xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ธัมมี่” ก็เหนือกฎหมาย เวิลด์พีซฯ” ก็มีปัญหา ฤาประเทศนี้เป็นของ “ธรรมกาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จานบินเวิลด์พีซวัลเล่ย์ที่เขาใหญ่
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กรณี “พระเทพญาณมหามุนี(ไชยบูลย์ ธัมมชโย)” หรือ “พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย” ของชาวธรรมกาย มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงคดี ทำตัวเหนือกฎหมาย ไม่ยอมเข้ามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหา “ฟอกเงินและรับของโจร” ในคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็พิสูจน์ให้เห็นชัดมาแล้วครั้งหนึ่งว่า “รัฐธรรมกาย” นั้น ใหญ่ๆ จริง เพราะจนป่านนี้ “รัฐบาล คสช.” ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้

ดังนั้น ก็คงต้องพิสูจน์ทราบกันต่อไปสำหรับกรณี “เวิลด์พีซ วัลเล่ย์” หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมของวัดพระธรรมกาย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 6 บ้านหนองจอก ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นั้น “รัฐบาล คสช.” จะมีปัญญาจัดการกับ “รัฐธรรมกาย” ได้หรือไม่ อย่างไร เพราะจนกระทั่งบัดเดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนและท่าทีของ “รัฐบาล คสช.” อีกเช่นกัน

กล่าวสำหรับคดีพระธัมมชโย ความคืบหน้าที่พอจะได้เห็นก็คือ การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เข้าแจ้งความกับตำรวจกองปราบปรามเพื่อให้ดำเนินคดีกับ “โฆษกนะจ๊ะ-องอาจ ธรรมนิทา” ในข้อหาหมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หลังจากโฆษกนะจ๊ะได้พูดจาในเชิงที่ทำให้ทางดีเอสไอได้รับความเสื่อมเสียและเป็นที่เข้าใจผิดแก่ประชาชนผ่านการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา และแจ้งความดำเนินคดีกับ “พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย” ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ โดยได้เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการดำเนินคดีพระธัมมชโยทางเฟซบุ๊กและยูทิวบ์

มีแค่นั้นจริงๆ ให้ดิ้นตาย...

ส่วนกรณีศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์นั้น ถือเป็นประเด็นใหม่ที่ต้องติดตามและพิสูจน์ให้แน่ชัดว่า ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเรื่องนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนหลายประการ เนื่องจากอยู่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีทั้ง “โฉนด” มีทั้ง “น.ส.3 ก.” และมีทั้งพื้นที่ของ “นิคมสร้างตนเองลำตะคอง” ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารสิทธิของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความคืบหน้าที่น่าสนใจไม่น้อย

นายไพโรจน์ บัวน่วม เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบที่ดินของโครงการเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ ของศูนย์ปฏิบัติธรรมสาขาของวัดพระธรรมกาย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ว่า ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปากช่อง ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแล้วล้อมได้ขอให้มีการตรวจสอบการถือครองที่ดินและการยึดครอบครองทางสาธารณประโยชน์ของวัดพระธรรมกาย โครงการเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ ตามหนังสือ ที่ ตช 0026.73/1452 ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2559 ที่ส่งมายังสำนักงานที่ดิน ผลการตรวจสอบปรากฏว่ามีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 480-0-61 ไร่ ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวในระวางพบมีเอกสารสิทธิจำนวน 13 แปลง แยกเป็นโฉนดที่ดิน 3 แปลง เนื้อที่ 62-3-95 ไร่ และ น.ส.3 ก.จำนวน 10 แปลง เนื้อที่ 230-3-08 ไร่ รวมมีเอกสารสิทธิที่ดินจำนวนเนื้อที่ 293-3-03 ไร่

ส่วนที่เหลือเนื้อที่ 186-1-58 ไร่ ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่พื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น นิคมสร้างตนเองลำตะคองยืนยันว่าเป็นพื้นที่ในเขตนิคมฯ ตามแผนที่แนบท้ายประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 351 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515

สำหรับเอกสารสิทธิที่ดินทั้งโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก.ทั้ง 13 แปลงนั้น ปัจจุบันถือกรรมสิทธิ์โดยบุคคลธรรมดาจำนวน 2 แปลง รวม 50-2-23 ไร่ คือ 1. โฉนดที่ดินเลขที่ 34378 เลขที่ดิน 72 หน้าสำรวจ 197 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 31-3-99 ไร่ มีชื่อ น.ส.พรจันทร์ ลูกอินทร์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และ 2. โฉนดที่ดินเลขที่ 68586 เลขที่ดิน 84 หน้าสำรวจ 1771 ต.โป่งตาลอง อ.ปากชอง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 18-2-24 ไร่

ส่วนที่เหลือจำนวน 11 แปลง รวมเนื้อที่ 243-0-80 ไร่ ปัจจุบัน “มูลนิธิตะวันธรรม” เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวซึ่งทั้งหมดได้รับการบริจาคให้มาพร้อมกันเมื่อปี 2550 ประกอบด้วย 1. โฉนดที่ดินเลขที่ 48139 เลขที่ดิน 75 หน้าสำรวจ 230 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 12-1-72 ไร่ รับให้จาก 1. นายสุรพณ มโนไพบูลย์ 2. น.ส.พรทิพย์ พิริยะโยธิน 3. น.ส.จิราภรณ์ วัฒนเวช เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

2. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1454 เลขที่ดิน 24 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 15-3-25 ไร่ (ก่อนแบ่งแยกเนื้อที่เดิม 50 ไร่) รับให้จาก น.ส.จิตสิริ ธนภัณฑ์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

3. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 14 เลขที่ดิน 69 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 28-0-0 ไร่ รับให้จาก 1. น.ส.จิราภรณ์ วัฒนเวช 2. น.ส.พรทิพย์ พิริยะโยธิน 3. น.ส. พรรณทิพย์ พิริยะโยธิน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

4. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 248 เลขที่ดิน 86 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 2-0-16 ไร่ รับให้จากนางสำเภา สุทนต์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

5. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1456 เลขที่ดิน 26 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 1-0-60 ไร่ รับให้จาก นางสำเภา สุทนต์ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2550

6.หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1470 เลขที่ดิน 41 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 7-0-00 ไร่ รับให้จาก 1. น.ส.จิราภรณ์ วัฒนเวช 2. น.ส.พรทิพย์ พิริยะโยธิน 3. น.ส. พรรณทิพย์ พิริยะโยธิน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

7. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1471 เลขที่ดิน 42 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 40-2-60 ไร่ รับให้จาก 1. น.ส.จิราภรณ์ วัฒนเวช 2. น.ส.พรทิพย์ พิริยะโยธิน 3. น.ส. พรรณทิพย์ พิริยะโยธิน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

8. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1485 เลขที่ดิน 57 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 40-0-00 ไร่ รับให้จาก 1. นายสุรพณ มโนไพบูลย์ 2. น.ส.จิราภรณ์ วัฒนาเวช เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

9. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1486 เลขที่ดิน 58 ต.(หมูสี) โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 20-0-00 ไร่ รับให้จาก 1.นายสุรพณ มโนไพบูลย์ 2.นายเพทาย มณีไพโรจน์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

10. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 140 เลขที่ดิน 83 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 28-1-69 ไร่ (ก่อนแบ่งแยกเนื้อที่เดิม 37-3-82 ไร่) รับให้จากนางสุดี รัตนวิจิตร เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

11. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 269 เลขที่ดิน 88 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 47-2-78 ไร่ รับให้จากนายสนั่น เพ็งชะตา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2550

นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า เอกสารแสดงสิทธิเดิมก่อนนำมาออกโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก.ดังกล่าว ทั้งหมดมีที่มาจากเอกสาร น.ค.3 ของนิคมสร้างต้นเองลำตะคอง ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีการดำเนินการตามขั้นตอนและกฎระเบียบของทางราชการ ฉะนั้นเบื้องต้นจึงยืนยันได้ว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวข้างต้นได้มาโดยชอบตามกฎหมาย ส่วนพื้นที่ที่เหลือที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินกว่า 186 ไร่นั้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบหาที่ไปที่มา และเป็นที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดบ้าง เช่น นิคมสร้างตนเองลำตะคอง, ส.ป.ก. และทางป่าไม้ เป็นต้น

แปลไทยเป็นไทยคือยังมีที่ดินอีกจำนวนกว่า 187 ไร่ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบเอกสารสิทธิได้ และหากครอบครองโดยมิชอบก็จักต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายไพโรจน์ บัวน่วม เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ขณะกำลังอธิบายถึงเอกสารสิทธิที่ดินอันเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติธรรม
ด้าน นายณรงค์ คงคำ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมเเละสวัสดิการพร้อมคณะ กล่าวหลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 บัญญัติไว้ว่ากรมการพัฒนาสังคมเเละสวัสดิการ สามารถอนุญาตให้สมาชิกนิคมสร้างตนเองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมฯ ได้ครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่ เเละเมื่อทำประโยชน์ในที่ดินจนครบตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สมาชิกนิคมฯ จะได้รับหนังสือเเสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ซึ่ง น.ค.3 ดังกล่าว สามารถนำไปขอโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3ก.) เเละเมื่อครบ 5 ปี จะสามารถโอนเปลี่ยนมือให้บุคคลอื่นได้ ซึ่งผู้รับโอนไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกนิคมฯ

ทั้งนี้ ที่ดินที่ได้รับโอนมาจากสมาชิกนิคมฯ จะต้องใช้เฉพาะเพื่อการทำเกษตร จะทำการอย่างอื่นได้ ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมเเละสวัสดิการ

สำหรับพื้นที่ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมฯ นั้น เข้าไปปลูกสร้างอาคารเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง รวม 499-3-0 ไร่ 20 เเปลง เเบ่งเป็นเอกสารสิทธิประเภทโฉนด 3 เเปลง 62-3-95 ไร่ ประเภท น.ส.3ก 10 เเปลง 230-3-08 ไร่ เเละที่ดินที่มีการครอบครอง 7 เเปลง 205-3-97 ไร่

นอกจากนี้การตรวจสอบที่ดินยังพบว่า เป็นชื่อมูลนิธิตะวันธรรม จำนวน 12 เเปลง เป็นของบุคคลธรรมดา (มูลนิธิตะวันธรรมครอบครองการใช้ประโยชน์) จำนวน 1 เเปลง เเละอีก 7 เเปลง อยู่ระหว่างการตรวจข้อมูลเอกสารสิทธิ

“ตาม พ.ร.บ.การจัดการที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 8, 9 เเละ 17 การใช้ที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเองอย่างอื่นนอกจากการเกษตร ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมเเละสวัสดิการ โดยต้องเสียค่าบำรุงกิจการนิคมไร่ละ 5,000 บาท”

แปลไทยเป็นไทยคือ มีช่องว่างทางกฎหมายทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากการทำเกษตรกรรมเป็นการประกอบกิจการอื่นๆ ได้เพียงแต่ต้องยื่นขออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว กฎหมายก็สามารถเปิดช่องให้ทำได้ และที่สำคัญคือทางกรมพัฒนาสังคมฯสามารถอนุญาตได้ในภายหลังได้อีกต่างหาก

เพียงแต่ ณ ขณะนี้ ศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซวัลเล่ย์ยังไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินต่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเท่านั้น

นายณรงค์อธิบายว่า “ผู้แทนของศูนย์ปฏิบัติธรรมที่มาพบ มีความประสงค์ที่จะขออนุญาต แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถอนุญาตได้ จนกว่าเราจะได้รับเอกสารหลักฐานสิทธิ์ต่างๆที่ทางศูนย์ปฏิบัติธรรมครอบครองอยู่ว่าถูกต้องตามข้อกฎหมายหรือไม่ เป็นเอกสารสิทธิ โฉนด น.ส. 3 ทั้งหมดหรือไม่ โดยจะต้องตรวจสอบเอกสารว่าถูกต้องตาม พ.ร.บ. ที่ดินจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ เมื่อตรวจสอบว่าถูกต้องแล้ว จึงจะนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการนั้นอธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมา ศูนย์ปฏิบัติธรรมฯ สามารถมาขออนุญาตได้ ณ วันนี้ แต่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานในการก่อสร้าง ถ้าไม่ผิด สามารถอนุญาตดำเนินการให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ได้”

คำถามก็คือ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร

คำถามก็คือ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมีท่าทีเรื่องนี้อย่างไร

อีกไม่นานคงรู้กันเพราะขณะนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว โดยมี นายไมตรี อินทุสิต ปลัดกระทรวง พม.เป็นประธาน

แต่เรื่องตลกขบขันที่จำต้องบันทึกไว้ก็คือ ท่าทีของศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ เพราะนอกจากจะออกมายืนยันว่า ที่ดินของศูนย์ฯ มีเอกสารสิทธิถูกต้องทุกประการ และการก่อสร้างก็ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องแล้ว ยังออกมาแถไถอย่างไม่น่าเชื่อว่า ศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์มิได้เป็นสาขาของวัดพระธรรมกาย

ทั้งนี้ นายสุธี ช่วยบำรุง ฝ่ายกฎหมายของศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ กล่าวยืนยันว่า พื้นที่ทั้งหมดมีหลักฐานเอกสารสิทธิถูกต้องโดยซื้อในนามมูลนิธิตะวันธรรมและการก่อสร้างอาคารเป็นของมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ที่ได้รับอนุมัติการการก่อสร้างจาก อบต.โป่งตาลอง และยืนยันว่า ไม่ใช่สาขาของวัดพระธรรมกาย แต่เป็นการบริจาคเงินของศิษยานุศิษย์เพื่อนำเงินมาก่อสร้าง โดยไม่มีการสร้างทับที่ ส.ป.ก.

จริงอยู่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ อาจไม่ใช่สาขาของวัดพระธรรมกาย แต่โดยข้อเท็จจริงก็ไม่สามารถปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องได้ เริ่มตั้งแต่ชื่อมูลนิธิที่ปรากฏชื่อของอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง อาจารย์ที่พระธัมมชโยให้ความเคารพนับถือสูงสุด รวมทั้งมูลนิธิแห่งนี้ก็ใช้เงินใช้ทองในการก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ภายในวัดพระธรรมกายมากมาย และแต่ละอาคารก็ล้วนแล้วแต่ใช้เงินจำนวนไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น อาคารคุณยายหนึ่งไม่มีสอง ที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง 350,000,000 บาท เป็นต้น

แถมมูลนิธินี้ก็ยังอยู่ในอุปถัมภ์ของพระธัมมชโยอีกต่างหาก เพราะชื่อที่ต่อท้ายมูลนิธิคือคำว่า “ในอุปถัมภ์พระราชภาวนาวิสุทธิ์” ก็เป็นสมณศักดิ์ของพระธัมมชโยก่อนหน้าที่จะได้เลื่อนขึ้นมาเป็นพระเทพญาณมหามุนี

หนักไปกว่านั้นก็คือ มูลนิธิตะวันธรรม ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์และมอบให้มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงในอุปถัมภ์พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เข้ามาใช้ประโยชน์ ปรากฏชื่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์(สมณศักดิ์ของพระธัมมชโยขณะนั้น) เป็นประธานมูลนิธิ

ขณะที่ตัวโฆษกนะจ๊ะซึ่งถูกดีเอสไอฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทฯ ก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวอรรถาธิบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นคุ้งเป็นแคว และเว็บไซต์ตลอดรวมถึงแฟนเพจเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายก็นำข้อความที่โฆษกนะจ๊ะแถลงข่าวไปลงไว้ยาวเหยียด

โฆษกนะจ๊ะบอกเอาไว้ว่า ศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซวัลเล่ย์ มิได้เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นศาสนสมบัติเพื่อพระพุทธศาสนาและประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของทั้งพระภิกษุ สามเณร ข้าราชการ เยาวชน และประชาชนทั่วไป เพื่อฟื้นฟูศีลธรรมกลับสู่สังคมไทย

โฆษกนะจ๊ะบอกด้วยว่า ผู้มาปฏิบัติธรรมจะต้องรักษาศีล 8 งดทานข้าวเย็น ห้ามดื่มเหล้า ห้ามสูบบุหรี่ นุ่งขาวห่มขาว ตื่นนอนตั้งแต่เวลา 04.30 น. เพื่อสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรม มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ห้องนอนเป็นห้องรวม ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เตียงไม้ขนาดกว้างเพียง 90 ซม. ใช้ห้องน้ำรวม ที่ดูอาคารมีขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถรองรับผู้มาปฏิบัติธรรมได้จำนวนมาก ครั้งละ 1,500 คน

นี่นับเป็นความ “ศรีธนญชัย” อย่างไม่น่าเชื่อว่า จะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ได้ชื่อว่า ผู้ปฏิบัติธรรม



กำลังโหลดความคิดเห็น