สำรวจพลังศรัทธาและความทรงอิทธิพลของวัดพระธรรมกาย ซึ่งวันนี้อ่อนแรงลงมาก ทั้งจากแรงต้านของสังคมที่เกิดจากพฤติกรรมของพระธัมมชโยเบี้ยวนัด การแก้กฎหมายขยายวัด กระทบเครือข่ายสมเด็จช่วง ที่สำคัญขาดพลังหนุนทางการเมืองที่เคยเกื้อหนุนให้ธรรมกาย ‘โตแล้วแตก’ ขยายอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่สิ้นฤทธิ์ ด้านไพบูลย์ นิติตะวัน ชี้หากอัยการสั่งฟ้องพระธัมมชโยคดีรับของโจรและฟอกเงินจะนำไปสู่การปฏิรูปพุทธศาสนา ส่งผลให้พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบได้เผยแผ่ตามหลักเถรวาทที่ถูกต้องต่อไป
สถานการณ์วัดพระธรรมกาย หลังดีเอสไอเข้าดำเนินคดี พบขุมกำลังอ่อนแรงลงมาก เพราะหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแห่งราชอาณาจักรไทย หรือ ดีเอสไอ เข้ามาดูแล คดีที่พระธัมมชโยกับพวกเครือข่ายธรรมกาย รับของโจร-ฟอกเงิน กรณีรับเช็คจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำเลยคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
จากครั้งแรกที่มีการบุกเข้าจับกุม "พระธัมมชโย" ในวัดพระธรรมกาย (16 มิ.ย. 2559) ไม่บรรลุเป้าหมายในการเข้าตรวจค้น เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์รวมตัวขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้ต้องปรับแผนการเข้าตรวจค้น ที่ยังไร้วี่แววการเข้าจับกุมครั้งที่ 2 และดูเหมือนเรื่องนี้จะเงียบหายไป จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่า สถานการณ์ในวันนี้ “วัดพระธรรมกาย แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” หรือเกิดอะไรขึ้นกับ “ดีเอสไอ”
การเคลื่อนไหวของฝ่ายอาณาจักร
ทั้งนี้ก่อนถึงวันที่ “อัยการสูงสุด” จะสั่งคดีฟ้องหรือไม่ฟ้อง ในวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งจะชี้ชะตาว่า พระธัมมชโยจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น มีความเคลื่อนไหวของทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร ซึ่งในประเด็นต่างๆ นั้น ล้วนมีความสัมพันธ์กัน
นับตั้งแต่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งมาตรา 44 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย (22 ส.ค. 2559)
ตลอดจนการแก้กฎกระทรวง “ การตั้ง การรวม การย้าย และการยุบเลิกวัด การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา และการยกวัดร้างขึ้นเป็นวัด “ ที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา (25 ส.ค. 2559) โดยปรับแก้กฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2507) ออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
โดยร่างกฎกระทรวงที่แก้ใหม่นี้ มีใจความที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการสร้างวัดในขั้นตอนหลักๆ ให้สามารถพิจารณาเห็นชอบได้ในระดับจังหวัด คือให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ตรวจสอบคุณสมบัติและพื้นที่ เสนอไปตามลำดับการปกครอง และสิ้นสุดที่อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการอนุญาตสร้างวัด
อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ว่าฯเห็นชอบแล้ว จึงให้พศ.จ.รายงานผอ.พศ. เพื่อนำเรื่องแจ้ง มหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อทราบ และรายงานนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยระบุว่าเป็นการ “ลดขั้นตอนในการเสนอขอสร้างวัด” ซึ่งเดิมต้องได้รับความเห็นชอบจากมส.
ปรากฏการณ์ต่างๆ นี้ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)พยายามบริหารจัดการ เพื่อให้อาณาจักรและศาสนจักรเป็นไปด้วยดีทั้งสองฝ่าย แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นการลิดรอนพลังของวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยไปด้วยเช่นกัน
สังเกตได้จากสถานการณ์ที่เครือข่ายวัดพระธรรมกาย มีการกระพือข่าวในโซเชียลในเรื่องต่างๆ เช่น การดำเนินคดีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เท่ากับทำลายพุทธศาสนา รวมถึงยังมีการกล่าวถึงศาสนาอื่นในทางที่นำมาซึ่งปัญหาในความขัดแย้งกันอีกด้วย
อย่างไรก็ดีหลังจากที่ใช้ ม.44 เรื่องศาสนา และแก้กฎกระทรวงควบคุมการตั้งวัดนั้น ก็มีการออกมาสร้างกระแสในโซเชียลด้านลบอีกว่า รัฐใช้กฎหมายนี้เพื่อควบคุมวัดพระธรรมกาย รวมถึงมีแผนในการทุบทิ้งเครือข่ายวัดต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ พร้อมปลุกกระแสชาวพุทธให้จับตาการทุบทำลาย ไล่รื้อวัดของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายศาสนจักร โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( สมเด็จช่วง) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขแห่งคณะสงฆ์ทั้งปวง ทั้งมหานิกายและธรรมยุติ และทรงมีอํานาจบัญชาการคณะสงฆ์ ผ่าน “มหาเถรสมาคม” ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุดนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวทั้งการแต่งตั้งพระสังฆาธิการ (คณะสงฆ์ระดับปกครอง) ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง จำนวน 60 ตำแหน่ง
นอกจากนั้นยังมีการพระราชทานวิสุงคามสีมา 202 แห่งทั่วประเทศ (7 ก.ย. 2559) ซึ่งวัดที่สมควรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต้องปรากฏว่าได้สร้างหรือได้ปฏิสังขรณ์เป็นหลักฐานถาวร และมีพระภิกษุอยู่ประจำไม่น้อยกว่า 5 รูปติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ระยะเวลา 5 ปี มิได้บังคับแก่วัดที่สร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงเป็นวัดที่สามารถทำสังฆกรรมได้ เป็นวัดที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านพระธรรมวินัย และกฎหมายทุกประการ
ลดบทบาทสงฆ์ให้อำนาจฝ่ายปกครองตั้งวัดใหม่
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า กฎกระทรวงการตั้งวัด เป็นการเพิ่มบทบาทให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปกำกับดูแลเพิ่มขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมา
ตัวอย่างกรณีพิพาท วัดเลียบ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2559 ศาลปกครองได้พิพากษาเพิกถอนมติมหาเถรสมาคม ที่ยกวัดเลียบ (วัดร้าง) ให้เป็นวัดที่มีพระจำพรรษา พร้อมเพิกถอนโฉนดที่ดิน สั่งคืนเป็นที่สาธารณสมบัติ ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ซึ่งเรื่องการยกสถานะวัดร้างขึ้นมาเป็นวัดนั้น เดิมบทบาทนี้เป็นเรื่องของมหาเถรสมาคม และสำนักพุทธ โดยความคิดที่ว่าพระภิกษุเป็นผู้ประเสริฐ อยู่ใต้ผ้ากาสาวพัสตร์ มีจิตใจอยู่ในพระธรรมวินัย ฉะนั้นรูปแบบเดิมจึงไปรวมศูนย์อยู่ที่พระสังฆาธิการทั้งหลายให้เป็นหลักในการพิจารณา
แต่เมื่อวันนี้สังคมเปลี่ยนไป พระภิกษุจำนวนมากเป็นอลัชชีไปแล้วนั้น ทรัพย์สินของวัดอันเป็นสาธารณสมบัติ จึงต้องให้ผู้ปกครองคือผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จากการเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษา มาเป็นมีอำนาจให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้อง ไม่ใช่ให้แต่ทางสงฆ์มีอำนาจในการพิจารณาอย่างเดียว โดยข้อเท็จจริงนั้นทรัพย์สินต่างๆ ของวัดเป็นสาธารณประโยชน์ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตามหน้าที่ต้องเป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว
“เชื่อว่าหากมีการสั่งคดีฟ้อง จะชี้ชัดว่าพระธัมมชโยผิดกฎหมาย และผิดพระธรรมวินัย ซึ่งจะขยายผลนำไปสู่การตรวจสอบพระสงฆ์ ไม่ให้หวังลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นที่มาของการวิ่งเต้นสมณศักดิ์ อีกทั้งจะเป็นการเริ่มต้นการปฏิรูปพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง โดยใช้คดีของพระธัมมชัยโยเป็นบรรทัดฐานนำร่อง ให้ฆราวาสเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ให้พระปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด”
‘ธรรมกาย’ อ่อนแรงลงจากกลไกสังคม
นายไพบูลย์ กล่าวถึงสถานการณ์ในวันนี้ว่า “กลไกของสังคม” ที่ต่อต้านพระธัมมชโย และวัดธรรมกายนั้นถือว่ามีความเข้มแข็งอย่างมาก ในขณะที่ผ่ายของวัดธรรมกาย และพระธัมมชโย “อ่อนแรงลง” จากเดิมอย่างมหาศาล แม้จะยังมีกำลังมากอยู่ แต่ก็เรียกได้ว่าปรับตัวลงไปสู่สถานะปกติ ไม่ได้มีอิทธิพลล้นเหลือเหมือนเดิม
ในการเปรียบเทียบสถานะของการได้เปรียบเสียเปรียบ มองจากองค์ประกอบ 3 ส่วน ประการแรกคือที่พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ประการที่สองคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และประการสุดท้ายคือบรรดาวัดเครือข่ายของวัดพระธรรมกาย
ความเชื่อมโยงกันอย่างเห็นได้ชัด ในส่วนของ “พระธัมมชโย” นั้น เป็นเรื่องของพระภิกษุที่ทั้งล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้กระบวนการใดๆ ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงทำให้เกิดความฮึกเหิม ขยายอิทธิพลออกไปมากมายโดยใช้เครือข่ายวัดพระธรรมกาย
รวมทั้งการสนับสนุนจากสมเด็จช่วง ทำให้ยิ่งขยายออกไปโดยอาศัยอำนาจของคณะสงฆ์ อีกทั้งการได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในปี 2544 ที่ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ราชาคณะขึ้น เรียกได้ว่า ทุกประเด็นนำไปสู่การขยายอำนาจ และเครือข่ายของธรรมกายออกไปอย่างกว้างขวางทุกด้าน
ความที่สำคัญต่างๆ ของพระธัมมชโย ทั้งเรื่องการฟอกเงิน การรับของโจร ไปจนถึงการสร้างวัดซึ่งบุกรุกที่ป่าสงวน และที่สาธารณะต่างๆ และสังคมก็ได้รับรู้การนำเงินไปใช้ในการสร้างวัตถุต่างๆ มากมาย ซึ่งไม่ใช่แนวทางของพระพุทธศาสนา
ยุคนี้ฝ่ายฆราวาสต้องเข้ามาร่วมแก้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า เมื่อทุกอย่างเปิดเผยออกมาสู่สาธารณชนเช่นนี้แล้ว จึงนำมาสู่ “กลไกของสังคม” ด้านที่ต่อต้านพระธัมมชโย และวัดธรรมกายมีความเข้มแข็งมากขึ้น ในขณะที่การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของพระธัมมชโย จะเกิดขึ้นหลังจากที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง
ในกรณีสั่งฟ้องต้องเข้าไปพิสูจน์ความผิดถูกที่ชั้นศาล แล้วจะขยายผลยกระดับขึ้นไป และนำไปสู่การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินวัด ทรัพย์สินพระ และการปกครองคณะสงฆ์ทั้งหลายด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น อาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ และเป็นไปตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ปี พ.ศ. 2505 ซึ่งมีที่มาจากหลักคิดของคนไทย คือพระภิกษุที่ห่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เชื่อว่าจะปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัย ต้องปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อยู่ในศีล ละแล้วซึ่งกิเลส เพราะเป็นผู้ที่ประเสริฐ จึงนำไปสู่การยกย่องสรรเสริญ โดยให้มีสมณศักดิ์ มียศ รวมทั้งมอบอำนาจทั้งเรื่องการจัดการทรัพย์สินวัด ทรัพย์สินที่มาจากการบริจาค ล้วนแต่ยกให้อยู่ในความดูแลของพระสงฆ์ทั้งสิ้น จึงทำให้กฎหมายออกมาตามหลักคิดนั้น
หวั่นคนห่มเหลืองมากแต่พระสงฆ์ดีมีน้อย
นายไพบูลย์ ย้ำว่า หลักคิดดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ผิด เพราะในความเป็นจริง มีพระภิกษุเป็นจำนวนมากที่แม้จะบวชเข้ามาในบวรพุทธศาสนา แต่ไม่ได้มีจิตใจเป็นสาวกของพระพุทธองค์ เป็นเพียงแค่การแต่งกาย ผ่านเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ในจิตใจยังคงยึดและพอใจในลาภ ยศ สรรเสริญ หลอกลวงประชาชนให้ศรัทธา ภิกษุเหล่านี้เมื่อมีโอกาสขึ้นมาอยู่ในคณะสงฆ์ระดับสูง จะขยายตัว สะสมอำนาจบารมี สะสมทรัพย์สินขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันยึดการปกครองคณะสงฆ์ในระดับบนเกือบทั้งหมด จึงเป็นที่น่าวิตกอย่างมาก เพราะภิกษุเหล่านี้ยังมีจิตใจเป็นฆราวาส มีความอยากมี อยากได้
สถานการณ์เช่นนี้เลวร้ายยิ่งกว่าฆราวาสที่ยังมีกิเลส ทำมาหากิน ประกอบวิชาชีพ แสวงหาความร่ำรวย ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เพราะอย่างน้อยบุคคลเหล่านั้น หลายคนก็ยังอยู่ในศีล 5 ไม่ได้มุสา ไม่ได้โกหกหลอกลวงประชาชน เช่น นักธุรกิจที่ทำธุรกิจเพื่อความร่ำรวย ก็เป็นสิทธิ์ที่จะทำ ทั้งคนที่รับราชการ อยากมียศถาบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย
แม้จะเป็นฆราวาสก็ยังยึดในศีล 5 ได้ แต่ถ้าพระภิกษุที่เลื่อนขึ้นไปตำแหน่งสูงๆ แต่จิตใจอุดมไปด้วยกิเลสนั้น เป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุด กลายเป็นว่าแม้แต่ศีล 5 ข้อมุสายังรักษาไม่ได้ จะรักษาได้อย่างไรถึง 227 ข้อ และการมุสาจะนำไปสู่การผิดศีลข้ออื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย แย่กว่าฆราวาสที่ถือศีล 5 ด้วยซ้ำ จึงถือว่าภิกษุลักษณะนี้ทำบาปอย่างมหันต์
เรื่องภิกษุที่มีกิเลสครอบงำนั้น หากเกิดขึ้นกับภิกษุชั้นผู้น้อย ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะชั้นปกครองที่อยู่ในศีลในธรรม ก็สามารถกำกับดูแลได้ แต่เมื่อภิกษุชั้นปกครองที่มีตำแหน่ง มีสมณศักดิ์กลับเป็นเสียเอง จึงนำมาซึ่งความเสื่อมของคณะสงฆ์
“ยิ่งกรณีที่เกิดขึ้นของพระธัมมชโย และสมเด็จช่วงซึ่งอยู่ในระดับยอดสุดของคณะสงฆ์ เมื่อมีปัญหาเองแบบนี้ ยิ่งไม่ต้องคิดถึงปัญหาของคณะสงฆ์ในระดับอื่นเลย และตามประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เมื่อใดที่มีปัญหาภิกษุอลัชชีเป็นจำนวนมาก ภิกษุที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้”
อำนาจทางการเมืองหนุนธรรมกายยิ่งใหญ่
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ความเป็นผู้ทรงอิทธิพลของพระธัมมชโยนั้นลดอันดับลงมามาก จะเห็นได้จากเรื่องสหกรณ์คลองจั่นที่เกิดขึ้นมากในปี 2554 เพราะมีซีกการเมืองคือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไปหนุนหลังให้ พระธัมมชโยจึงมีอำนาจอย่างเต็มที่ โดยอาศัยอำนาจจากคณะสงฆ์ และอำนาจทางการเมือง
กระทั่งปี 2557 ที่มีการยึดอำนาจโดย คสช. ทำให้ฝ่ายการเมืองที่หนุนพระธัมมชโยหลุดจากอำนาจไป จากนั้นปี 2558 มีการก่อตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ซึ่งมีการหยิบยกเรื่องของพระธัมมชโยขึ้นมา เป็นจุดเริ่มต้นการตรวจสอบพระธัมมชโย ตรวจสอบคณะสงฆ์ ไปจนถึงการตรวจสอบสมเด็จช่วง
จากนั้นสังคมก็เกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมาก เพราะได้รับรู้ข้อเท็จจริงในพฤติการณ์ของพระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย และสมเด็จช่วง เกิดกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมไทย เรียกว่าพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ไม่พอใจในพฤติกรรมของพระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย และคณะสงฆ์ จนมีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทุกเรื่อง
ซึ่งดีเอสไอก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังนับแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีการใช้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทำให้พบคดี
ดังนั้นพระภิกษุที่ปฏิบัติดี จึงทำได้แต่เพียงไม่ร่วมสังฆกรรมกับอลัชชีนั้น และอุเบกขาคือวางเฉย ซึ่งจะยิ่งทำให้อลัชชียึดอำนาจได้โดยเบ็ดเสร็จสมบูรณ์
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาผู้ที่จะเข้ามาจัดการแก้ปัญหาได้ จึงเป็นหน้าที่ของฆราวาส และต้องเป็นฆราวาสที่มีอำนาจรัฐ เล็งเห็นถึงปัญหาและเข้ามาแก้ไข ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก ที่เข้ามาจัดการปัญหาอลัชชี จนมีการจับสึกไปถึง 60,000 กว่ารูปในสมัยนั้น ไม่เช่นนั้นพระพุทธศาสนาก็คงจะดับสูญไปแล้ว แต่พระเจ้าอโศกเข้ามาปราบปราม และเผยแผ่ขยายพระพุทธศาสนาออกไปทั่วโลก จึงแสดงให้เห็นว่าบทบาทของฆราวาสในการปกป้องศาสนา ยามที่มีวิกฤตนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
คดีพระธัมมชโยควรจบที่ศาลยุติธรรม
นายไพบูลย์ ระบุว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าอัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องคดีพระธัมมชโยเพื่อให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน เพราะท่านก็เป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง ได้เห็น รับรู้ข้อเท็จจริง และรู้ความเป็นไปในสังคมอย่างมากมาย รวมทั้งข้อมูลหลักฐานก็มีความชัดเจน อีกทั้งเป็นการเริ่มให้กระบวนการยุติธรรมเกิด และเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการพิสูจน์ต่างๆ สามารถทำได้ที่ศาล
“ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นในอัยการสูงสุดว่าจะคำนึงถึงความถูกต้อง และความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้แนวทางที่ถูกต้อง คือพิสูจน์กันอย่างชัดเจนในชั้นศาลเท่านั้น”
แต่หากไม่เป็นไปตามกระบวนการของศาลฯ จะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาขึ้น และไม่ได้หมายความว่าเรื่องจะจบ แต่กลับจะลุกลามใหญ่โต เพราะเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นหนทางเดียว สำหรับข้อโต้แย้งเรื่องว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับพระธัมมชโยนั้น ในทางกลับกัน ก็ต้องคิดเรื่องการให้ความเป็นธรรมกับประชาชนจำนวนมากเช่นกัน
พระธัมมชโยขึ้นศาลฯหนทางปฏิรูปศาสนา
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า การปฏิรูปจะเกิดไม่ได้ หากเรื่องนี้ไม่จบ เพราะจะกลายเป็นว่าผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ผู้ที่ผิดกฎหมายยังมีอำนาจมหาศาล จะเกิดกำแพงมาขวางกั้นทันที การปฏิรูปก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่หากคดีของพระธัมมชโย และสมเด็จช่วง ทั้งทางโลกและพระธรรมวินัยเดินหน้าไปได้ จะเห็นแสงสว่างที่นำไปสู่การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาได้ มองว่าในช่วงเวลาของรัฐบาลนี้จะสามารถปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีอิทธิพลในวงการสงฆ์ไทย และนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การจะปฏิรูปกิจการทางพระพุทธศาสนาต่อไปนั้น ยังมองไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนจากภาครัฐ เพราะผู้เกี่ยวข้องมองว่าเป็นเรื่องของมหาเถรสมาคม การปฏิรูปวันนี้ทั้งในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ รองนายกฯ และรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่การมอบให้คณะสงฆ์ทำกันเอง ซึ่งการให้องค์กรที่มีปัญหาปฏิรูปตัวเองนั้นจะไม่ได้ผลอะไร นอกจากการเพิ่มอำนาจให้ตัวเองเท่านั้น ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ประชาชนคาดหวัง
เมื่อภาครัฐที่ดูแลมีหลักคิดลักษณะนี้ โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าจะต้องมีการตั้งพรรคการเมือง ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปเสนอกฎหมายทั้งการปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และการปรับปรุงในเรื่องกิจการพระพุทธศาสนาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริง
“ มีการตรวจสอบเพิ่มเติมพบ "สำเนาเช็คบัญชีชื่อสมเด็จช่วง มีการสั่งจ่ายเงินจำนวน 1 ล้านบาท" เป็นค่ารถเบนซ์ให้ภรรยานายวิชาญ รัษฐปานะ เจ้าของอู่เมื่อปี 2553 นอกจากนี้ยังมีเอกสารคำขอโอนและรับโอนรถ,ใบขอจดทะเบียนรถ,สำเนาทะเบียนที่ลงนามโดยสมเด็จช่วง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรณีรถเบนซ์โบราณทะเบียน ขม99 ของสมเด็จช่วง และได้ยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบ การละเลยการปฎิบัติหน้าที่ของกรมสรรพสามิตและเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตแล้วด้วย”
นอกจากนั้นยังมีเรื่องการเบี่ยงประเด็นเรื่องรับเงิน เพราะการที่พระสงฆ์บางรูปออกมาอ้างว่า พระสายธรรมยุตรับเงินไม่ได้ แต่พระมหานิกายรับได้ ซึ่งในความเห็นนั้น ไม่ว่านิกายไหนถ้าเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทย ก็รับเงินไม่ได้ทั้งนั้น เพราะพระในคณะสงฆ์ไทยต้องยึดตามเถรวาท คือยึดตามพระธรรมวินัย เมื่อยึดตามพระธรรมวินัยแล้ว ต้องยึดตามบทบัญญัติว่าจะต้อง “ไม่รับ ไม่ยินดีในเงินทอง”
ดังนั้น การจะอ้างว่าธรรมยุตรับไม่ได้ มหานิกายรับได้จึงเป็นการบิดเบือน และยังมีการเสนอแนวคิดจะแยกพระสังฆราชให้มี 2 นิกาย กลายเป็นพระสังฆราชมหานิกายมีรถเบนซ์ มีเงินทองได้อย่างนั้นหรือ ซึ่งความเป็นจริงไม่ว่าจะนิกายใดก็ต้องยึดตามพระธรรมวินัยทั้งสิ้น!