xs
xsm
sm
md
lg

วัดธรรมกายแหล่งฟอกเงิน “ทุนใหญ่-บิ๊กก่อสร้าง”แสบสุด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


          การตรวจสอบเชิงลึกกรณีวัดธรรมกาย จะทำให้สังคมได้เห็นสิ่งฟอนเฟะ โดยเฉพาะการใช้วัดเป็นสถานที่ฟอกเงินของบรรดากลุ่มทุน พบเครือข่ายทุนก่อสร้างหนักสุด  จะส่งผลดีต่อการปฏิรูปวงการพุทธศาสนาในการเข้าจัดการกับทุกๆ วัดรวมทั้งบรรดาญาติโยมที่เข้าไปทำบุญ แต่มีการทุจริตใบอนุโมทนาบัตรที่นำไปลดหย่อนภาษี ระบุตัวเลขเกินจริงเพื่อเลี่ยงภาษี ขณะที่สรรพากรระบุถ้าวัดใดมีการบริจาคและใบอนุโมทนาบัตรสูงผิดปกติ ก็จะเข้าตรวจสอบทันที

         การเข้าตรวจสอบของดีเอสไอ และหน่วยงานภาครัฐ ในคดีวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย ที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงการฉ้อโกงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น การใช้ความศรัทธาของประชาชนมาปลุกม็อบเพื่อคัดค้านการเข้าจับกุมพระธัมมชโย และการเข้าตรวจสอบการบุกรุกที่ป่าจำนวนมากของเครือข่ายวัดพระธรรมกาย

สิ่งที่สังคมจะได้เห็นต่อไปอันเป็นผลมาจากการที่ นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ  อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักอัยการสูงสุด ในฐานะพนักงานสอบสวนคดีฟอกเงินจากการยักยอกและฉ้อโกงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ระบุว่า อัยการฝ่ายคดีพิเศษมีคำสั่งให้คณะพนักงานสอบสวนคดีไปตรวจสอบใบอนุโมทนาบัตรกับผู้บริจาคเงินให้กับวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีทั้งกลุ่มบริษัท ห้างร้าน นิติบุคคลและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ถึงยอดเงินบริจาคจริงกับยอดเงินที่แจ้งในใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งนำไปใช้ยื่นลดหย่อนภาษีตรงกันหรือไม่ รวมถึงให้มีการตรวจสอบระบบในการออกใบอนุโมทนาบัตรว่าถูกควบคุมและบริหารจัดการอย่างไร และวัดพระธรรมกายดำเนินการเพียงลำพังหรือมีการกำกับควบคุมจากสำนักพุทธให้เสร็จภายในวันที่ 11 สิงหาคมนี้

        ประเด็นการตรวจสอบใบอนุโมทนาบัตรนี้เอง จะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเห็นชัดขึ้นว่า วัดพระธรรมกาย เป็นแหล่งฟอกเงินให้กับบรรดาคนกลุ่มนี้อย่างไร

อภิมหาตะลึง คนได้ประโยชน์จากธรรมกาย

      “คดีวัดธรรมกาย ผมคิดว่ามันเป็นอภิความตื่นตะลึงในเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้น และจะทำให้คนคิดไม่ ถึงว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเปรียบเสมือนฝีแตกน่ะ” อาจารย์ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุ และบอกอีกว่า การเข้าไปตรวจสอบวัดพระธรรมกายครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้สังคมรับรู้ว่า มีกลุ่มทุนต่างๆ ใช้วัดเป็นสถานที่ฟอกเงิน โดยมีพระและผู้เกี่ยวข้องของวัด ร่วมมือกันในการหาหนทางอันแยบยล หรือ ผ่องถ่ายทรัพย์สิน หรือมีเส้นทางการเงินลื่นไหลไปยังกระเป๋าของแต่ละฝ่ายอย่างมหาศาล ทั้งทางตรงและทางอ้อม  โดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน ซึ่งกลุ่มทุนที่เข้าไปไม่ใช่เป็นเพียงผู้ให้ หรือ ผู้บริจาห็นอย่างเดียว แต่กลับเป็นฝ่ายรับผลประโยชน์ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งเครือข่ายผลประโยชน์มันโยงใยไปหมด ไม่ว่ากลุ่มทุนทางด้านการก่อสร้าง กลุ่มคณะสงฆ์ ล้วนต่างมีผลประโยชน์ เอื้อกันทั่วหน้า
อาจารย์ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ

“เงินพระ- เงินวัด” เล่นกันซะเละ

อาจารย์ไพบูลย์ ย้ำว่า เมื่อเข้าไปตรวจสอบวัดพระธรรมกายในเรื่องของทรัพย์สินได้แล้ว จะทำให้รัฐใช้โมเดลวัดพระธรรมกายนี้ไปจัดการตรวจสอบวัดอื่นๆ ดังนั้นวัดพระธรรมกายจึงถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของวัด การจัดการของพระภิกษุในเรื่องต่างๆ ที่สะสมมานาน ขณะที่รายได้ของวัดที่เข้ามาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินทำบุญ เงินบริจาค หรืออสังหาต่างๆ ที่สำคัญในเรื่องการใช้ใบอนุโมทนาบัตรในการฟอกเงิน

   “ทรัพย์สินของธรรมกายค่อนข้างมหาศาล มีทั้งเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับคดี แต่มันจะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสของระบบการจัดการของวัด ที่หมกเม็ด ไม่เปิดเผย พอมารู้ทีหลังก็ตกใจ รวมทั้งทรัพย์สินดังกล่าวไปถืออยู่ในนามมูลนิธิเป็นส่วนใหญ่ คือ รับเงินบริจาคมาในนามวัดธรรมกาย ซึ่ง ทรัพย์สินเป็นศาสนสมบัติ แต่ถ้าถูกผ่องถ่ายโดยเอาเงินบริจาควัดไปก่อสร้าง แล้วให้อยู่ในรูปมูลนิธิ ก็จะอยู่ในรูปองค์กรเอกชน ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ ทรัพย์สินที่ก่อสร้างในนามมูลนิธิ จะถูกตีความว่าอย่างไร ยังเป็นสมบัติของวัดหรือไม่อย่างไร”

วัดพระธรรมกายจึงถือเป็นคดีตัวอย่างสำคัญ กระตุ้นให้มีการปฏิรูปการจัดการทรัพย์สินของวัด รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของพระภิกษุ เพื่อให้เป็นเรื่องโปร่งใส และตรวจสอบได้ และไม่ให้วัดเป็นสถานที่ที่เป็นช่องทางนำไปสู่การฟอกเงิน หรือหลีกเลี่ยงภาษีในทางมิชอบได้

ปัจจุบัน ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเงินทำบุญ หรือ จากเงินบริจาค จะมีการออกใบอนุโมทนาบัตร เพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า วัด หรือ พระภิกษุ กลายเป็นสถานที่ที่มีโอกาส ในการฟอกเงินที่ผิดกฎหมายได้ หรือบางครั้งมีเงินบริจาคเพื่อการก่อสร้าง แต่ไม่มีการตรวจสอบว่ามีการก่อสร้างจริงหรือไม่ ทั้งเงินวัด เงินพระ มันปนเป ยุ่งเหยิง ว่ากันซะเละไปหมด

อย่างไรก็ดีเมื่อ สังคมมองเห็นผลประโยชน์และความไม่โปร่งใสของวัดพระธรรมกายและกลุ่มคนที่เข้าไปใช้วัดเป็นที่ฟอกเงิน คนเหล่านี้ก็จะเป็นผู้เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป กิจการทรัพย์สิน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องทรัพย์สินวัด หรือทรัพย์สินพระภิกษุ ซึ่งถือว่าเป็นที่มาของปัญหาทั้งหมด

“การสังคายนาในเรื่องนี้ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังคดีวัดธรรมกายและพระธัมมชโยได้ข้อยุติ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเรียบร้อยแล้ว จากนั้นถึงได้ก้าวไปสู่เรื่องอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาต่างๆ จะผุดออกมาอย่างมากมาย โยงใยถึงเครือข่ายต่างๆ เรียกได้ว่าสังคมจะตกตะลึงกับรายชื่อกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์กันเลยทีเดียว เช่นกลุ่มก่อสร้าง และถือเป็นเรื่องราวใหญ่ อื้อฉาวระดับโลก แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้” อาจารย์ไพบูลย์ บอกด้วยความมั่นใจในข้อมูลที่ได้พบเห็นมา

อีกทั้งหากจัดการกรณีวัดพระธรรมกายได้สำเร็จ จะถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ คสช. และนายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นสอดรับกับกระแสสังคมที่เรียกร้อง ซึ่งรัฐบาลและคสช.ก็ได้ทำตามเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องของการกลั่นแกล้งวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย แต่เป็นเรื่องของความถูกต้อง ยึดตามกฎหมายเป็นหลัก

ใช้ใบอนุโมทนาบัตรคืนภาษีปีละหลายหมื่นล้าน

ด้าน นายแพทย์มโน เลาหวณิช อดีตศิษย์วัดพระธรรมกาย แสะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงปัญหาของวงการสงฆ์ทุกวันนี้ว่า ปัญหาที่สำคัญ คือ การบริหารเงินในวัด อย่างเงินบริจาคในตู้ของวัด เจ้าอาวาส จะเป็นผู้กำหนด หรือ จัดการเอง เจ้าอาวาส หรือ บัตรไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ไม่มีการกำหนดมาตรฐานใบอนุโมทนาบัตร ว่าต้องทำบุญเท่าไหร่

ดังนั้น ในแต่ละปีจะมีคนมาขอหักภาษีโดยใช้ใบอนุโมทนาบัตรของวัดต่างๆ ปีละประมาณหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ในแต่ละปีก็ไม่มีรายงาน หรือ มีการตรวจสอบว่าเงินรายได้ที่ใช้ยื่นขอลดหย่อนภาษี เป็นเงินบริจาคจริงหรือไม่ หรือ ยอดที่แจ้ง ตรงกับที่บริจาคหรือไม่?

พระยอมรับใช้วัดแหล่งฟอกเงินเป็นเรื่องจริง

พระดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ อ.เมือง จ.ชุมพร ซึ่งเป็นพระธรรมวิทยากรและพระวิปัสสนาจารย์ มีความเห็นสอดคล้องกับนายแพทย์มโน เกี่ยวกับการใช้วัดเป็นที่ฟอกเงิน ด้วยการออกใบอนุโมทนาบัตรไม่ตรงกับตัวเลขบริจาคจริงไปใช้ลดหย่อนภาษี ว่า เกือบ 80-90% ของวัดส่วนใหญ่ของประเทศ จะมีปัญหาตรงนี้ แต่ทั้งนี้จากอำนาจการปกครองทั้งหมดโดยเจ้าอาวาสมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารเงิน และในการตรวจสอบก็ทำไม่ได้ เนื่องจากเป็นเงินบริจาคจากชาวบ้าน จากแรงศรัทธา เงินทำบุญ ดังนั้น จึงเป็นการเปิดช่องทางให้วัดเป็นแหล่งฟอกเงินได้

“วัดที่ดีต้องมีการทำบัญชีที่โปร่งใส ต้องสอบบัญชีทุกเดือน ทุกต้นเดือน ควรมีการรายงานจากพระ เลขาฯ”

ทั้งนี้ เพื่อให้วัดไม่ต้องตกเป็นสถานที่ฟอกเงิน หรือ สะสมปัญหาต่างๆ คณะสงฆ์ควรจะปฏิรูปตัวเอง หรือรัฐบาลควรออกมาตรการออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้คิดมิชอบ หรือกลุ่มทุนต่างๆ ทั้งนิติบุคคล หรือ ตัวบุคคล มาอาศัย หรือ ร่วมมือคนในผ้าเหลืองเป็นเกราะในการผ่องถ่าย ยักยอก หรือ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนได้อีกต่อไป

  ส่วนพระสงฆ์ผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่งจากวัดดังย่านนครปฐม บอกว่า รายได้วัดจะมาจากเงินทำบุญจากตู้และเงินบริจาค ซึ่งที่วัดนี้เงินทำบุญจากตู้ก็จะมีการไขทุกวัน และนำเข้าไปที่สำนักงานของวัด จะทำการนับ และตรวจสอบโดยสมุห์บัญชีกับไวยาวัจกร จากนั้นก็จะเรียกธนาคารมารับเงินไปเก็บ โดยธนาคารจะค่อนข้างรักษาความลับของวัด (ลูกค้าประจำเก่าแก่) อย่างมาก ส่วนเจ้าอาวาสก็ต้องรับรู้บัญชีรายรับ รายจ่าย ตลอดเวลาเช่นกัน

“ถ้าถามถึงการฟอกเงิน ก็มีเกือบทุกวัด โดยเฉพาะวัดใหญ่ๆ เพียงแต่ว่าตราบใดที่ทุกคนได้ผลประโยชน์เท่ากัน เรื่องก็ยังไม่แดงออกมา อย่างกรณีวัดธรรมกาย ก็มาจากคนในออกมาแฉ”

ขณะที่เจ้าหน้าที่สรรพากร บอกว่า ปกติ ใบอนุโมทนาบัตร ในการยื่นลดหย่อนภาษีจะไม่มีการตรวจสอบใดๆ ยกเว้นแต่ว่าวัดนั้นมีจำนวนคนใช้ใบอนุโมทนาบัตรในการลดหย่อนภาษีกันมากจนผิดสังเกต ก็จะมีการเรียกตรวจ อย่างเช่นกรณีวัดพระธรรมกายที่มีปัญหาเกิดขึ้น กรมสรรพากรก็คงต้องเข้าไปดูในเรื่องใบอนุโมทนาบัตรกันอย่างละเอียดแน่นอก ซึ่งใบอนุโมทนาบัตรสำหรับผู้บริจาคนั้น ต้องเป็นใบที่ผู้รับบริจาคเป็นวัดในพุทธศาสนา และต้องเป็นวัดที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งหักลดหย่อนได้เท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินกว่าร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ

กำลังโหลดความคิดเห็น