xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลสอบ 2 หน่วยชี้คดี “เจ้าคุณเสนาะ” ปมงบ 67 ล้านจบแล้ว หลังนำเงินมาคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เผยผลสอบ “เจ้าคุณเสนาะ” ปมงบจัดงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จเกี่ยว 67 ล้านบาท ก่อนมรณภาพ จบสิ้นแล้ว ผู้ว่าการ สตง. สรุปมีการจ่ายเงินทดรองจ่ายจริง แต่หลังพ้นตำแหน่งเจ้าอาวาส นำเงินมาคืน พศ. แล้ว ย้ำ “เงินหลวงไม่มีอะไรเสียหาย” ด้าน “ดีเอสไอ” รับสอบพยานบุคคล - เอกสารบางส่วน ยันเป็นเรื่องของ พศ. ดำเนินการตาม พ.ร.บ. สงฆ์ ไม่ต้องเป็นคดีพิเศษ

วันนี้ (25 ม.ค.) มีรายงานว่า จากกรณีการมรณภาพอย่างปริศนาของ พระพรหมสุธี หรือ “เจ้าคุณเสนาะ” โดยมีการโยงไปว่าอาจจะเกิดจากกรณีที่กลุ่มองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับหลายหน่วยงาน กรณีพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระพรหมสุธี หรือ เสนาะ ปญฺญาวชิโร อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่ใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ เกี่ยว อุปเสโณ อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จำนวน 67 ล้านบาท

เรื่องนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า กรณีที่มีการร้องเรียนว่าอาจมีการใช้เงินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์นั้น สตง. ได้ตรวจสอบหลักฐานที่นำมาแสดงประกอบการเบิกจ่ายเงินแล้ว สรุปว่ามีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินทดรองจ่าย ซึ่งหลังจากที่พระพรหมสุธีพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้นำเงินมาคืนให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ดังนั้นเงินหลวงไม่มีอะไรเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ได้ยุติไปก่อนหน้านี้แล้ว และพระพรหมสุธีไม่มีคดีอะไร อย่างไรก็ตามสำหรับ เงินส่วนที่เหลือตรวจสอบแล้วพบว่าเบิกจ่ายตรงตามวัตถุประสงค์

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีการร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีผู้ร้องเรียนมา 3 - 4 ประเด็น กรณีร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งดีเอสไอตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าอยู่ในอำนาจของมหาเถรสมาคม (มส.) และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ดีเอสไอจึงส่งเรื่องไปให้ทั้งสองหน่วยงานดำเนินการตรวจพฤติการณ์ต่อไป

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวว่า มีการร้องเรียนหลายประเด็น ดีเอสไอได้สอบพยานบุคคลพร้อมทั้งรวบรวมเอกสารบางส่วน อีกทั้งยังทราบว่าผู้ร้องเรียนได้มีการยื่นร้องเรียนไปยังหน่วยงานอื่นหลายหน่วยงาน เช่น พศ. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จากพยานหลักฐานที่ดีเอสไอตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าในส่วนของคดีอาญาไม่พบความผิดในประเด็นการใช้งบประมาณ 67 ล้านบาท ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ จึงไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ เพียงแต่รับเรื่องเข้ามาเพื่อที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้น เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของสงฆ์ จึงส่งเรื่องให้ พศ. ไปดำเนินการตาม พ.ร.บ. สงฆ์ ต่อไป เนื่องจากดีเอสไอพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ

มีรายงานว่า สำหรับการตรวจสอบของ สตง. นั้น อ้างคำสัมภาษณ์ของ นายพิศิษฐ์ เมื่อมกราคม 2558 พบว่าช่วงแรก พระพรหมสุธี ไม่ค่อยให้ความร่วมมือนัก แต่เมื่อมีการทำความเข้าใจ รวมถึง สตง. ได้ส่งหนังสือไปยังประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อรายงานเกี่ยวกับการตรวจสอบเป็นระยะ ทำให้ได้รับความร่วมมือจากทางวัดสระเกศมากขึ้น

พบว่า การใช้งบดังกล่าว สตง. มีข้อสังเกตใน 3 ส่วน คือ 1. ในการนำเงินไปจัดทำหนังสือพระไตรปิฎกจำนวนเงิน 15 ล้านบาท เป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะ สตง. มองว่า การจัดทำหนังสือ พระไตรปิฎกไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ 2. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดทำโต๊ะหมู่บูชาเพื่อตอบแทนวัดที่เข้าร่วมจัดงานพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนวงเงิน 11 ล้านบาทนั้น เท่าที่ตรวจสอบตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นเงินจากการบริจาค เพราะมีการปั๊มตราของห้างร้าน และผู้สนับสนุนที่โต๊ะหมู่บูชาเกือบทุกชุด ซึ่งเงินจำนวน 11 ล้านบาท ตรงนี้แม้ยังไม่ได้มีการเบิกไปใช้แต่ก็ได้ตั้งเบิกไว้เพื่อจะนำไปจ่าย

ส่วนงบอีก 41 ล้านบาทที่เป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะ อาทิ การจัดทำตาลปัตร จัดทำย่ามพระ ค่าใช้จ่ายสำหรับจัดงานอีเวนต์ งานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ค่าหนังสือประวัติ นั้นพบข้อสังเกตหลายประการ เช่น กรณีการซื้อตาลปัตร และย่าม จำนวน 1,500 ชุด มีราคาเท่ากับที่ซื้อชุดเดียว ทำไมจึงไม่มีส่วนลดทั้ง ๆ ที่ปกติถ้าเป็นการซื้อของจำนวนมากจะถูกกว่าซื้อของเพียงชิ้นเดียว ซึ่งในฐานะที่ สตง. อยู่ในแวดวงบัญชี และการเบิกจ่ายทำให้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้เงินตรงนี้ว่ามีความผิดปกติ

ในการจัดงานพิธีพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้ พบว่า มีเงินบริจาคจากประชาชน หน่วยงาน และผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมาก เท่าที่ สตง. ทราบพบว่ามีเงินบริจาคที่ยังเหลืออยู่ถึง 50 ล้านบาท ดังนั้น คิดว่าทางวัดสระเกศน่าจะใช้เงินจากการบริจาคเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานก่อนที่จะใช้งบประมาณ เพื่อสนองศรัทธาของผู้บริจาค และอยากให้ทางวัดสระเกศคืนงบประมาณในส่วนที่ไม่ใช้ ซึ่ง สตง. คงจะไม่ไปบอกว่าควรคืนเท่าไหร่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่ามีการใช้เงินตรงนี้ไปแค่ไหน และในการนำเงินนั้นต้องมีหลักฐานพิสูจน์ถึงการใช้เงินดังกล่าวด้วยว่าเป็นการใช้เงินอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์

ส่วนเงินบริจาคนั้น สตง. คงไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายได้ เพราะเป็นการดำเนินการของทางวัด ยกเว้นแต่ว่าจะมีการร้องขอจากทางวัดสระเกศให้เข้าไปช่วยดูดูการเชื่อมโยงกับเงินงบประมาณ ดังนั้น คงต้องรอให้รักษาการ เจ้าอาวาสในการสะสางเรื่องต่าง ๆ ในวัดก่อน หลังจากนั้น สตง. จะส่งเจ้าหน้าที่ไปกราบนมัสการและพูดคุยถึงการตรวจสอบในเรื่องการจัดงาน

หลังจากนี้ สตง. คาดว่า การตรวจสอบและการดำเนินการในส่วนของงบประมาณจัดงานพิธีพระราชทานเพลิงศพจะเรียบร้อย ซึ่งถ้าไม่ใช้เงินทางวัดสระเกศน่าจะรีบคืนงบโดยเร็ว เพราะพิธีพระราชทานเพลิงศพดำเนินการเรียบร้อยไปนานพอสมควรแล้ว ก่อนหน้าที่จะจัดงานนั้นพิธีพระราชทานเพลิงศพเงินบริจาคยังไม่มาก สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงจัดสรรงบประมาณมาให้จำนวน 67.5 ล้านบาท แต่เมื่อมีเงินบริจาคเข้ามา คิดว่าทางวัดสระเกศน่าจะใช้เงินจากการบริจาค ตรงนี้นอกจากจะเป็นการช่วยสนองศรัทธาของผู้บริจาคแล้ว ยังเป็นการช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้ด้วย หลังจากนั้นหากเงินบริจาคเหลือวัดจะไปตั้งเป็นมูลนิธิ หรือกองทุน แล้วแต่ทางวัดจะพิจารณา”

“หากมีการคืนเงินงบประมาณมาบางส่วน น่าจะทำให้ภาระการตรวจสอบของ สตง. ผ่อนคลายลง ที่ผ่านมา สตง. ได้รับหลักฐานการใช้จ่ายเงินจากวัดสระเกศและจากผู้หวังดีบางส่วน ซึ่งได้มีการสอบยันอย่างดี และมั่นใจในหลักฐานที่มีระดับหนึ่ง โดยเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในการเข้าไปตรวจสอบ เพราะเกี่ยวข้องกับศาสนา แต่เมื่อเป็นของงบประมาณที่นำไปใช้ ดังนั้น การใช้จ่ายเงินควรเป็นไปอย่างถูกต้อง และโปร่งใส ซึ่งในการตรวจสอบนั้น สตง. ยึดหลักการเช่นเดียวกับการตรวจสอบงบประมาณอื่น ๆ คือ ดูวัตถุ ประสงค์ของการใช้เงินว่าเป็นไปตามวัตถุ ประสงค์หรือไม่และดูในเรื่องความถูกต้องในการใช้เงินด้วย”

มีรายงานว่า เมื่อปี 2557 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (อพช.) ได้ยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อร้องเรียนกรณีที่ พระพรหมสุธี (เสนาะ ปัญญาวชิโร) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และกรรมการเถรสมาคม มีพฤติกรรมส่อว่า ทุจริตต่องบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นงบประมาณจำนวน 67,550,000 บาท ที่รัฐบาลอนุมัติเป็นค่าใช้จ่ายในพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

มีการอ้างถึงหลักฐานที่ส่อว่าจะเกิดการทุจริตในการใช้งบประมาณดังกล่าว เพราะพบว่า พระพรหมสุธี อาจจะนำงบดังกล่าวไปสนับสนุนธุรกิจเครือญาติ ในโครงการบ้านจัดสรรที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ ต.สามเรือน อ.บางปะอิน จ. พระนครศรีอยุธยา จึงทำให้คณะกรรมการจัดงานพระราชทานเพลิงศพ ต้องรับสภาพหนี้สินต่อบริษัทที่รับจัดงาน จึงขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป

ขณะที่ กลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์คผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “ตีแผ่ความจริง คนไร้คุณธรรม ไร้ความเป็นผู้นำ” ที่ระบุถึงความร่ำรวยผิดปกติของ พระพรหมสุธี และทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น ธุรกิจสวนกล้วยไม้กว่า 300 ไร่ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท, สวนมะยงชิด, ฟาร์มเพาะพันธุ์ไก่ชน, เพาะพันธุ์ปลากัด, เพาะพันธุ์นกเขา, ธุรกิจปล่อยเงินกู้, รวมถึงการเป็นเจ้าของรีสอร์ตหรู ธุรกิจบ้านจัดสรร รวมแล้วมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดเผยรายละเอียดเป็นเอกสารกว่าจำนวน 19 หน้า

อย่างไรก็ตาม พระพรหมสุธี ยอมรับว่า ธุรกิจที่ถูกอ้างถึงในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นธุรกิจของครอบครัวที่มีอยู่เดิม แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ขณะที่ทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ราคาแพงกว่า 20 คัน ได้มาโดยการบริจาคของลูกศิษย์ โดยส่วนใหญ่นำไปใช้ในกิจการของวัด พร้อมทั้งปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจรีสอร์ท หรือบ้านจัดสรร ตามที่ถูกกล่าวหา

แฟนเพจดังกล่าวยังอ้างถึงความขัดแย้งระหว่าง พระพรหมสุธี กับ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เพราะ พระพรหมสิทธิ ไม่พอใจที่ถูก พระพรหมสุธี ปลดออกจากการทำหน้าดูแลบริหารจัดการเงินบริจาคในส่วนพื้นที่ภูเขาทองภายในวัดสระเกศฯ โดยกล่าวหาว่ามีการยักยอกเงินบริจาคและทรัพย์สินของวัด รวมถึงมีส่วนเกี่ยวข้องการแทรกแซงกิจการภายในของวัดชื่อดังใน จ.ฉะเชิงเทรา .


กำลังโหลดความคิดเห็น