xs
xsm
sm
md
lg

โควิดกระทบ ศก.อีสานหนัก เฉพาะยอดขายรถไตรมาส 2 ทรุดฮวบเกือบ 30%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - โควิด19 กระทบเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2 หนัก เหตุล็อกดาวน์ทำกิจกรรมเศรษฐกิจชะงัก กระทบการบริโภค ยอดขายรถยนต์ทรุดฮวบถึง 29.5% แต่ได้แรงหนุนใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งภัยแล้งภาคเกษตรไม่รุนแรง เชื่อส่งผลดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจระยะถัดไป


วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ห้องประชุมปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2563 “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3/2563” มีนายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถลงข่าว พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงานต่างๆ และสื่อมวลชนร่วมในกิจกรรมแถลงข่าว

นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2 ปี 2563 ยังทรุดตัวมากขึ้นจากจากไตรมาสแรก เนื่องจากมาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ห้ามการเดินทางออกนอกประเทศและในประเทศ ส่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก กระทบภาวะเศรษฐกิจ กระทบการบริโภคภาคเอกชนลด โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์โดยรวมหดตัวลงถึง 29.5% ทั้งยังกระทบต่อภาคการลงทุน การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาคอีสาน

โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนที่เริ่มมาตรการล็อกดาวน์ กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานอย่างหนัก ซึ่งมีภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คือ ภาคการผลิต ธุรกิจที่พักอาศัย อาหาร และภาคบริการบันเทิงต่างๆ ได้รับผลกระทบมากกว่าส่วนอื่น ส่วนด้านการท่องเที่ยวภาคอีสานได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากเท่ากับภาคอื่น ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 หลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.)


อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอีสานได้รับผลดีจากการใช้จ่ายภาครัฐ ที่กลับมาขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน หลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 มีผลบังคับใช้ อีกทั้งมูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งการนำเข้าและการส่งออก จากจีนตอนใต้เป็นสำคัญ ที่สำคัญรายได้ภาคการเกษตรหดตัวน้อยลง จากผลผลิตปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายไปในทางที่ดี ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงมากนัก ซึ่งภาคเกษตรกรรมมีส่วนช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจลงได้

“ภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2 ถือว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แนวโน้มเศรษฐกิจอีสานระยะต่อไป มีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคือ มาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ในประเทศที่ได้ผลดี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ตลอดจนการลงทุนของภาครัฐ และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเร่งเบิกจ่ายหลังงบประมาณได้รับการอนุมัติ จะทำให้เศรษฐกิจอีสานไตรมาสถัดไปฟื้นตัวได้” นายประสาทกล่าว


ต้องจับตาการกลับมาระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศ จะเกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงปัจจัยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีนแผ่นดินใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนของการค้าโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานได้


กำลังโหลดความคิดเห็น