xs
xsm
sm
md
lg

‘3 ทางออก’ แก้วิกฤตการเมือง! พบ 4 จุดอ่อนม็อบราษฎร จี้นักวิชาการต้องช่วย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผศ.วันวิชิต” แนะ 3 ทางออก แก้วิกฤตการเมือง ดีสุดคือ “นายกฯ ลาออก” ส.ว. ลงสัตยาบันไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ กลับเข้ามา พร้อมเดินหน้าแก้ รธน. ด้าน “พิภพ ธงไชย” ชี้ 4 จุดอ่อนม็อบราษฎร ระบุ นักวิชาการต้องช่วยอีกแรง เร่งศึกษา-กำหนดรายละเอียดการปฏิรูปทุกองคาพยพ ขณะที่ “ไพศาล” ติงรัฐบาลรัก “สถาบัน” แต่ปาก ปล่อยคนให้ร้าย ไม่เคยชี้แจงความจริง

ท่ามกลางการเมืองอันร้อนระอุ กระแสความขัดแย้งแบบไม่มีใครฟังใคร หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงทางออกที่จะหยุดปัญหาไม่ให้ลุกลามบานปลาย มีการนำเสนอหลากหลายแนวทางที่จะนำไปสู่การยุติการชุมนุม หรืออย่างน้อยก็ช่วยผ่อนคลายอุณหภูมิทางการเมืองให้เย็นลงมาได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ ข้อเสนอให้ยุบสภา หรือนายกรัฐมนตรีลาออก ส่วนว่าข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด คงต้องไปฟังความเห็นจากนักรัฐศาสตร์และผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในถนนการเมือง

นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)
นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ที่นำโดยคนรุ่นใหม่ขยายวงมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลตั้งโจทย์ผิด โดยมุ่งไปที่การปราบปราม ดิสเครดิต และกดดันให้ยุติการชุมนุม ซึ่งโดยธรรมชาติของม็อบแล้วเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าตำรวจจะสลายการชุมนุม มีการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม หรือกล่าวหาว่าเป็นม็อบชังชาติ-ล้มสถาบัน ก็ไม่ได้ทำให้ม็อบเลิกชุมนุม แต่กลับยิ่งไปปลุกเร้าให้นักศึกษา ประชาชนออกมาชุมนุมมากขึ้น ที่สำคัญ ม็อบครั้งนี้ไม่เหมือนม็อบในอดีตอย่าง ม็อบพันธมิตรฯ นปช. หรือ กปปส. ซึ่งชุมนุมแบบปักหลักพักค้าง แต่เป็นการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ ไม่ยึดพื้นที่ แต่ย้ายที่ชุมนุมไปเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีหลักการให้หลีกเลี่ยงการปะทะ การที่เจ้าหน้าที่จะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จึงทำไม่ได้

ขณะที่การประกาศจะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียที่ผิดกฎหมายราว 3 แสน URL รวมถึงสำนักข่าวหรือเพจข่าวที่มีเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมายของ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น ก็ยิ่งปลุกเร้าให้คนรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล และออกมาชุมนุมมากขึ้น อีกทั้งในทางปฏิบัติการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อโซเชียลเป็นไปได้ยาก ถูกปิดเขาก็ไปเปิดใหม่

ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการเปิดสภาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายไปได้นั้น นายไพศาล เห็นว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามยื้อด้วยการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษานานถึง 30 วัน ส่งผลให้หลังจากการประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 23-24 ก.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้น เพราะมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 26-27 ต.ค.ที่จะถึงนี้ รัฐบาลก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเปิดสภาเพื่อหารือถึงการแก้ปัญหาสถานการณ์การชุมนุม ซึ่งเป็นการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ อาจเสนอแนวคิดให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ แต่กลับไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การเปิดสภาครั้งนี้ควรกำหนดให้มีการลงติว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะรับร่างฉบับไหน อย่างไร เพื่อลดความตึงเครียดของสถานการณ์การชุมนุมที่กำลังขยายวงกว้างออกไป


ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือปัญหามุมมองด้านลบที่ผู้ชุมนุมบางคนมีต่อสถาบัน และนำมาซึ่งท่าทีอันมิบังควร ซึ่ง นายไพศาล ชี้ว่า ที่ผ่านมา มีการใส่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสถาบันผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ มานานแล้ว แต่รัฐบาลไม่เคยเข้าไปแก้ไข วิธีการที่รัฐบาลทำ คือ ส่งไอโอเข้าไปตอบโต้กับคนที่พูดถึงสถาบันในทางลบ และจบลงด้วยการด่าทอกัน แต่จริงๆ สิ่งที่ควรทำคือ การนำข้อมูลที่เป็นจริงไปอธิบายให้เขาฟัง เอาหลักฐานต่างๆ ไปยืนยัน ภาพไหนตัดต่อก็ต้องชี้ให้เห็น ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการนำโครงการที่สถาบันทำเพื่อประชาชนมาเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่มา 6-7 ปี กลับไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เลย

“ขณะที่ปากบอกว่าปกป้องสถาบัน แต่เมื่อมีการกล่าวหาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เรื่องการย้ายเขาดิน รัฐบาลกลับไม่เคยทำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ว่าพระองค์โปรดให้นำที่ดินตรงนั้นไปสร้างโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ปัจจุบันมีจำนวนมากเกินกว่าที่โรงพยาบาลรัฐอื่นๆ จะดูแล และพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ที่ปทุมธานีถึง 10 ไร่ ให้ทำสวนสัตว์แทน เพราะสัตว์ที่อยู่ในเขาดินสุขภาพทรุดโทรม เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เมืองซึ่งคับแคบ ทำให้สัตว์มีความเครียด ไม่กินอาหาร รัฐบาลปล่อยให้พระองค์ถูกกล่าวหาแบบผิดๆ หรือการที่พระองค์ทรงยุบสนามม้านางเลิ้ง เพื่อเอามาทำสวนสาธารณะ
เป็นปอดให้คนกรุงเทพฯ และกวาดล้างมาเฟียพนันและยาเสพติดในสนามม้านางเลิ้ง รัฐบาลก็ไม่เคยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ บ้านเมืองมาถึงจุดนี้รัฐบาลต้องมีส่วนรับผิดชอบ” นายไพศาล กล่าว

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้าน ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เสนอทางออกเพื่อลดความร้อนระอุของอุณหภูมิทางการเมือง ว่า มีอยู่ 3 แนวทางที่สามารถเป็นไปได้ คือ

แนวทางแรก ได้แก่ การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจุดสำคัญคือทั้ง รัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องมีความจริงใจ โดยต้องตัดเรื่องการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา ซึ่งจะต้องใช้เวลา 30 วันออกไปเพราะไม่มีความจำเป็น ซึ่งในการประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ ส.ส.และ ส.ว. ควรที่จะลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และของประชาชน คือ ฉบับที่ iLaw เสนอ เพื่อแสดงความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญว่าข้อเสนอของทุกฝ่ายจะได้รับการพิจารณา

จากนั้นให้เปิดรับฟังความเห็นของประชาชนชนว่าที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งประชาชนเรียกร้องให้มาจากการเลือกตั้งนั้นจะมีรูปแบบอย่างไร แต่ทั้งนี้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ส.ส. ส.ว. และองค์กรอิสระจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือก ส.ส.ร. ขณะที่ ส.ส.ร. เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนแสดงความเห็น เพื่อให้ ส.ส.ร.นำความเห็นดังกล่าวไปปรับเป็นข้อกฎหมาย เมื่อยกร่างคร่าวๆ แล้วก็นำร่างกฎหมายมาทำประชาพิจารณ์เหมือนเมื่อครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540ซึ่งการลดความตึงเครียดทางการเมืองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญนั้นอาจจะไม่ได้ทำให้นักศึกษา ประชาชนเลิกชุมนุมเพราะยังต้องชุมนุมเพื่อกดดันและจับตาการแก้รัฐธรรมนูญอยู่แต่บรรยากาศทางการเมืองจะดีขึ้น

แนวทางที่ 2 นายกรัฐมนตรีลาออก พร้อมทั้ง ส.ว.ต้องลงสัตยาบันว่าจะไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แนวทางนี้อาจจะทำให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุม เพราะมองว่าข้อเรียกร้องสำคัญถูกขับเคลื่อนแล้ว

แนวทางที่ 3 นายกรัฐมนตรีเสียสละด้วยการลาออกเพื่อลดความขัดแย้ง และขับเคลื่อนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไปพร้อมกัน แนวทางนี้จะทำให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุมและบรรยากาศทางการเมืองดีขึ้นอย่างมาก

“ตอนนี้รัฐบาลคงประเมินสถานการณ์วันต่อวันและอ้างว่าอยู่เพื่อปกป้องสถาบัน แต่บ้านเมืองมาจุดวิกฤตแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ และบรรดานักการเมืองต้องเสียสละ ถ้านายกฯบอกว่ายอมตามข้อเรียกร้องเรื่องการลาออกและแก้รัฐธรรมนูญ แต่ขอว่าอย่าแตะเรื่องสถาบันก็อาจมีความเป็นไปได้ เพราะจะทำให้ผู้ชุมนุมที่มีเป้าหมายหลักเรื่องการไล่รัฐบาลยุติการชุมนุม จำนวนผู้ชุมนุมก็จะลดน้อยลง อย่างไรก็ดีคงต้องให้เวลารัฐบาลมีทางลง” ผศ.วันวิชิต ระบุ

นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ขณะที่ นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชี้ว่า การชุมนุมในปัจจุบันถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดี ในขณะที่ม็อบราษฎรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีจุดแข็งเรื่องกลยุทธ์ แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่หลายประการ อันได้แก่

1)มีกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าไปร่วมเปิดตัวมากเกินไป ทำให้ม็อบถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการการเมืองกลุ่มเก่าที่หนุน นายทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ทางที่ดีกลุ่มการเมืองเก่าทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น นปช. พันธมิตรฯ หรือ กปปส. หากจะเข้าไปร่วมควรเข้าไปในฐานะผู้ชุมนุมปกติ ไม่แสดงตัวว่าเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เพราะจะไปลดความน่าเชื่อถือของม็อบ

2)ม็อบไม่สามารถควบคุมไม่ให้มีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย ซึ่งทำให้เสียภาพลักษณ์

3)ประเด็นข้อเรียกร้องเรื่องการปรับโครงสร้างสถาบัน รวมถึงท่าที่เชิงลบและการคุกคามขบวนเสด็จ ทำให้ม็อบไม่เป็นที่ยอมรับของคนที่รักสถาบัน และกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม

4)ม็อบไม่ชัดเจนเรื่องรายละเอียดในการปฏิรูป บอกแต่สาเหตุว่าทำไมต้องปฏิรูป แต่ไม่ชัดเจนว่าจะปฏิรูปอย่างไร ไม่ว่าจะเรื่อง ปฏิรูปสถาบันอย่างไร ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร

สำหรับบทบาทของบรรดานักวิชาการที่เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทางการเมืองในปัจจุบันนั้น นายพิภพ มองว่า ยังเป็นไปในรูปแบบเดิมที่ร่วมลงชื่อสนับสนุน ซึ่งเป็นวิธีการที่เก่าเกินไปและยังไม่ได้นำศักยภาพของนักวิชาการออกมาใช้  โดยนายพิภพ เสนอว่า นักวิชาการควรขับเคลื่อนในเวทีวิชาการไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนการชุมนุมของนักศึกษา โดยนำประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการเมืองรูปแบบใหม่มาศึกษา และเปิดเวทีระดมความเห็น พร้อมทั้งจัดทำบทสรุปที่เป็นประโยชน์ เช่น การปฏิรูปการศึกษา ปัญหาและบทบาทที่ควรจะเป็นของวุฒิสมาชิก ปัญหาการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและการป้องกันไม่ให้องค์กรอิสระถูกแทรกแซง ซึ่งการทำงานในส่วนนี้จะช่วยเสริมกับพลังการขับเคลื่อนของนักศึกษา เมื่อสิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ในขั้นตอนการปฏิรูปก็สามารถนำสิ่งที่นักวิชาการศึกษาไว้ไปใช้ได้ทันที

นับแต่นี้ บ้านเมืองจะเดินไปทางไหน? คงเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันกำหนดและช่วยกันประคับประคองไม่ให้หลงทิศหลงทาง และกลายเป็นเหยื่อของบางพวกบางกลุ่มที่ต้องการสร้างความแตกแยกให้คนไทยเพื่ออาศัยจังหวะเข้ามาแสวงประโยชน์!!




กำลังโหลดความคิดเห็น