วันนี้ต้องถือว่าคดีวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย และเครือข่ายบรรดาสาวกวัดพระธรรมกาย ใกล้จะถึงจุดสุดท้าย ซึ่งการกระทำต่าง ๆ ที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า “พังเพราะตัวเอง” อันเกิดจากมิจฉาทิฎฐิ เพราะความเชื่อมั่นว่าวัดพระธรรมกายมีพลังหนุนจากแรงศรัทธาของผู้คนจำนวนหลายล้านคน ที่สำคัญความสามารถในการครอบงำมหาเถรสมาคมจากการใช้ “เงิน” สร้างอำนาจ-บารมีให้กับพระธัมมชโย จนทำให้ภาครัฐและสังคมต้องตื่นตัวหันกลับมาดูถึงความไม่ชอบมาพากลของวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะเมื่อตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฟอกเงินจากการยักยอกและฉ้อโกงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
ดังนั้นคดีวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย จึงกลายเป็นคดีสำคัญที่รัฐบาลต้องใช้หลายหน่วยงานเข้าจัดการภายใต้คำสั่ง “ยุทธศาสตร์คงที่-ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงได้” ด้วยวิธีการละมุมละม่อมเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียแต่อย่างใด
“ใครผิด จะต้องถูกจัดการด้วยกระบวนการทางกฎหมาย” ต่อไป
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางแลมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุ ว่า พฤติกรรมของพระธัมมชโยและพวกมีการกระทำต่างๆ ที่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้กำแพงมนุษย์ ดึงบรรดาสาวกทั้งพระ ฆราวาส นับพันคนออกมาตั้งป้อมขัดขวางสกัดกั้นการทำงานของดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่างๆ ที่เข้าไปดำเนินการตามหมายค้น
เพราะด้วยเงื่อนไขที่วัดพระธรรมกายกระทำนั้น เข้าองค์ประกอบและส่อให้เห็นว่าจะต้องใช้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 13/2559 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ว่าด้วยการปราบปรามการกระทำของผู้มีอิทธิพล เข้ามาจัดการในเรื่องนี้
คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายที่จะส่งผลทำให้คดีวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยเดินมาถึงจุดสุดท้าย ในข้อหาเป็นผู้มีอิทธิพลที่เป็นปัญหาต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งมีการออกแบบวิธีการไว้เรียบร้อย สามารถดำเนินการได้โดยนำไปใช้เป็นคำสั่งเสริมกับหมายค้นจากศาลฉบับต่อไป ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องจำกัดพื้นที่ในการเข้าตรวจค้น เช่น เข้าไปในเขตพื้นที่ของมูลนิธิต่างๆ เพื่อเป็นการลดปัญหาการขัดขวางที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น
“อีกทั้งด้วยกฎหมายที่เข้มข้นนี้จะทำให้นำตัวพระธัมมชโยออกมาได้อย่างเรียบร้อย และสามารถคัดกรองให้คนบริสุทธิ์ออกจากพื้นที่ได้หมด กันไม่ให้คนนอกเข้าไปภายในวัดได้ ส่วนคนมีความผิดที่ดีเอสไอมีชื่ออยู่แล้วจะถูกจับกุมไปพร้อมๆ กัน และเป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานไม่ต้องเกิดความเสี่ยงว่าจะถูกฟ้อง”
ตรงนี้คือแนวทางที่รัฐเตรียมการไว้ และทันทีที่รัฐได้เข้าดำเนินการ จะได้เห็นว่า “มีผลประโยชน์มหาศาล” จากกลุ่มทุนต่างๆ ซึ่งเข้ามาหากินในวงจร นอกจากนี้ยังมีบัญชีรายชื่อจากดีเอสไอ ที่จะประสานกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อเข้าไปปราบปราม
ใบสั่งจัดการธรรมกาย “เอาให้อยู่”
ดังนั้นในระหว่างที่รัฐยังไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 13/2559 ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อัยการ และหน่วยงานของรัฐก็มีการร่วมปฏิบัติการตามคำสั่งที่มีมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น
“รัฐบาลและทหารมีความชัดเจนเรื่องวัดพระธรรมกาย กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ที่พวกเรารู้กันว่า ยุทธศาสตร์คงที่ ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหมายถึงให้จัดการกับวัดธรรมกาย ธงตามยุทธศาสตร์ก็คือ การเอาให้อยู่ ส่วนยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงได้ ก็หมายถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดการตามความเหมาะสม แต่ต้องเอาให้อยู่เพราะถือเป็นเรื่องของภัยคุกคาม” แหล่งข่าวระบุ
สอดคล้องกับความเห็นของนายไพบูลย์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการของภาครัฐ โดยเฉพาะดีเอสไอที่ผ่านมาจะทำให้สังคมได้ประจักษ์ว่าฝ่ายรัฐทำหน้าที่ด้วยความละมุนละม่อม ขณะที่การกระทำของวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย มีการกระทำผิดกฎหมายหลายประการ และรุกคืบเข้าไปสู่การเป็นผู้มีอิทธิพล ด้วยการใช้วัดเป็นแหล่งฟอกเงิน มีการบุกรุกที่ป่าจำนวนมาก
การขยายอาณาจักรธรรมกายที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนหลายแห่ง โดยเฉพาะเครือข่ายสาขาวัดพระธรรมกายที่ขยายไปในทุกภาคของประเทศไทยซึ่งกำลังตกเป็นข่าวฉาวอยู่ในขณะนี้ เช่น การตรวจสอบที่ดินสถานปฏิบัติธรรมมุกตะวัน สาขาของวัดพระธรรมกาย พื้นที่ 1,000 ไร่ บนเกาะยาวน้อย จ.พังงา การรุกป่าสงวน 17 ไร่ ของวัดถ้ำเขาวง อ.ปากช่อง และศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ เขาใหญ่ พบที่ดินไร้เอกสารสิทธิอีก 500 ไร่
ที่ภาคเหนือมีการตรวจสอบวัดโมคคัลลานะ ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสาขาของวัดพระธรรมกาย มีพื้นที่กว่า 15 ไร่ พบว่ามีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีพื้นที่เพียง 4 ไร่ ที่มีเอกสารสิทธิ และอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ
อีกทั้ง นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะพนักงานสอบสวนคดีฟอกเงินจากการยักยอกและฉ้อโกงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้ออกมาเปิดเผยถึงคดีของพระธัมมชโยว่า มีการสอบสวนเพิ่มประเด็น ระบบบริหารการเงินที่วัดพระธรรมกาย ว่ามีการออกใบอนุโมทนาบัตรให้กลุ่มทุนใกล้ชิด ที่เข้ามาบริจาคเงิน เพื่อใช้เป็นทางในการหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่ จากนั้นจะส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมถึงอัยการฝ่ายคดีพิเศษจะสามารถสั่งคดีได้ตามกำหนด
ซึ่งตามกำหนดในวันที่ 11 ส.ค.นี้ หลังจากที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำการตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำจะเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ธรรมกายแจงบัญชีแสดงความชอบธรรม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาก่อนถึงวันชี้ชะตานั้น ทางวัดพระธรรมกายก็ออกมาเคลื่อนไหวในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลดีต่อพระธัมมชโย ทั้งประกาศแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาส ตามคำสั่งของพระครูวิจิตรอาภากร เจ้าคณะตำบลคลองสี่ ตามคำสั่งที่ 2/2559 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นพระราชภาวนาจารย์ (ทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาสเพื่อเป็นผู้รักษาการแทนพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีอาการอาพาธด้วยโรคเบาหวาน เส้นเลือดดำใหญ่อุดตันขาซ้าย และภูมิแพ้ จำเป็นต้องพักรักษาสุขภาพ
“โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 วรรค 1 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส โดยความเห็นชอบจากเจ้าคณะอำเภอคลองหลวง จึงแต่งตั้งให้พระราชภาวนาจารย์ อายุ 75 ปี พรรษา 44 วิทยฐานะนักธรรมตรี เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป”
นายไพบูลย์ ให้ความเห็นว่า การแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสนั้น จะทำได้ในกรณีที่เจ้าอาวาสไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถึงแม้โดยระเบียบเจ้าคณะตำบลจะสามารถแต่งตั้งและรายงานต่อเจ้าคณะจังหวัด แต่เชื่อว่าเจ้าคณะตำบลไม่ได้ดำเนินการเอง ต้องได้รับความเห็นชอบจากพระธัมมชโย เพื่อจะได้สอดคล้องกับอาการอาพาธหนัก ซึ่งนำมาใช้เป็นเหตุผลในการถ่วงเวลามานานมากแล้ว จึงจำเป็นต้องตั้งรักษาการเจ้าอาวาสตามสถานการณ์ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับพระธัมมชโย
อีกทั้งมีความพยายามที่จะเร่งรัดให้มีการแต่งตั้งสังฆราชองค์ที่ 20 ให้ได้ตามเวลาที่กำหนด โดยหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า มติ “มหาเถรสมาคม” เสนอนามสมเด็จพระสังฆราชนั้นถูกขั้นตอนแล้ว ไม่ขัดมาตรา 7 พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 ทางพระเมธีธรรมาจารย์ หรือ “เจ้าคุณประสาร” เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา ได้ออกมาแสดงความเห็นในลักษณะกดดันให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง’พระสังฆราช’ ภายใน 1 สัปดาห์ หากไม่ดำเนินการจะหารือเพื่อการเคลื่อนไหวใหญ่ ซึ่งจะกำหนดท่าทีร่วมกันในการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ทั่วประเทศ
การแสดงท่าทีต้องการให้มีการแต่งตั้งสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชอย่างเร่งด่วน เพราะเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย เนื่องจากความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างสมเด็จช่วงกับวัดพระธรรมกาย ที่รู้กันอยู่เป็นอย่างดี แต่หากมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพระเมธี และไม่ดำเนินการอย่างแนบเนียนพอ อาจทำให้เห็นความเกี่ยวโยง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพระธัมมชโยแต่อย่างใด เนื่องจากจะยิ่งสร้างความชัดเจนในการเป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นชนวนเร่งให้นำคำสั่ง 13/2559 มาใช้ก็เป็นได้
ในด้านที่เกี่ยวข้องกับคดีการฟอกเงินโดยตรงนั้น วัดพระธรรมกายได้ออกมาเร่งชี้แจงบัญชีผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยพยายามระบุถึงที่มาที่ไปของเงิน เพื่อแสดงถึงความชอบธรรมและให้เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของหลวงพ่อธัมมชโย โดยได้ลงแผนผังเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่พระธัมมชโยได้รับบริจาคมีทั้งหมด 11 ฉบับ รวมมูลค่า 387.16 ล้านบาท แบ่งเป็นเช็ค 7 ใบ โอนเข้าบัญชีพระราชภาวนาวิสุทธิ์ 262.16 ล้านบาท เช็คอีกใบ 100 ล้านบาทนั้นไม่ได้รับ
ส่วนเช็คที่เหลืออีก 4 ใบเป็นการรับตรงจากสหกรณ์ 125 ล้านบาท โดยเช็คทั้งหมดถูกโอนต่อมายังมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นเงินทั้งสิ้น 387.16 ล้านบาท ซึ่งอธิบายว่าเงินจำนวนนี้มูลนิธิได้นำมาชำระค่าก่อสร้างส่วนหนึ่งในโครงการ แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายสิ่งก่อสร้าง 1,207.90 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยค่ารับเหมาก่อสร้างให้แก่บริษัท ฤทธา 530 ล้านบาท ค่าระบบงานของบริษัท บิวคอน 200 ล้านบาท ค่าเหล็กเส้นของบริษัท สยามชัยสตีล (งวดแรก) 205.34 ล้านบาท และค่าเหล็กเส้นของบริษัท สยามชัยสตีล (งวดที่สอง) 272,559 ล้านบาท ซึ่งในตอนท้ายของเอกสารชี้แจงระบุว่า “เงินมีที่มาที่ไปชัดเจน ดังนั้นจึงไม่ใช่การฟอกเงิน”
กรณีที่มีการชี้แจงของวัดพระธรรมกายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายข้างต้นนั้น นายไพบูลย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีเฉพาะเรื่องการก่อสร้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทน เพราะค่าใช้จ่ายที่ระบุนั้นไม่มีการแสดงบัญชีเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ จึงไม่สามารถรู้ว่าค่าใช้จ่ายจริงตรงกับตัวเลขหรือไม่ มีโอกาสที่จะเป็นการฟอกเงิน ถึงแม้เงินของวัดจะมีเงินทำบุญจากผู้มีศรัทธา และไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ จากวัดก็ตาม แต่เมื่อไปรวมในบัญชีของวัดก็แยกแยะยาก และในข้อเท็จจริงนั้นการใช้เงินไม่ใช่เพื่อการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว ยังมีการส่งไปอุดหนุนตามสาขาต่างๆของวัด ซึ่งเป็นเส้นทางการเงินที่อลังการ และอื้อฉาวอย่างมาก
กลุ่มทุนก๊วนใหญ่เอี่ยวธัมมชโย
เป็นที่น่าจับตาว่าในอนาคตอันใกล้เมื่อถึงวันสิ้นสุด จะเป็นวันที่เปิดเผยโฉมหน้ากันให้เห็นว่า วัดพระธรรมกายเกี่ยวพันกับบิ๊กๆ ทุนใหญ่ ทั้งฆราวาส และคณะสงฆ์ ท่านใดบ้างที่เข้ามาหากินเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในวัดพระธรรมกาย ดังเช่นที่ปรากฏภาพบรรดาเศรษฐี นักธุรกิจหลายรายต่างพากันไปทำบุญบริจาคทรัพย์เพื่อช่วยเหลือวัด ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า บรรดาคนเหล่านี้ต่าง “ร่ำรวยมหาศาล” ไปพร้อมกับการเจริญเติบโตและความเลื่อมใสของมวลชน ที่มีต่อวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย
ซึ่งการจะแยกแยะกลุ่มทุนต่างๆออกจากเศรษฐีผู้มีศรัทธาที่แท้จริงนั้น ต้องอาศัยการตรวจสอบเจาะไปที่กลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากวัด มีธุรกิจร่วมกันกับวัด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาที่ดิน การก่อสร้าง หรือผลประโยชน์อีกหลายเรื่องที่นำมารวมกัน เช่นเดียวกับคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ไม่อาจมองได้ว่าเป็นการทำบุญด้วยแรงศรัทธา แต่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการฟอกเงิน แลกผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ที่สำคัญผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เมื่อได้เห็นเอกสาร สำนวนการสอบสวน พร้อมแผนผังเส้นทางการเงินที่ดีเอสไอจัดทำแล้ว คงจะได้อภิมหาตะลึงกับก๊วนใหญ่ต่างๆที่มีเอี่ยวผลประโยชน์ สร้างเครือข่าย และสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย โดยเอกสารเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน (ปปง.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งการตรวจสอบธุรกรรมการเงินที่ผ่านมานั้น สำนักงาน ปปง.ทำงานประสานกับดีเอสไอมาโดยตลอด แต่จากการที่อัยการเลื่อนสั่งฟ้องคดีนี้ออกไป และผลทางคดีนี้จะจบว่าสั่งฟ้องหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การอายัดทรัพย์หรือไม่นั้น ต้องติดตาม!