xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “ก้าวไกล” เลือกซ่อมหลักสี่ “3 นิ้วเท-ทอนเสื่อม” ตัดสิน? “แพ้รวด” ควรเป็นพรรคไหน 4 ข้อ “พปชร.” พ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ จับตา “ก้าวไกล” เลือกซ่อมหลักสี่ “3 นิ้วเท-ทอนเสื่อม” ตัดสิน? ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
แพ้รวดหรือไม่! จับตา “3 นิ้วเท-ทอนเสื่อม-พิธาหนีโsวต” จะสั่งสอนก้าวไกล เลือกตั้งซ่อม “จตุจักร-หลักสี่”? “อัษฎางค์” ฟันฉับ! พรรคไหน น่าสมเพช น่าอับอาย “อดีตบิ๊ก ศรภ.” ยก 4 เหตุผลคนใต้สอน “พปชร.” ให้รู้เสียบ้าง

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (17 ม.ค.65) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น จับตาคนรุ่นใหม่จะสั่งสอนก้าวไกล! เลือกตั้งซ่อม “จตุจักร-หลักสี่” ส่อแพ้ หลังก๊วน 3 นิ้ว เคยจี้ลอยแพ หากแก้ 112 ไม่ได้?

โดยระบุว่า หลังจากที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เคลื่อนไหว ทวีตข้อความภายหลังทราบผลการเลือกตั้งซ่อม ในจังหวัดชุมพร และสงขลา ระบุว่า “ลุยต่อที่หลักสี่และจตุจักร! ไม่ได้หวั่นไหวกับความพ่ายแพ้
แต่กลับเข้มแข็งกว่าเดิม!! ขอปลุกใจทุกคนให้ลุยต่อ ผมเลือกที่จะยอมรับ เรียนรู้ และสนุกไปกับมัน ขณะเดียวกัน เราจะทบทวน ปรับตัว ปรับกระบวนทัศน์เพื่อการพัฒนายิ่งๆ ขึ้นของพรรคเรา” จนมีหลายๆ เสียงของกองเชียร์ก้าวไกลเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า ทำไมก้าวไกลถึงเอาชนะคนระดับกลางไม่ได้เสียที พร้อมกับกังวลว่า อาจจะแพ้เลือกตั้งซ่อมที่เขตหลักสี่อีก

ทั้งนี้ ประเด็นการเลือกตั้ง กับมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เชียร์ก้าวไกล เคยมีประเด็นที่พรรคยกเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ออกมาพูด จนถูกกลุ่ม 3 นิ้ว ที่เป็นกลุ่มฐานเสียงคนรุ่นใหม่ ออกมาแสดงความคิดเห็นจี้พรรคก้าวไกล ว่า อาจจะมีการลอยแพเกิดขึ้น เพราะถ้าพรรคก้าวไกล ดันแก้เรื่องมาตรา 112 ไม่ได้ ก็จะไม่ขอเลือกก้าวไกลอีก บวกกับเจอกระแสที่พิธาหนีโหวต จนฐานเสียงรุ่นใหม่ที่เคยเชียร์ ต่างก็ถอดใจ ว่าก้าวไกลอาจจะหักหลังพวกม็อบด้วย

ภาพ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ตอมาก็ยังมีประเด็นดรามา ที่เกิดขึ้นกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เรื่องการฉีดวัคซีน ที่ยังชี้แจงข้อเท็จจริงได้ไม่ครบ 100% ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงไปยังภาพลักษณ์ของพรรคก้าวไกลด้วยเช่นกัน

ช่วงนี้แม้แต่กองหนุนพรรค ก็ยังมองว่า พรรคมีคะแนนติดลบหลายด้าน ถึงเวลาต้องถอดบทเรียนนำมาปรับปรุง หากถามว่าในระยะเวลา 2 ปี ที่มีพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นมา ก็ถือว่าผลงานน่าพอใจแล้ว แต่เมื่อคิดจะดึงฐานเสียงคนรุ่นใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน

หากจะเดินหน้าแก้มาตรา 112 ที่ก้าวไกลรู้ว่า ไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อบรรดา ส.ส.ในพรรคต่างชูเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องหลัก ก็ทำให้พวกกลุ่ม 3 นิ้วมีหวัง ที่จะเห็นการยกเลิกมาตรา 112 แต่ก็เคยลั่นวาจาท้าส.ส.พรรคก้าวไกลไว้ด้วยว่า หากทำไม่ได้ ก็คงไม่เลือกพรรคก้าวไกลต่อไปอีก

งานนี้จึงต้องจับตาลุ้นกันว่า วันที่ 30 ม.ค. 2565 ที่จะมีการเลือกตั้งซ่อมในเขตจตุจักร-หลักสี่ เกิดขึ้นนั้น พรรคก้าวไกลจะแพ้ซ้ำรอยชุมพร-สงขลา หรือไม่ หากแพ้อีกครั้ง ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่า คนรุ่นใหม่ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค กำลังสั่งสอนพรรคก้าวไกลให้มีบทเรียนอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ระบุว่า

“ก้าวไกล แพ้รวด”
“ข่าวสด” ซึ่งมี เปาบุ้นจึง เป็นหุ้นใหญ่ ไม่กล้าพาดหัวด้วยความจริงที่แทงจำดำว่า “ก้าวไกล แพ้รวด ทั้ง 2 เขต”

คำว่าแพ้รวด ควรจะหมายถึง คะแนนของผู้สมัครพรรคก้าวไกล ที่แพ้ถึง 10 เท่า คือ อาการ “แพ้รวด” ที่แท้ทรู

นายอัษฎางค์ ยมนาค ขอบคุณภาพจากแนวหน้า
ชัยชนะของ “ประชาธิปัตย์” เจ้าของฉายาที่คนรู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองมานานแสนนานแล้วว่า เป็น “พรรคของคนใต้” คงไม่น่าแปลกใจอะไรมากมาย

ส่วน “พลังประชารัฐ” คือ พรรคแกนนำรัฐบาล ย่อมมีผู้สนับสนุนอยู่ไม่น้อย ซึ่งหมายความว่า เป็นคู่แข่งโดยตรงกับ “เจ้าถิ่น”

การที่ ”พลังประชารัฐ” แพ้เจ้าถิ่น เจ้าของพื้นที่อย่าง “ประชาธิปัตย์” ย่อมไม่ได้ทำให้เสียหน้าอะไรหนักหนา

แถมเป็นการแพ้ด้วยคะแนนที่ไม่น่าเกลียดอะไรเลย

ส่วน “กล้า” ซึ่งเป็นพรรคใหม่ถอดด้าม ถือว่า ยังอยู่ในช่วงเพิ่งเปิดซิงด้วยซ้ำ ได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 4 ถือว่า ไม่เสียหายและไม่เสียหน้าอะไรเลย ถือเป็นการวอร์มอัพก่อนการแข่งขันในสนามใหญ่ที่จะมาถึง

จะเอา “กล้า” ไปเทียบกับ “พรรคเจ้าถิ่น” และ “พรรครัฐบาล” แล้วบอกแพ้รวดหรือแพ้หมดรูป ผมว่าคงไม่แฟร์

แต่คำว่า “แพ้รวดหรือแพ้หมดรูป” ต้องใช้กับ “พรรคก้าวไกล” พรรคอันดับ 1 ในโลกเสมือนจริงตลอดมา เป็นพรรคที่ไม่ใช่พรรคใหม่และคุยโตโอ้อวดเสมอมา

นับเป็นความพ่ายแพ้ที่ “หมดสภาพอย่างน่าอดสู” ไม่เป็นไปตามคำโอ้อวด เลย

แพ้ด้วยคะแนนทิ้งห่างเป็น 10 เท่า
คือสิ่งที่เรียกว่า “แพ้รวด”

ไม่มีอะไรจะน่าสมเพชและน่าอับอายไปกว่านี้แล้ว (จากแนวหน้า)

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ในที่สุดประชาชนภาคใต้ก็สอนพรรคพลังประชารัฐ ให้รู้จักคำว่า ”พ่ายแพ้” เสียบ้าง แพ้อย่างไรนั้น เราลองมาดูเหตุผลง่ายๆ กันหน่อย

1. คราวนี้พรรคพลังประชารัฐ ไม่ชู พลเอก ประยุทธ์ ขึ้นมาหาเสียงเหมือนเดิม เพราะหลายคนในพลังประชารัฐไม่เชื่อว่า ในปัจจุบันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังมีคนชอบอยู่มากมายเหมือนเดิมอีก

2. การปรากฏตัวถี่ขึ้นของคุณทักษิณ และการเคลื่อนไหวของ เด็ก 3 กีบ ที่นับวันจะเลยเถิดมากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ต้องหันกลับมาพึ่งพา พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้งหนึ่ง แม้จะเบื่อในความเฉื่อยชา ของลุงตู่ก็ตาม

3. ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งไม่ใช่ ผอ.การเลือกตั้ง และดูเสมือนจะอยู่คนละข้างกับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พา พล.อ.ประวิตร ลงไปหาเสียง ซึ่งส่งผลทำให้ คนในพรรค ปชป. ซึ่งจะฆ่ากันแทบตายอยู่แล้ว เกิดการรวมตัวกันเฉพาะกิจ ลงมาต่อสู้ศึกครั้งนี้แบบไม่น่าเชื่อ

ภาพ พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ขอบคุณภาพจากแนวหน้า
4. ประชาชน ต้องการเตือน คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐให้รู้ว่า ประชาชนส่วนที่สนับสนุน พรรคพลังประชารัฐนั้น พวกเขาคิดกันอย่างไร

“ขอแสดงความเสียใจ ชั่วคราวที่พรรคพลังประชารัฐ อาจจะไม่ได้ลูกหมี มาเป็นมือทำงานให้ นอกจากนั้น มาคอยดูว่าคนกรุงเทพฯ จะทำแบบนี้หรือเปล่า ในการเลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดขึ้น ใน 30 มกราคมนี้ครับ” (จากแนวหน้า)

แน่นอน, ความเห็นทั้งหมดล้วนน่าคิดวิเคราะห์ตามอย่างมาก แม้การแพ้-ชนะเลือกตั้ง เกิดจากหลายปัจจัย และสถานการณ์ รวมทั้งคนในแต่ละท้องถิ่นสรุปบทเรียนอย่างไร หลังจากการทำงานของแต่ละพรรคการเมืองผ่านไป หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ คะแนนนิยม เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั่นเอง

แต่นั่นก็อาจไม่ใช่เหตุผลที่มีน้ำหนักเหนือกว่า ประเด็นที่ “กูรู” หลายท่านหยิบยกมาก็เป็นได้ อย่างเช่น พรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรค การหักหลังทางการเมือง การลืมไปว่า แท้จริงแล้ว ยิ่งใหญ่มาได้ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น การไม่ชู พล.อ.ประยุทธ์ ในการหาเสียง เพราะเชื่อมั่นในแกนนำบางคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ทั้งยังส่อให้เห็นว่า “ป” บางคนทำตัวออกห่างพี่น้อง เพื่อเกมแห่งอำนาจ สิ่งเหล่านี้ ประชาชนภาคใต้คิดวิเคราะห์ออก “ประชาธิปัตย์” ที่เคยครองใจอยู่แล้ว ก็ยิ่งง่ายที่ประชาชนจะเลือก ส่วนพรรคอื่นแทบจะพูดได้ว่า ไม่ใช่คู่ต่อสู้แม้แต่น้อย จึงดูเหมือนไม่ต่างจากรัฐบาลสู้กันเอง?

ขณะ พรรคก้าวไกล ที่ดูเหมือนมาแรงในเรื่องของจุดยืนพรรค นั่นคือ สนับสนุนคนรุ่นใหม่ และสนับสนุนการต่อสู้เพื่อ “ปฏิรูปสถาบันฯ” สนับสนุนการแก้ ม.112 และสนับสนุนม็อบ 3 นิ้วของ ส.ส.บางคน โดยมี นายธนาธร และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมือง

เรื่องนี้ คะแนนนิยมอาจไม่เกี่ยวกับการแพ้-ชนะมากนัก หากแต่มีผลสะท้อนอย่างมากว่า คนใต้โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งซ่อม ชุมพร, สงขลา ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้เคลื่อนไหวที่พรรคก้าวไกลที่มีจุดยืน และสนับสนุนดังกล่าว

เพราะถ้าเห็นด้วย ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะต้องสะท้อนมากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดจะต้องเบียดแข่งพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ก็หายใจรดต้นคอพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าไม่ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย

แต่นั่นก็อาจยังวัดอะไรไม่ได้มากเท่ากับการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ เพราะอาจมีข้ออ้างว่า คนใต้มีพรรคตัวเองในใจอยู่แล้ว ดังนั้น หลักสี่จะเป็นพื้นที่ตัดสินว่า คน กทม. ซึ่งไม่มีใครผูกขาดการเมืองได้ จะสนับสนุนแนวทางต่อสู้พรรคก้าวไกลหรือไม่ ยิ่งเขตนี้มีคู่แข่งสำคัญเป็นฝ่ายจงรักภักดีลงสมัครด้วย ยิ่งจะทำให้เห็นภาพสะท้อนอะไรบางอย่างได้เป็นอย่างดี

แต่ถ้าพรรคก้าวไกลแพ้อีก นั่นคือ คำตอบสำคัญว่า คนไทย คนหลักสี่ คิดอย่างไรกับพรรคก้าวไกล นี่คือ สิ่งที่ทุกคนกำลังลุ้น ยิ่งกว่าใครชนะเลือกตั้งเสียอีก ไม่เชื่อคอยดู!


กำลังโหลดความคิดเห็น