ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา ม.รังสิต อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อย ตีแผ่หลักฐานคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว และจุดเปลี่ยนจาก กมธ.ชุด ‘น้องบิ๊กป้อม’ เข้าข่าย ‘ผู้มีอิทธิพลทางความคิด’ พร้อมจับตาการปั้น 2 พยานเท็จหรือไม่? แนะญาติผู้ตายยังสามารถฟ้องศาลได้ ถามหากผลสอบชุด ‘ศ.วิชา มหาคุณ’ สรุปออกมา บิ๊กตู่จะกล้าจัดการหรือไม่ ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก แจงเชื่อมั่นชุด ‘วิชา มหาคุณ’ แต่เป็นห่วง 3 ประเด็นใหญ่ เพราะคำสั่ง ‘บิ๊กตู่’ มัดมือกรรมการ ทำงานได้ยาก หวั่นเป็นมวยล้มต้มคนดู จุดชนวนคนลงถนนมากขึ้น!
กรณีการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา (บอส) ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ที่ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555 สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระบวนการยุติธรรม จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการพิจารณาคดี รวมทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีสั่งไม่ฟ้องถึง 3 คณะ ซึ่งมีทั้งชุดอัยการ ชุดตำรวจ และชุดของนายกรัฐมนตรี
จากนี้ไปประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า หากผลสอบของชุดนายกรัฐมนตรีที่มี ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ ที่สังคมเชื่อมั่นออกมาแล้ว ผู้มีอำนาจจะสามารถดำเนินการตามความเห็นได้หรือไม่? และหากไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย
ส่วนคดีนี้ผู้เสียหาย หรือญาติของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ยังมีโอกาสต่อสู้ในทางคดีได้หรือไม่? และอะไรคือพิรุธที่ช่วยให้ ‘บอส’ ไม่มีความผิด
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต บอกว่า คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา มีข้อพิรุธตั้งแต่ในชั้นของพนักงานสอบสวน เมื่อปี 2555 เริ่มตั้งแต่มีการนำตัวพ่อบ้านมารับผิดแทน สังคมก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า ทำไมในเวลานั้นตำรวจจึงเอาตัวพ่อบ้านมารับผิด
แต่การสอบสวนลึกลงไปจะเห็นว่าพ่อบ้านไม่ใช่ผู้กระทำผิดจริง เพราะให้การไม่สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏในที่เกิดเหตุ
“พ่อบ้านก็บอกเองว่ามารับผิดแทนนาย ทำให้รู้ว่าคนผิดคือ นายบอส”
นั่นคือการจุดประเด็นความสนใจทางสังคมครั้งแรกในช่วงเกิดเหตุที่มีการนำพ่อบ้านมารับผิดแทน
ประเด็นต่อมา คือ การตรวจร่องรอยหลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุ จากกองพิสูจน์หลักฐาน และมีการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ ร่องรอยความเสียหายทางวิทยาการ การชนของรถ และคำนวณหาความเร็วของรถเฟอร์รารี ที่นายบอส ขับมาด้วยความเร็วประมาณ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดคือ ร่องรอย Safety Belt รัดตรงรอยจ้ำแดงในตัวของนายบอส !
ตรงนี้ทั้งผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์และแผนกสอบสวนของตำรวจ ก็พบว่า มีร่องรอยเกิดขึ้นในตัวของนายบอสเช่นกัน ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวนายบอส ไปตรวจหาสารเสพติดและปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดซึ่งปรากฏว่ามีสารออกฤทธิ์ประเภทโคเคน ตามที่โรงพยาบาลรามาฯ แจ้งไปยัง สน.ทองหล่อ
สิ่งที่เกิดขึ้นจึงนำไปสู่การสั่งฟ้องและศาลออกหมายจับนายบอส!
ส่วนประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562 ที่มีพยานใหม่เกิดขึ้น 2 ปาก คือ พล.อ.ท.จักกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง (เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 30 ก.ค.2563)
ตรงนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สังคมตั้งคำถามเป็นครั้งที่ 2 ว่าทำไมเรื่องราวผ่านมาถึง 7 ปี พยานใหม่จึงเพิ่งจะโผล่มา และพยานจำคำให้การได้ดีด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายบอส ก็ได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด และมีการร้องไปที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2557 (สนช.) ที่มี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ อธิบายว่า ข้อมูลที่เกิดขึ้นในการพิจารณาของ กมธ.ชุดที่น้องบิ๊กป้อม เป็นประธาน น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของคดีที่นำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องนายบอส เพราะมีการสอบกันใหม่ มีการนำความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอีกคนมาหักล้างกับข้อเท็จจริงเดิมที่มีการสอบไว้ ณ สถานที่เกิดเหตุ
ดังนั้น คณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงต้องตรวจสอบในประเด็นเหล่านี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งเรื่องนี้สังคมก็ต้องติดตามดู ประกอบด้วย
1.กระบวนการสอบสวนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เกิดเหตุ มีทั้งผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาตรวจที่เกิดเหตุ การตรวจพิสูจน์ความเร็วตามหลักฟิสิกส์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรงนี้น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า ที่เวลาผ่านไปถึง 7 ปี แล้วมีประจักษ์พยานใหม่ที่ทำให้หลักฐานเปลี่ยน
“เรื่องนี้กรรมการก็ต้องทำความจริงให้กระจ่าง แค่เรื่องความเร็วของรถเดิมวิ่งด้วยความเร็วจาก 177 กม.ต่อชั่วโมง แต่หลักฐานใหม่ ไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง ร่องรอยการชนต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องชัด”
สำหรับเรื่องของประจักษ์พยานใหม่ 2 คน ที่เห็นรถวิ่ง ก็ต้องสอบให้ลึกว่าทำไม? ช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ จึงไม่มาให้การต่อพนักงานสอบสวน
“ตรงนี้เป็นเรื่องผิดปกติ ในการทำสำนวนก็ต้องมาดูว่า ถ้าอัยการรับฟังความเห็นพยานที่พบใหม่ และผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความเห็นใหม่ ทั้งที่ได้ข้อยุติแล้ว ถ้าเขาเห็นด้วยกับความเห็นตรงนั้น ก็ต้องมาดูต่อว่า พยาน 2 คนนั้นจริงๆ แล้วอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงหรือไม่ หรือเป็นพยานที่เสกสรรปั้นแต่งและผู้เชี่ยวชาญที่ให้ข้อมูลจากการคำนวณจาก 177 กม.ต่อชั่วโมง มาเหลือ 70-80 กม.ต่อชั่วโมง มันน่าสงสัย”
แต่หากมาดูร่องรอยการชนของรถเฟอร์รารี ชนกระจกหน้าแตก ฝากระโปรงยุบขนาดนั้น ก็ไม่น่าจะชนด้วยความเร็วของรถ 70-80 กม.ต่อชั่วโมงแน่ เพราะมีการคำนวณจากหลักฟิสิกส์ ตั้งแต่การวิ่งจนกระทั่งจุดชน ใช้หลักการคำนวณ ก็สามารถคำนวณอัตราความเร็วได้เลย
นั่นหมายความว่าที่พูดมาทั้งหมด ไม่ว่าพยานบุคคลที่มีการให้ปากคำ หรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่มีการสอบไปแล้วอาจจะไม่สอดคล้องต่อเท็จจริงที่มีการสอบสวนตั้งแต่ 7 ปีก่อน และมีการรวบรวมหลักฐานไว้ อาจจะต้องมีการรื้อฟื้น เพราะมีความแตกต่างในด้านหลักฐาน
“ก็ต้องมาดูเปรียบเทียบกัน ทำไม่ถึงมีความแตกต่าง เพราะสำนวนเขามีความเห็นไปแล้วจนกระทั่งฟ้อง ออกหมายจับไปแล้ว แต่สุดท้ายมีการสั่งไม่ฟ้อง”
2.ในการใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ สั่งไม่ฟ้องนายบอส ในข้อหาล่าสุดคือขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ที่ยังไม่ขาดอายุความนั้น ก็ต้องมาดูว่า คำว่าการใช้ดุลพินิจต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ไม่ใช่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ
3.ต้องยอมรับว่า ผู้ต้องหาคือนายบอส เป็นทายาทมหาเศรษฐี และต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางด้านสถานภาพทางสังคม ระหว่างคนรวย กับคนจน และตรงนี้ก็ต้องยอมรับต่อไปว่ายังส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมของคนในสังคมด้วย จึงนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกฎหมาย ที่ปรากฏให้เห็นในงานวิจัยมากมาย
“ข้อนี้สำคัญมาก คนรวย คนจน นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมตามมา จึงเป็นเหตุให้สังคมมีคำถามเกิดขึ้นต่อคดีของนายบอส มากมาย”
4.เรื่องของจรรยาบรรณ และจริยธรรมในวิชาชีพมีความสำคัญมาก จะต้องมีความหนักแน่น โดยเฉพาะเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร หากคนถือกฎหมายไม่มีความเป็นธรรมแล้ว การบังคับใช้กฎหมายก็ไม่มีความเป็นธรรม ดังนั้น คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือคนอื่นที่มองว่าการบริหารจัดการของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรม คนอื่นๆ ก็จะมาเรียกร้องก็จะเกิดเป็นกระแสขึ้นมาได้
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอัยการก็ต้องอธิบายให้สังคมได้เข้าใจว่าเหตุใดจึงสั่งไม่ฟ้องนายบอส และตำรวจมีเหตุผลอะไร ก็ต้องทำความจริงให้กระจ่าง และการที่รัฐบาลบิ๊กตู่ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญานายบอส ที่มี ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ และคนนอกรวม 10 คน ขึ้นมาสอบสวน ชี้ให้เห็นถึงความโปร่งใส จึงเป็นที่คาดหวังของสังคมเช่นกัน
“แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าคณะกรรมการชุดอาจารย์วิชา สรุปผลออกมาอย่างไรแล้วผู้มีอำนาจจะกล้าตัดสินใจหรือสั่งการหรือไม่ แต่ถ้าไม่กล้าสั่งการ ก็ไม่มีความเป็นธรรมอยู่ดี พูดง่ายๆ ตั้งกรรมการให้ดูดี แต่ถ้าไม่ทำ ก็เหมือนกับหลอกชาวบ้าน”
ยกตัวอย่างในการใช้อำนาจบริหารของนายกฯ บิ๊กตู่ หากการสอบสวนของคณะกรรมการฯ พบว่ามีการใช้อำนาจเพื่อนำไปสู่การทุจริต บิ๊กตู่ ก็สามารถใช้อำนาจทางการบริหารมาพิสูจน์ให้เห็นชัดเจน ว่าการทุจริตครั้งนี้มีการโยงใยอย่างไรและใครเกี่ยวข้องบ้าง ที่ทำให้เกิดการใช้ดุลพินิจเช่นนั้น
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ บอกอีกว่า ถึงวันนี้ญาติของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ยังสามารถยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ เพราะคดียังไม่ขาดอายุความ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าญาติผู้เสียหายจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ซึ่งตอนนี้เริ่มมีทนายออกมาจะช่วยฟ้องคดีให้ ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจติดตามก็น่าจะทำให้การทำงานชัดเจนมากขึ้น
“คดีนี้ยังไม่ได้ตัดสิทธิผู้เสียหาย ยื่นฟ้องโดยตรงได้ แม้ว่าอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง แต่ขอให้คดีนี้ขึ้นสู่ชั้นศาลได้ พยานหลักฐานจะได้รับการพิสูจน์ และยอมรับมากขึ้น”
ส่วนเหตุใดความเห็นของ กมธ.จึงเป็นจุดเปลี่ยนของคดีนี้ จนนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องได้นั้น ก็ต้องไปดูความเห็นของ กมธ.เพราะตามหลักทั่วไป ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ซึ่ง กมธ.ที่ตั้งขึ้นมานั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหา ผู้กระทำผิดสามารถร้องเรียนได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กมธ.อยู่เหนือกฎหมาย
“ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เพียงแต่ว่ามันอาจจะมีอะไรที่เหนือกฎหมาย ที่เรียกว่า ผู้มีอิทธิพลทางความคิดทางการตัดสินใจ เพราะประธานชุดนี้เป็นญาติกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงเป็นเหตุให้สังคมตั้งคำถาม”
ดังนั้น หากผลสอบออกมาแล้ว บิ๊กตู่ไม่กล้าดำเนินการอะไรก็อาจจะเป็นเหตุให้การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ มีมากขึ้น ด้วยการหยิบยกเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมไปขยายวงกว้างมากขึ้น
ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่า คณะกรรมการทั้ง 3 คณะที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในการทำคดีของนายบอสนั้น มีเพียงคณะของนายวิชา มหาคุณ เพียงคณะเดียวที่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นการตรวจสอบโดยคนนอก และนายวิชา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะมีประวัติการทำงานด้านการตรวจสอบที่โปร่งใส ได้รับความเชื่อถือจากสังคม ส่วนคณะกรรมการชุดตำรวจและชุดของอัยการ มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือเพราะเป็นการสอบกันเองภายใน และมีลักษณะของการตั้งลูกน้องไปสอบเจ้านายซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ดี การทำงานของคณะกรรมการของนายวิชา ก็มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่ 3 ประการ คือ
1.มีการระบุในคำสั่งว่าไม่ให้คณะกรรมการก้าวล่วงในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัญหาในการทำงาน เนื่องจากเป็นการตรวจสอบการทำหน้าที่ของอัยการ หากอัยการทำหน้าที่โดยมิชอบ คณะกรรมการของนายวิชา จะสามารถชี้ได้หรือไม่ว่าไม่ชอบ และจะถือเป็นการก้าวล่วงการทำงานหรือไม่ ?
2.ให้คณะกรรมการทำงานเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่คณะกรรมการมีเวลาทำงานแค่ 30 วัน ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้
3.ให้เสนอปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่กว้างมาก แทนที่จะมุ่งเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีของนายวรยุทธ ซึ่งตรงนี้อาจมีผลต่อผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง
“กังวลแทนคณะกรรมการของอาจารย์วิชา เพราะท่านเป็นคนดี แต่คำสั่งที่ออกมาเท่ากับเป็นการมัดมือคณะกรรมการ แล้วเขาจะทำงานได้อย่างไร ไม่มีความชัดเจนว่าคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่มากน้อยแค่ไหน สามารถชี้แนะวิธีแก้ปัญหาได้หรือไม่ ที่สำคัญผู้ที่แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้จะเอาผลสอบไปทำอะไร ผลสอบออกมาแล้วท่านนายกฯ จะดำเนินการต่ออย่างไร เช่น ถ้าผลสอบออกมาว่าอัยการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง นายกฯ จะมีคำสั่งอย่างไร ถ้าสอบเสร็จแล้วเก็บไว้เฉยๆ ก็ไม่มีประโยชน์” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
อีกทั้งหากผลสอบออกมาแล้วนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาความไม่ธรรมในคดี ก็จะช่วยกู้วิกฤตศรัทธาที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยกลับมาได้ แต่หากเป็นมวยล้ม ก็จะเป็นการตอกย้ำว่าความยุติธรรมในสังคมไทยไม่มีอยู่จริง ซึ่งจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีนักศึกษาออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารและการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล
“จุดที่ทำให้คดีนี้พลิกแบบหน้ามือเป็นหลังมือก็คือ การใช้พยานหลักฐาน ซึ่งพยานหลักฐานเดิมมัดตัวนายวรยุทธแน่น แต่พยานหลักฐานใหม่ที่นำมาใช้เป็นการคลายปม ทำให้รูปคดีเปลี่ยน”
ส่วนการที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของตำรวจออกมาแถลงบอกว่าคดีของนายวรยุทธ จบแล้วนั้น รศ.ดร.เจษฎ์ ชี้ว่า หากพิจารณาตามหลักกฎหมายแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น
คดีจะจบได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการทางกฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้องและถึงที่สุด แต่กรณีนี้มันเกิดกระบวนการทำคดีที่ไม่ถูกต้อง คดีจะจบได้อย่างไร!