xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์ผวา Covid-19 ยังไม่คลาย ม็อบการเมืองโผล่กด GDP ติดลบลึก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เศรษฐกิจไทยสาหัส ลำพังแค่ Covid-19 กด GDP ติดลบ 8-10% มาตรการหลายด้านยังไม่ตรงจุด หวั่นระบาดรอบ 2 ทั่วโลกคุมไม่อยู่ น่านฟ้าไม่เปิดฟื้นเศรษฐกิจยาก รัฐเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่ต้องรอพิสูจน์ผลงาน แถมเกิดม็อบการเมืองเริ่มจุดติด ผู้ชุมนุมมากขึ้นลามไปถึงระดับนักเรียน ยิ่งทำให้การฟื้นตัวยากขึ้นไปอีก คาดหากบานปลาย GDP ดิ่งลดถึง -14%

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 และประมาณการเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2563 เมื่อ 17 สิงหาคม 2563 ลดเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งปี 2563 เป็น -7.3 ถึง -7.8 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ -5 ถึง -6

ก่อนหน้านี้ มีการระดมความเห็นของฝ่ายวิจัยชั้นนำของสถาบันการเงินต่างๆ คาดการณ์ถึงตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งทุกค่ายต่างประเมินติดลบทั้งสิ้นจากผลกระทบของสถานการณ์ Covid-19 บางค่ายประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2563 อาจลึกถึงติดลบมากกว่า 10%

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2563 ร้อยละ 9.7 รวมครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วง -7.3 ถึง -7.8% เนื่องจาก การปรับตัวลดลงมากของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ และปัญหาภัยแล้ง

คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 10.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ -0.7 ถึง -1.2% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.5 ของ GDP


แนะรัฐเร่งแก้ปัญหา

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 ควรให้ความสำคัญต่อการป้องกันการกลับมาระบาดของไวรัสในประเทศ ควบคู่ไปกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในประเด็นสำคัญๆ ประกอบด้วย

1) การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้า หมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น สอดคล้องต่อเงื่อนไขในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ การติดตามและป้องกันปัญหาในบางภาคการผลิตที่อาจส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังภาคการเงิน และการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

2) การพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจ ที่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการฟื้นตัวโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังมีศักยภาพในการฟื้นตัวแต่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ กลุ่มธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในช่วงของการปิดกิจการชั่วคราว รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้ว่างงานและแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ 

3) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด-19 การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในด้านขีดความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรค และการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศภายในกลุ่มอาเซียน 

4) การดูแลภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก โดยให้ความสำคัญต่อการจัดหาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ การชดเชยเยียวยาเกษตรกร การปรับเปลี่ยนการผลิตในภาคเกษตรและการสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์และบริการโลจิสติกส์ต้นทุนต่ำ

5) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐภายใต้กรอบสำคัญๆ ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในไตรมาสแรก และงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนมาตรการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว

6) การส่งเสริมไทยเที่ยวไทยและการรณรงค์ใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ 

7) การเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากความยืดเยื้อของการระบาดของโรค และการกลับมาระบาดในระลอกที่สอง ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และเงื่อนไขความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในระยะปานกลาง 

8) การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง และมีความไม่แน่นอนอยู่สูงทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง

นับเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของประเทศไทยลดลงจากเดิม เหมือนกับทุกสำนักวิจัยที่ปรับลดลงจากเดิมไม่เว้นแม้แต่ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย


“ม็อบ” ปัจจัยลบใหม่

นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า นั่นเป็นเพียงการประเมินจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เป็นปัจจัยหลักเท่านั้น ยังไม่ได้รวมปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามาอย่างสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้รวมเข้าไป

ลำพังเฉพาะเรื่อง Covid-19 ก็ทำเอาประเทศไทยสาหัสอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีปัจจัยลบเพิ่มเข้ามาอีกนั่นคือสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีการชุมนุมเริ่มหนาตาขึ้นเรื่อยๆ

แกนหลักคือกลุ่มประชาชนปลดแอกที่ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล ประกอบด้วย รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง และรัฐบาลต้อง “ยุบสภา” เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง บน 2 หลักการ “ต้องไม่มีการรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ”

ไม่ใช่เฉพาะมีแค่กลุ่มประชาชนปลดแอกเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มธรรมศาสตร์จะไม่ทนเข้าร่วมด้วย ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายในหมวดพระมหากษัตริย์ ที่สอดคล้องต่อแนวทางของพรรคการเมืองบางพรรคเข้ามาให้กำลังใจและช่วยเหลือกรณีที่แกนนำชุมนุมถูกดำเนินคดี

กระแสดังกล่าวลามไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่จัดชุมนุมเช่นเดียวกัน และตอนนี้กลายเป็นแฟชั่นให้นักเรียนระดับมัธยมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลไปด้วย จนทำให้เกิดความไม่พอใจกับกลุ่มคนหลายฝ่าย

“ตอนนี้ถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น เร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ได้ว่าความเข้มข้นของการชุมนุมจะออกมาในรูปแบบใด รวมถึงแนวทางในการแก้ปัญหาของรัฐบาล เชื่อว่าทุกค่ายก็จับตาปัจจัยนี้เหมือนกัน”


แค่ Covid-19 ก็หืดจับ

ขณะที่ฝ่ายประเมินทิศทางเศรษฐกิจยอมรับว่า เฉพาะตัวเลข GDP ที่หลายๆ ค่ายประเมินกันว่าติดลบ 8-10% นั้น จากสถานการณ์ Covid-19 ก็ยังมีข้อกังวลอีกหลายประการที่ต้องติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป

ปัจจัยหลายด้านไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากในบางเรื่องก็ไม่สามารถคาดการณ์ใดๆ ได้ เราไม่มีทางทราบได้เลยว่าประเทศไทยจะมีการระบาดในระลอก 2 เหมือนกับประเทศอื่นๆ หรือไม่

แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศจะเป็น 0 มาอย่างต่อเนื่องมาร่วม 3 เดือน และหากเกิดขึ้นจะขยายเป็นวงกว้างหรือไม่ เรื่องนี้ต้องพึ่งพาความสามารถในการยับยั้งการแพร่กระจายของทีมแพทย์และพยาบาล

อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องภาวนาให้สถานการณ์ Covid-19 ทั่วโลกอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ หากสามารถทำได้เร็วมากเท่าไหร่โอกาสในการเปิดน่านฟ้าของทุกประเทศย่อมมีมากขึ้น เพราะรายได้หลักของไทยคือการท่องเที่ยวและการที่ประเทศไทยควบคุม Covid-19 ได้เป็นอย่างดี ย่อมเป็นอีกแรงดึงดูดหนึ่งที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เข้ามาเมืองไทยได้ง่ายขึ้น

แต่ก็ต้องบริหารจัดการในเรื่องสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาด้วยเช่นกัน ต้องแน่ใจว่าเมื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วจะไม่เป็นการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเรา

อีกทั้งการเปิดน่านฟ้านอกจากเรื่องของนักท่องเที่ยวแล้วยังมีผลบวกต่อภาคการส่งออกอีกด้วย ช่วยให้สินค้าต่างๆ ภายในประเทศสามารถส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศได้เหมือนเดิมเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้

เรื่องการบริหารจัดการในประเทศการแก้ปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 จะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลตรงกลุ่มเป้าหมาย ต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อประคับประคองให้ภาคธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ซึ่งจะเป็นการช่วยลดตัวเลขผู้ว่างงานไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ภาครัฐบาลมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ทำให้อาจต้องรอดูผลงานของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างกระทรวงการคลังและกระทรวงเศรษฐกิจอื่นๆ ว่าจะมีแนวทางในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างไรและทำงานสอดรับกันหรือไม่ อีกสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญนั่นคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนว่าจะมีความรุนแรงแค่ไหนและจะกระทบต่อประเทศไทยด้านใดบ้าง

หวั่น GDP ไหลลึก

การชุมนุมในทางการเมืองจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติ ภาคประชาชนกังวลในสถานการณ์การจับจ่ายใช้สอยจะชะลอลง การบริหารจัดการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาต่างๆ ย่อมต้องชะลอออกไป เมื่อบวกรวมกับผลกระทบจาก Covid-19 ยิ่งจะทำให้ทุกอย่างยิ่งแย่ลง โอกาสที่ GDP จะติดลบต่อกว่า 10% ย่อมมีความเป็นไปได้สูง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากบานปลายอาจทำให้ GDP ทรุดต่ำลงลึกไปได้ถึง -14%

ไม่ว่าแกนนำในการจัดชุมนุมจะมีเจตนาใด เป็นจริงตามคำเรียกร้องหรือไม่คงต้องขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหานี้จากรัฐบาลว่าจะหาทางออกอย่างไร เพราะหากการชุมนุมยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล รวมถึงเป็นการซ้ำเติมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ยิ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก

ในมิติทางการเมืองการเลือกเดินเกมในช่วงนี้อาจเป็นการคิดเผื่อไว้สำหรับผู้ที่วางหมากในการชุมนุม หากสถานการณ์ยืดเยื้อทุกอย่างจะตีกลับไปที่รัฐบาล






กำลังโหลดความคิดเห็น