xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เตงๆ เค้ามีอะไรจะบอก จะจับ “ธัมมี่” ต้องจี้ “มส.” นะจ๊ะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ล้ำยุค และล้ำสมัย สมกับที่ได้เคยออกมาตอบคำ ถามว่า หลังเสียชีวิต “สตีฟ จ็อบส์” ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล อิงค์ ยักษ์ใหญ่วงการไอทีโลก ได้ไปเกิดเป็น “เทพบุตรภุมมะเทวาระดับกลางสายวิทยาธรกึ่งยักษ์” เสียจริงๆ เมื่อ “วัดพระธรรมกาย” ได้เปิด “กุฏิดาวดึงส์” ซึ่งเป็นที่จำวัดของ “พระเทพญาญมหามุนี(ไพบูลย์ ธัมมชโย) พร้อมกับถ่ายทอดสด(LIVE) ผู้ต้องหาตามหมายจับของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ผ่านช่อง DMC TV ขณะกำลังนอนอาพาธอยู่ภายใน “ห้องปลอดเชื้อ”

ย้ำอีกครั้งว่า เป็น “ห้องปลอดเชื้อ” ที่จัดสร้างขึ้นมาสำหรับพระธัมมชโยเนื่องจากอาพาธด้วยโรคเบาหวาน และไม่อาจให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสได้ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้อาการอาพาธทวีความรุนแรงขึ้น

ประเด็นสำคัญของความเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็คือ ทางวัดพระธรรมกายต้องการแสดงให้เห็นว่าพระธัมมชโยอาพาธจริงๆ ไม่ได้ป่วยการเมืองและไม่ได้หนีออกนอกประเทศอย่างที่เป็นข่าว โดยเที่ยวนี้เจตนาจะแสดงให้เห็นถึง “ขาอันดำคล้ำ” ของพระธัมมชโย ซึ่งสังคมสงสัย

ประเด็นสำคัญของการถ่ายทอดสดครั้งนี้ก็คือ การออกมายืนยันกับสังคมว่า พระธัมมชโยอาพาธจริงและไม่สะดวกที่จะเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นตามหมายจับได้ พร้อมทั้งปรารถนาจะให้พนักงานสอบสวนเดินทางมาแจ้งข้อหา ณ วัดพระธรรมกาย ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 แทน

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่าการลงทุนลงแรงพาสื่อมวลชนเข้าไปยัง “กุฏิดาวดึงส์” ซึ่งเป็นที่จำวัดของพระธัมมชโย และไม่เคยอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าถึง จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ เนื่องเพราะทางพนักงานสอบสวนดีเอสไอยังคงยืนกระต่ายขาเดียวเหมือนเดิมว่า พระธัมมชโยจะต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามที่กำหนดไว้สถานเดียวเท่านั้น

แต่สิ่งที่ไม่น่าแปลกใจเลยก็คือ งานนี้ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมาจาก “มหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อสงฆ์ภายใต้การปกครองต้องคดีความทางโลก มส.จะต้องเข้ามามีส่วนสำคัญ

ก็จะแปลกใจอะไรเล่า เพราะชั่วโมงนี้ เป็นที่รับรู้กันดีว่า พระเถระชั้นผู้ใหญ่ล้วนแล้วแต่มีความเอื้ออาทรต่อพระธัมมชโยแทบทั้งสิ้น
LIVE SHOW ยืนยันอาการอาพาธของพระธัมมชโยที่จนแล้วจนเล่าสังคมก็ยังไม่เชื่อ

LIVE @ ดาวดึงส์

หลังจากที่สังคมคลางแคลงใจอย่างหนักเกี่ยวกับอาการอาพาธของพระธัมมชโย เพราะไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไร เพราะไม่ว่าจะมีใบรับรองแพทย์จากไหนมายืนยัน ก็ไม่อาจทำให้เชื่อได้ว่า พระธัมมชโยอาพาธหนักถึงขั้น “เจียนจะอยู่เจียนจะไป” จริงๆ การแก้ไขสถานการณ์จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น

เพราะแม้ลูกศิษย์ของพระธัมมชโยจะมีเป็นล้านๆ คนและทุกคนพร้อมใจกันเปลี่ยนโปรไฟล์รูปตัวเองว่า “เราเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของหลวงพ่อธัมมชโย” แต่ก็ไม่อาจทำให้เรื่องคลี่คลายลงไปได้ เพราะนี่คือเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีกฎหมายกำกับเอาไว้อย่างชัดเจน

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2559 วัดพระธรรมกายจึงตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการเชิญสื่อมวลชนจากหลากหลายสำนักให้เดินทางมาตรวจสอบอาการอาพาธของพระธัมมชโยถึงที่วัด เพื่อยืนยันว่า พระธัมมชโยอาพาธจริงๆ และไม่ได้หลบหนีออกนอกประเทศตามที่เป็นข่าว

ทั้งนี้ โดยมีนายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย คอยให้การต้อนรับ พร้อมพาเยี่ยมชมรอบๆ บริเวณวัด

เมื่อถึงหน้ากุฏิพระธัมมชโย นายองอาจได้ชี้แจงพร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนว่า ไม่สามารถให้เข้าไปในห้องปลอดเชื้อได้ เนื่องจากหวั่นว่าแผลที่ขาจะติดเชื้อ แต่จะมีการถ่ายทอดสดออก อากาศผ่านช่อง DMC TV ออกอากาศให้ศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายทั่วประเทศได้รับชม พร้อมทั้งนำจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ 2 จอ มาตั้งบริเวณหน้ากุฏิพระธัมมชโยให้ดูแบบเรียลไทม์ และไม่ได้เป็นการตัดต่อภาพ จากนั้นนายองอาจได้ให้สื่อมวลชน 5 ราย เขียนข้อความใส่กระดาษถ่ายเอกสารขนาดเอ 4 พร้อมหนังสือพิมพ์ ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.นี้ เข้าไปในห้องปลอดเชื้อ

กระทั่งเวลา 15.00 น. เริ่มการถ่ายทอดสดภาพการตรวจสอบอาการอาพาธพระธัมมชโย โดยนายองอาจได้ยกกระดาษที่สื่อมวลชนเขียนข้อความลงไปควบคู่กับหนังสือพิมพ์ เพื่อยืนยันว่าเป็นการถ่ายทอดสด ส่วนบรรยากาศภายในห้องปลอดเชื้อ มีพระธัมมชโยนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย โดยมีแพทย์ 3 ท่านคอยดูแลอย่างใกล้ชิด จากนั้นแพทย์ได้เปิดผ้าห่มบริเวณปลายขาซ้ายพระธัมมชโยออก เผยให้เห็นท่อนขาตั้งแต่ปลายเท้าถึงบริเวณหน้าแข้งพบมีลักษณะสีดำคล้ำทั่วทั้งขา ขณะที่ปลายเท้ามีผ้าก๊อซสีขาวแปะไว้ ใช้เวลาถ่ายทอดสดประมาณ 5 นาที

นายองอาจยังอธิบายอาการอาพาธของพระธัมมชโยด้วยว่า มีอาการอาพาธหนัก 8 อาการ ได้แก่ อาการป่วยเดิม 4 อาการคือ เบาหวาน เส้นเลือดอุดตันที่ขาซ้าย แผลติดเชื้อ ภูมิแพ้ และอาการป่วยที่ทำให้ต้องพักรักษาตัว 4 อาการ ได้แก่ บ้านหมุนรุนแรงเฉียบพลัน มีปัญหาในการทรงตัว มีอาการปวดหลัง ปวดขาซ้ายจากกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง

จากนั้น พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร ได้อ่านแถลงการณ์จุดยืนวัดพระธรรมกายกรณีหมายจับของดีเอสไอ ซึ่งสามารถสรุปรวมความได้ว่า

1.พระธัมมชโยเคารพกระบวนการยุติธรรมและยินดีปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย

แต่ 2. พระธัมมชโยอาพาธจริงๆ ไม่สามารถเดินทางไกลได้ และตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา พระธัมมชโยก็ไม่เคยเดินทางออกจากวัดพระธรรมกายเลย ที่สำคัญคือพระธัมมชโยไม่คิดจะหนีคดีออกนอกประเทศ เพราะถ้าฝืนเดินทางก็คงมรณภาพกลางทาง

3.ชี้แจงแถลงไขถึงการอาพาธว่า อาการหลอด เลือดดำอุดตันเส้นเลือด ทั้งเส้นหลักและเส้นรองที่ขาซ้ายของท่านเป็นมาก เมื่อลุกขึ้นนั่งเพียงเวลาสั้นๆ 3-4 นาที ขาก็จะบวมมากขึ้นตามลำดับและปวดมาก เพราะเมื่ออยู่ในท่านั่งหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบก็จะถูกกดทับเพิ่มขึ้นทำให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้ยากขึ้น ต้องนอนยกขาสูงกว่าระดับหัวใจเพื่อประคับประคองอาการ ขนาดเส้นรอบวงของโคนขาซ้าย 86 ซม. โคนขาขวา 46 ซม. แสดงให้เห็นว่าซ้ายใหญ่กว่ากันเกือบ 2 เท่า

4.วัดพระธรรมกายไม่มีนโยบายจะใช้พลังมวลชนมาต่อต้านกระบวนการทางกฎหมาย

พร้อมกันนั้นวัดพระธรรมกายก็ได้เคลื่อนไหวในทางกฎหมายด้วยการมอบหมายให้ทางทนายยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ “เพิกถอนหมายจับพระธัมมชโย” ซึ่งศาลได้รับเรื่องไว้แล้ว และเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลพิเคราะห์คำร้อง และเอกสารขอเพิกถอนหมายจับของทนายความพระธัมมชโยแล้วเห็นว่า ศาลอาญาพิจารณาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาโดยชอบตามกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง

อย่างไรก็ดี ทนายความของพระธัมมชโย ยังสามารถยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายจับของศาลอาญาไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งเพิกถอนต่อไปได้ภายใน 30 วัน

และในวันเดียวกันนั้นเองคือวันที่ 24 พ.ค.ก็มีอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ไม่อาจมองข้ามความสำคัญได้ นั่นก็คือการที่ดีเอสไอเดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหากับ “นายศุภชัย ศรีศุภอักษร” อัครสาวกคนสำคัญของพระธัมมชโยซึ่งถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำบางขวาง จ.นทบุรี ในฐานความผิดสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร หลังมีชื่อเป็นผู้โอนเช็คให้พระธัมมชโย

นี่คืออีกเงื่อนปมทางกฎหมายที่ขมวดมัดแน่น 1 อาจารย์ 1 ศิษย์ที่มีความสนิทสนมกันในระดับที่ไม่ธรรมดา โดยได้รับการเปิดเผยจากนายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 ทั้ง 2 คนมีความสนิทสนทถึงขั้นมีการใช้ชื่อเรียกเฉพาะระหว่างกันอีกต่างหาก
แถลงการณ์วัดพระธรรมกายอ้างพระธัมมชโยอาพาธกะทันหัน ทำให้ไม่สามารถไปมอบตัวในวันที่ 26 พ.ค.ได้
พิรุธ “ป่วยการเมือง”??

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่า ความพยายามอธิบายอาการอาพาธของวัดพระธรรมกายดูจะไม่ได้ผลนัก เพราะสังคมยังคงไม่เชื่อถืออยู่ดี พร้อมตั้งข้อสังเกตสารพัด โดยเฉพาะในโลกสังคมออนไลน์ที่พยายามจับผิดภาพหลวงพ่อธัมมชโยขณะกำลังนอนอยู่ในห้องปลอดเชื้อ เช่น เรื่องรูปร่างลักษณะ และความสูงต่ำว่าผิดไปจากความเป็นจริง รวมทั้งข้อสังเกตเรื่องการติดเครื่อง ตรวจวัดการเต้นของชีพจร และการตรวจอัตราการเต้นหัวใจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

เรียกว่า จนแล้วจนเล่า สังคมก็ยังเชื่อว่า เป็น “ดรามาขั้นเทพ”

ยกตัวอย่างเช่น นพ.มโน เลาหวณิช อดีตกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย เขียนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยระบุเอาไว้ชัดเจนว่า” เป็นการจัดฉาก โดยตนเองได้คุยกับศัลยแพทย์โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งนายแพทย์ท่านนั้นระบุว่า โรคที่ปรากฏในใบรับรองแพทย์ของพระธัมมชโย ความจริงไม่ได้รักษาด้วยการไม่ให้คนไข้ไม่เดินเลย ซึ่งวิธีการรักษาคือต้องใช้ผ้าพันแผลแบบยืดได้พันตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาถึงโคนขา ต้องพยายามให้คนไข้เดินเยอะๆ เพื่อจะให้เลือดมันละลาย การบอกว่าห้ามเดินและให้นอนกับเตียงอยู่เฉยๆ ขัดกับหลักการแพทย์ นายแพทย์ทั่วไปที่มีความรู้และชำนาญทางด้านการผ่าตัด ถึงกับหัวเราะสำหรับวิธีการเขียนใบรับรองแพทย์ที่ออกมา แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์ดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เป็นการใช้สิทธิทางการแพทย์ โดยขัดกับกฎของทางราชการและขาดจรรยาบรรณทางการแพทย์”

ขณะที่พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ให้ความเห็นว่า เชื่อว่าพระธัมมชโยมีอาการอาพาธจริง เพราะทราบว่าอาพาธมานานแล้ว แต่ขาอันนั้นไม่เชื่อ อันที่เน่าไม่เชื่อ เพราะจะถ่ายภาพทั้งทีทำไมไม่ถ่ายให้เห็นทั้งสองขา ทำไมจึงไม่เปิดผ้าห่มด้วย แต่ขาที่เน่าขนาดนั้นไม่เชื่อ เพราะไม่เห็นขาอีกข้างหนึ่ง ถ้าบริสุทธิ์ใจจริง ถ้าจะเปิดขา แล้วทำไมไม่เปิดให้เห็นทั้งสองขา

ที่เด็ดไม่แพ้กันคือ ความเห็นจาก อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ ผช.ผอ.กองอุบัติเหตุและเวชกรรมฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Tavatchai Kanchanarin แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอาการอาพาธของ พระธัมมชโยว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ผู้ป่วยซึ่งหมายถึงพระธัมมชโย นอนราบไม่ได้หนุนขาซ้าย ดมหน้ากากออกซิเจน แต่ไม่ได้ต่อถังออกซิเจน รวมทั้งสายวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (Oxygen Saturation) ก็ไม่ได้ติดตั้ง อีกทั้งมอนิเตอร์อยู่ห่างไกล ส่วนแพทย์ตรวจร่างกายฟังปอดทะลุผ่านจีวรผ้าห่ม แปะสายเข้าทางหลอดเลือดดำ (IV หรือ Intra venous) ใกล้ข้อมือโดยไม่มีเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด (Infusion Pump Control)

จากนั้นวันที่ 22 พ.ค. ฉากปรับปรุงขึ้น หนุนขาแล้ว ดมหน้ากากออกซิเจน ผ่านอุปกรณ์ควบคุมอัตราการไหลของออกซิเจน (Flowmeter) ขวดทำความชื้น (Humidifier) ต่อถังออกซิเจน สายวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดติดปลายนิ้วแล้ว สายตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG monitor) และถุงลมวัดความดันโลหิต (Blood Pressure Cuff) อยู่ในตะแกรง สายเข้าทางหลอดเลือดดำไม่มีแล้ว มีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (Defibrillator) ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน (Emergency Kit) อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ (Respirator) โต๊ะเมโยเหนือเตียง (Mayo overbed) รถทำแผล ซึ่งสงสัยว่าเพียงพอหรือไม่

นอกจากนี้ อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยอาการหนักนานกว่า 2 สัปดาห์ สภาพภายในห้องควรเป็นอย่างไร กินนอนขับถ่ายเช็ดตัวกันอย่างไร แพทย์พยาบาลนั่งเฝ้ากันตรงไหน ยิ่งดูวิดีโอเห็นภาพต่อเนื่องแล้ว ยังสงสัยว่า โฆษกบอกว่า อยู่ในห้องพักฟื้นเป็นพื้นที่ปลอดเชื้อ ออกอาการร้อนตัว ให้สื่อเขียนตัวเลข ยืนถือหนังสือพิมพ์ถ่ายรูป คนที่ทำงานในวงการแพทย์พยาบาลมานาน มีความรู้ประสบการณ์ด้านวิกฤตจะไม่มองแค่เท้าคนไข้ แต่ยังรวมถึงสัญญาณชีพ (Vital Signs) ระบบการคัดกรองผู้ป่วยแบบ ESI, เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินและจัดแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามความรุนแรงของโรค (APACHE score) อีกทั้งกรณีที่บอกว่าอาการหนักจนไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ ต้องรักษาที่วัด ถือว่าผิดหลักการแพทย์ ไม่เช่นนั้นจะมีระบบ EMS ไว้ทำไม

นั่นคือข้อความที่น่าสนใจยิ่ง

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นความเชื่อของพนักงานสอบสวนคดีเศษ

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า พนักงานสอบสวนทราบดีว่าพระธัมมชโยป่วยและไม่เคยโต้เถียงเรื่องการป่วย แต่มีพยานหลักฐานชี้ให้เห็นว่า พระธัมมชโยสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ออกไปรับกิจนิมนต์ในสถานที่ต่างๆ ได้ และเดินทางได้ตามปกติ เพียงแต่พระธัมมชโยไม่ประสงค์จะเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

ด้าน พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินงานของดีเอสไอจะยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 และมาตรา 84 ซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องทำการที่ดีเอสไอเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากย้อนรอยกงล้อประวัติศาสตร์เมื่อปี 2541 ในคดีที่ พระอดิศักดิ์ วิริยสักโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย กล่าวหาพระธัมมชโยว่ายักยอกเงินและที่ดินที่บรรดาญาติโยมบริจาคให้วัด ก็จะเห็นว่า พระธัมมชโยเคยใช้ข้ออ้างในเรื่องการอาพาธมาแล้วครั้งหนึ่ง

กล่าวคือ ในวันที่ 3 ตุลาคม 2542 เมื่ออัยการสั่งฟ้องพระธัมมชโยกับพวก 2 ข้อหาคือ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ในครั้งนั้น พระธัมมชโยก็เคยอ้างว่าไม่สบายเช่นกันและไม่ยอมมามอบตัว อัยการจึงส่งแพทย์โรงพยาบาลตำรวจไปตรวจถึงที่วัด และก็ปรากฏว่าอาการปกติ
พระจำนวนมากไปชุมนุมกันที่สภ.คลองหลวงเมื่อถึงกำหนดเส้นตาย 26 พ.ค.ที่ดีเอสไอให้พระธัมมชโยเดินทางมามอบตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา
ไม่มีปฏิกิริยาจาก มส.

และคงต้องย้ำกันอีกครั้งว่า เงื่อนปมสำคัญที่ทำให้พระธัมมชโยไม่ยอม เดินทางไปเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอก็เพราะเป็นห่วงเรื่อง “การประกันตัว” เพราะถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ย่อมหมายความว่า พระธัมมชโยจะต้อง “สึก” สถานเดียว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายหมายตาม พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ และไม่อาจคาดเดาได้ว่า พระธัมมชโยจะได้รับการประกันหรือไม่ ทำให้ทางวัดพระธรรมกายจำเป็นต้องรอบคอบ แม้ดีเอสไอจะป่าวประกาศให้รับทราบว่าพร้อมให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 5 ล้านบาท รวมทั้งเปิดโอกาสให้ไปมอบตัวที่สถานที่ราชการ เช่น โรงพยาบาลของรัฐ แต่ต้องแอดมิดนอนโรงพยาบาล หรือสถานีตำรวจ สภ.คลองหลวง แล้วก็ตาม

และคราวนี้ พระธัมมชโยซึ่งออกมาให้ข่าวผ่านพระลูกวัดและทีมทนายว่าพร้อมจะมอบตัวกับดีเอสไอที่ สภ.คลองหลวง ในวันที่ 26 พ.ค.ก็ใช้บทเดิมคืออ้างอาการอาพาธอย่างปัจจุบันทันด่วน ขณะเดียวกันก็ระดมพระสงฆ์และฆราวาสผู้เลื่อมใสศรัทธามาให้กำลังใจกันอย่างเนืองแน่นภายในวัดพระธรรมกาย

ไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “แหล่งข่าวระบุว่า ที่ไม่มาเพราะ ถ้ามาแล้ว ดีเอสไอจะแจ้งข้อกล่าวหา แล้วเขาสามารถอายัดตัว แล้วนำไปตรวจร่างกายที่ รพ.ธรรมศาสตร์ ซึ่งความอาจแตกก็ได้ เพราะถ้าไปที่ รพ.ธรรมศาสตร์ ก็จะต้องแอดมิด และจะอยู่ในความดูแลของแพทย์เจ้าของไข้ทันที ลูกศิษย์หมอ และคนอื่นเข้าไปยุ่งไม่ได้"

ขณะที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตร การปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การอ้างว่าพระธัมมชโยหน้ามืดเป็นลมเป็นการจัดฉากเตรียมเอาไว้แล้ว แค่ต้องการสร้างภาพให้เห็นว่า จะมามอบตัว แต่อาการป่วยหนักขึ้นมา เมื่อพระธัมมชโยไม่มาตามนัด ทั้งที่ดีเอสไอให้โอกาสมามอบตัวและพร้อมให้ประกันตัว ถือว่าเป็นการอะลุ่มอะล่วยที่สุดแล้ว ดังนั้นสุดท้ายก็ต้องไปจับกุมตัว เชื่อว่าจับได้ อันนั้นเป็นความเสียหายของพระธัมมชโยมากที่สุด มันจะลุกลามไปถึงเรื่องอาจจะต้องถูกจับสึก

ถามว่า พระธัมมชโยไม่กลัวดีเอสไอจะนำกำลังบุกเข้าไปถึงวัดพระธรรมกายหรือ

ตอบได้ทันทีว่า ไม่กลัว เพราะเชื่อว่า น่าจะมีเหตุผลในเรื่องของการต้องการสร้างภาพให้เสมือนว่า พระธัมมชโยถูกรังแกและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากดีเอสไอทั้งๆ ที่อาพาธ ซึ่งก็สามารถเรียกคะแนนสงสารจากเหล่าผู้เลื่อมใสศรัทธาที่พร้อมจะมาเป็นโล่มนุษย์ได้อีกกระบุงโกย

ที่สำคัญคือ พระธัมมมชโยเคยใช้วิธีนี้เมื่อครั้งต้องคดีในปี 2541 มาแล้ว

“ถ้าวิเคราะห์ตามพฤติกรรมแล้ว เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ปี 2541 ที่เจอปัญหาคดี จนกระทั่งกองปราบปรามนำคอมมานโดไปจับ มีการใช้โล่มนุษย์ป้องกัน สุดท้ายกองปราบฯ ต้องถอยกลับ ทำให้นายอาคม เอ่งฉ้วน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ขอหารือกับสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามในสมัยนั้น จนมีบัญชาเด็ดขาดให้มามอบตัว ถ้าไม่มาจะสึก พระธัมมชโยมีข้อแม้ว่าจะต้องให้ประกันตัวในวัดชนะสงคราม เพราะจะมามอบตัวที่วัดดังกล่าว แต่ไม่ไปมอบตัวที่กองปราบฯ เรื่องนี้คือเรื่องจริงที่มีมาในอดีต ปัจจุบันใช้มุกเดิม หากดีเอสไออ่อนข้อให้จะเป็นเช่นในอดีต”พระพุทธะอิสระแห่งวัดอ้อน้อยให้ข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวเอาไว้อย่างน่ารับฟัง

ข้อมูลของพระพุทธะอิสระรวมทั้งไพศาล พืชมงคลทำให้เห็นชัดแจ้งว่า พระธัมมชโยมีความกังวลเรื่องประกันตัว และการถูกอายัดตัว ดังนั้น จึงใช้ช่องว่างเรื่องอาพาธเป็นชนวนเหตุในการไม่ไม่มอบตัว แต่คราวนั้นเรื่องคลี่คลายไปได้จากความเด็ดขาดของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์แห่งวัดชนะสงคราม

คำถามก็คือในยุคปัจจุบันที่องค์กรปกครองคณะสงฆ์เปี่ยมล้มไปด้วย “คนของธรรมกาย” จะมีเจ้าคณะผู้ปกครองรูปใดกล้าทำตามเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์แห่งวัดชนะสงคราม ผู้ล่วงลับไปแล้วหรือไม่

ที่สำคัญคือ จนป่านนี้ยังไม่เคยมีสุ่มเสียงออกมาจากมหาเถรสมาคม(มส.) เลยแม้แต่แอะเดียว เป็นเพราะมีพระอุปัชฌาย์หรือผู้อุปถัมภ์เป็นถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่หรือไม่

พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า คดีของพระธัมมชโยเป็นความผิดทางโลกก็จริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางคณะสงฆ์คือพฤติกรรมหลายอย่างไม่เหมาะสมกับความเป็นพระ ส่วนชาวพุทธที่นับถือ แม้จะโดนข้อกล่าวหาหลายคดีแต่ก็ยังศรัทธาอยู่นั้น เข้าใจว่าชาวพุทธกลุ่มนั้นไม่เข้าใจในหลักคำสอนของศาสนาพุทธอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ที่ มส.นิ่งเฉยก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าเป็นเพราะเหตุใด

“ถ้า มส.จะสั่งพักงานพระธัมมชโยก็ทำได้เหมือนเมื่อปี 2542 ที่พระธัมมชโยโดนคดียักยอกทรัพย์ มส.ยังสามารถทำได้ แต่เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ มส. แต่อยู่ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชต่างหาก”พระไพศาลกล่าว

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของพระพรหมสุธีหรือเจ้าคุณเสนาะ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ยิ่งเห็นได้ชัด ในครั้งนั้น เจ้าคุณเสนาะถูก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบพบว่า ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณในการจัดงานศพสมเด็จพุฒาจารย์ หรือ สมเด็จเกี่ยว อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ฯ เพราะมีเอกชนรับเป็นเจ้าภาพในด้านต่างๆ แต่ไม่ยอมคืนเงินประมาณ 67 ล้านบาท สตง.จึงทวงเงินคืน

ในครั้งนั้นยังไม่มีการตั้งข้อหากับเจ้าคุณเสนาะเพราะอยู่ระหว่างตรวจสอบ แต่ เมื่อเรื่องไปถึงสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ก็มีคำสั่งปลดเจ้าคุณเสนาะออกจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมทันที จากนั้นก็ตามมาด้วยการปลดเจ้าคุณเสนาะออกจากทุกตำแหน่ง กระทั่งสุดท้ายเจ้าคุณเสนาะตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม

แต่ในกรณีของพระธัมมชโย ทั้งๆ ที่เรื่องเป็นคดีความถึงโรงถึงศาล แต่ มส.กลับนิ่งเฉยเลยผ่าน และไม่ทำอะไรทั้งสิ้น

นี่คือความพิกลพิการขององค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทยที่มีให้ “พระผู้มีอภิสิทธิ์” เหนือพระทุกรูปในแผ่นดินนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์สงฆ์ไทย ซึ่งสังคมจำเป็นที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันตรวจสอบเช่นกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น