xs
xsm
sm
md
lg

คดี “ธัมมชโย” มีแค่ 3 ทางเลือก ชี้ทรัพย์สินถูกผ่องถ่ายสู่นอมินี?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


2 อดีตสปช.ด้านพุทธศาสนา “นพ.มโน เลาหวณิช-นายไพบูลย์ นิติตะวัน” วิเคราะห์อิทธิพลของ “พระธัมมชโย” ที่ครอบงำทั้งสาวกและคนใกล้ชิดที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ส่งผลให้สถานการณ์ต้องยืดเยื้อมาตลอด พร้อมประเมินหลัง “ดีเอสไอ” ขีดเส้นตายออกหมายจับ ชี้ 3 ทางเลือก เชื่อหนีไปต่างประเทศเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นคดีสากลด้านการฉ้อโกงประชาชนและการฟอกเงิน “ยูเอ็น” ไม่อุ้มแน่ ถือเป็นอาชญากรระหว่างประเทศ แนะพระธัมมชโยควรมอบตัวสู้คดีในชั้นศาลดีที่สุด จะได้ไม่ต้องถูกจับสึก ไม่โดนอายัดทรัพย์สินทั้งที่ดินและเงินทองที่ถือในชื่อของธัมมชโยและมูลนิธิ เชื่อทรัพย์สินมหาศาลถูกผ่องถ่ายไปลงทุนธุรกิจเหมือง-น้ำมันและบริษัทนอมินีทั้งในและต่างประเทศ

จากที่ศาลอาญาอนุมัติหมายจับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหาสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร และดีเอสไอได้ขีดเส้นตายให้ “พระธัมมชโย” มอบตัวสู้คดีในวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 นั้น แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินการตามกฎหมายยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนนัก เพราะหลังจากวันที่ออกหมายจับนั้น มีความเคลื่อนไหวจากวัดพระธรรมกายตลอดมา ทั้งการแสดงใบรับรองแพทย์ ที่ระบุถึงอาการป่วยหนักของพระธัมมชโย ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนไม่ได้

กระทั่งการแถลงข่าวต้านดีเอสไอของลูกศิษย์ ที่นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์ วัดพระธรรมกาย ระบุว่าดีเอสไอไม่ให้ความเป็นธรรมต่อพระเทพญาณมหามุนี ผิดหลักกฎหมายในการตั้งข้อกล่าวหา การดำเนินคดีแจ้งข้อกล่าวหาว่าสมคบกันฟอกเงินและรับของโจร ในคดีพิเศษที่ 27/2559 เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ดีคดีนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร และทำไมพระธัมมชโย จึงไม่ยอมออกมามอบตัวเพื่อสู้คดี อีกทั้งเรื่องนี้จะบานปลายจนกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้หรือไม่ ดร.นพ.มโน เลาหวณิช อดีตศิษย์วัดพระธรรมกายรุ่นแรก และกรรมการปฏิรูปฯกิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วิเคราะห์ให้เห็นชัดเจนว่า ที่ผ่านมา “กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ” ต้องยอมผ่อนปรนตลอดมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีอิทธิพลครอบงำไปในคนหลายกลุ่ม หากทำอะไรรุนแรงก็เกรงว่าจะเกิดปัญหาได้
แพทย์เดินทางเข้าพบพระธัมมชโยที่นอนอยู่บนเตียง โดยระบุว่ามีอาการอาพาธ และได้เปิดผ้าห่มโชว์แผลที่บริเวณขา (22 พ.ค.2559)
อิทธิพลพระธัมมชโยครอบงำ 3 ภาคส่วน

โดยเฉพาะคนที่เป็น “ลูกศิษย์” มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อคำสอนของวัดพระธรรมกายจริงๆ ส่วนอีกกลุ่มคือ “คนใกล้ชิดที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”

นายไพบูลย์ ระบุว่า คำสอนของวัดพระธรรมกายที่มีพระธัมมชโยเป็นเจ้าลัทธิก่อให้เกิดความงมงายตามการชักจูงนั้นเป็นเพราะ “ไม่ใช่ศาสนาพุทธ” เพราะสอนให้ “ยึดในสวรรค์” โดยลักษณะใช้ตัวเองเป็นตัวแทนที่นำไปสู่สวรรค์พบพระพุทธเจ้าได้ แนวทางนี้เป็นสถานะของศาสนาอื่นที่มีตัวแทน มีลักษณะคล้าย “แก้ว 3 ดวงของระบอบทักษิณ” ที่มี มวลชน พรรคการเมือง กำลังอาวุธ

แต่ในส่วนของพระธัมมชโย ที่ครอบงำ 3 ส่วนคือ 1.คุมการปกครองคณะสงฆ์ 2.นักการเมืองเครือข่ายภาครัฐโดยผ่านศิษย์ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน และ 3.คือภาคมวลชน ซึ่งเป็นศิษย์ที่ศรัทธาพระธัมมชโย เมื่อมีคนเข้ามาเป็นสมาชิกจำนวนมาก ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์เข้ามาด้วย
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นระดับชั้นแกนนำศิษย์ เช่นศิษย์เด่นนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งสมาชิกที่เป็นเครือข่ายผลประโยชน์มีอยู่ไม่น้อย และได้แผ่ขยายอิทธิพลใหญ่โตไปสู่ทั้งวงการราชการ ภาครัฐ และเมื่อมีจำนวนมวลชนมากก็แผ่อิทธิพลรวมไปถึงนักการเมืองและพรรคการเมืองด้วย

“นายศุภชัย ถ้าไม่อยู่ในเครือข่ายนี้หน้าที่การงานจะไม่สามารถขยายใหญ่โตได้ขนาดนี้ รวมทั้งมีนักธุรกิจหลายรายที่เข้าไปและประสบความสำเร็จในธุรกิจด้วย จากการอาศัยคอนเนกชันเครือข่ายนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโมเดลด้านกำลังคนที่สำคัญของพระธัมมชโย”

ที่สำคัญคือมีอิทธิพลขยายเครือข่ายครอบคลุมการปกครองคณะสงฆ์ทั้งระบบ ตั้งแต่มหาเถรสมาคม ถึงคณะภาค คณะจังหวัดไปจนถึงวัดต่างๆ ที่มีจำนวนไม่น้อยเลยที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์จากระบอบพระธัมมชโย ที่เอื้อผลประโยชน์ตอบแทนกัน ในลักษณะที่คล้ายกับการเมือง โดยภายใต้การแอบอ้างของพระพุทธศาสนาเถรวาท

ดังนั้นเพื่อที่จะให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ คือ ควบคุมกลไกส่วนต่างๆ ด้วยการค้าขายบุญ ค้าขายศรัทธา ในรูปแบบธุรกิจ เพื่อที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่หรือผู้ทรงอิทธิพลในมิติของพระธัมมชโย จึงใช้อำนาจ 3 ส่วนที่มีอยู่ในมือ และขยายไปที่อำนาจสงฆ์ และอำนาจต่างๆ รวมทั้งอำนาจทางการเงินด้วย เป็นระบบที่ดึงดูดทุนสมบูรณ์แบบและใช้ทุนเป็นเครื่องมือในการจูงใจ
ดร.นพ.มโน เลาหวณิช อดีตศิษย์วัดพระธรรมกายรุ่นแรก และกรรมการปฏิรูปฯกิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
สอดคล้องกับดร.นพ.มโน ที่กล่าวว่า อิทธิพลของ พระธัมมชโย เรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ ที่ครอบงำไปในหลายพื้นที่และหลายด้าน โดยจะเห็นได้ว่าตามข้อมูลดีเอสไอ ที่สืบได้ว่า มีการรับเงินส่งเงินกันในสาขาของวัดพระธรรมกายทั่วประเทศไทย ทั้งหมด 6,968 สาขา ซึ่งมีทั้งวัด ศูนย์ปฏิบัติธรรม ธุดงคสถาน มหาวิทยาลัย ชมรม สมาคม และในจำนวนนี้มีทั้งที่เป็นนิติบุคคล และองค์กรการกุศล รวมถึงเครือข่ายที่เป็นบริษัทห้างร้านจำนวนมากเลยที่เป็น Paper Company ซึ่งมีการรับเงินโอนเงินกันมาก จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง

นอกจากนั้นยังมีนักธุรกิจจำนวนมากที่ร่ำรวยออกไปเมื่อออกมาจากวัดแห่งนี้เรียกได้ว่าทุกอย่างที่เป็นไปนั้น เดินไปตามแผนบันได 3 ขั้นของพระธัมมชโย ที่สามารถแผ่อิทธิพลครอบคลุมทั้งกลุ่มนักศึกษา กลุ่มนักธุรกิจ และนักการเมือง ไว้ได้ทั้ง 3 กลุ่ม

3 แนวทางจัดการคดีพระธัมมชโย

ดร.นพ.มโน และนายไพบูลย์ ต่างเชื่อมั่นว่า กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายจะสามารถจัดการเรื่องนี้ได้ พร้อมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์หลังเส้นตายที่ดีเอสไอกำหนดให้พระธัมมชโยมอบตัวนั้น มีความเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือแนวทางที่ 1 เข้ามอบตัวแต่อาจล่าช้าจากกำหนดประมาณ 2-3 อาทิตย์ แนวทางที่ 2 เมื่อพระธัมมชโยไม่มาตามหมายจับ จึงเป็นเหตุผลให้ดีเอสไอต้องบุกเข้าไปจับตัวถึงในวัดพระธรรมกาย และแนวทางที่ 3 คาดว่าจะเกิดคือ หนีการจับกุม

ดร.นพ.มโน ประเมินอีกว่า กฎหมายเป็นสิ่งเดียวที่จะควบคุมตัวพระธัมมชโยได้ เพราะทางวินัยนั้นชัดเจนว่า ปาราชิกไปนานแล้ว และหากธัมมชโยถูกจับจะไม่เกิดความวุ่นวายใดๆทั้งสิ้น เพราะระดับแกนนำศิษย์วัดพระธรรมกายไม่ได้มีความสามัคคีเหนียวแน่นกันมากมาย เปรียบเสมือนบริษัทการค้าที่ว่าด้วยผลประโยชน์ ที่มีการแก่งแย่งผลประโยชน์กันมากมาย

เห็นได้จากภาพที่หลุดออกมาก็มาจากคนในระดับสูงของวัดเองที่ส่งออกมาภายนอกเพื่อดิสเครดิตเจ้าอาวาสตัวเอง ส่วนที่ว่าจะเกิดคลื่นใต้น้ำนั้น ให้ดูว่ายุคนี้เป็นยุคของการปฏิรูปและตราบใดที่มีรัฐบาลคสช.ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูแลเรื่องนี้อยู่ ดังนั้นการก่อความวุ่นวายคงเป็นเรื่องยาก
แถลงการณ์คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย (22 พ.ค.2559)
“หมอ-เภสัช-นักกฎหมาย ข้าราชการ” ชูธัมมชโยยอดดวงใจ

ทั้งนี้หากจะประเมินจากกลุ่มศิษย์สาวกธรรมกายที่มีจำนวนกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอันจะกินอยู่ในระดับชนชั้นกลาง รายได้ดี มีการศึกษา เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ระดับล่างไม่ค่อยได้เข้าวัดนี้

ส่วนประเภทฮาร์ดคอร์ที่ไม่ยอมฟังไม่ยอมถอย ราวๆ 1.5 หมื่นคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน และส่วนหนึ่งมาจากนิสิตนักศึกษาเก่า ซึ่งมีทั้งที่เป็นแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ รับราชการ นักกฎหมาย ซึ่งกลุ่มนี้มีพระธัมมชโยเป็นหนึ่งในดวงใจ และฝังรากมานานแล้ว

ด้านนายไพบูลย์กล่าวถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น กรณีพระธัมมชโยเข้ามอบตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ก็จะไม่คุมขังและจะให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน และดีเอสไอส่งตัวให้อัยการเข้าสู่การต่อสู้คดีกันไป โดยสามารถนำหลักฐานข้อมูลต่างๆที่มีไปต่อสู้ในชั้นอัยการเพื่อขออัยการยกฟ้อง แต่ถ้าอัยการสั่งฟ้องก็ยังมีในชั้นศาล ที่สามารถต่อสู้ได้และมีถึง 3 ศาล ซึ่งหากมอบตัวขั้นตอนจะเป็นไปตามนี้ และยังคงสถานะเป็นสมณเพศอยู่ต่อไป แต่อาจจะถูกร้องเรียนว่า ควรจะหยุดหน้าที่ในฐานะเจ้าอาวาส เพราะขัดต่อจริยธรรมของสังฆาธิการ

กรณีเลยกำหนดเวลาแล้วไม่มามอบตัวต้องติดตามกันว่า ดีเอสไอจะมีการผ่อนปรนให้ หรือยกระดับเข้าไปจับกุมตัวในวัดพระธรรมกาย เพราะรู้ตัวว่าอยู่ในเขตประเทศไทยและมีหมายจับด้วย ซึ่งการเข้าไปดีเอสไอ แน่นอนว่ามีแผนที่ดีเพียงพอในการเข้าไปจับกุมตัว เชื่อว่าสามารถจับได้ ซึ่งในขั้นตอนตามกฎหมายจะไม่ให้ประกันตัว เพราะเท่ากับขัดขวางฝ่าฝืนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ในลักษณะที่ต้องไปจับตามหมายจับแล้วนั้น คงต้องกักขังไว้ ซึ่งก่อนที่จะกักขังก็ต้องจับสึกก่อน

อย่างไรก็ตามหากมีการยกระดับเข้าไปจับตัวถึงในวัด คงต้องมีลูกศิษย์หลายคนที่จะเข้ามาขัดขวาง ซึ่งลูกศิษย์เหล่านั้นจะมีความผิดรวมถึงลูกศิษย์และคนใกล้ชิดที่ออกมาปรากฏตัวในสื่อจะโดนคดีอาญากันอีกหลายคน ตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 138 ถือว่าเป็นผู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
เฟซบุ๊กพระนพดล สิริวโส ตามหา 1 แสนชื่อช่วยพระธัมมชโย
“พระธัมมชโย” หลบหนีเจอโทษหนัก-จับสึกได้

ล่าสุดยังมีความพยายาม โดย “พระนพดล สิริวํโส” ล่า 1 แสนรายชื่อผ่านหน้าเว็บไซต์ ภายในวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน โดยมีเป้าหมายเพื่อร้องเรียนทำเนียบขาวให้ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ไชยบูลย์ สุทธิผล หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร จากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ และในอนาคตอันใกล้เชื่อว่าสถานทูตสหรัฐฯ จะออกมาแถลงข่าวชี้แจงถึงเรื่องนี้

แต่หากว่าสู้กันเต็มที่แล้วไม่ไหวจริงๆ สุดท้ายแล้วพระธัมมชโยเลือกวิธีหลบหนี ตอนนี้ก็ถือว่ายาก เพราะมีประกาศไปทุกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแล้ว

อย่างไรก็ตามถ้าคิดว่าหนีไปก่อนเพื่อที่จะรอเวลาให้สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน และคาดว่าเมื่อการเมืองเปลี่ยนจะกลับมาได้นั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องการเมือง ดังนั้นหากจะรอเวลาให้พ้นรัฐบาลนี้ รัฐบาลหน้ามาเรื่องนี้ก็ต้องเดินหน้าต่อเพราะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว เพราะจะมีการตามจับกัน อายุความในลักษณะที่มีการหลบหนี มีอายุความประมาณ 20 ปี

อีกทั้งคดีการฟอกเงินฉ้อโกงประชาชนนี้เป็นความผิดสากล และเป็นความผิดที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่าการทุจริตคอร์รัปชันเท่ากับอาชญากรรมระหว่างประเทศ ฉะนั้นข้อกล่าวหาของพระธัมมชโยจึงเป็นความผิดที่ยูเอ็นประกาศว่าเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศซึ่งการหลบหนีมีโทษหนัก ฐานความผิดแบบนี้ หากถูกตามตัวจับกุมมาได้ ไม่ว่าอยู่ประเทศไหนก็จะถูกส่งตัวกลับมากลายเป็น “ผู้ร้ายข้ามแดน” หากลุกลามไปถึงขั้นนั้น นั่นคือความเสียหายมากที่สุดและถือว่าสายไปแล้ว

นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าพระธัมมชโยไม่มามอบตัว เท่ากับว่าโดนคดีหนักแล้วยังถูกจับศึกอีก และปัญหาจะขยายสาหัสไปมากกว่านี้ หากยังดื้อแพ่งและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้ลูกศิษย์จำนวนมากเดือดร้อนตามกันไปอีกมาก เพราะในห้วงเวลานี้ไม่มีอะไรหยุดกฎหมายได้

“สถานการณ์ในปัจจุบันที่พระธัมมชโยไม่ยอมมาตามหมายเรียก ส่งผลกระทบต่อลูกศิษย์ไปหลายคนแล้ว ที่เห็นชัดเจน คือ หลังจากรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ออกใบรับรองแพทย์ วินิจฉัยอาการของธัมมชโย เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ไปตามหมายเรียกของดีเอสไอ นี่คือตัวอย่างของลูกศิษย์ที่ได้รับผลกระทบจากการปกป้องพระธัมมชโยกลุ่มแรกๆ ที่ต้องได้รับความเดือดร้อนไปด้วย มีการตรวจสอบเพื่อที่จะเอาผิด บางคนอาจจะถูกลงโทษสถานหนักถึงขั้นไล่ออก”

ดังนั้นมีความเชื่อว่า พระธัมมชโยจะต้องประเมินสถานการณ์ได้ว่าจะต้านอำนาจรัฐ เพื่อรอดพ้นจากการถูกจับกุมได้อีกไม่นาน เพราะนี่คือคดีอาญาแผ่นดิน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนกับร่วมกันฟอกเงิน จากความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นสมาชิกเงินฝากสหกรณ์คลองจั่น ซึ่งมีความเป็นไปได้ร้อยละ 50:50 จะเข้ามามอบตัว ถ้าไม่ใช่ตามกำหนดก็หลังจากนี้อีกไม่นานจะเข้ามอบตัว เพราะหากคิดขัดขวางเจ้าหน้าที่ตามกระบวนการยุติธรรมในเวลานี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากและไม่สำเร็จแน่นอน

“ธัมมชโย” ผ่องถ่ายทรัพย์สินลงทุนเหมือง-น้ำมัน

ขณะที่ ดร.นพ.มโน บอกอีกว่า หากพระธัมมชโยโดนจับกุม ในส่วนทรัพย์สินที่มีอยู่นั้นไม่มีทางรู้ว่ามีจำนวนมากเท่าไหร่ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการผ่องถ่ายจำนวนมหาศาลนำไปลงทุนธุรกิจเหมืองทอง เหมืองเพชร บริษัทน้ำมันเป็นบริษัทนอมินีกระจายไปตามวัดสาขากว่า 200 แห่งในต่างประเทศ “วัดไปไหนธุรกิจก็ไปนั่น” และมีบางส่วนกระจายไปในมือของสีกาจำนวนมากเช่นกัน ส่วนที่ยังระบุได้คงเป็นที่ดินอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มา

ด้านนายไพบูลย์ กล่าวว่า ตามขั้นตอนหากถูกจับกุมโดยฝ่าฝืนและขัดขืนไม่ยอมมามอบตัว แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตามไปจับตัวมาดำเนินคดีได้นั้น หรือในกรณีที่มีการหลบหนีไปแล้วโดนจับตัวในขณะหลบหนี ในมาตรการต่อไปที่คงจะเกิดขึ้น คือ ทางดีเอสไออาจจะสั่งตรวจสอบเรื่องทรัพย์สินต่างๆ และอาจจะสั่งอายัดบัญชีทั้งหมด

ทรัพย์สินที่เป็นชื่อของพระธัมมชโยนั้น ตามกฎหมายแล้วทรัพย์สินยังคงเป็นทรัพย์สินของ “พระ” อยู่ ถือว่าพระเป็นบุคคล ที่ถือทรัพย์สินของตนเองได้ แม้ว่าจะฝ่าฝืนขัดต่อพระธรรมวินัย ที่พระต้องไม่มีที่ดินทรัพย์สินบัญชีเงินฝากก็ตาม แต่กฎหมายไม่ได้เขียนห้ามไว้ แต่หากจะยึดทรัพย์สิน บัญชีเงินฝาก ที่ดินในนามของพระธัมมชโยก็สามารถทำได้

ส่วนทรัพย์สิน “วัด” หากร่วมมือกันกระทำความผิดแล้วจะถูกยึด จะไม่สามารถยึดได้อย่างเดียวคือ “ที่ดิน” เพราะที่ดินเป็นทรัพย์สินของวัดที่ไม่อยู่ในข่ายบังคับคดีได้ แต่หากวัดมีอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงินทอง เช่น เป็นการลงทุนธุรกิจนั้นก็สามารถยึดได้

อีกกรณีหากว่า “เงิน” ไปตกอยู่ที่มูลนิธิต่างๆของวัดพระธรรมกาย เช่นมูลนิธิถือครองที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินของวัดพระธรรมกายส่วนใหญ่จะถือครองในชื่อมูลนิธิ ทั้ง 2,000 กว่าไร่ ถือเป็นชื่อวัดพระธรรมกายเพียง 196 ไร่เท่านั้น ที่บังคับคดีไม่ได้ ที่เหลือกว่า 2000 ไร่เป็นชื่อมูลนิธิต่างๆนั้นบังคับคดีได้ทั้งหมด แต่หากว่าพระธัมมชโยมามอบตัวและต่อสู้คดี ก็ไม่เดินไปถึงขั้นนั้น

เพราะหากมีข้อที่ต้อสู้ได้ก็ต่อสู้ต่อไป โดยใช้ระยะเวลาในชั้นการมอบตัวและที่จะถูกจับกุม หรืออาจจะหลบหนีไปนั้น เชื่อว่าคงจะจบภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่ถ้าพระธัมมชโย “มอบตัว” หรือกรณี “ถูกจับ” ดีเอสไอก็จะส่งตัวไปที่อัยการ ซึ่งคดีจะอยู่ในชั้นอัยการ ใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน และเมื่ออัยการเห็นว่ามีความผิดจึงส่งฟ้องศาลใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการดำเนินการ

กำลังโหลดความคิดเห็น