เมืองไทย 360 องศา
รับรู้กันไปแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์สามารถเอาชนะการเลือกตั้งซ่อมใน 2 จังหวัดทางภาคใต้ คือ เขต 1 จังหวัดชุมพร และ เขต 6 จังหวัดสงขลา สามารถรักษาที่นั่งเดิมเอาไว้ได้ทั้งสองที่นั่ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันก็พ่ายแพ้ทั้งสองเขตเลือกตั้งดังกล่าว
แม้ว่าหากพิจารณาจากผลคะแนนทั้งในจังหวัดสงขลาและชุมพร ตามการประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยผลการเลือกตั้ง ส.ส.สงขลา เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่างลงอย่างไม่เป็นทางการ ดังนี้ อันดับ 1 หมายเลข 1 น.ส.สุภาพร กำเนิดผล พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 45,576 คะแนน อันดับ 2 หมายเลข 3 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 40,531 คะแนน อันดับ 3 หมายเลข 2 นายธิวัชร์ คำแก้ว พรรคก้าวไกล (กก.) 5,427 คะแนน อันดับ 4 หมายเลข 4 นายพงษธร สุวรรณรักษา พรรคกล้า 1,350 คะแนน และ อันดับ 5 หมายเลข 5 นางภัทรวดี ศรีศักดา พรรคพลังสังคม 123 คะแนน
สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดชุมพร ประกาศผลการเลือกตั้งเขต 1 อย่างไม่เป็นทางการ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 97,425 คน คิดเป็นร้อยละ 72.44 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 134,490 คน แบ่งเป็นบัตรดี 92,876 บัตร คิดเป็นร้อยละ 95.33 /ส่วนบัตรเสีย 1721 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.77 และบัตรไม่เลือกผู้ใด 2828 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.90
โดยคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับ มีดังนี้ หมายเลข 1 นายอิสรพงษ์ มากอำไพ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 49,014 คะแนน หมายเลข 2 ร.ต.ท.สมชาย แพ่งยงยุทธ จากพรรคไทยศรีวิไลย์ 507 คะแนน หมายเลข 3 นายวรพล อนันตศักดิ์ จากพรรคก้าวไกล 3,582 คะแนน หมายเลข 4 นายชวลิต อาจหาญ หรือ ทนายแดง จากพรรคพลังประชารัฐ 32,281 คะแนน หมายเลข 5 พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ จากพรรคกล้า 7,492 คะแนน
หากโฟกัสเฉพาะสองพรรค คือ ประชาธิปัตย์ กับพลังประชารัฐ เริ่มจากเขต 6 สงขลา ที่ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ แพ้แค่หลักพันคะแนน และที่ เขต 1 ชุมพร แม้ว่าผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ จะแพ้แบบขาดลอยถึงกว่า หมื่นหกพันคะแนน แต่หากมองในมุมบวกแบบเข้าข้างตัวเอง ก็จะอ้างได้ว่าเมื่อเทียบคะแนนจากการเลือกตั้งคราวที่แล้วผู้สมัครรายนี้ก็ได้เพิ่มมากกว่าเดิม แม้จะเป็นแค่ตัวเลขหลักสิบ แต่ก็เพิ่มขึ้นอะไรประมาณนั้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมองในมุมไหน เมื่อผลออกมาแบบนี้สิ่งที่ชาวบ้านมองก็คือ มีแต่ “แพ้กับชนะ” เท่านั้น ซึ่งทั้งสองเขตเลือกตั้งดังกล่าวพรรคพลังประชารัฐ “แพ้รวด” ทั้งสองเขต
ขณะเดียวกัน หากมองข้ามเฉพาะเรื่อง “รอยร้าว” ระหว่างสองพรรคไปชั่วคราว แต่หันมาโฟกัสกันเฉพาะการ “ทุ่มทุนสร้าง” ชนิดที่เรียกว่า “มโหฬาร” พันลึกกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ที่ถึงขนาดดันหลัง “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคลงไปบัญชาการด้วยตัวเอง เรียกว่า “ฝังตัว” ในพื้นที่กันเลยทีเดียว ทั้งขึ้นเวทีปราศรัยและร่วมเดินหาเสียง เอาเป็นว่าทุ่มเทกันเต็มที่
ทางหนึ่งก็เพื่อหวัง“รุกคืบ” เปิดพื้นที่เพิ่มในภาคใต้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในช่วงการเลือกตั้งใหญ่คราวก่อน พรรคพลังประชารัฐ สามารถแย่งที่นั่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์เจ้าถิ่นมาได้ถึง 13 ที่นั่ง และมาได้เพิ่มอีก 1 ที่นั่ง เมื่อครั้งเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สามารถล้มเครือข่ายของ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.เจ้าของพื้นที่ลงไปได้อย่างราบคาบ
ทำให้เกิดความฮึกเหิม มั่นใจถึงขนาดที่ว่ากระแส “ลุงป้อม” และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคสามารถเอาชนะได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้เครดิต หรือเอ่ยชื่อ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ได้ยินสักแอะเดียว
อย่างไรก็ดี เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้ แน่นอนว่าย่อมบั่นทอนจิตใจของระดับแกนนำสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เปิด “ไฟเขียว” ให้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมทั้งสองเขต โดยพาะที่เขต 1 ชุมพร ที่มีการ “กลับลำ” มาส่งลงสมัครถึงสองสามรอบ และผลที่ออกมา คือ พ่ายแพ้แบบหลุดลุ่ย
ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตาอนาคตของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ที่งานนี้ “ออกตัวแรง” จนออกมาในลักษณะที่ถูกมองในแบบ “ล้ำเส้น” กันเลยทีเดียว โดยหากเน้นไปที่สนามเลือกตั้งซ่อมที่ เขต 1 ชุมพร ที่มีการกลับลำส่งผู้สมัคร หลังจากก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า “ลุงป้อม” ยอมหลีกทางให้ “ลูกหมี” นายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ที่ต้องพ้นจากเก้าอี้จากคำพิพากษากรณีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ในอดีต และมีการระบุว่าเตรียม “ยกขบวน” ซบพรรคพลังประชารัฐในอนาคต โดยมีตัวละครสำคัญคือนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้มีส่วนร่วมในการทาบทามเจรจา
แต่อย่างที่รู้กันอีกว่า นายสุชาติ นั้นอยู่คนละก๊วนกับ ร.อ.ธรรมนัส จึงทำให้ดีลนี้ต้องล่มลง และต้องดันให้กลับลำส่งผู้สมัครลงแข่งกับทีมของนายจุมพล ซึ่งผลออกมาอย่างที่เห็น
และอีกด้านหนึ่งก็ต้องพิจารณาถึงการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 9 หลักสี่ จตุจักร แทน นายสิระ เจนจาคะ ที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีคุณสมบัติต้องห้าม โดยพรรคพลังประชารัฐส่งภรรยา นายสิระ คือ นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ และคราวนี้ก็ต้องกลับมาชนกลับคู่แข่งรายเดิมคือนายสุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.คนเดิมจากพรรคเพื่อไทย รวมไปถึง นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ซึ่งเคยเป็น ส.ส.ในเขตนี้มาก่อนเหมือนกัน และยังมีผู้สมัครจากพรรคไทยภักดีของนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ลงสมัครแข่งขันด้วย
แน่นอนว่า สถานการณ์ในวันนี้กับเมื่อการเลือกตั้งเดือนมีนาคมปี 62 มันต่างกันลิบลับ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นายสิระ เคยได้รับการเลือกตั้งเป็นเพราะกระแส “ลุงตู่” แต่คราวนี้ย่อมมีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เว้นแม้กระทั่งภายในพรรคพลังประชารัฐเองที่เวลานี้มี “บางกลุ่มไม่เอาลุงตู่” ทำให้ขาดเอกภาพในการหาคะแนนเสียง และเมื่อพ่ายแพ้กลับมาจากสนามภาคใต้แบบหมดรูปแบบนี้ มันก็ยิ่งทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนกระเพื่อมมาถึงสนามเลือกตั้งซ่อมในเขตหลักสี่ ที่เดิมก็หนักอยู่แล้ว ยิ่งสาหัสกว่าเดิม
งานนี้หากพิจารณาตามสถานการณ์ที่เป็นจริงก็ต้องบอกว่า หนักมากที่พรรคพลังประชารัฐจะรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ ทั้งปัญหาสภาพภายในพรรค อีกทั้งยังมีผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่นที่มีฐานมวลชนในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคกล้า พรรคไทยภักดี ตัดคะแนนกันเอง ขณะที่อีกฟากหนึ่งเมื่อเทียบกันระหว่างตัวบุคคลแล้ว ก็ยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังเหนือกว่าพรรคก้าวไกลหลายขุม
ถึงบอกว่าหากพลังประชารัฐสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้ก็แค่เสมอตัว แต่หากแพ้ซ้ำอีกก็ให้จับตาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตามมาก็แล้วกัน !!