สภาพัฒน์เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ติดลบ 12.2% ทั้งปีคาดติดลบ 7.5% หลังส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักจากการที่ไทยและทั่วโลกใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2563 ติดลบ 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยครึ่งปีแรก 2563 เศษฐกิจไทยติดลบ 6.9% โดยสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการเดินทางข้ามประเทศ และมีเพียงการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาครัฐเท่านั้นที่เป็นตัวประคองเศษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่การส่งออกไทยไตรมาส 2 ติดลบ 17.8% หากไม่รวมการส่งออกทองคำจะติดลบ 21.4% ซึ่งเป็นไปตามภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและการค้าโลก และทั้งปีคาดจีดีพีจะติดลบ 7.5% ภายใต้สมมติฐานการแพร่ระบาดรอบ 2 ที่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ มีการจำกัดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจนถึงสิ้นปี 2563 และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะไม่ทวีความรุนแรงหรือมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น
โดยเลขาธิการสภาพัฒน์ มองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เป็นจุดต่ำสุดและจะเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3 และ 4 ส่วนจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหนยังขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีน หากเป็นไปตามคาดจะมีวัคซีนออกมาใช้กับคนกลางปีหน้าจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นชัดเจนช่วงครึ่งปีหลังปี 2564 ดังนั้น ขณะนี้จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ การสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่ยังมีกำลัง ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขยอดจองรถรุ่นใหม่ที่เปิดตัวมาล่าสุดมียอดจองถึง 6,000 คัน รวมทั้งการกระตุ้นการลงทุนของเอกชนให้เตรียมพร้อมรับหลังเศรษฐกิจฟื้น
ทั้งนี้ สภาพัฒน์เสนอแนะภาครัฐควรประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ติดตามมาตรการที่ดำเนินไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย มีความยืดหยุ่น พิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาในการฟื้นตัว การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนเอกชน การดูแลภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐงบปี 2563 และงบปี 2564 ไตรมาสแรก รวมทั้งงบเหลื่อมปี การส่งเสริมไทยเที่ยวไทย การเตรียมรองรับความเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้นจากความยืดเยื้อของการระบาดของโรคและการกลับมาระบาดระลอก 2 รวมทั้งการรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ