xs
xsm
sm
md
lg

ล้วงลึกแผน “เจ้าคุณประสาร” “ดึงต่างชาติ-การเมือง” บีบตั้งสมเด็จช่วงล้มคดีธัมมชโย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไพบูลย์ นิติตะวัน และหมอมโน เลาหวณิช ล้วงลึกยุทธวิธีของ “เจ้าคุณประสาร-ธรรมกาย-การเมือง-นปช.” ดีเดย์หลัง 7 สค.ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นตัวขับเคลื่อน จะมีการขยายผลชนิด “แยกกันเดินแต่ร่วมกันตี” หวังสร้างความชอบให้พวกตัวเอง พร้อมดึงต่างชาติเข้ามาร่วมถล่มรัฐบาลบิ๊กตู่ และบีบให้ทูลเกล้าฯตั้งสมเด็จช่วง ขึ้นสังฆราช และล้มคดีพระธัมมชโย แจงธรรมกายเร่งระดมคน “โหวตโน” จับตาแผนการเจ้าคุณประสารจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่?

กระแสโลกโซเชียล มีการนำเสนอข้อความที่” พระเมธีธรรมาจารย์” (ประสาร จนฺทสาโร) หรือเจ้าคุณประสาร และเครือข่ายได้โพสต์ไว้ด้วยข้อความที่เป็นการกดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเป็นระลอกว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ โดยนำเรื่องสมเด็จช่วง และคดีพระธัมมชโย มาเป็นประเด็นในการชุมนุม ซึ่งข้อความที่สื่อออกมานั้น แม้จะยังไม่สรุปชัดเจนว่าการชุมนุมจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่บอกให้เห็นถึงว่าจะมีการเคลื่อนไหวแน่นอน

สำหรับการเคลื่อนไหวของเจ้าคุณประสารและเครือข่ายนั้น หากมองกันให้ดีอาจมีวาระซ่อนเร้นจนเป็นที่มาในการตั้งประเด็นคำถามว่า ทำไม?จึงต้องเลือกจังหวะที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง รวมไปถึงเป้าประสงค์อย่างไรกันแน่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ จุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้คำตอบไว้อย่างชัดเจน

ม็อบพระจับมือ “การเมือง” ดึงต่างชาติถล่ม “บิ๊กตู่”

นายไพบูลย์ วิเคราะห์สถานการณ์การเดินหน้ารุกของวัดพระธรรมกายและฝั่งทนายของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ต่างดาหน้าออกมาตอบโต้และแก้ต่างในเรื่องคดีรถหรู คดีการบุกรุกที่ป่าสงวน และรวมทั้งการปลุกระดมสู้ทั้งในส่วนของพระเมธี และศิษยานุศิษย์ของวัด ว่าไม่มีผลกระทบอะไรกับสถานการณ์ในวันนี้

แต่สถานการณ์การเคลื่อนไหวต่างๆ ล้วนมีส่วนเกี่ยวโยงกับผลของการลงประชามติเป็นอย่างมาก เพราะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองอย่างชัดเจน

หากประชามติไม่ผ่านจะมีการขยายผลการเคลื่อนไหว ทั้งในส่วนของการผลักดันเรื่องสมเด็จช่วง และพระธัมมชโยไปด้วยกัน ที่สำคัญคือ ประชาชนจะได้เห็นการเคลื่อนไหวในลักษณะการชุมนุมของม็อบพระ ตามที่พระเมธีประกาศไว้หลังวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งจะสอดรับกับการเคลื่อนไหวของขั้วทางการเมืองที่รอจังหวะจะเข้าผสมโรงร่วมอยู่แล้ว
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
นอกจากนั้นยังมีการขยายผลรวมไปถึงการที่วัดพระธรรมกาย พยายามจะดึงองค์กรสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้มีแนวร่วมหลายฝ่ายมาร่วมโจมตีรัฐบาล คสช. หวังสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง และไม่ต้องปฏิบัติตามครรลองของกฎหมายที่บังคับใช้

กรณีถ้าการลงประชามติผ่านเป็นที่เรียบร้อย เชื่อว่ากลุ่มต่างๆ เหล่านี้จะยังไม่กล้าเคลื่อนไหว และในส่วนของรัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายและเดินหน้าได้ต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการทำงานด้านอื่น เชื่อว่าจะได้เห็นกระบวนการบังคับคดีตามกฎหมายเกี่ยวกับพระธัมมชโย และพระอีกหลายรูปทั้งการเข้าตรวจค้นเพื่อคุมตัวพระธัมมชโย และการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีพระวัดธรรมกายที่ยังไม่มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตามหมายเรียก ซึ่งการดำเนินการนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการรออัยการสั่งฟ้อง เพราะในส่วนของอัยการเป็นการชี้มูลความผิด แต่ส่วนนี้เป็นเรื่องของหมายจับที่ศาลออกเพื่อนำตัวมาให้ปากคำ
งานวันสมาธิโลก วัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 31กรกฏาคม 2559
ธรรมกายระดมพล “โหวตโน” บีบตั้งสมเด็จช่วง

ด้าน นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ จุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตศิษย์วัดพระธรรมกายและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงสถานการณ์ของวัดพระธรรมกายในระยะนี้ว่า มีการระดมพลครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนวันบุญใหญ่ “วันสมาธิโลก” ที่จากเดิมจัดขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม มาเป็นวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมวันฉลองเปรียญธรรม 9 ประโยคทั้งแผ่นดินในวันเดียวกันอีกด้วย

ซึ่งการรวมตัวครั้งนี้ มีการส่งข้อความต่อๆ กันไป ตามบรรดาสาวกทั้งหลายว่า “การลงประชามติในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนั้น ให้โหวตโนทั้งหมด” โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการจะสร้างให้เกิดวิกฤตการณ์คลื่นลูกใหม่ให้เกิดขึ้นต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับการเคลื่อนไหวปลุกม็อบพระของเจ้าคุณประสาร ที่กดดันให้พลเอกประยุทธ์ทูลเกล้าฯ ให้สมเด็จช่วงขึ้นเป็นสังฆราช
นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ จุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพราะหากผลประชามติไม่ผ่าน กระแสจะตีกลับ จึงพยายามให้มีโหวต No มีจำนวนมากกว่า การโหวต Yes ในสัดส่วนที่ต่างกันถึงร้อยละ 20-30 เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือว่ารัฐบาล คสช. ไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อ มีความชอบธรรมที่จะออกมาเดินบนถนน โดยให้พระและศิษย์ธรรมกายระดมคนออกมาเพื่อให้เกิดวิกฤตความวุ่นวายเชื่อมโยงไปถึงด้านการเมือง

อย่างไรก็ตาม ให้จับตาดูจังหวัดใหญ่ๆ ที่วัดพระธรรมกายคุมอยู่ ในส่วนกรุงเทพฯ นั้นก็มีการแบ่งเป็นกลุ่มเล็กกระจายกันออกไป และมีผู้นำแต่ละกลุ่มจัดกิจกรรมสวดมนต์ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร 1 ล้านจบ ตลอดพรรษานี้ และที่ภาคอีสานตามลำดับ คือ ร้อยเอ็ด อุบลฯ ขอนแก่น มหาสารคาม ศรีสะเกษ และโคราช ส่วนที่ภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ และภาคใต้ที่สงขลา พังงา

“ซึ่งหากประเมินจำนวนสาวกของวัดพระธรรมกายในวันนี้มีไม่ถึงล้านคน ต้องระดมกันแบบหืดขึ้นคอ เพราะเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาตัวเลขแกนนำที่เรียกเข้าวัดได้ทุกเวลามีประมาณ 15,000 คน แต่ปัจจุบันลดลงไปร้อยละ 30 เหลืออยู่ประมาณ 4,000 กว่าคน ดังนั้นทางออกคือ การจัดกิจกรรมหาแนวร่วมเพิ่มขึ้น
(ซ้าย)นายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความ ชี้แจงสมเด็จช่่วงเป็นเพียงผู้รับบริจาค (ขวา) วัดพระธรรมกายโต้ดีเอสไอ วัดสาขาถ้ำเนรมิต ไม่ได้บุกรุกป่าสงวน
“วัดพี่วัดน้อง” แถลงโต้ดีเอสไอวันเดียวกัน

อย่างไรก็ตามในโค้งสุดท้าย 7 วันก่อนวันประชามติ อาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ถือว่าเป็นสัปดาห์แห่งการตอบโต้ดีเอสไอ เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม “วัดธรรมกาย” ได้ออกมาชี้แจงถึงเรื่องที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้แถลงคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เป็นบัญชีเงินสดของเครือข่ายพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ว่าได้รับบริจาคมาอย่างถูกต้อง และกำลังทำเรื่องถึง ปปง.เพื่อขอยกเลิกการอายัดเงินดังกล่าว

ตามมาด้วย วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา การแถลง 3 คดีของวัด 2 แห่ง ซึ่งสมเด็จช่วง รักษาการเจ้าอาวาส เคยกล่าวไว้ว่า “วัดปากน้ำและวัดธรรมกายเป็นวัดพี่วัดน้องกัน” แบ่งเป็นคดีของวัดพี่ออกมาตอบโต้เรื่องรถหรูว่า “สมเด็จช่วง” บริสุทธิ์ เพราะเป็นแค่ผู้รับบริจาคเท่านั้น โดยนายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความ แถลงชี้แจงกรณีดีเอสไอ ระบุว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ครอบครองรถเบนซ์โบราณ เข้าข่ายความผิด ร่วมกันครอบครองสินค้าที่รู้ว่าไม่เสียภาษี หรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน ว่า เป็นเพียงผู้รับบริจาค นอกจากนี้ยังระบุจะฟ้องกลับดีเอสไอที่ทำให้สมเด็จช่วงเสียชื่อเสียงอีกด้วย

ส่วนคดีที่ 2 เป็นการตอบโต้ดีเอสไอของวัดน้อง นำโดยนายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย และ "เครือข่ายพุทธบริษัท 4 ปกป้องพระพุทธศาสนา" “พระครูวิสุทธิ์กาญจนกิจ” เจ้าอาวาสวัดถ้ำเนรมิต จ.กาญจนบุรี และ “ทนายนิทัศน์ ประเสริฐเนติกุล” ตอบโต้ใน "คดีวัดสาขาถ้ำเนรมิต" บุกรุกป่าสงวน และได้นำหลักฐานมาโชว์

ส่วนคดีที่ 3 กลุ่มชาวบ้านและลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย กว่า 10 คน เข้ารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกดีเอสไอว่า "ศิษย์ธรรมกาย" ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีค้นวัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อีกทั้งยังได้ร้องแจ้งข้อกล่าวหาไม่เป็นธรรม ที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งการเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ ดำเนินไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ของบรรดาศิษยานุศิษย์ ระดมโพสต์และแชร์ข้อความต่อๆ กันไปว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม

“พระ-การเมือง” แยกกันเดิน ร่วมกันตี

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางสถานการณ์อึมครึมที่ยังไม่ชัดเจนว่า ดีเอสไอ จะเข้าค้นวัดพระธรรมกายครั้งที่ 2 เมื่อไหร่นั้น แนวร่วมศิษย์ธรรมกายก็มีการโหมโรงข้อความผ่านโซเชียลมีเดียว่า “พิสูจน์ศรัทธาธรรมกาย ครั้งที่ 2 ก่อนวันลงประชามตินี้” และเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งโดยไม่มีวี่แววว่าดีเอสไอจะเข้าค้น การเคลื่อนไหวในโซเชียลจึงเปลี่ยนแนวมาเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรม ตามมาด้วย ธรรมกายชวนติดแฮชแท็ก “เรารักพระธัมมชโย”

ขณะที่ ‎เจ้าคุณประสาร หรือพระเมธีธรรมาจารย์ ออกมาเคลื่อนไหวปลุกม็อบปกป้องสมเด็จช่วงว่า เป็นการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคณะสงฆ์ (เรียกร้องให้มีการสถาปนาสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสังฆราชองค์ที่ 20) ซึ่งเคลื่อนไหวก่อนวันเข้าพรรษา กระทั่งกำหนดเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังวันที่ 7 สิงหาคม โดยกล่าวถึงฝ่ายสนับสนุนที่ระบุว่ามาจากทั่วสารทิศ ทั้งพระภาคใต้ ภาคเหนือ รวมถึงเครือข่ายภาคีทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ทั้งสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และสหราชอาณาจักร ตามที่โพสต์ปลุกเร้าในโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมว่า ประกาศว่ามีความพร้อมเข้าร่วมจากเครือข่ายทั้งหลายในการเดินหน้าเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนา

นับว่าปรากฏการณ์เหล่านี้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย ฝั่งพรรคเพื่อไทย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และฝั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่างออกมาแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

จากนี้ไปต้องจับตาดูกันต่อไปถึงสถานการณ์ ดีเดย์หลังวันที่ 7 ส.ค. ว่ารัฐบาลจะต้องรับศึกหนักอีกหลายด้าน และฝ่ายการเมืองที่เป็นเครือข่ายธรรมกายจะใช้ผลการลงประชามติว่าเป็นมติมหาชน ถล่มบิ๊กตู่ได้หรือไม่? หรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถบังคับใช้กฎหมายดำเนินการกับคดีพระธัมมชโยได้สำเร็จ ท่ามกลางกระแสพลพรรคธรรมกายต่างดาหน้าออกมาโต้ว่าพระธัมมชโยไม่ผิดและไม่ได้รับความเป็นธรรม

ด้วยการตะโกนบอกตรรกะธรรมกายแบบง่ายๆ ว่า “เพราะบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย”!

กำลังโหลดความคิดเห็น