xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! แบนสารพิษ สงครามยังไม่จบ ชี้มีขบวนการนำ 2 สารกลับมาใช้ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผอ.ไบโอไทย เตือน อย่าเพิ่งวางใจแบนพาราควอต-คอลร์ไพริฟอส ยังไม่ชนะ ชี้ มติอาจพลิกได้ทุกเมื่อ แม้ประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว พบ 2 กลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน หวังใช้เป็นข้ออ้างกดดันชะลอการบังคับใช้ จี้ ! จับตาดารประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก.ค.นี้ หวั่นตัวแทนบริษัทค้าสารเคมีวิ่งเต้นล็อบบี้ “สุริยะ” ขณะที่คนในอาศัยจังหวะเรียกรับผลประโยชน์

หลังจากที่มีการผ่านราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายฉบับที่ 6 พ.ศ.2563 โดยห้ามไม่ให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ครอบครอง สารเคมีทางการเกษตรเพื่อกำจัดศัตรูพืช 5 รายการ ประกอบด้วย 1.คอลร์ไพริฟอส 2.คลอร์ไพริสฟอส-เมทิล 3.พาราควอต 4.พาราควอตไดคลอไรด์ และ 5.พาราควอตไดคลอไรด์ บิส เมทิลซัลเฟต ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2563 หลายฝ่ายมองว่านี่คือการประกาศชัยชนะของเครือข่ายต่อต้านสารพิษ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)
หากแต่ในมุมมองของนักวิชาการที่รณรงค์ต่อต้านการใช้และจำหน่ายสารพิษกำจัดศัตรูพืชกลับเห็นว่า “สงครามยังอีกยาวไกล” เพราะนอกจากจะต้องมีการเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลสั่งแบน “ไกลโฟเซต” อีกตัวหนึ่งแล้ว ก็ยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีการกลับมติ นำพาราควอตและคอลร์ไพริฟอสที่ประกาศเลิกใช้ไปแล้วกลับมาใช้อีก

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีความพยายามของกลุ่มผู้สนับสนุนสารพิษ 2 กลุ่ม ในการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลทบทวนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ห้ามไม่ให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครองพาราควอตและคอลร์ไพริฟอส


โดยกลุ่มแรกมาในนามของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนเงื่อนไขการแบนสารเคมีดังกล่าว โดยอ้างว่าการแบนสารพิษทั้ง 2 ชนิดจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศ และเพื่อการส่งออก เป็นการซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวใช้ในการเพาะปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหาร ทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และล่าสุดทางสภาหอการค้าฯ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้กำหนดค่าสารตกค้างให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการยังต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ยังมีการใช้สารดังกล่าว เพราะได้มีการเจรจาซื้อขายล่วงหน้าไว้แล้ว การกำหนดให้ค่าสารตกค้างเป็นศูนย์จึงอาจจะไม่สามารถปฏิบัติได้ และหากต้องหยุดการนำเข้าก็จะส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม

กลุ่มที่ 2 คือ สมาคมเกษตรกรปลอดภัย ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของเกษตรกร ทั้งที่ในความจริงแล้วเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยบริษัทค้าสารพิษ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เปลี่ยนจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามไม่ให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ครอบครอง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 โดยอ้างว่าประกาศดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้ปลูก 6 พืชไร่ 1.6 ล้านครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ซึ่งการดำเนินการของทั้ง 2 กลุ่มแม้จะไม่ใช่การเคลื่อนไหวของเกษตรกรตัวจริงแต่ก็ไม่อาจวางใจได้ว่าจะไม่ส่งผลต่อประกาศแบน 2 สารพิษของกระทรวงอุตสาหกรรม

“แม้การแบน 2 สารพิษจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากมีการเดินเกมล็อบบี้ก็อาจถูกนำกลับมาใช้ใหม่ เหมือนกับกรณีของประเทศมาเลเซียซึ่งมีประกาศแบนพาราควอตไปนานถึง 3 ปีแล้ว แต่กลับมีการล็อบบี้ของกลุ่มผลประโยชน์จนนำกลับมาใช้ใหม่ กลุ่มคัดค้านสารพิษต้องออกมาสู้กันใหม่ กระทั่งปัจจุบันมาเลเซียแบนพาราควอตไปแล้ว” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
สำหรับเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวนั้น ผู้อำนวยการไบโอไทยมองว่า ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มผู้ค้าสารพิษ โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าจะมีเป้าหมายอยู่ 4 ระดับ คือ 1) แม้จะไม่สามารถคัดค้านการแบน 3 สารพิษ คือ พาราควอต คอลร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ได้ แต่ยังสามารถให้มีสารตกค้างอยู่ในผักผลไม้ 2) เพื่อใช้การเคลื่อนไหวคัดค้านการแบนพาราควอตและคอลร์ไพริฟอส เป็นข้ออ้างว่าการใช้สารกำจัดศัตรูพืชยังเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้รัฐบาลไม่สั่งแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ยังเหลืออยู่คือไกลโฟเซต 3) เพื่อให้มีการชะลอการแบนพาราควอตและคอลร์ไพริฟอสออกไปก่อน 4) ให้รัฐบาลยกเลิกการแบนพาราควอตและคอลร์ไพริฟอส

“งานนี้เป็นการแบ่งบทกันเล่น หากมีการชะลอการแบน 2 สารพิษออกไป ผู้ค้าสารพิษยังสามารถขายต่อไปได้ ขณะที่ผู้นำเข้าอาหารที่มีสารปนเปื้อนก็ยังสามารถนำเข้าต่อไปได้เช่นกัน” ผอ.ไบโอไทย ระบุ


จากประสบการณ์ในการต่อสู้เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ 3 สารพิษดังกล่าวตลอดหลายปีที่ผ่านมา นายวิฑูรย์ จึงเชื่อว่า การแบนสารพิษครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมา มีความพยายามคัดค้านการแบนสารพิษจากกลุ่มผลประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มติกลับไปกลับมาตลอด อย่างเช่นกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายภานุวัฒน์ ตริยางกรูศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต คอลร์ไพริฟอส และไกล โฟเซต โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 แต่ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานครั้งแรก ได้มีมติเลื่อนการแบนสารพิษออกไปอีก 6 เดือน ดังนั้นตอนนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

“เชื่อว่ากลุ่มผู้ค้าสารพิษยังคงวิ่งเต้นล็อบบี้ต่อไป จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาคนที่เข้าไปพบคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ กับคนที่ไปล็อบบี้ที่กระทรวงเกษตรฯและที่องค์การอาหารและยา ล้วนเป็นคนของบริษัทมอนซานโต้ ที่ต้องจับตาคือจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมี คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ เพราะคนของบริษัทค้าสารพิษไม่อยู่เฉยแน่ ขณะที่คนที่คิดจะหากินกับการพิจารณาเรื่องนี้ก็อาจใช้จังหวะนี้ในการเรียกรับผลประโยชน์ โดยอ้างว่ายังไม่มีความพร้อมเรื่องมาตรการสารทดแทน” นายวิฑูรย์ ระบุ

อย่างไรก็ดี นายวิฑูรย์ ชี้ว่า หากดูจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร หรือแม่โจ้โพลล์ ซึ่งได้สำรวจความเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ จะพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยกเลิกใช้ 3 สารพิษที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืช ดังนั้น หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีคำสั่งให้ชะลอการแบนพาราควอตและคอลร์ไพริฟอสอีกย่อมสร้างความไม่พอใจให้เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ ในทางกลับกันหากประเทศไทยสามารถแบน 3 สารพิษได้สำเร็จ จะถือเป็นชัยชนะในสมรภูมิสารพิษของภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งมีการต่อสู้ระหว่างประเทศผู้ค้าสารพิษอย่างสหรัฐอเมริกากับประเทศเกษตรกรรมในแถบอินโดจีนมายาวนาน โดยจะเหลือเพียงฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเท่านั้นที่ยังไม่มีการแบน 3 สารพิษ เพียงแต่จำกัดการใช้เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น