังถูกกล่าวหาว่า เป็นสาเหตุของความพ่ายแพ้ในพรรค จนพรรคมีมติขับออก และมีข่าวว่าธรรมนัสและทั้ง 21 คน จะไปอยู่พรรคใหม่ที่มีพล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา สายตรงของบิ๊กป้อมเป็นหัวหน้าพรรค แต่ยังคงสนับสนุนรัฐบาลต่อไป
สะเก็ดแผลที่เกิดขึ้นระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์คิดหรือไม่ว่า การร่วมลงเรือกับพล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้มีแต่ตกเป็นเบี้ยล่างของพรรคพลังประชารัฐ นอกจากไปช่วยรัฐนาวาให้รอดสันดอนแล้ว พรรคพลังประชารัฐก็หาได้มีเยื่อใยในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยไม่ ถ้าอยู่ร่วมรัฐบาลไปจนจบสมัยจะมีอะไรที่ไปกอบกู้เกียรติยศของพรรคให้กลับคืนมา
ผมคิดว่าถ้าไม่หลงใหลต่อชัยชนะกับผลโพลที่บอกว่ามีคนอยากให้จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์จะต้องหันมาทบทวนบทเรียนครั้งนี้ว่าจะวางอนาคตของพรรคไปทางไหน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan