“ปริญญา” ชี้ชัดๆ มติ กก.วัตถุอันตราย ชุด “สุริยะ” ใช้ระบบสันนิษฐาน ไม่มีผลตามกฎหมาย เหตุไม่มีการนับองค์ประชุม-ไม่ลงมติ ขัดมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย โดยยึดคำตัดสินจาก 2 ศาลเคยสร้างบรรทัดฐานไว้แล้ว
วันนี้ (3 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ในหัวข้อว่า “มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนการแบนสามสารพิษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?”
โดยมีข้อความระบุว่า “ตามที่คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้แถลงว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ให้เลื่อนการแบนสามสารพิษทางการเกษตรออกไป 6 เดือน แต่รองศาสตราจารย์เภสัชกร จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ ได้ออกมาแย้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งนี้ ไม่มีการลงมติอย่างชัดเจนว่ากรรมการแต่ละท่านเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอม (อ่านรายละเอียดที่อาจารย์จิราภรณ์ เขียนได้ในภาพประกอบ
2)
คำถามคือเมื่อไม่มีการให้กรรมการลงมติ จะถือว่าเป็นมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่?
ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายมหาชนเบื้องต้น ที่สอนเรื่อง การลงมติ มาทุกเทอม ผมจึงขอเอากรณีนี้มาให้สาธารณชนได้พิจารณา และเป็นกรณีศึกษาให้นักศึกษากฎหมายมหาชนได้เรียนรู้กัน ทั้งนี้จะไม่กล่าวถึงว่าควรเลื่อนการแบนสามสารพิษหรือไม่ โดยจะวินิจฉัยในทางกฎหมายเท่านั้น ดังต่อไปนี้ครับ
ข้อกฎหมาย : ในเรื่องนี้ เราต้องเริ่มด้วยการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ #พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งมาตรา 12 วรรคสอง (ภาพประกอบ 4) บัญญัติไว้ว่า “การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ..”
นั้นหมายความว่า จะเรียกว่าเป็นการลงมติได้ จะต้องให้กรรมการแต่ละคนได้ออกเสียงในแต่ละประเด็น โดยให้กรรมการคนหนึ่งมีหนึ่งเสียง ทั้งนี้ มติที่ใช้คือเสียงข้างมาก ซึ่งหมายถึงเสียงข้างมากของผู้เข้าประชุม
และเมื่อต้องมีการออกเสียง ก็ต้องมีการตรวจสอบองค์ประชุม ก่อนด้วย ซึ่ง พรบ.วัตถุอันตราย มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม”
ข้อเท็จจริง : ตามข้อเท็จจริงจากอาจารย์จิราภรณ์ (ภาพประกอบ 2) การประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการให้กรรมการแต่ละคนได้ลงมติหนึ่งคนหนึ่งเสียงแต่ประการใด ซึ่งสอดคล้องกับที่คุณสุริยะได้ให้สัมภาษณ์ไว้ คือตนเอง สันนิษฐานเอา (ภาพประกอบ 1) ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการตรวจสอบองค์ประชุมว่ามีสมาชิกมาประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งแล้วหรือไม่ มตินี้จึงมิใช่มติที่ดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย
บรรทัดฐานของศาล : แม้จะมีหลักฐานการเซ็นชื่อเข้าประชุมว่ามีกรรมการมาประชุมตอนเริ่มประชุมครบองค์ประชุม แต่เรื่องนี้ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2551) และศาลฎีกา (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3623/2527) ได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า องค์ประชุมต้องครบตลอดเวลาไปถึงตอนลงมติ จึงต้องนับองค์ประชุมตอนลงมติว่าครบหรือไม่ โดยนับจากคะแนนเสียงทั้งหมดที่ออก แต่เมื่อไม่มีการให้กรรมการลงมติจึงไม่อาจทราบได้เลยว่าองค์ประชุมตอนลงมติครบองค์ประชุมหรือไม่
สรุป : ดังนั้น เมื่อไม่มีการนับองค์ประชุมตอนลงมติ และ ไม่มีการให้กรรมการแต่ละคนออกเสียงในเรื่องที่ขอมติ จึงสรุปได้ว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนการแบนสามสารพิษ #จึงไม่ใช่มติที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือพูดอีกอย่างได้ว่า เท่ากับยังไม่มีมติใหม่ ครับ”