ไบโอไทย ไม่ห่วง "สุริยะ" เตรียมฟ้องกลับ บอกต่างคนต่างทำหน้าที่ ท้าพิสูจน์ใครทำให้ฝ่ายใดเสียหย ยันมติสันนิษฐานฟังไม่ขึ้น ทั้งที่ผ่านมาใช้มติลงคะแนนเสียงตลอด ย้ำรัฐต้องมีมาตรการภาษีช่วยเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี
วันนี้ (3 พ.ย.) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวถึงกรณีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรียมฟ้องเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตราย 686 องค์กร หลังแถลงข่าวทำให้เสียหาย ว่า ต้องดูว่านายสุริยะจะฟ้องเรื่องอะไร และต้องดูว่าใครจะฟ้องใครก่อน ส่วนการที่เครือข่ายฯ จะฟ้องนายสุริยะ ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นวันไหน เนื่องจากจะรอดูว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการเสนอให้มีการตีความมติการเลื่อนแบนพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส และยกเลิกแบนไกลโฟเซตหรือไม่ เพราะหากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่ชอบ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องฟ้องอีก แต่หากนายสุริยะจะฟ้องนั้นก็อยากให้มองว่า เราต่างคนต่างทำหน้าที่ เพราะการฟ้องเป็นกระบวนการที่ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และต้องมาพิสูจน์กันว่าใครทำให้ฝ่ายใดเสียหาย แต่ทางเครือข่ายฯไม่ได้ทำเพื่อปกป้องประโยชน์ตัวเอง แต่เป็นการปกป้องประโยชน์สาธารณะ และก็เป็นสิทธิของนายสุริยะที่จะปกป้องสิทธิตัวเอง
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ในการพิจารณาและลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เรื่อง การแบนหรือไม่แบน 3 สารเคมีอันตราย ที่ผ่านมา 3 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ค. 2561 วันที่ 14 ก.พ.2562 และ 22 ต.ค.2562 เป็นการลงมติด้วยการโหวตนับคะแนนเสียง แต่ครั้งนี้กลายเป็นมติสันนิษฐานเป็นเรื่องที่ฟังไม่ค่อยขึ้น และเมื่อประธานคณะกรรมการฯ เคยบอกว่าเป็นมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 เป็นเอกฉันท์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นบอกว่าเป็นมติเสียงข้างมาก ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน ก็ต้องพิสูจน์กันในเชิงกฎหมายต่อไปว่า มติดังกล่าวถือเป็นการลงมติได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการที่รัฐควรจะดำเนินการเพื่อเอื้อต่อการใช้ทางเลือกทดแทนสารเคมีให้กับเกษตรกร นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ทราบว่ารัฐเตรียมเงินชดเชยไว้ราว 3 หมื่นล้านบาท แต่ไม่อยากให้มองเพียงแค่การชดเชยที่เป็นเงินเท่านั้น แต่ต้องมีการพิจารณาถึงมาตรการทางภาษีด้วย เนื่องจากขณะนี้การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นนโยบายของรัฐในหลายยุคที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งที่อัตราภาษีเหล่านี้มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาทโดยประมาณ วิธีการนี้ทำให้สารเคมีกำจัดสัตรูพืชมีราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น แม้จะมีข้ออ้างเพื่อลดความเดือดร้อนของเกษตรกร แต่หากเก็บภาษีท้ายที่สุดผู้ประกอบการสารเคมีก็จะผลักภาระไปให้เกษตรกร รัฐจึงไม่เก็บภาษี กลายเป็นการเอื้อเฟื้อต่อธุรกิจเอกชนที่ขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ขณะที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการอื่น ที่ใช้วิธีการกำจัดวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมี เช่น เครื่องตัดหญ้า รถไถเดินตาม รถแทรกเตอร์เจาะหลุม วัสดุคลุมดิน เมล็ดพันธุ์คลุมดินและอื่นๆ กลับถูกผลักภาระด้วยมาตรการทางภาษี ทำให้การดำเนินการด้วยวิธการที่ไม่ใช้สารเคมีมีราคาแพง ระบบภาษีจึงไม่เป็นธรรม ดังนั้น รัฐควรจะต้องพิจารณาลดภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับวิธีการทางเลือกเหล่านี้ด้วย
“รู้สึกว่ามาตรการภาษีเรื่องการกำจัดวัชพืชยังมิชอบ และควรเป็นการปรับมาตรการทางภาษีให้เป็นแบบตรงกันข้ามดับปัจจุบัน คือ ผลิภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพ สิ่งแวดล้อมควรมีการเก็บภาษีใช่หรือไม่ เพราะมีการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งจากการคำนวณก็พบว่าทุก 1 ล้านบาททำให้เกิดความเสียหายผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและกลไกต่างๆในการจัดการประมาณ 765,000 บาท แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณาในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเลยทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก และหวังว่าเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีการผ่านแผนเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยมติเอกฉันท์ เครือข่ายฯจึงเรียกร้องและหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมาช่วยในการผลักดันมาตรการทางภาษีเหล่านี้ เพื่อเสนอนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ” นายวิฑูรย์กล่าว