ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การกระทำ “อัตวินิบาตกรรม” ด้วยการใช้ “ประคดผูกคอตาย” ของ พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) หรือ เจ้าคุณเสนาะ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ถือเป็นเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์สงฆ์ไทยจะต้องจารึกเอาไว้เลยทีเดียว
เพราะต้องไม่ลืมว่า เจ้าคุณเสนาะนั้นไม่ใช่พระธรรมดา หากแต่มีสมณศักดิ์ ที่ “ชั้นพรหม” หรือที่ศัพท์ทางพระเรียกกันว่า “พระราชาคณะเจ้าคณะชั้นหิรัญบัฏ” ซึ่งอีกเพียงชั้นเดียวก็ได้เป็น “สมเด็จพระราชาคณะ” แล้ว และในปัจจุบันมีพระที่ได้รับสมณศักดิ์ในชั้นนี้เพียง 23 รูป(ทั้งมหานิกายและธรรมยุตินิกาย) เท่านั้น
นอกจากนี้ พระพรหมสุธีหรือเจ้าคุณเสนาะยังเคยมีตำแหน่งในทางการปกครองของคณะสงฆ์ไทยมากมายหลายตำแหน่ง เช่น เคยเป็น “เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ” เคยเป็น “กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เคยเป็นเจ้าคณะภาค 12(ดูแลพระสงฆ์และวัดใน 4 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว) เคยรักษาการเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา และเคยเป็นประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นต้น
ที่ต้องไม่ลืมคือ เจ้าคุณเสนาะถือเป็นพระผู้มากบารมี และทรงอิทธิพลรูปหนึ่งในสังคมไทย และเป็นที่รับรู้กันมาตลอดว่า เจ้าคุณเสนาะคือ “มือขวา” ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชที่ล่วงลับไปแล้ว
รวมถึงที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเป็นกรณีพิเศษก็คือ เจ้าคุณเสนาะนั้นคือ “ลูกพี่” ของ “พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ กิตฺติจิตฺโต” หรือ “หลวงพี่น้ำฝน” เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ขาใหญ่แห่งเมืองนครปฐม ผู้ซึ่งเจ้าคุณเสนาะแต่งตั้งให้เป็นฐานานุกรม จนสามารถเบ่งกล้ามชนิดไม่กลัวเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม
และเคยได้รับการคาดการณ์เสียด้วยซ้ำ ไปว่าจะได้รับการสถาปนาขึ้น เป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์” สืบต่อจากผู้เป็นอาจารย์เสียด้วยซ้ำไป
นี่คือความยิ่งใหญ่ของเจ้าคุณเสนาะ
ดังนั้น การกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการผูกคอตายของเจ้าคุณเสนาะจึงเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา หากแต่เต็มไปด้วยเงื่อนงำสารพัดสารพัด รวมทั้งน่าจะมีผลต่อโครงสร้างทางการปกครองของคณะสงฆ์ไทยอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
คำถามก็คือ ทำไมเจ้าคุณเสนาะถึงตัดสินใจฆ่าตัวตายทั้งๆ ที่รู้ว่า ในพระพุทธศาสนา การฆ่าตัวตายคือบาปมหันต์ และจะต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่อชดใช้กรรมไปอีกไม่รู้จักกี่ภพกี่ชาติ
กล่าวสำหรับเจ้าคุณเสนาะนั้น ถือเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจยิ่งจนสร้างประวัติศาสตร์สะท้านกรุงรัตนโกสินทร์มาแล้ว โดยอุปสมบทเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2521 ที่พระอุโบสถวัดสระเกศราชวิหาร ได้รับฉายาว่า ปญฺญาวชิโร มีความหมายว่า ผู้มีปัญญาอันเฉียบแหลมน
หลังจากอุปสมบทก็ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และทำหน้าที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน จนเปรียบเสมือนแขนขวาของเจ้าประคุณสมเด็จเกี่ยวเลยก็ว่าได้
ในปี 2530 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ฐานานุกรมในพระพรหมคุณาภรณ์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ที่ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ ต่อมาในปีเดียวกันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระปัญญาวชิราภรณ์
จากนั้นก็ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์มาโดยตลอด ในปี 2535 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชสิทธิมงคล ปี 2540 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโสภณ ปี 2543 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมสิทธิเวที และปี 2548 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระพรหมสุธี
การได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองของเจ้าคุณเสนาะที่ พระพรหมสุธี ถือเป็นเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว เพราะได้รับสมณศักดิ์ชั้นดังกล่าวทั้งที่มีอายุไม่ถึง 50 ปี เนื่องจากขณะนั้นเจ้าคุณเสนาะมีอายุเพียง 45 ปี และอายุพรรษาที่ 27 พรรษา
ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์ มีพระเพียง 4 รูปเท่านั้นที่ได้รับการสถาปนาในลักษณะดังกล่าวคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กทม. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก(เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กทม. และพระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กทม.
ที่เด็ดไปกว่านั้นคือ เจ้าคุณเสนาะเป็นพระสงฆ์รูปเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้รับการสถาปนาในขณะที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า เจ้าคุณเสนาะมีเส้นทางชีวิตในสมณเพศที่ไม่ธรรมดา และมูลเหตุที่เป็นเช่นนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะเจ้าคุณเสนาะทำงานรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย โดยเฉพาะหลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประชวร และเสด็จเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เรียกว่า ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่กุฏิของเจ้าคุณเสนาะเลยก็ว่าได้
ตัวอย่างความยิ่งใหญ่ของเจ้าคุณเสนาะเห็นจะหนีไม่พ้นกรณี “หลวงพี่น้ำฝน” เพราะใครเลยจะไปคิดว่า พระที่เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาสารพัดสารพัดจะได้รับการแต่งตั้งเป็นฐานานุกรม และทันทีที่หลวงพี่น้ำฝนได้รับการแต่งตั้ง จากเจ้าคุณเสนาะ ก็เดินอกผายไหล่ผึ่งถือตาลปัตรกลับวัดไผ่ล้อมอย่างไม่เกรงกลัวใคร และฉับพลันข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ก็เงียบหายเป็นปลิดทิ้ง
นอกจากนี้ หากยังจำกันได้ เจ้าคุณเสนาะยังเคยรักษาการเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา วัดที่ได้ชื่อว่ามีผลประโยชน์และเงินทองมากมายมหาศาล อยู่เป็นเวลาหลายปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน
โดยเรื่องของวัดโสธร เริ่มขึ้นเมื่อปี 2547 ที่พระราชมงคลวุฒาจารย์ หรือเจ้าคุณสุธีร์ เจ้าอาวาสในสมัยนั้นเกิดมีปัญหากับพระลูกวัดจนถูกร้องถึงมหาเถรสมาคม และมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่ง
หลังพระราชมงคลวุฒาจารย์ มรณภาพ มหาเถรสมาคมก็ได้มอบหมายให้ พระพรหมสุธี มาทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสระหว่างปี 2547 - 2552 รวมระยะเวลาครองวัด 5 ปีเต็ม
ระหว่างการดูแลวัดโสธรฯ ช่วง 2549 พระอุโบสถหลังใหม่ของวัดโสธรฯ ถูกเปิดให้ประชาชนเข้านมัสการหลวงพ่อโสธร ได้ตามความศรัทธา แต่ห้ามนำธูปเทียนเข้าไปจุด ซึ่งช่วงนี้เองที่นายเอกวัฒน์ ฝังมุข น้องชายของเจ้าคุณเสนาะ นำดอกกล้วยไม้ของสวนตัวเองเข้าไปเสนอเพื่อให้ประชาชนนำเข้าไปสักการะภายในพระอุโบสถ ซทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับคนในครอบครัว
กระทั่งปี 2552 เจ้าคุณเสนาะได้เสนอชื่อพระราชมงคลรังษี เจ้าอาวาสวัดท่าสะอ้าน เป็นเจ้าอาวาสวัดโสธรฯ รูปใหม่แต่ปัญหาภายในวัดก็ยังไม่จบ โดยช่วงต้นปี 2553 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสทั้ง 7 รูป ออกมาคัดค้านการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นเจ้าอาวาส ทำให้เจ้าคุณเสนาะในฐานะเจ้าคณะภาค 12 มีคำสั่งพักงานทุกตำแหน่งของผู้ช่วยเจ้าอาวาสทั้ง 7 รูป เพื่อสอบพระจาริยาสังขาธิการ ซึ่งเรื่องนี้ถูกปล่อยทิ้งไว้นานเกือบ 5 ปี โดยไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มหาเถรสมาคม(มส.) ได้มีคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบเจ้าคุณเสนาะในกรณีทุจริตเงินบริจาคของวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธาน
ส่วนเรื่องที่หลายคนเชื่อว่าเป็น “ปม” อันนำไปสู่การทำอัตวินิบาตกรรมของเจ้าคุณเสนาะนั้น เห็นจะหนีไม่พ้นกรณีการทุจริตการจัดซื้อโต๊ะหมู่บูชาในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) มูลค่า 67 ล้านบาท
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปสืบเนื่องจากสำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณที่เจ้าคุณเสนาะเป็นผู้ดูแลอยู่ ซึ่งเป็นเงินที่ใช้ในการจัดงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯและอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จำนวน 67 ล้านบาท โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้มีหนังสือแจ้งรายงานทางลับกับผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถึงความผิดปกติในการใช้งบประมาณดังกล่าว
“สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เห็นว่าทางสตง.ได้มีหนังสือแจ้งรายงานถึงความผิดปกติของการใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่ใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จำนวน 67 ล้านบาทมาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 3 ฉบับ โดยฉบับสุดท้าย คือ วันที่ 8 มกราคม 2558 ซึ่งสตง.ได้มารายงานทางลับโดยตรงกับผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งผมก็อยู่ด้วยในเหตุการณ์ดังกล่าว และเนื่องจากเป็นเรื่องลับที่ สตง.มารายงานตรงต่อหลวงพ่อ ผมก็ต้องออกมาจากห้องของท่านด้วย ดังนั้น เรื่องการปลดพระพรหมสุธี จึงมีสาเหตุหลักมาจากตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน จำนวน 67 ล้านบาท” นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แจกแจง
ปมของเรื่องนี้อยู่ตรงที่เจ้าคุณเสนาะได้เบิกเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวน 67 ล้านบาทเพื่อซื้อโต๊ะหมู่บูชานำไปแจกให้กับวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วมีประชาชนได้บริจาคเงินสร้างโต๊ะหมู่บูชาให้จนครบจำนวนอยู่แล้ว
นั่นจึงเป็นเหตุให้ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ลงนามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช สั่งปลดเจ้าคุณเสนาะ ออกจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 และถูกสั่งพักตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในวันต่อมา ขณะเดียวกัน พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา ในฐานะเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ได้แต่งตั้งพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศแทน
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้เจ้าคุณเสนาะออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ จึงส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง เจ้าคณะภาค 12 ด้วย กระทั่งต่อมา 20 มกราคม 2558 มหาเถรสมาคม (พศ.)ได้มีคำสั่งปลดจากตำแหน่ง ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
“การสั่งพักงานเจ้าคุณเสนาะทั้ง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าอาวาส เจ้าคณะภาค และประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2541 และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลของพระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติและมีความเหมาะสมที่จะเป็นกรรมการ มส.รูปใหม่ ต่อไป
“ส่วนแนวทางแก้ปัญหางบประมาณ 67 ล้านบาทนั้น พระเถระชั้นผู้ใหญ่เห็นว่าควรที่จะคืนเงินให้แก่ พศ .เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่ให้กระทบต่อคณะสงฆ์โดยภาพรวม” ผอ.พศ.แจกแจง
มีรายงานว่า สำหรับการตรวจสอบของ สตง. นั้น อ้างคำสัมภาษณ์ของ นายพิศิษฐ์ เมื่อมกราคม 2558 พบว่าช่วงแรก พระพรหมสุธี ไม่ค่อยให้ความร่วมมือนัก แต่เมื่อมีการทำความเข้าใจ รวมถึง สตง. ได้ส่งหนังสือไปยังประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อรายงานเกี่ยวกับการตรวจสอบเป็นระยะ ทำให้ได้รับความร่วมมือจากทางวัดสระเกศมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าคุณเสนาะยังถูกโจมตีอย่างหนักถึงพฤติกรรมที่น่าเคลือบแคลงหลายอย่าง โดยมีข้อมูลตีแผ่ออกมาทางโซเชียลเน็ตเวิร์คผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “ตีแผ่ความจริง คนไร้คุณธรรม ไร้ความเป็นผู้นำ” ที่ระบุถึง ความร่ำรวยผิดปกติของ พระพรหมสุธี เช่น ธุรกิจสวนกล้วยไม้กว่า 300 ไร่ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท, สวนมะยงชิด, ฟาร์มเพาะพันธุ์ไก่ชน, เพาะพันธุ์ปลากัด, เพาะพันธุ์นกเขา, ธุรกิจปล่อยเงินกู้, รวมถึงการเป็นเจ้าของรีสอร์ทหรู ธุรกิจบ้านจัดสรร รวมแล้วมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดเผยรายละเอียดเป็นเอกสารกว่า จำนวน 19 หน้า
ทั้งนี้ พระพรหมสุธี ยอมรับว่าธุรกิจที่ถูกอ้างถึงในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นธุรกิจของครอบครัวที่มีอยู่เดิม แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ขณะที่ทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ราคาแพงกว่า 20 คัน ได้มาโดยการบริจาคของลูกศิษย์ โดยส่วนใหญ่นำไปใช้ในกิจการของวัด พร้อมทั้งปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจรีสอร์ท หรือบ้านจัดสรร ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
นอกจากนั้น เจ้าคุณเสนาะยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในวัดสระเกศเองอีกด้วย กล่าวคือหลังเข้ารับตำแหน่งสืบต่อจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ไม่นานนัก เจ้าคุณเสนาะก็ได้มีคำสั่งปลด พระพรหมสิทธิ หรือเจ้าคุณธงชัย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสผู้รับผิดชอบดูแลพระบรมบรรพตภูเขาทอง ทั้งที่เป็นศิษย์ร่วมวัดเดียวกันและสนองงานสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) มาไล่เรี่ยกัน โดยให้เหตุผลเรื่องการบริหารเงินของเจ้าคุณธงชัย ว่าน่าจะเข้าข่ายทุจริต และมีความพยามยามที่จะเป็นคดีความทางกฎหมาย จึงทำให้คนภายนอกมองว่า การกระทำของเจ้าคุณเสนาะไม่เหมาะสม เพราะการดูแลพระบรมบรรพตของเจ้าคุณธงชัย เป็นไปบัญชาของสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ก่อนการมรณภาพ
ทว่า ในที่สุด เจ้าคุณเสนาะก็ต้องพ่ายแพ้เมื่อเจอคดีโต๊ะหมู่บูชา ทำให้ถูกปลดออกจากตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ทุกตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศด้วย
จากการให้ข้อมูลของ พระมหากฤษณะ กิตฺติปัญโญ พระอุปัฏฐากของเจ้าคุณเสนาะ รวมทั้งน้องชายของเจ้าคุณเสนาะ ทำให้ทราบว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่ถูกตรวจสอบและถูกปลดออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ในทุกระดับ เจ้าคุณเสนาะก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยมีอาการเครียด รวมทั้งมักมีอาการมือและหัวใจสั่น จนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และต้องฉันยาเป็นประจำวันละ 4 เวลา ตั้งแต่ พ.ศ. 2558
นอกจากนี้ เวลาญาติโยมมาเยี่ยมหรือแม้แต่พระสงฆ์เข้ามาสักการะก็จะพูดคุยไม่นาน ทั้งยังเคยเปรยอีกด้วยว่า “เบื่อ ไม่อยากอยู่แล้ว”
นี่กระมังจึงเป็นเหตุทำให้เจ้าคุณเสนาะ “คิดมาก” เนื่องจากไม่สามารถปล่อยวาง “อำนาจวาสนา” ซึ่งเคยได้ลิ้มชิมรสมาโดยตลอดได้ ทั้งๆ ที่บวชเรียนมาตลอดชีวิต รวมทั้งสอนพระปริยัติธรรมให้กับลูกศิษย์ลูกหามามากมาย รวมทั้งเจ้าคุณเสนาะเองก็น่าจะได้รับรู้ข้อมูลมาบ้างแล้วว่า ได้มีการเคลียร์เรื่องนี้จบสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วจากการช่วยเหลือของหลายฝ่าย
ดังที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันภายหลังการมรณภาพแล้วว่า “ไม่มีความผิด เพราะเงินได้กลับเข้าไปสู่ระบบแล้ว เหมือนการยืมเงินทดรองไป ถ้าไม่มีการร้องเรียนขึ้นมาเงินนั้นอาจมีปัญหาก็ได้ แต่วันนี้เงินกลับไปแล้วก็จบ”
และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ออกมายืนยันเช่นกันว่า “การจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินทดรองจ่าย ซึ่งหลังจากที่พระพรหมสุธีพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้นำเงินมาคืนให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ดังนั้นเงินหลวงไม่มีอะไรเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ได้ยุติไปก่อนหน้านี้แล้ว และพระพรหมสุธีไม่มีคดีอะไร ส่วนเงินส่วนที่เหลือตรวจสอบแล้วพบว่าเบิกจ่ายตรงตามวัตถุประสงค์”
แต่ก็ช้าเกินไป ช้าเกินไปกว่าความเครียดที่เกาะกินหัวใจของเจ้าคุณเสนาะจนอยากจะเยียวยาและตัดสินใจใช้ประคดผูกคอตายในท้ายที่สุด
ที่น่าแปลกใจเสียยิ่งกว่าก็คือ ท่าทีของ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ที่ไปคนละทิศทางต่อการเสียชีวิตของเจ้าคุณเสนาะ เพราะในขณะที่ พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย ผบก.น.6 และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันว่า ในเบื้องต้นไม่ใช่การฆาตกรรม แต่ “บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กลับออกมาด้วยท่าทีทะแม่งๆว่า ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไปสืบสวนสอบสวนในเชิงลึกเพราะพบเงื่อนงำที่ต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติม แถมยังโพล่งออกมาด้วยว่า “ผมมั่นใจว่าจับได้”
งานนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า การเสียชีวิตของเจ้าคุณเสนาะจะมีเงื่อนงำจริงอย่างที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ตั้งข้อสงสัยเอาไว้หรือไม่