xs
xsm
sm
md
lg

จุดจบคดีพระธัมมชโย !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คดีพระธัมมชโยเบี้ยวนัดดีเอสไอ ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนมีนาคม เริ่มจาก “รับทราบข้อกล่าวหา” ยกระดับมาสู่ “การจับกุม” ในเดือนพฤษภาคม แต่ละช่วงเวลาจะเห็นยุทธวิธีการต่อสู้ของวัดธรรมกายและฝ่ายรัฐที่ต้องระมัดระวังเพื่อไม่นำไปสู่ความรุนแรง รวมไปถึง Hate Speech ที่ปล่อยสู่โลกโซเชียล ขณะที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ชี้จุดจบคดีนี้ WIN-WIN แจง 4 ปัจจัยที่ดีเอสไอไม่บุกเข้าจับตัวพระธัมมชโยในเวลานี้ แต่ถ้ามีจังหวะจู่โจมได้จะเข้าจับกุมทันที!

จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ขออนุมัติศาลออกหมายจับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในคดีความผิดฐานสมคบและร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร หลังมีชื่อเป็นผู้รับเช็คบริจาคจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งดีเอสไอ และกระทั่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ย้ำว่าให้ยึดข้อกฎหมายเป็นหลักในการลดข้อขัดแย้ง

แต่การเข้าจับกุมพระธัมมชโย ไม่ใช่เรื่องง่าย และพระธัมมชโยส่งตัวแทน ได้มอบหมายให้นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความวัดพระธรรมกาย ออกมารับหน้า พร้อมให้เหตุผลต่างๆ นานา เพื่อขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า

ขณะเดียวกันคดีพระธัมมชโย อยู่ในความสนใจของสังคมเป็นอย่างมากที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเข้าดำเนินคดีครั้งนี้ จนกลายเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวก และมีการสร้างกระแสโจมตีปล่อย “Hate Speech” หรือ “วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง” ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะฝ่ายที่ต้องการปกป้องวัดพระธรรมกาย ก็ใช้วาทกรรมให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของพระธัมมชโย และป่าวประกาศให้เห็นว่ามีอาการอาพาธจริง ไม่ได้ต้องการจะหลีกเลี่ยงดีเอสไอ อีกทั้งมีการโจมตีเรื่องยัดเยียดข้อหารับของโจร และวัดเป็นสถานที่ “ทำบุญ” ไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคง ดีเอสไอที่เร่งรัดจับกุมพระธัมมชโย รวมถึงหมอมโน อดีตศิษย์ธรรมกายนั้นจงใจใส่ความหลวงพ่อ

พระธัมมชโยเบี้ยวนัดหลายรอบ

เมื่อลำดับเหตุการณ์จะแสดงให้เห็นชัดเจนตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ออก “หมายเรียก” “พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหา “ฟอกเงิน” และ “รับของโจร” จากคดีทุจริตและยักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นของ “นายศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเป็น “ศิษย์” และผู้ใกล้ชิดวัดพระธรรมกาย โดยกำหนดวันให้พระเทพญาณมหามุนี ในฐานะผู้ต้องหาให้มารับทราบข้อกล่าวหาและให้ถ้อยคำที่สำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในวันที่ 8 เม.ย. 2559 เวลา 09.00 น.

ซึ่งการผิดนัดครั้งแรก ในช่วงเดือนเมษายน ทนายความของวัดพระธรรมกายให้เหตุผลที่ทำให้เข้าพบพนักงานสอบสวนไม่ได้ว่า เพราะติดศาสนกิจตลอดช่วงเดือนเมษายน ทั้งเตรียมงานบุญวันเกิดพระธัมมชโยในวันที่ 22 เมษายน 2559 อีกทั้งภารกิจบวชสามเณรภาคฤดูร้อนและภารกิจอื่นๆ ซึ่งดีเอสไอก็อนุญาตตามขั้นตอนและระเบียบที่เปิดช่องให้ดำเนินการได้ พร้อมกำหนดให้ “ผู้ต้องหา” เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 25 เมษายน 2559 แทน

แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาการนัดหมายครั้งที่สอง ทนายความของวัดพระธรรมกายก็ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งโดยให้เหตุผลว่า พระธัมมชโย “อาพาธ” อีกทั้งมีการเผยแพร่ภาพ “เท้า” ที่มีแผลติดเชื้อเรื้อรังของพระธัมมชโยเพื่อประกอบการขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวน โดยใบรับรองแพทย์ ซึ่งเรืออากาศโทนายแพทย์ชูชัย พรพัฒนาพันธุ์ แพทย์ประจำคลินิกรัตนเวช หนึ่งในคณะแพทย์ผู้รักษา ระบุอาการว่า พระธัมมชโยมีอาการอาพาธหลายโรค ทั้ง โรคบ้านหมุน โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ ซึ่งแพ้ทั้งเกสรดอกไม้และควัน และอาการเส้นเลือดอุดตันที่ขา
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รอง อธิบดีดีเอสไอ
จากการเลื่อนนัดเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาถึง 2 ครั้ง จึงนำมาสู่การยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขออนุมัติหมายจับพระเทพญาณมหามุนีมาดำเนินคดีต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นมติการประชุมและพิจารณาความเห็นร่วมกัน ระหว่างคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการร่วมสอบสวนและที่ปรึกษาคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 25 เมษายน โดยในครั้งนี้ ศาลไม่อนุมัติหมายจับ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ส่งหมายเรียกครั้งที่สาม ถึงพระธัมมชโยให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาฐานสมคบกันฟอกเงินและรับของโจรอีกครั้ง ในวันที่ 16 พฤษภาคม เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้เมื่อพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยื่นคำร้องขอหมายจับครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ออกหมายจับพระธัมมชโย ซึ่งพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้แจ้งให้พระธัมมชโยมาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาภายในวันที่ 26 พฤษภาคม แต่หากพระธัมมชโยไม่เดินทางมาพบคณะพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามนัดหมายนั้น ดีเอสไอ ยืนยันว่าจะใช้ “มาตรการดำเนินการต่อพระธัมมชโยจากเบาไปหาหนัก” และจะไม่ใช้วิธีการที่รุนแรงในการดำเนินการจับกุมพระธัมมชโย

กระทั่งวันสุดท้ายที่ดีเอสไอให้พระธัมมชโยมารับทราบข้อกล่าวหาต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสัมพันธ์ ทนายความก็มีการติดต่อมาเพื่อขอย้ายสถานที่รับทราบข้อกล่าวหาไปยัง สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แต่ในที่สุดเมื่อถึงเวลา 16.30 น. ดีเอสไอก็รับแจ้งว่าพระธัมมชโยเกิดอาพาธกะทันหัน ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ตามกำหนดนัดหมาย

สิ้นสุดเส้นตาย ในวันถัดมา ทนายพระธัมมชโย มีการติดต่อมาอีก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มอบตัว จึงนำมาสู่เหตุการณ์ที่วัดพระธรรมกายเริ่มดำเนินการในลักษณะต่างๆ ทั้งนำรถแบ็กโฮมาปิดประตู 1 ทางกุฏิพระธัมมชโย ล้อมรั้วลวดหนาม และการเคลื่อนไหวของศิษยานุศิษย์ ที่ขยายวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ

คดีธัมมชโยต้องใช้หลักรัฐศาสตร์

จากสถานการณ์ที่พระธัมมชโยให้ทนายความติดต่อมาเลื่อนนัดหลายครั้ง และสุดท้ายไม่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามกำหนดวันนัดหมายนั้น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (27 พ.ค. 2559) ได้บอกถึง 4 แนวทางในการดำเนินการ คือ “1. ให้กำหนดแผนหมายจับตามแผนดีเอสไอ 2. ส่งหมายจับให้ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่หากเห็นผู้ต้องหาสามารถจับกุมได้เลย 3. ส่งหนังสือให้ฝ่ายเถรสมาคมชี้แจงให้ทราบว่าใครเป็นผู้บังคับบัญชาเนื่องจากมีพระบางรูปขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อชี้แจงความผิดพิจารณาการลงโทษ และ 4. ดำเนินการตามกฎหมายคดีอาญา ม.189 หากผู้ใดช่วยเหลือหรือให้ที่พักพิงจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย”

ส่วนดีเอสไอนั้น ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เพื่อแจ้งขอรับการสนับสนุนกำลังพล สถานที่ และอุปกรณ์ในการปฏิบัติภารกิจ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งในจุดนี้ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นการดำเนินการที่ได้พิจารณาแบบรอบคอบหลายด้าน โดยใช้หลักการทางนิติศาสตร์ควบคู่กับรัฐศาสตร์ด้วย เพราะถ้าเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งอาจส่งผลกระทบได้

จากนั้นดีเอสไอได้เชิญ นพ.มโน เลาหวณิช อดีตลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย เข้าร่วมหารือแนวทางเกี่ยวกับคดีของพระธัมมชโย โดยเสนอให้เชิญสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ให้พระธัมมชโย เพื่อขอให้ช่วยเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยให้พระธัมมชโยเข้ามอบตัว และจะได้ไม่เกิดความรุนแรง ซึ่งทางดีเอสไอได้ส่งหนังสือไปให้สมเด็จช่วงเรียบร้อยแล้วในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยได้ทำหนังสือเป็นองค์คณะเพื่อให้ช่วยแก้ไขและสนับสนุนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

ขณะที่ในการประชุมฝ่ายความมั่นคง (27 พ.ค. 2559) ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ย้ำถึงการดำเนินการในเรื่องนี้ว่าเป็นไปตามกฎหมาย และตามขั้นตอนของดีเอสไอ ได้สั่งการต่อที่ประชุมว่า ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นไปตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หลังจากเลยกำหนดเข้าสู่วันที่หก (31 พ.ค. 2559) ที่พระธัมมชโยไม่มามอบตัวนั้น เริ่มมีเสียงเรียกร้องและคำถามจากสื่อถึงการใช้กฎหมายดำเนินคดีกับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

ซึ่งการรับมือกับสถานการณ์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่ามีแผนรับมือ และกฎหมายต้องมาก่อนวินัยสงฆ์ ใครที่เกี่ยวข้องก็ให้คำชี้แจงตามกระบวนการยุติธรรม เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องอ่อนไหว มีผลกระทบต่อพุทธศาสนิกชน ดังนั้นเพื่อไม่ให้บานปลายใหญ่โต ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดความขัดแย้ง โดยพิจารณาตามกฎหมาย ธรรมวินัย และวินัยสงฆ์ไปพร้อมๆ กัน อย่าไปมองกฎหมายอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตามเรื่องของกฎหมายจะต้องมาก่อนวินัยสงฆ์

“การที่หลายฝ่ายออกมากดดันพร้อมแสดงความเห็น ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ทำหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ซึ่งหากดีเอสไอนำกำลังตำรวจ ทหารเข้าไป แล้วเหตุการณ์บานปลาย จนแก้ปัญหาไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้น ให้ดูจากบทเรียนปี 2553 และที่ยังไม่มีการดำเนินการในตอนนี้ เพราะด้วยเหตุผลและความจำเป็นด้วยหลักการ ไม่อยากให้ประชาชนเกิดการบาดเจ็บล้มตาย”
การประชุม 3 ฝ่ายดีเอสไอ-สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ-เจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ ไม่มีตัวแทนจากวัดพระธรรมกาย
ขณะเดียวกัน ดีเอสไอ และตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเป็นแบบการเจรจา โดยเชิญพระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ในฐานะเจ้าคณะปกครองพระธัมมชโย เพื่อเป็นคนกลางประสานให้พระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย

ล่าสุดผลจากการประชุม 3 ฝ่าย “ดีเอสไอ-พศ.-เจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ” (6 มิ.ย. 2559) พบว่ายังหาข้อสรุปไม่ได้ ที่สำคัญการประชุมครั้งนี้ยังไร้เงาตัวแทนจากวัดพระธรรมกาย โดยเจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ กล่าวว่า คดีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคำสั่งทางสงฆ์ แต่เป็นคำสั่งทางกฎหมายจากดีเอสไอ ดังนั้นจึงตั้งนายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความ วัดปากน้ำฯ ให้เป็นที่ปรึกษา

ซึ่งนายสมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่วัดพระธรรมกายไม่ได้ส่งตัวแทนหรือทีมกฎหมายเข้าหารือครั้งนี้ เป็นเพราะติดขัดที่มีศิษย์วัดหลายฝ่าย จึงไม่สามารถส่งตัวแทนเข้าประชุมในวันนี้ได้ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขหลักๆ ที่วัดพระธรรมกายขอมา คือ เรื่องการให้ประกันตัวทันที และเรื่องขอแพทย์ รพ.พระมงกุฎฯ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ดีเอสไอต้องนำไปพิจารณาต่อไป ส่วนการนัดเจรจาในครั้งต่อไปจะมีอีกครั้งในวันที่ 14 มิ.ย.นี้

พลิกภาพลักษณ์จากแข็งกร้าวสู่เดินสายปิดจุดอ่อน

ขณะเดียวกันในส่วนกลุ่มพิทักษ์ธรรมกายที่ออกมากดดันรัฐบาล ก็เริ่มแผ่วลงไป เพราะทันทีที่มีภาพนายกิตติศักดิ์ ศรีสุนทร อดีตการ์ดของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นุ่งขาวห่มขาว แสดงตนเป็นนักปฏิบัติธรรม ปรากฏเป็นข่าวและส่งต่อกันในโซเชียลมีเดีย ทำให้สังคมรับรู้ว่ามีกองกำลัง นปช.แฝงตัวอยู่ในวัดพระธรรมกาย และเริ่มมีความวิตกกังวลกับเหตุการณ์ว่าจะบานปลายไปกว่านี้

โดยทางวัดพระธรรมกาย ก็มีการเปลี่ยนท่าทีใหม่ (1 มิ.ย. 2559) มีการถอนรถแบ็กโฮออกจากประตูหน้าวัดด้านประตู 1 แต่ยังมีการนำท่อคอนกรีตและกระสอบทรายมาตั้งที่ประตู 5 โดย พระมหานพพร ปุญญชโย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย ได้แสดงจุดยืนผ่านสื่อมวลชนว่า “วัดธรรมกายไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีการจัดตั้งกลุ่มคนหรือก่อม็อบในวัดแน่นอน”

นอกจากนี้ “องค์กรพุทธในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี” เช่น สมาคมสร้างสรรค์สันติสุข นางาโน ประธานสภาสงฆ์เถรวาทแห่งประเทศเกาหลี ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นใจในการชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมายกับพระธัมมชโย โดยในเนื้อหาระบุว่า มีความกังวลใจและไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการต่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

โดยเฉพาะพระภิกษุสูงอายุที่กำลังอาพาธอยู่ จึงขอเรียกร้องผ่านนายกรัฐมนตรี ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการอย่างชอบธรรม และเป็นไปด้วยความละมุนละม่อม โดยไม่มีการใช้ความรุนแรง (3 มิ.ย. 2559) นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ออกมาเปิดเผยว่า ยินดีให้ทีมแพทยสภาเข้าตรวจอาการพระธัมมชโย พร้อมปฏิเสธข้อเสนอดีเอสไอ ที่จะส่งแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจเข้าร่วมตรวจสอบ เพราะเกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายยื่นหนังสือร้องเรียนที่ม.ธรรมศาสตร์  ภาพจาก เพจเฟซบุ๊กสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย
ล่าสุด (6 มิ.ย. 59 ) ตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิการบดี คณบดีคณะแพทย์ และประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอให้ตรวจสอบจรรยาบรรณและวุฒิภาวะของ นพ.มโน เลาหวณิช กรณีการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโครงการคณะสงฆ์ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่วัด และพุทธศาสนา อีกทั้งยัง เรียกร้องถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ นพ.มโน ที่สวมใส่เสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ออกมาให้ข้อมูลกล่าวร้ายพระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และวัดพระธรรมกาย ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนที่ได้รับฟังและมีข้อมูลไม่เพียงพอ จึงเป็นเหตุให้คณะศิษยานุศิษย์ต้องทำหนังสือร้องเรียนถึงมหาวิทยาลัย

4 ปัจจัยไม่ผลีผลามจับธัมมชโย

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หลังวันที่ 26 พ.ค. ซึ่งพระธัมมชโยยังไม่มีการมอบตัวนั้น เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการเล่นเกมกันมากกว่า โดยใช้วิธีการต่อรองไม่เข้ามอบตัวโดยยกเงื่อนไขต่างๆ นานาขึ้นมา

แต่ในอนาคต เชื่อว่าเรื่องนี้จะจบโดยวิน-วินกัน ทั้งฝ่ายดีเอสไอและพระธัมมชโย คือ มีการเจรจามอบตัวและสู้คดีกันต่อไป ซึ่งถือว่าจะเป็นประโยชน์กับพระธัมมชโยมากกว่า และการหลบหนีในช่วงเวลานี้คงยังไม่มีความจำเป็น เพราะเรื่องนี้แตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ดังนั้นจึงสามารถใช้ชีวิตอยู่ในวัดได้อย่างสบายๆ

ในทางตรงกันข้าม หากว่ายังคงดื้อดึงให้เหตุการณ์ยืดเยื้อออกไปนาน หมายถึงต้องมีการคงกำลังคนไว้ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายตามมา ต้องมีสายป่านที่ยาวมากกว่านี้ อีกทั้งภาพพจน์ของวัดพระธรรมกายจะยิ่งเสียหายร้ายแรงไปด้วย

ส่วนการที่ ดีเอสไอ จะเข้าจับกุมนั้นคงต้องใช้เวลาอีกระยะ แต่ขณะเดียวกันคดีนี้ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ดังนั้นหากมีจังหวะและสถานการณ์เอื้อต่อการมอบตัว เชื่อว่าจะมีการมอบตัว เพราะการบิดพลิ้ว ถ่วงเวลาไม่มีการเจรจาก็จะทำให้ถึงทางตัน และไม่เป็นประโยชน์กับพระธัมมชโย
 นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ซึ่งนายไพบูลย์ ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า ฝ่ายความมั่นคงไม่มีความจำเป็นจะต้องผลีผลามบุกเข้าไปในวัดพระธรรมกาย ด้วยเหตุผล 4 ประการ

ประการแรก มีการประเมินว่ากองกำลังที่กล่าวกันว่าเป็นมือที่สามนั้น ยังคงแฝงตัวอยู่ในวัดตลอดเดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องเสี่ยงให้เกิดความรุนแรง

ประการที่สอง กระแสสังคมมีความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังไม่กดดันให้รัฐบาล คสช.ดำเนินการจับกุมพระธัมมชโยในทันที

ประการที่สาม ไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นก่อนที่จะมีประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

ประการที่สี่ คดีความยังเดินหน้าต่อไปได้ โดยดีเอสไอสามารถสรุปสำนวนส่งอัยการได้

อย่างไรก็ตาม หากว่าในจังหวะเวลาใด พระธัมมชโยพลั้งเผลอหรือเปิดช่อง ก็เชื่อว่าดีเอสไอจะบุกเข้าไปจับถึงในวัด ได้เช่นกัน ซึ่งหากเรื่องนี้ยังคงยืดเยื้อ ในแต่ละวันพระธัมมชโยก็จะตกอยู่ภายใต้ความทุกข์ และมีความวิตกกังวลว่าจะถูกจู่โจมเข้ามาจับตัวเมื่อไร

กำลังโหลดความคิดเห็น