ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผ่านไปกว่า 1 เดือนก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าสำหรับคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นของ “พระเทพญาณมหามุนี(ไชยบูลย์ ธัมมชโย)” เพราะจนแล้วจนเล่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ยังไม่ยอมมารับทราบข้อกล่าวหา ยังคงทำตัวอยู่เหนือกฎหมายของประเทศไทยจนต้องยกนิ้วโป้งสองนิ้วให้กันเลยทีเดียว
แต่แล้ววันดีคืนดีพระเดชพระคุณหลวงพ่อก็มามุกใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะด้วยการรู้เห็นเป็นใจขององค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยอย่าง “มหาเถรสมาคม(มส.)” ด้วยหรือไม่ เมื่อ “พระครูวิจิตรอาภากร เจ้าคณะตำบลคลองสี่” มีคำสั่งแต่ง “พระราชภาวนาจารย์(เผด็จ ทตฺตชีโว)” ขึ้นรั้งตำแหน่ง “เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย” แทนศิษย์ผู้น้องซึ่งก่อตั้งวัดมาพร้อมๆ กัน
คำสั่งออกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2559 และให้มีผลในวันที่ 1 มิถุนายน 2559
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ ที่จะมองข้าม
แน่นอน ยุทธวิธีเปลี่ยนม้ากลางศึกเช่นนี้น่าจะมีผลทางจิตวิทยาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการแก้เกมก่อนหน้านี้ที่มีการเรียกร้องให้ปลดพระธัมมชโยออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ขณะเดียวกันก็เป็นการเรียกคะแนนสงสารให้เกิดขึ้นในหมู่ศิษยานุศิษย์ได้เป็นอย่างดี เพราะเหตุผลในการตั้งพระทัตตชีโวเป็นเจ้าอาวาสเขียนเอาไว้ชัดเจนโดยเจ้าคณะตำบลคลองสี่ว่า พระธัมมชโยยังคงมีอาการป่วยด้วยโรคเบาหวาน เส้นเลือดดำใหญ่อุดตันที่ขาซ้ายและภูมิแพ้ จำเป็นต้องพักรักษาสุขภาพ
พระธัมมชโยต้องการบอกให้ศิษยานุศิษย์และโลกรู้ว่า ป่วยจริง ไม่ได้เสแสร้ง
ส่วนถามว่า มีผลในเชิงโครงสร้างอำนาจในรัฐธรรมกายหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ไม่ เพราะพระธัมมชโยก็ยังคงเป็นศูนย์กลางหรือผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และถ้าจะว่าไปแล้ว “กลศึกสลับร่าง” ของวัดพระธรรมกายครั้งนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับ นช.หนีคดีทักษิณ ชินวัตร เพราะถึงจะอย่างไรผู้มีอำนาจตัวจริงก็ยังคงเป็น “พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย” เหมือนเดิม เฉกเช่นเดียวกับ “รัฐไทยใหม่” ที่แม้จะมีชื่อ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นหัวหอกออกหน้านั่งเก้าอี้ แต่ผู้ที่มีอำนาจสั่งการตัวจริงก็คือชายที่ชื่อ “ทักษิณ” อยู่วันยังค่ำ
เพียงแต่ว่า อาจมีข้อสงสัยอยู่ไม่น้อย เพราะในช่วงที่ศิษย์ผู้น้องเจ้าของสมญานาม “คุณครูไม่ใหญ่” ต้องเจอคดีความถาโถมเข้าใส่ สังคมไม่เห็นพระทัตตชีโวออกมาเคียงข้าง จะมีก็แต่ พระภาวนาธรรมวิเทศ (ภูเบศ ฌานาภิญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเบเนลักซ์ เบลเยียม ปรากฏกายให้เห็น จนเกิดเสียงร่ำลือถึงความไม่ลงรอยกัน ระหว่างศิษย์พี่ศิษย์น้อง
แต่เชื่อเถอะว่า “หลวงพ่อทัตตชีโว” เจ้าของสมญานามในหมู่ศิษยานุศิษย์ว่า “คุณครูไม่เล็ก” ยังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธัมมชโยเพราะถ้าสายสัมพันธ์ไม่แนบแน่นกันจริง คุณครูไม่ใหญ่คงไม่อนุญาตให้คุณครูไม่เล็กสร้างเจดีย์ขนาดมหึมาที่ตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีและใช้ชื่อว่า พระมหาเจดีย์ทัตตชีโวอย่างแน่นอน
ที่สำคัญคือ พระมหาเจดีย์ทัตตชีโว แห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นโดยตรง เนื่องเพราะที่ดินผืนที่ถูกใช้สร้างพระมหาเจดีย์แห่งนี้เคยถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีคำสั่งอายัดไว้
กล่าวสำหรับพระทัตตชีโวนั้น เรื่องราวชีวิตของเขามีความน่าสนใจไม่น้อย และถือเป็นบุคคลสำคัญอันดับที่ 2 รองจากพระธัมมชโยในอาณาจักรธรรมกาย โดยมีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ครั้งเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รวมทั้งมีพระอุปัชฌาย์เดียวกันคือ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ (ช่วง วรปุญโญ ป.ธ.9) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพวรเวที
นอกจากนี้ยังศึกษาปฏิบัติธรรมเรียน “วิชชาธรรมกาย” กับ “คุณยายอาจารย์จันทร์ ขนนกยูง” ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ร่วมกันอีกต่างหาก
ถ้าจะเปรียบว่า คุณยายจันทร์ ขนนกยูง เป็นเสมือนจอมทัพในการก่อร่างสร้างอาณาจักรธรรมกาย เปรียบพระธัมมชโยเป็นเสนาธิการผู้คอยวางแผน พระทัตตชีโวก็เป็นขุนศึกผู้นำทัพลงสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดหาที่ดินนับพันไร่ การสร้างศาสนสถาน สร้างอาคารปฏิบัติธรรม ฯลฯ ล้วนได้แม่ทัพชื่อ พระทัตตชีโว เข้าไปบริหารจัดการให้ลุล่วงไป
พระทัตตชีโวมีนามเดิมว่า “เผด็จ ผ่องสวัสดิ์” ถือกำเนิดในครอบครัวชาวไร่ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2483 สำเร็จการศึกษาจากคณะเกษตรกรรมและสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Diploma of Dairy Technology จาก Hawkesbury College, Australia
ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระภาวนาวิริยคุณ เมื่อปี พ.ศ. 2535 จากนั้น ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชภาวนาจารย์ วิ. ในปี พ.ศ. 2556
ก่อนหน้าที่จะมาเรียน “วิชชาธรรมกาย” เคยผ่านการศึกษา “ไสยศาสตร์” และการฝึกวิชา “คงกระพันชาตรี” มาแล้ว
พระทัตตชีโวได้เลยบอกเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ตีพิมพ์ในหนังสือมุทิตาสักการะในวาระ 60 ปีทองของการสร้างบารมี 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2543 และจากบันทึกที่เขียนไว้ในเรื่อง “ผจญมาร” ในหนังสือ “เดินไปสู่ความสุข” พิมพ์เมื่อปีพุทธศักราช 2512 ซึ่งแฟนเพจพระมหาเจดีย์ทัตตชีโว ต.เกาะสำโรง จ.กาญจนบุรี และเว็บไซต์ www.dmc.tv ได้นำมาถ่ายทอดให้กับศิษยานุศิษย์เอาไว้อย่างน่าสนใจ
“...เมื่ออาตมามีอายุย่างเข้าวัยรุ่นนั้น อาตมารักการฝึกสมาธิมาก เริ่มต้นมาตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ.2497-2498 ขณะเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยม 4 แรกทีเดียวเป็นเพราะได้อ่านวิธีการฝึกสมาธิในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งรจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 900 ที่เจอเพราะรักการอ่านหนังสือ เป็นชีวิตจิตใจนั่นเอง อาตมาอ่านหนังสือทุกประเภท อ่านจนหมดห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัดกาญจนบุรี พออ่านคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วก็อยากฝึกสมาธิ แต่ฝึกเองไม่ได้ผล จึงดั้นด้นค้นหาอาจารย์สอนสมาธิ ให้บังเอิญไปพบอาจารย์ที่ฝึกสมาธิเพื่อประโยชน์ทางอิทธิฤทธิ์เข้าก่อน จึงเลยเป็นไปตามฤทธิ์หนุ่ม คือฝึกวิชาหนังเหนียว รูดโซ่ ลุยไฟ สะเดาะกลอน สารพัด ใจมันอยากจะเป็นอย่างขุนแผนกับเขาบ้าง ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าวิชาเหล่านี้เป็นวิชามาร คิดว่าเป็นวิชาพระ เพราะมีคาถาประกอบเป็นบทสรรเสริญ พระพุทธคุณบ้าง บทสรรเสริญพระโมคคัลลาน์อัครสาวกผู้มีฤทธิ์บ้าง
“โชคดีที่อาตมามีความสนใจใคร่รู้เรื่องนรก-สวรรค์มาก ดังนั้นถึงแม้จะได้ร่ำเรียนวิชาที่ทำให้ มีอิทธิฤทธิ์มากเพียงใด วิชาเหล่านี้ก็ไม่สามารถดับความกระหายใคร่รู้เรื่องนรก-สวรรค์ได้เลย อาตมาจึงยังคงเสาะแสวงหาผู้รู้ในเรื่องนี้เรื่อยมา เมื่อมีเวลาว่างก็ดั้นด้นไปตามป่าตามเขา ไปฝึกสมาธิกับ พระเกจิอาจารย์ต่างๆ ได้โอกาสก็ถามท่านเรื่องนรก-สวรรค์เสียทุกคนไป แต่ไม่ว่าจะไปถามท่านใดทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสว่า นรกมีจริงไหม สวรรค์มีจริงไหม เทวดานางฟ้ามีจริงไหม ก็ไม่มีใครให้คำตอบที่จริงจังชัดเจน น่าเชื่อตามได้สักรายเดียว อาตมาจึงเชื่อในสิ่งที่สามารถพิสูจน์ ได้เฉพาะหน้า คือ เชื่อเรื่องหนังเหนียว รูดโซ่ ลุยไฟ เพราะเขาทำให้เราดูได้ และเมื่อเราลองทำ ก็ทำได้จริงอีกด้วย ตอนนั้นรู้สึกภูมิใจมาก”
กระทั่งสุดท้าย พระทัตตชีโวก็ได้พบกับพระธัมมชโยซึ่งเป็นนิสิตรุ่นน้องและนำพาไปพบกับแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง เพื่อร่ำเรียนวิชาธรรมกาย กระทั่งนำมาซึ่งการสร้างอาณาจักรธรรมกายร่วมกันในเวลาต่อมา
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงต้องจับตาว่า ยุทธวิธีสลับม้ากลางศึกเช่นนี้จะนำมาซึ่งอะไร เพราะเชื่อได้ว่า งานนี้ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า พระทัตตชีโวคือขุนศึกที่มีความเจนจัดในการลงมือปฏิบัติงานจริงเหนือกว่าทุกคนในอาณาจักรธรรมกาย