นายแบงก์ออกโรงประสานเสียง เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลังแบบเนิบนาบ ภายใต้ความไม่แน่นอน จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อีกทั้งแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศ ลุ้นมาตรการรัฐหนุนเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน
จากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทยไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวที่ 12.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนนับเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย อันเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กดดันต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเต็มไตรมาส และถือเป็นไตรมาสที่จะติดลบมากสุดของปีนี้แล้ว แต่ยังไม่ถือเป็นจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์โดยยังติดลบน้อยกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่จีดีพีรายไตรมาสติดลบถึง 12.5% และหากเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้จีดีพีไทยหดตัวติดลบ 9.7%
ขณะที่ไตรมาส 3-4 ของปีนี้ คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยคงจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้จากความหวังของวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การเบิกจ่ายของภาครัฐ และการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก จึงประมาณการตัวเลขจีดีพีปี 2563 จะติดลบในช่วงระหว่าง 7.8-7.3% มีค่ากลางติดลบอยู่ที่ 7.5% ภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก น่าจะอยู่ในวงจำกัดภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และไม่มีการระบาดรุนแรงรอบ 2 เกิดขึ้น
ทั้งนี้ แนวทางในการบริหารเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีคงต้องติดตามมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกไปแล้วเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนผ่านวงเงินกู้ 9.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย และต้องไม่ให้หนี้เสีย (NPL) เกิดขึ้นในภาคธุรกิจที่จะลามไปถึงสถาบันการเงินได้ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจที่ยังมีปัญหาการฟื้นตัวไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวบริการต่อเนื่อง และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ก็จะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษต่อไป รวมไปถึงการขับเคลื่อนการส่งออก ปัญหาด้านภัยแล้งและการจัดการน้ำเพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร และต้องดูแลบรรยากาศทางการเมืองในประเทศซึ่งหากเกิดความวุ่นวายก็จะเกิดปัญหาซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทยได้
Q3-Q4 ยังเผชิญความเสี่ยงสูง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะหดตัวลึกสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ผ่านมา และทยอยหดตัวน้อยลงในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 หดตัวที่ -12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดที่ -13.0% ถึง -17.0% เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่พลิกกลับมาขยายตัวในไตรมาส 2 ปี 2563 ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท ต่อเนื่อง 3 เดือน ในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ที่มีการจ่ายเงินในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ขณะที่อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาส 2 ปี 2563 ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำและงบประมาณรายจ่ายลงทุนก็สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ภาคก่อสร้างยังคงขยายตัวได้ในไตรมาส 2
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ประกอบกับมีแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเบื้องต้น เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัวมากกว่าคาดการณ์ที่ -6.0% เทียบปีก่อน โดยมีประเด็นติดตาม กรณีทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ายังคงมีความเสี่ยงสูง ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ ก็มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจะต้องคอยติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมได้ โดยหลายประเทศเจอการระบาดซ้ำที่รุนแรงกว่ารอบแรก เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย แม้การพัฒนาวัคซีจะมีความคืบหน้าไปบ้าง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงและคาดว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะสามารถผลิตออกมาใช้อย่างกว้างขวางได้ ส่งผลต่อความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีมีแนวโน้มล่าช้าออกไปจากปีนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะมีผลกลับมายังการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เปราะบางอยู่แล้วให้หดตัวลงมากกว่าที่ประเมิน
ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าตามแนวโน้มการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าจะยังคงกดดันภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยต่อไปในระยะข้างหน้า และประเด็นทางการเมืองในประเทศยังคงมีความไม่แน่นอนและเป็นประเด็นที่ต้องคอยติดตาม
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว ภาครัฐจะมีมาตรการดูแลเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอ่อนแรง ซึ่งคาดว่าจะมุ่งเน้นที่จะช่วยสนับสนุนการจ้างงาน และช่วยดูแลผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายเล็ก (Micro SME) เป็นหลัก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะคอยติดตามเพื่อนำไปประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะมีการปรับประมาณการใหม่
ลุ้นมาตรการรัฐ-จับตาการเมือง
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและจะเริ่มเห็นการขยายตัวแบบช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลังส่วนจะปรับมุมมองเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ที่คาดไว้ -8.9% หรือไม่จะขอรอดูตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนต้นไตรมาส 3 และนโยบายเศรษฐกิจ ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วงเป็นปัจจัยที่ให้น้ำหนัก
ทั้งนี้ เมื่อหลายประเทศเริ่มเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะเริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น การส่งออกน่าจะดีขึ้น หรือติดลบจากปีก่อนน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร และสินค้าเกษตรน่าจะขยายตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอาจฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่างประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ด้านการผลิตในภาคส่วนต่างๆ เริ่มมีกำลังการผลิตดีขึ้น การจ้างงานและการขยายชั่วโมงการทำงานจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่กลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวช้า แม้นักท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่อาจชดเชยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ และอาจกระจุกตัวในจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ มากกว่าจังหวัดท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่น
ขณะที่ปัจจัยการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจผ่านความเชื่อมั่นผู้ลงทุนและผู้บริโภค ในอดีต ช่วงที่ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การประท้วง การรัฐประหาร และการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลลบมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจกระจายตัวในหลากหลายอุตสาหกรรม และมีเมืองเศรษฐกิจและท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆช่วยลดผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองในกรุงเทพฯ เสมือนสารเทปล่อนที่ช่วยเคลือบกระทะ ทำให้เวลามีความไม่แน่นอนต่างๆ เศรษฐกิจไทยไม่สะดุด วารสารดิอิโคโนมิสต์จึงเคยเรียกไทยว่า เทปล่อนไทยแลนด์ เมื่อราว 10 กว่าปีก่อน
นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า เวลาผ่านไปเนิ่นนานถึงวันนี้ แม้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทะที่เรายังใช้กันแม้จะเก่าและเป็นรอย แต่ผมมองว่าสารเทปล่อนยังใช้การได้ ผมเชื่อในการปรับตัวของเอกชนไทย แม้เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหรือการเมือง จะหาทางรอดได้เสมอ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังมีคนที่มีกำลังซื้ออยู่มาก ผมมองว่าสารที่จะช่วยชดเชยสารเทปล่อนที่เสื่อมลงน่าจะเป็นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือมาตรการดึงเงินจากคนชั้นกลางขึ้นไปให้มาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้
ส่วนปัจจัยการเมืองหากมีความวุ่นวายผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนคือ คนจะระมัดระวังการใช้จ่ายและการเดินทางไปสถานที่แหล่งชุมชน และหากปัญหาบานปลายรุนแรงขึ้น อาจกระทบต่อภาคการผลิตที่อาจลดชั่วโมงการทำงานหรือเลิกจ้างพนักงาน ปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินก็จะตามมา และลามไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่โตช้าลากยาว นอกจากนี้ คนในสังคมขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากยังเคลือบแคลงและไม่ได้รับความชัดเจนในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะหลายกรณีที่ผู้มีฐานะในสังคมมักพ้นผิดทางกฎหมาย อาจกระทบต่อการเข้ามาลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ
และถ้าเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้อย่างเทปล่อนไทยแลนด์ เศรษฐกิจจะยังคงประคองตัวอยู่ได้ และอยากให้ทุกฝ่ายใจเย็น เพราะการประท้วงหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้อาจไม่รุนแรงและอยู่ในขอบเขต ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก เพราะเชื่อว่าแต่ละคนจะเข้าใจสถานการณ์และปรับตัวได้ และท้ายสุด มาตรการทางการเงินและการคลังก็จะออกมารองรับและประคองเศรษฐกิจได้ เศรษฐกิจไทยจึงไม่น่าจะหดตัวแรงดังเช่นไตรมาส 2 แต่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
รอปัจจัยใหม่ทบทวนจีดีพี
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ระบุว่า ในช่วงที่เหลือของปี ซึ่ง EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก โดยจากข้อมูลล่าสุดพบว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว (bottomed out) และกำลังฟื้นตัว ซึ่งการหดตัวของเครื่องชี้ต่างๆ จะติดลบมากสุดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพราะเป็นช่วงที่มีมาตรการปิดเมืองเข้มงวด แต่เมื่อมีการผ่อนคลายความเข้มงวด ก็ทำให้เครื่องชี้เศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน
โดยเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญอุปสรรคและมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่มีแนวนโยบายชัดเจนว่าจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศเมื่อใด ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบต่อเนื่อง รวมถึงกรณีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลก โดย ล่าสุด หลายประเทศเริ่มมีการกลับมาระบาดและต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดอีกครั้ง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทย
กรณีความเสี่ยงด้านการปิดกิจการและการว่างงาน โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจมีหลายธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่ขาดรายได้จนกระทั่งไม่สามารถจ่ายต้นทุนคงที่ได้ จึงทำให้ต้องมีการปิดกิจการ และปลดคนออก การว่างงานจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งล่าสุดการว่างงานของบุคคลที่ได้รับประกันสังคมตามมาตรา 33 พบว่ามีอัตราว่างงานสูงถึง 3.5% ในเดือนมิถุนายน 2563 (เมื่อเทียบกับ 1.5% ในเดือนมีนาคม) ซึ่งเป็นอัตราว่างงานที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลเป็นต้นมา (เริ่มเก็บปี 2005) ขณะที่การว่างงานรวมของทั้งประเทศ ตัวเลขล่าสุดในไตรมาสที่ 2 (จากเอกสาร สศช. ที่อ้างถึงตัวเลขของ สสช.) บ่งชี้ว่ามีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 1% ในไตรมาสแรก เป็น 2% ในไตรมาส 2 หรือมีจำนวนคนว่างงานมากถึง 7.5 แสนคน และความไม่แน่นอนของการต่ออายุมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่กำลังจะหมดอายุลง (policy cliff) มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาครัฐที่จะเริ่มหมดไปในช่วงเดือนกรกฎาคม หากมาตรการเหล่านี้ไม่ได้รับการต่ออายุ หรือต่ออายุในขนาดที่เล็กลง ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงหนึ่งด้านต่ำต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
อย่างไรก็ดี จากข่าวล่าสุด คาดว่าทางกระทรวงการคลังอาจออกมาตรการรอบใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งทาง EIC จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ จากตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ที่ประกาศออก พบว่าค่อนข้างใกล้เคียงกับที่ EIC เคยคาดไว้ โดยมีเลขประมาณการทั้งปี 63 อยู่ที่ -7.3% อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน EIC กำลังทำการประเมินสมมติฐานเดิมและปัจจัยใหม่ที่จะเข้ามามีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะทิศทางด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
คาด กนง.ลดดอกเบี้ยอีกไตรมาส 4
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 น่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดไปแล้ว คาดว่าจากนี้จะเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศยังอ่อนกำลัง ในขณะที่ปัจจัยภายนอกที่จะช่วยผลักดันการเติบโตยังคงมีความไม่แน่นอน โดยธนาคารคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 3 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในไตรมาส 4 เนื่องจากเหลือโอกาสให้ปรับลดได้จำกัด พร้อมกันนั้น ธนาคารปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขึ้นเป็นเติบโต 2% จากเดิมที่คาดจะเติบโต 1.8% เพื่อสะท้อนฐานการเติบโตที่คาดว่าจะต่ำลงในปีนี้
"เราคาดเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัวอยู่ที่ 8% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 5% เนื่องจากขาดปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับความกังวลด้านการเมืองในประเทศ โดยเรายังไม่เห็นกลยุทธ์การพัฒนาหลังพ้นช่วงโควิด-19 ที่ชัดเจนของไทย ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีน ประเด็นนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบในระยะกลางเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน"