อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย เร่งต่อยอดความพร้อมทางด้านการผลิตของเอเชีย ด้วยการเพิ่มโนว์ฮาวการแบรนดิ้งสร้างตราสินค้าไทย ตลอดจนดึงจุดเด่นด้านเกษตรนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ภาครัฐ เอกชน จับมือกัน โดยคอสเมติกคลัสเตอร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เตรียมเปิดศูนย์บูรณาการเพื่อสนับสนุนกลุ่มโอทอปและเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการหน้าใหม่ ทั้งผลิตเครื่องสำอางและสอนกลยุทธ์การตลาด รับการเปิดเออีซีในปี 59
การที่เป็นประเทศฐานการผลิตเครื่องสำอาง แต่ไม่มีแบรนด์ของคนไทยนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยหลุดจากตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องสำอางในอาเซียนได้ภายในไม่ถึง 5 ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มโอทอปและเอสเอ็มอี คนรุ่นใหม่ เป็นกองทัพที่ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยเติบโตไปข้างหน้า
นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย กล่าวกับ Special Scoop ว่า จากตัวเลขการผลิต การส่งออกตลาดเครื่องสำอางไทย ที่รวมๆ กันแล้วมีมากถึง 2 แสนล้านบาท อันที่จริงแล้วเกิดจากตัวเลขของแมสมาร์เกตของบริษัทข้ามโลกที่ทำตลาดในไทย ส่วนผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอียังไม่มีตัวเลขโชว์จริง คาดว่าจะมีตัวเลขแอบแฝงมูลค่าประมาณ 500 -1,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลพยายามให้รัฐวิสาหกิจชุมชนมีการลงทะเบียนเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาแก้ปัญหาให้ตรงจุด อีกทางที่จะสร้างความอยู่รอดจากจุดแข็งของประเทศไทย และไม่ต้องมองถึงการสร้างโนว์ฮาวแบบนาโน ซึ่งชาวบ้านคงไม่ได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม วินาทีนี้ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมที่พลิกเงินกลับมาได้เร็วที่สุด คือ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ไม่มีโอทอปรายไหนที่ไม่มีแชมพู สบู่เหลว ซึ่งไม่เคยมีการเอาจริงในเรื่องนี้ หากว่าทุกหมู่บ้านทุกครัวเรือนขายกันเองใช้กันเองได้ อยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนด้านประชาสัมพันธ์ มองเห็นถึงสินค้าเครื่องสำอางไทยที่มีความดีเด่นทางธรรมชาติ
สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกเรื่อง คือการนำพืชผลไม้เกษตรไทยมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะสร้างความอยู่รอดได้ เพราะรายรับจะโตต่อไปถึงกลุ่มโอทอปและเอสเอ็มอี เช่น การนำสับปะรด ถั่วเขียว เกลือ ขมิ้น มาแปรรูปอย่างไร ต้องผลักดัน จากที่มีความหลากหลายและมีความยูนีค เช่น ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเกษตร ผงข้าวล้างหน้า เป็นการแปลงข้าวมาเป็นเครื่องสำอางให้ได้มากที่สุด
รวมถึงถ้ามีการผลักดันทางด้านแบรนดิ้งได้ในปีหน้า ไทยจะไม่หล่นจากตำแหน่งผู้นำ ไม่เช่นนั้นจะหายไปไม่ต่ำกว่า 10% ทันที เช่นเดียวกับการหลุดจากตำแหน่งของการเป็นแชมป์ข้าวที่ถูกประเทศเวียดนามแซงไป ซึ่งคู่แข่งที่น่ากลัว คือ ประเทศที่มีต้นทุนถูก รวมถึงประเทศอินโดนีเซียมีฐานการผลิต มีวัตถุดิบมาก อย่างกลุ่มพืชต้นปาล์ม ที่แปรรูปมาได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเป็นฮับคอสเมติกของประเทศไทยได้
ทางรอดสร้างวัตถุดิบเอง
การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ด้วยการสร้างแหล่งผลิตวัตถุดิบเอง ที่มาจากภาคเกษตร โดยนำพืชสมุนไพรจากธรรมชาติมาผลิตเครื่องสำอาง เช่น น้ำมันข้าว สามารถนำมาแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดตัว ซึ่งมีการทำตลาดส่งออกไปขายที่ประเทศฝรั่งเศส
นับว่านี่เป็นอีกจุดแข็งหนึ่งที่จะเป็นเป้าหมาย เพราะประเทศไทยมีแหล่งวัตถุดิบทั้งเอเชียอยู่ในมือ ซึ่งในเออีซียังไม่มีประเทศไหนที่มีการผลิตวัตถุดิบของตัวเองอย่างชัดเจน ถ้าประเทศไหนสร้างฐานเป็นแหล่งวัตถุดิบได้ ประเทศนั้นจะเป็นฐานการผลิตในระยะยาวเลย ซึ่งหากมีการแปรรูปสินค้าเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้จะได้กำไรกลับมาไม่ต่ำกว่า 50%
เรื่องวัตถุดิบมีความสำคัญมาก เพราะภายใน 5 ปี หากประเทศไทยไม่มีการเสริมด้านฐานการผลิต ด้วยการเป็นแหล่งวัตถุดิบด้วย เราจะแพ้ทันที ขณะที่การแบรนดิ้งนั้นสามารถต่อยอดได้ทันที เพราะวันนี้การที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งมีการจับมือกับสวิส ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ในการร่วมเป็นคลัสเตอร์ที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อสร้างชื่อเครื่องสำอางไทยให้อยู่ในระดับโลก
นอกจากนี้ ประเทศไทยจะเป็นตัวประสานงานหลัก ในประเทศกลุ่ม CLMV มีประเทศ กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, เวียดนามได้ และเปลี่ยนจากเรื่องการแข่งขันให้มาเป็นคู่ค้า โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์รวมของวัตถุดิบ โนว์ฮาวด้านเครื่องสำอาง และเมื่อถึงจุดที่ประเทศไทยเก่งเรื่องงานการขาย การตลาด กลุ่มประเทศเออีซีจะสร้างฐานการผลิตให้ไทยด้วยเช่นกัน
ภาพรวมหลังเปิดเออีซี
นายสมประสงค์ กล่าวว่า หลังการเปิดเออีซี อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีโอกาสมาก เพราะการเป็นฐานการผลิต มีโนว์ฮาว และความเชี่ยวชาญในการผลิต ที่ได้รับการถ่ายทอดจากเจ้าของอินเตอร์แบรนด์ จากประเทศญี่ปุ่น อย่าง แบรนด์ของไอ.ซี.ซี. ในเครือสหพัฒน์ หรือแบรนด์ไทยที่เข้ามาสร้างตลาดจนได้การยอมรับ เป็นดาวเด่นที่มีการขยายตลาด สร้างแบรนด์ระดับอินเตอร์อย่าง บีเอสซี มิสทิน กิฟฟารีน
แต่หากเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของประเทศนั้น นับว่ายังมีจุดอ่อน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแบรนดิ้ง สร้างตราสินค้าของคนไทยเอง ในวันนี้เครื่องสำอางแบรนด์ไทยที่อยู่ในตลาดระดับบน ที่สามารถส่งออกตีตลาดโลกได้มีไม่เกิน 20 แบรนด์ และส่วนใหญ่เป็นแบรนด์สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์สปาและสมุนไพรจากธรรมชาติ
การที่ไม่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทำให้สินค้าไม่ได้รับการยอมรับจากคนในประเทศ ขณะที่ในต่างประเทศเช่นอิตาลีฝรั่งเศสนั้น เครื่องสำอางตลาดระดับกลางและระดับล่างได้การยอมรับจากคนในประเทศ
นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงเรื่องการย้ายฐานการผลิต หลังจากที่เปิดเออีซี สถานการณ์ในวันนี้ แม้ประเทศเป็นฐานการผลิต แต่ที่ผ่านมาประเทศที่ซื้อสินค้าจากประเทศไทยหรือจ้างผลิต เริ่มเปลี่ยนมาผลิตเองมากขึ้น กลุ่มประเทศเออีซี เริ่มเข้ามาซื้อวัตถุดิบจากประเทศไทยไปผลิตเอง ซึ่งมีผลจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้จากนี้ไปจะเริ่มมีการย้ายฐานการผลิตไปในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีต้นทุนถูกกว่า
มีแนวโน้มเป็นไปได้มากว่า โรงงานผลิตเครื่องสำอางในประเทศไทยจะมีการย้ายไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า เช่นโรงงานผลิตเครื่องสำอางประเทศลาว พม่า ที่เปิดใหม่ มีต้นทุนการผลิตเครื่องสำอางเป็นอุตสาหกรรมเบา เมื่อมีการย้ายฐานการผลิตเมื่อไหร่ก็ล้มทั้งกระดาน ต่างจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องมีการลงทุนเป็นระดับแสนล้านบาท
แนะผู้ประกอบการใหม่
นายสมประสงค์กล่าวอีกว่า คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในธุรกิจเครื่องสำอางได้ง่าย เพราะเป็นอุตสาหกรรมเบา บางราย ซื้อวัตถุดิบมาผสมเป็นเครื่องสำอางก็ขายได้ ทำให้คนเข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น แต่จุดหนึ่งที่เป็นข้อเปรียบเทียบ คือ ของที่ทำได้กับของที่ทำได้ดีมีคุณภาพนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบกับข้อจำกัด ที่สินค้ามีปัญหาเพราะทั้งวัตถุดิบที่ส่งผลต่ออายุการใช้งาน และผ่านมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing )หรือหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง หรือไม่นั้น ไม่สามารถการันตีได้
"นี่คือจุดอ่อนที่ทำให้ตกม้าตาย คนมองภาพลักษณ์สินค้าตลาดระดับบน ระดับล่างไม่มีคุณภาพ"
บางกลุ่มที่เข้ามาในธุรกิจนี้ โดยใช้วิธีจ้างผลิตของจำนวนไม่มากเป็นหลักร้อย และมีแบรนด์ของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่จะไม่อยู่ในระบบ เพราะมีการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งต่อไปต้องมีการเข้มงวดเรื่องมาตรฐาน เพราะเป็นธุรกิจที่เข้าง่ายแต่ในเรื่องของคุณภาพยังต้องให้ความสนใจด้วย
กลุ่มนี้เป็นผู้ประกอบการเครื่องสำอางที่มีการดำเนินธุรกิจ โดยเน้นหนักในด้านการสร้างแบรนด์ ซึ่งการเติบโตเป็นสิ่งที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้ยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสินค้าบางวันใช้ดีบางวันไม่ดี เพราะขาดบางขั้นตอน ทำให้คนซื้อขาดความมั่นใจ ไม่ซื้อใช้ต่อเนื่องเพราะไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้า
ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะโนว์ฮาวที่ได้รับการถ่ายทอดมา ส่วนใหญ่เป็นสูตรการผลิตเครื่องสำอางทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเชิงลึก ที่จะมีการสอนด้านการปรับสูตร ผลิตเครื่องสำอางที่มีการพัฒนาคุณภาพขึ้นอีก ซึ่งการผลักดันให้เติบโตนั้นเน้นสร้างแบรนด์ และเน้นจ้างผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐาน โดยทุกคนไม่ต้องมาเปิดโรงงาน เพราะเป็นอุตสาหกรรมเบาที่ไม่ต้องเปิดให้เป็นการเพิ่มต้นทุนขึ้นอีก และการดำเนินการให้ผ่านมาตรฐาน อย.และ GMP
การสนับสนุนจากภาครัฐบาล
นายสมประสงค์กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาของผู้ประกอบรายเล็ก คือ ยังไม่มีแบรนด์ เห็นได้จากการขายสินค้าของโอทอปและเอสเอ็มอี ยังไม่มีรายไหนที่เข้าตาไปแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งส่วนใหญ่ตกม้าตายตั้งแต่การผลิต เพราะไม่มีการสร้างแบรนด์และผลิตสินค้าให้มีความแตกต่าง
แต่เมื่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในปี2559 คลัสเตอร์คอสเมติก ภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะมีการเปิดศูนย์บูรณาการเอสเอ็มอี มีการถ่ายทอดโนว์ฮาว ทั้งมิติการผลิต กลยุทธ์การตลาด ทางด้านแพกเกจจิ้ง และการสร้างแบรนด์ โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย
ที่สำคัญ จะมีการสนับสนุนทางด้านการหาแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัญหารายเล็กไม่สามารถหาซื้อของที่ดีมีคุณภาพได้ มีข้อจำกัดซื้อได้จากแหล่งขายไม่กี่แห่ง โดยในวันที่ 20 มกราคม 2559 จะมีการเซ็น MOU บันทึกความร่วมมือการดำเนินงานกับบริษัทใหญ่ระดับโลกที่มีโรงงานในประเทศไทย ในเรื่องการสนับสนุนด้านวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตรายเล็กอีกด้วย