ไบโอไทย ลั่นพร้อมเคลื่อนไหวหากกลับมติแบน "ไกลโฟเซต" จวก "สุริยะ" เสนอทบทวนมติไม่ใช่หน้าที่ หากทำจริงถือว่ารับลูกสหรัฐ เอื้อประโยชน์บริษัทสารเคมี ชี้ไทยกำหนดค่าการตกค้างในสินค้าเกษตรได้ เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกมะกัน ไม่จำเป็นต้องเลิกแบนตามข้อเรียกร้อง
จากกรณีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จ่อนำสารไกลโฟเซต ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนไปแล้วพร้อมกับพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส มาทบทวน เพราะเกษตรกรกังวลเรื่องการหาสารทดแทน และอ้างว่าสหรัฐอเมริกายังมีการใช้อยู่
วันนี้ (4 พ.ย.) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า ไบโอไทย เครือข่ายนักวิชาการต่างๆ และภาคประชาสังคม มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของนายสุริยะ หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการประชุมและพิจารณายอมกลับมติ เท่ากับว่า รมว.อุตสาหกรรม รับลูกของฝ่ายสหรัฐฯ และหากทำเช่นนั้นจริงๆ ก็เท่ากับเป็นการเคลื่อนไหวที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทที่นำเข้าและจำหน่ายไกลโฟเซตในประเทศไปพร้อมๆ กันด้วย อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของจดหมายจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คือ การปกป้องผลประโยชน์ในการส่งออกถั่วเหลือง และข้าวสาลี มายังประเทศไทยโดยประโยคสำคัญในจดหมายของแมคคินนีย์ คือ การเรียกร้องให้ประเทศไทยคงระดับค่าการตกค้าง (MRL หรือ Tolerance) ของไกลโฟเซตในระดับที่กำหนดอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกของสหรัฐฯ
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เมื่อสหรัฐฯ แบนสารพิษชนิดใด จะยกเลิกค่าการตกค้าง (Tolerance) ทำให้ไม่สามารถใช้สารพิษชนิดนั้นในการปลูกพืชในประเทศได้ แต่สหรัฐฯ จะกำหนดค่า Import Tolerance สำหรับสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง เช่น เมื่อสหรัฐแบนคาร์โบฟูราน ในปี 2009 ได้ยกเว้นให้สำหรับสินค้านำเข้า 4 ประเภท ได้แก่ ข้าว กล้วย กาแฟ และน้ำตาล แต่การตกค้างต้องไม่เกินค่า MRL ที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งจะเป็นตาม CODEX หรือกำหนดขึ้นใหม่ก็ได้ ในแง่นี้การอ้างเหตุผลเรื่องผลกระทบต่อส่งออก เพื่อเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการแบนไกลโฟเซตจึงขัดแย้งกับแนวปฏิบัติของสหรัฐฯ เอง
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า บทบาทในการกำหนดค่า MRL ของสินค้าเกษตร ในประเทศไทย เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งกำกับดูแล พ.ร.บ.อาหาร การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเป็นความรับผิดชอบของ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และอาจรวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการค้า ซึ่งไม่ใช่บทบาทและความรับผิดชอบของนายสุริยะแต่อย่างใด
“ดังนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ หากใครจะเสนอให้ทบทวนก็ควรเป็นกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากโดยหลักสินค้าใดที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯสามารถกำหนดค่า Import MRL โดยกำหนดการตกค้างในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใต้พื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ต้องเป็นกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯ เสนอ ไม่ใช่นายสุริยะออกมาเช่นนี้” นายวิฑูรย์ กล่าวและว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงมติใดๆ พวกตนจะออกมาคัดค้านอย่างแน่นอน